Last updated: 12 ธ.ค. 2560 | 1593 จำนวนผู้เข้าชม |
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 14 กรกฎาคม 2560 เวลา 20.15 น.
-------------------------
สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร ที่ทรงมีความห่วงใยต่อพสกนิกร ในการเตรียมพร้อมรับมือกับปริมาณน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ โดยเฉพาะในสัปดาห์หน้าที่กรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์ว่า จะมีฝนตกอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศ สำหรับในพื้นที่กรุงเทพมหานครนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้หน่วยทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ข้าราชการในพระองค์ ร่วมกับหน่วยราชการในเขตพื้นที่ และประชาชนจิตอาสา ดำเนินการเก็บผักตบชวา และวัชพืชที่มีอยู่อย่างหนาแน่น รวมทั้งขยะมูลฝอยต่างๆ เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งประสบปัญหาน้ำท่วมขัง และเพื่อเปิดช่องทางระบายน้ำให้แก่ลำคลองสาขาต่างๆ ในเขตกรุงเทพมหานครมาอย่างต่อเนื่อง เป็นระยะเวลากว่า 2 เดือนแล้ว นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้
ในการนี้เพื่อเป็นการสืบสานพระราชดำริ ซึ่งรัฐบาล และ คสช. ได้ขอรับใส่เกล้าใส่กระหม่อมดำเนินการจัดหาพื้นที่กักเก็บน้ำ ทำทางระบายน้ำ และพัฒนาแหล่งน้ำ สำหรับใช้ประโยชน์ร่วมกันทั่วประเทศ ได้จัดให้มีโครงการจิตอาสาประชารัฐพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อให้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ได้ประสานความร่วมมือช่วยกันฟื้นฟูแหล่งน้ำ ขุดลอกคูคลอง ขยายแหล่งน้ำ กำจัดวัชพืช และรณรงค์ให้ประชาชนช่วยกันเก็บขยะตามแหล่งน้ำให้สามารถระบายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันอุทกภัย และปัญหาสิ่งแวดล้อม ได้กำหนดให้มีกิจกรรมต่างๆ แบ่งออกเป็น 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ในส่วนกรุงเทพมหานคร ทั้ง 50 เขต จะมีดำเนินการในลักษณะบิ๊กคลีนนิ่งเดย์ ระหว่างวันที่ 25-27 กรกฎาคมนี้ โดยจะร่วมมือกับกองทัพ และอาสาสมัคร จิตอาสาด้วย
ขณะที่ในพื้นที่ 76 จังหวัดทั่วประเทศ อำเภอละ 1 แห่งจะมีการจัดกิจกรรมขึ้นระหว่างวันที่ 29-31 กรกฎาคมนี้ โดยกระทรวง มหาดไทย เป็นเจ้าภาพหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินกิจกรรมกำจัดขยะ สิ่งกีดขวางการระบายน้ำในแม่น้ำลำคลอง หรือแม่น้ำสายหลัก ระยะที่ 2 จะมีการขุดสระน้ำขนาดเล็ก หลุมขนมครก เพื่อเป็นพื้นที่กักเก็บน้ำ สำหรับใช้ในการเกษตร โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเป็นเจ้าภาพหลัก ร่วมมือกับภาคเอกชน และประชาชน ระยะที่ 3 จะเป็นการพัฒนาแหล่งน้ำ ทางระบายน้ำ ในพื้นที่สาธารณะ และพื้นที่ใช้ประโยชน์ร่วมกัน อย่างน้อยอำเภอละ 1 แห่งใน 76 จังหวัด โดยให้ดำเนินการตั้งแต่เดือนสิงหาคม ถึง กันยายน 2560 กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพหลัก
และระยะที่ 4 เป็นการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันในชุมชนหรือตามการร้องขอของประชาชน ดำเนินการภายในเดือนกันยายนนี้ ก็ขอเรียนเชิญชวนพี่น้องประชาชนและทุกภาคส่วนในการมีส่วนร่วมในกิจกรรมดังกล่าวตามวันและเวลาที่ทางราชการกำหนด ช่วยกันคนละไม้ คนละมือ ไม่ใช่เพื่อใครก็เพื่อบ้านเรา เมืองเรา และตัวท่านเองครับผู้ที่ทิ้งขยะก็ต้องคิดก่อนทิ้ง อย่าไปเพิ่มภาระ และการทำงานเช่นนี้จะทำต่อไปเรื่อยๆ ทุกเดือนตั้งแต่เดือนนี้เป็นต้นไป เพื่อสนองพระราชปณิธานของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ด้วย
สำหรับฤดูฝนนี้ นับเป็นการเริ่มต้นฤดูการผลิตปี 2560-2561 ซึ่งรัฐบาลมีแผนที่จะสนับสนุนพี่น้องเกษตรกรให้ทำการผลิต และดำเนินการตลาดข้าวแบบครบวงจรซึ่งเป็นส่วนหนึ่ง ในเรื่องการวางรากฐานการปฏิรูปการเกษตร ประกอบด้วย โครงการแปลงใหญ่ ศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ศพก. เกษตรทฤษฎีใหม่ และโครงการ 9101 ตามรอยพ่อ
ทั้งนี้ เพื่อจะดูแลให้เกษตรกรให้มีรายได้ที่มั่นคง, มีการวางแผนการผลิตล่วงหน้า, สามารถลดความเสี่ยงจากภัยแล้งและน้ำท่วม หรือจากราคาข้าวที่ผันผวน ไปปลูกพืชทดแทนอื่นๆ รวมทั้งเพื่อสร้างรายได้เพิ่มขึ้น จากการผลิตข้าวที่มีคุณภาพ ข้าวอินทรีย์ และมีการเพาะปลูกที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งการผลิตและการตลาดข้าวแบบครบวงจรนี้ จะประกอบด้วย 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ ส่วนแรกมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิตข้าว ซึ่งรัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณให้เริ่มดำเนินการได้แล้ว ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยมีทั้งโครงการส่งเสริมการใช้เมล็ดพันธุ์ ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี โครงการส่งเสริมระบบเกษตรแปลงใหญ่ และโครงการผลิตข้าวอินทรีย์ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิตต่อไร่และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ การผลิตข้าวของชุมชนให้มีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้ ส่วนที่สอง ได้แก่ การลดพื้นที่ปลูกข้าวสารถาวร ไม่ให้มีหนี้สินอีกต่อไป ไม่ใช่ห้ามปลูกนะครับควรจะปลูกไว้แต่พอกินไม่ใช่ปลูกเพื่อขาย เพราะว่าถ้าหากว่าไม่มีคุณภาพ ราคาก็ตกต้องลดลงบ้างเพราะว่าการลดรอบการปลูกข้าว หรือลดพื้นที่นาปรังลงในพื้นที่ที่ไม่ได้ผลไม่มีคุณภาพ อาจจะทำให้มีรายได้สูงขึ้นโดยการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตัวเองบ้าง โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณสำหรับการดำเนินงานซึ่งถือเป็นอีกด้านของการวางแผนการผลิตข้าวแบบครบวงจร โดยในส่วนนี้รัฐบาลได้วางแผนให้มีโครงการเพื่อสนับสนุนทั้งสิ้น 3 โครงการ โดยมีเป้าหมาย เป็นพื้นที่ 1.23 ล้านไร่ ในวงเงินงบประมาณ 4,900 ล้านบาทดังต่อไปนี้
โครงการแรกคือ โครงการปลูกพืชอาหารสัตว์ทดแทนนาข้าว โดยกรมปศุสัตว์ มีวัตถุประสงค์เพื่อปลูกพืชอาหารสัตว์ทดแทนการปลูกข้าว สำหรับจำหน่ายและใช้เลี้ยงปศุสัตว์ของตนเอง โดยมีเป้าหมาย 77 จังหวัด คิดเป็นพื้นที่ 630,000 ไร่ วงเงินงบประมาณ 3,800 ล้านบาท เป็นการสนับสนุนค่าปัจจัยการผลิตพืชอาหารสัตว์ไร่ละ 6,000 บาท กำหนดครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่ ซึ่งจะเป็นการแบ่งจ่าย 3 ปีๆ ละ 2,000 บาท นอกจากนี้ จะมีการถ่ายทอดความรู้การปลูกพืชอาหารสัตว์ ตลอดจนให้คำแนะนำด้านการจำหน่าย เพื่อสนับสนุนพี่น้องเกษตรกรได้อย่างครบวงจรอีกด้วย
โครงการที่ 2 คือ โครงการปลูกพืชหลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2561 โดยกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อลดรอบการทำนา และให้ชาวนาได้เรียนรู้การเพาะปลูกพืชอื่น รวมทั้งสร้างรายได้ที่สูงกว่าการปลูกข้าว เป้าหมาย 53 จังหวัดในพื้นที่ 400,000 ไร่ วงเงินงบประมาณ 865 ล้านบาท เพื่อใช้สนับสนุนการปลูกพืชทดแทนไร่ละ 2,000 บาท กำหนดครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่ รวมทั้งการถ่ายทอดความรู้การผลิตพืชทดแทนให้แก่ชาวนาควบคู่ไปด้วย
และโครงการที่ 3 คือ ปลูกพืชปุ๋ยสด ฤดูนาปรัง ปี 2561 โดยกรมพัฒนาที่ดิน เพื่อลดอุปทานข้าวเปลือก โดยการปลูกพืชปุ๋ยสดทดแทนในนาข้าว และเพิ่มประสิทธิภาพการปรับปรุงบำรุงดินและตัดวงจรศัตรูพืช ซึ่งมีพื้นที่เป้า หมาย 22 จังหวัด คิดเป็น 200,000 ไร่ วงเงินงบประมาณ 230 ล้านบาท ในการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืช ปุ๋ยสด ค่าไถเตรียมดิน และค่าไถกลบไร่ละ 1,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่ ซึ่งก็จะมีการถ่ายทอดความรู้การปลูกพืชปุ๋ยสดให้แก่ชาวนาเช่นกัน ทั้งนี้ ผมหวังว่าการแก้ไขปัญหาและสนับสนุนการเพาะปลูกแบบครบวงจร ให้กับพี่น้องประชาชนครั้งนี้ จะช่วยปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกของประเทศไทย ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และภูมิอากาศในระยะยาวได้ ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นคงทางรายได้ที่ยั่งยืนให้กับพี่น้องเกษตรกรและลูกหลานต่อไป
สำหรับพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศ ทั้ง 6 ประเภทนั้น เราควรต้องมาทบทวนกันใหม่แล้วว่าปัญหาสำคัญอยู่ที่ไหน 1.มีการปลูกเกินความต้องการของตลาด มีการปลูกในพื้นที่บุกรุก ผิดกฎหมายหรือไม่ 2.มีการลงทุนเสียหายหลายครั้งจากน้ำท่วม ฝนแล้ง คุณภาพดิน พื้นที่ไม่เหมาะสมกับการเพาะปลูกพืชบางชนิด หรือไม่ และ 3. มีความต้องการทำให้ราคาสูงขึ้น ซึ่งเป็นความเดือดร้อนของเกษตรกรที่รัฐบาลก็เข้าใจดี แต่เราต้องคำนึงถึงประเด็นอื่นๆ ด้วย เช่น พันธสัญญาระหว่างประเทศ ตลาดร่วม ตลาดค้าโลก หรือระบบการค้าเสรี ที่นอกเหนือการควบคุม ทำให้เราไม่สามารถจะกำหนดราคาเองได้มากนัก เว้นแต่เราจะสามารถสร้างความแตกต่างในผลผลิตของเราให้ได้ มีคุณภาพ มีเอกลักษณ์ แข่งขันราคาได้ หรือไม่ อย่างไรนะครับ เราจึงต้องมาดูเรื่องเกษตรอินทรีย์ นวัตกรรม การวิจัยและพัฒนา การผลิตเองใช้เอง และส่งออก การสร้างมูลค่าเพิ่ม มากกว่าการขายที่เน้นปริมาณ หรือขายในลักษณะเป็นวัตถุดิบ เหล่านี้เป็นต้น ประเด็นต่างๆเหล่านี้ หากเราไม่เข้าใจไม่ทบทวนตัวเองหรือได้รับข้อมูลที่ผิดพลาด อาจจะมีผลทางจิตวิทยา และความเชื่อมั่นในทางลบกลับกลายเป็นว่ารัฐบาลและ คสช.เพิกเฉยไม่ดูแล ไม่ช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้สำหรับรัฐบาลนี้ไม่อยากให้มาช่วยกันซ้ำเติมปัญหาของพี่น้องเกษตรกร ซึ่งมีความทุกข์ร้อนใจอยู่มากมายในขณะนี้แล้ว ขอให้ทุกคนได้เข้าใจให้ตรงกัน ร่วมมือแก้ไขกันตั้งแต่ต้นทาง เกษตรกร การผลิต กลางทาง การแปรรูป สร้างนวัตกรรม การสร้างมูลค่าเพิ่ม และปลายทางก็คือการตลาด การจับคู่ธุรกิจทั้งภายในและนอกประเทศ เป็นต้น
ตัวอย่างเช่น ปัญหาการบุกรุกป่า 1.6 ล้านไร่ ไม่ใช่เป็นเพียงปัญหาด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาด้านเศรษฐกิจ คือ มีปริมาณการผลิต ที่เกินความต้องการตลาดอย่างไร้การควบคุม ทำให้ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำตามกลไกตลาด ส่งผลต่อปัญหาด้านสังคม และความมั่นคงตามมาอีกด้วย
ทั้งนี้ ที่ตรวจสอบเพราะเป็นการบุกรุกปลูกข้าวโพด 900,000 กว่าไร่ ในปีนี้ได้ทวงคืนได้แล้วประมาณ 40,000 กว่าไร่ จากเป้าหมาย 80,000 ไร่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย ผลที่ได้นี้ก็ถือว่าเป็นที่น่าพอใจ เพราะที่ผ่านมาไม่เคยทำปล่อยปละละเลย แต่หากเราทำได้ในอัตราดังกล่าว คงจะต้องใช้เวลาในการทวงผืนป่าที่บุกรุกคืนนับสิบปี แบบนี้ปัญหาก็ไม่ได้รับการแก้ไขแบบเบ็ดเสร็จในระยะเวลาอันใกล้ เพราะหากเราควบคุมปริมาณการผลิตจากการบุกรุกไม่ได้ ก็คงจะแก้ปัญหาที่ต้นทางได้ไม่เรียบร้อย
ปัญหาที่ปลายทางก็คือเรื่องปริมาณ และราคา ยังคงหมุนเวียนอยู่ทุกๆปี ซึ่งรัฐบาล และ คสช.ก็ไม่ได้ละความพยายาม ใช้สำหรับนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ซึ่งเป็นทั้งศาสตร์ และศิลป์ การแก้ปัญหาของการบุกรุกดังกล่าว เราจะต้องดูแลคนเหล่านั้นด้วย นำคนออกมาหาที่ทำกินในพื้นที่ถูกกฎหมาย หางาน สร้างอาชีพ ซึ่งหลายคนอาจจะไม่อยากเปลี่ยนแปลงตัวเอง เราจำเป็นต้องใช้มาตรการอื่นๆด้วย คู่ขนานเสริมกันไป เช่น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกพืช การใช้เทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุน เป็นต้น ไม่อยากให้ใครหยิบฉวยไปเป็นประเด็นทางการเมือง หรือขับเคลื่อนเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองในอนาคต บนความทุกข์ใจของประชาชนอีกต่อไป
ตัวอย่างการแก้ปัญหาดีมานด์ ซัพพลายคือ การผลิตและความต้องการ ที่ไม่สมดุล เราจะต้องมีการจัดพื้นที่ให้เหมาะสมนั้น สำหรับบางผลผลิตที่มีความคุ้มค่า ขายได้ราคา ตรงความต้องการของตลาด เราควรจะใช้พื้นที่ที่ ที่สุด มีน้ำเพียงพอ ไม่ท่วม ไม่แล้ง แล้วก็ดินดี เพื่อการปลูกข้าวพันธุ์ ดีที่สุด หรือพืชชนิดอื่นที่ดีที่สุดเช่นกันเพื่อสำหรับขาย หรือส่งออก ในราคาสูง
ส่วนพื้นที่ไม่ดีเท่าที่ควรก็ให้ผลผลิตน้อย ไม่ควรปลูกในปริมาณมาก ควรปลูกไว้กินเอง ข้าวถ้าปลูกทุกพื้นที่ก็คุณภาพไม่ได้ ที่ปลูกไม่ได้ผลดีก็ไปปลูกอย่างอื่นอาจจะเปลี่ยนเป็นผลไม้บ้าง ทำปศุสัตว์บ้าง ปลูกพืชพลังงาน พืชผัก ตามที่หน่วยงานราชการแนะนำ ให้เหมาะสมกับน้ำ พื้นดินที่เรามีอยู่ ราคาก็จะดีขึ้นเอง
ปัจจุบันเรานำเอาเทคโนโลยี Agri map เข้ามาช่วยด้วย แต่สำหรับผู้ที่ไม่มีธรรมาภิบาล ไม่เคยคิดถึงผลลัพธ์ ประสิทธิภาพประสิทธิผล ไม่สนใจผลประโยชน์ส่วนรวม ดูแลแต่ผลประโยชน์ส่วนตน เป็นใหญ่ มีทั้งการบุกรุกพื้นที่ป่า มีการปล่อยปละละเลย มีการใช้น้ำมากเกินไป จนเกิดผลกระทบภาคการผลิตอื่นๆ มีการเรียกร้องหลายอย่าง ผลผลิตก็ไม่มีคุณภาพ เป็นปัญหาต่อเนื่อง ลักษณะเช่นนี้ วันนี้เราคงปล่อยให้เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ต้องขออภัยประชาชนด้วย พี่น้องเกษตรกร ท่านต้องเข้าใจ ไม่เข้าใจก็เป็นแบบเดิม เรียกร้องก็ไม่ได้อะไรดีขึ้น ถ้าเราไม่ร่วมมือกันตั้งแต่วันนี้ เพราะมีผลกระทบคนอื่นไปด้วย รัฐบาลแก้ไขไม่ได้ทั้งหมด
ในการนี้ประเทศไทยถือว่าเป็นความโชคดี ที่มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ได้ทรงพระราชทานแนวทางศาสตร์พระราชาไว้มากมาย และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ทำต่อเนื่อง ไปในรัชกาลปัจจุบัน ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ให้มากที่สุด
พี่น้องประชาชนที่รักครับ การประยุกต์ใช้ศาสตร์พระราชานั้น เป็นสิ่งสำคัญ และจำเป็นอย่างยิ่ง ในระยะที่ประเทศไทยกำลังพยายามจะเปลี่ยนผ่าน ไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง ประชาชนมีความสุข เราต้องสร้างความสมดุลในการใช้พื้นที่ใช้ทรัพยากรให้สมดุลกับการพัฒนาด้านอื่นๆ ทั้งเศรษฐกิจ และสังคมในภาพรวม ทั้งการพัฒนาด้านการเกษตร ด้านอุตสาหกรรม รวมทั้งการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ทุกอย่างจะต้องเกื้อกูลต่อกัน ไม่กระทบซึ่งกันและกัน เราต้องเริ่มจากการพัฒนาจากภายใน จากภายในของเรากันเอง สร้างความเข้มแข็ง เพิ่มขีดความสามารถ เติมเต็มไปด้วยการพัฒนาที่มาจากภายนอก เพื่อเชื่อมโยงห่วงโซ่ให้เกิดขึ้น โดยหลักการที่ว่า มีเหตุมีผล พอประมาณ มีภูมิคุ้มกันที่ดี ทุกอย่างจึงจะยั่งยืน สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญ ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนา ได้แก่
1. ความมั่นคง ความมีเสถียรภาพของประเทศ อย่างเช่นในปัจจุบัน
2.ความสงบสุขของสังคม และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
3.ความเชื่อมโยงกันเป็นห่วงโซ่มูลค่า ทางเศรษฐกิจทั้งในระดับฐานราก ปานกลาง และสูง จะต้องเกื้อกูลต่อกัน อย่าบอกว่าเอื้อประโยชน์ หรือผูกขาดอะไรทำนองนี้ เพราะเป็นกลไกของการค้าเสรี เพราะฉะนั้นเราทำอย่างไรให้เชื่อมโยงกันให้ได้ กระจายรายได้กันให้ได้สัดส่วนที่เป็นธรรม ในเรื่องของรายได้ก็ขอร้องภาคธุรกิจเอกชนด้วย
4.การพัฒนาทางกายภาพ ด้วยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ด้านสาธารณูปโภคต่างๆ ซึ่งสิ่งใหม่ๆ เหล่านี้ จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม และดึงดูดการลงทุน ในอนาคต
5.การพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ ด้วยการศึกษา ได้แก่ การสร้างคนรุ่นใหม่ ในทุกกิจกรรม ทุกกลุ่ม ทั้งที่จะต้องทำงาน ทั้งใน 1.0, 2.0, 3.0 และ 4.0 เราจะต้องพัฒนาไปพร้อมๆ กัน เกื้อกูลกัน อยู่ร่วมกันให้ได้ เราต้องคำนึงถึงทั้งหลักวิชาการ และหลักในการปฏิบัติงานให้ได้จริง เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต ตามยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ
ดังนั้นการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ด้วยศาสตร์พระราชานั้น เป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนต้องเข้าใจถึงแก่นแท้ของ ยุทธศาสตร์การพัฒนาก่อน คือคำว่า เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ว่าเราต้องเข้าใจถึงอะไร เข้าใจทั้งคน เข้าใจทั้งพื้นที่ เข้าใจถึงปัญหา ความเป็นอยู่ ความคิด อัตลักษณ์ ทั้ง ต้องเข้าใจซึ่งกันและกันด้วย การเข้าถึงคือ การรู้ในรายละเอียดของและต้นตอของปัญหาอย่างถ่องแท้ ทั้งปัจจัยภายใน ภายนอก ต้องสามารถแสวงหาวิธีการแก้ไข และนำไปสู่การขับเคลื่อนได้อย่างไร เราก็จะแปลงไปสู่การพัฒนา ที่มีแบบแผน ที่ปฏิบัติได้จริงและประชาชนสมัครใจเข้าร่วมด้วย โดยสามารถกำหนดได้ว่า เราจะแก้ไขและพัฒนาได้มาก น้อยเพียงไร ตามกิจกรรมที่เรากำหนดไว้ ซึ่งต้องไม่ลืมหลักการสำคัญอีก 2 ประการคือ
1.การให้ความรู้ โดยเพิ่มกระบวนการเรียนรู้ สร้างความเข้าใจ เกิดหลักคิด หลักการทำงานร่วมกัน บูรณาการกัน ระหว่างผู้มีส่วนได้ ส่วนเสียทั้งหมด ทุกภาคส่วน
2.การจัดสรรงบประมาณ ลงพื้นที่ ตามแผนงาน โครงการที่ครอบคลุม ทั้งในระดับฐานราก ชุมชน จังหวัด กลุ่มจังหวัด และภาคนะครับ ที่จะต้องดำเนินการให้สอดคล้อง เชื่อมโยงเป็นเนื้อเดียวกัน ไม่ขัดแย้งกัน ก็จะทำให้เกิดห่วงโซ่มูลค่าแก่ทุกกลุ่มเป้าหมาย ทุกสาขาอาชีพ และทุกภาคการผลิต
ทั้งนี้สิ่งแรกๆ ที่จะต้องทำ คือ การจัดกลุ่มงานให้เป็นหมวดหมู่ เป็นคลัสเตอร์ เช่น กลุ่มเกษตร กลุ่มอุตสาหกรรม ค้าขาย อิสระ และอื่นๆ นั้น จะทำอย่างไร เราต้องพิจารณาให้เหมาะสมในแต่ละกลุ่ม เพื่อจะให้ได้รับประโยชน์จากแผนงาน โครงการนั้นๆ ที่มีการใช้จ่ายงบประมาณลงไป เพราะว่าหากไม่เข้าใจหลักการทั้ง 2 ข้อกล่าวมาแล้ว การทำงานก็ไม่เกิดประสิทธิผล รายได้ก็ไม่กระจายไปสู่ทุกภาคส่วน ไม่ทั่วถึง ไม่เท่าเทียม เช่นเดิม
การพัฒนาใดๆ ก็ตาม จำต้องคำนึงถึงศักยภาพของประชาชนในพื้นที่เป็นสิ่งสำคัญด้วย โดยมีข้อพิจารณาสำคัญ ตามศักยภาพของพื้นที่เป้าหมาย ทั้งกลุ่มจังหวัด ท้องถิ่น และชุมชน ดังนี้
1.พื้นที่ของเรานั้นทั้งประเทศมีความเหลื่อมล้ำมาก บางส่วน ประเภทที่ 1 มีความเร่งด่วนอันดับแรก ในการเสริมสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ ทั้งถนนหนทาง น้ำ ไฟฟ้า โทรศัพท์พื้นฐาน อินเทอร์เน็ต เป็นต้น ให้อยู่ในระดับที่ เพียงพอต่อการดำรงชีพ และการประกอบอาชีพก่อน เพื่อสร้างโอกาส สร้างงาน สร้างรายได้ให้เกิดการติดต่อค้าขาย สัญจรไปมา ตลาดชุมชน และ กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมอื่นๆ ตามมาจนสามารถพึ่งพาตนเองได้ ในที่สุด
2.พื้นที่ที่พอมีศักยภาพอยู่แล้ว เราก็เพียงเข้าไปต่อยอด ส่งเสริมขีดความสามารถด้วยความรู้ ด้วยนวัตกรรม ให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ในการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน ชุมชน เช่น OTOP ภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือปราชญ์ชาวบ้าน โดยหน่วยงานราชการ และรัฐบาล จะต้องแสวงหาความร่วมมือ และอำนวยความสะดวก ในการสร้างกลไกประชารัฐในแต่ละท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนให้มีการพัฒนา ตั้งแต่ ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง ตลอดห่วงโซ่การผลิต เพื่อเป็นการกระจายรายได้
3.เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพเพียงพอ มีความสมบูรณ์ทางกายภาพอยู่แล้ว เราก็จะ พิจารณาจากที่มีรายได้สูง พร้อมรองรับการขยายตัว อย่างเช่นพื้นที่อินทรีย์เหล่านี้เป็นต้น การพัฒนาในทุกกิจกรรม ซึ่งรัฐบาลจะต้องมีแผนงาน โครงการลงไป ทั้งนี้ เพื่อจะผลักดันการพัฒนาไปสู่ระดับสูงสุด และ เพื่อสร้างการเชื่อมโยงที่เกื้อกูลการพัฒนาในพื้นที่โดยรอบ ใกล้เคียง ไปพร้อมๆ กันด้วย เช่น การขยายข่ายถนน รถไฟฟ้า รถราง อุโมงค์ สะพาน ท่าเรือ ท่าอากาศยาน ทั้งนี้ หากเราสามารถแยกกลุ่มเป้าหมายที่เป็นพื้นที่จัดทำกิจกรรมให้เป็นหมวดหมู่ เป็นคลัสเตอร์ได้อย่างชัดเจน เราก็จะสามารถที่จะเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย ที่เกื้อหนุนกันได้ ไม่ว่าจะเป็นต้นทาง กลางทาง ปลายทาง ก็เหมือนกับการปลูกป่า ที่ย่อมประกอบไปด้วยพันธุ์ไม้ต่างๆ นานา ทั้งไม้ยืนต้น ไม้เถา ไม้เลื้อย ไปจนถึงพืชคลุมดิน ซึ่งต่างมีความสัมพันธ์ ซึ่งกันและกัน ตามธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาแนวความคิดในการบริหารงบประมาณยังคงไม่ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างเต็มที่ ซึ่งที่ผ่านมาไม่ยั่งยืน เพราะเราจะหวังพึ่งเพียงงบฟังก์ชั่นของแต่ละหน่วยงาน ที่ลงไปในพื้นที่ เพียงเท่านั้น จะไม่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ อย่างที่ผมกล่าวไปแล้ว และก็ไม่สามารถสร้างความเชื่อมโยงกัน ในต่างพื้นที่ได้ อย่างที่มี 3 ประเภท เราจำเป็นต้องเชื่อมโยงเหล่านั้นเข้าด้วยกัน รัฐบาลนี้จึงจัดให้มีงบในการบูรณาการทั้งในมิติ กิจกรรม เพื่อจะสร้างความเชื่อมโยงเพิ่มมูลค่าส่งเสริมนวัตกรรม และในมิติพื้นที่ด้วย ตั้งแต่ระดับภาค กลุ่มจังหวัด จังหวัด ชุมชน จนถึงฐานรากด้วย ตัวอย่างการขับเคลื่อนของกระทรวงพาณิชย์ที่ต้องทำงานฟังก์ชั่นของกระทรวงฯ และงานบูรณาการกับกระทรวงอื่นๆ ในการดูแลเศรษฐกิจฐานราก ได้แก่ การช่วยเหลือเกษตรกรในด้านการตลาด ธุรกิจเอสเอ็มอี สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน และสถาบันเกษตรกร ร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ ไปด้วย เพราะเกษตรคือต้นทาง พาณิชย์คือกลางทาง และจัดหาตลาดปลายทาง เราจะมีกลไกประชารัฐในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนตามนโยบายรัฐบาลไปด้วย เพื่อให้เกิดการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนของประชาชน มากกว่าที่จะเรียกร้องแต่เพียงอย่างเดียว เราจะต้องให้การสนับสนุนโครงสร้างทางการค้าให้เอื้อต่อความเจริญเติบโตของท้องถิ่นแก่ผู้ประกอบการ ให้มีความรู้ในการบริหารจัดการ และมีการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เป็นของตนเอง ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมกลไกพาณิชย์จังหวัด เชื่อมโยงการพัฒนาต่างๆ ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์เศรษฐกิจกลุ่มจังหวัด และอยู่ในกรอบของยุทธศาสตร์เศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย ถ้าแต่ละกระทรวงทำแต่ของตัวเอง มันไม่สามารถจะไปบูรณาการกันได้ แล้วมันจะเกิดผลผลิตออกมา หรือผลงานออกมาที่ไม่เป็นรูปธรรมนัก ไม่มีประสิทธิผล
ในหลายๆ ด้านวันนี้ที่กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการอยู่ อาทิ การจัดตั้งพาณิชย์ภูมิภาคทั้ง 6 ภูมิภาค ให้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนการดำเนินงานของกระทรวงพาณิชย์ ที่จะช่วยยกระดับผู้ประกอบการฐานราก และกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพทุกระดับให้สามารถเพิ่มโอกาสช่องทางทางการตลาดและการขยายธุรกิจ การส่งเสริมและพัฒนาตลาดกลาง ตลาดประชารัฐเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาคเอง และรองรับการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงประเทศอื่นๆ ผ่านการจับคู่ทางธุรกิจ และมีการเชื่อมโยง และขยายช่องทางการตลาดให้กับเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชนในการจำหน่ายผลผลิต และผลิตภัณฑ์แปรรูป ผ่านช่องทางตลาดต้องชม ศูนย์จำหน่ายสินค้าเกษตรชุมชน (Farm Outlet) และตลาดเฉพาะสินค้า (Magnet Market) เป็นต้น
พี่น้องประชาชนที่เคารพรักครับ ถ้าท่านติดตามรายการศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนในปัจจุบัน และรายการคืนความสุขให้คนในชาติ รวมทั้งรายการเดินหน้าประเทศไทย และอื่นๆ ของทางรัฐบาล และ คสช. มาอย่างต่อเนื่อง ท่านลองทบทวนดูนะครับว่า ที่ผ่านมามีรัฐบาลใดมาพูดถึงเรื่องต่างๆ ในหลายๆ กิจกรรมทุกกิจกรรมให้ฟังมากมาย ทั้งการแก้ปัญหา ทั้งการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงปฏิรูปในปัจจุบัน แล้วไปสู่อนาคต ที่ทุกคนจะต้องคาดหวังร่วมกัน รัฐบาลนี้ที่พูดชี้แจง หวังแต่เพียงให้เข้าใจ ร่วมมือ ไม่ได้ต้องการจะมาบิดเบือน หรือไปให้ร้ายใครทั้งสิ้นอย่างไรก็ตาม ก็มีฝ่ายบิดเบือนสร้างความไม่เข้าใจอีกต่อไป ขอให้ประชาชนช่วยทบทวนดูด้วย ลองติดตามดูก็จะทราบถึงเจตนาของรัฐบาล คสช.นี้ ที่ต้องการจะมอบความรู้ สร้างความเข้าใจ และแสวงหาความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในรูปแบบ ประชารัฐ อย่าแบ่งแยกแบ่งฝ่ายกันต่อไปอีกเลย โดยเฉพาะในช่วงการเปลี่ยนผ่านประเทศ ไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนตลอดไป
ผมมั่นใจว่าปัจจุบันคนไทยรู้จักคำศัพท์ใหม่ๆ และ เข้าใจการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เป็นอย่างดีไม่มากก็น้อย อาทิ ยุทธศาสตร์ชาติ ,การปฏิรูป, ประชารัฐ เศรษฐกิจฐานราก ,การบูรณาการงาน - คน - เงิน, ไทยแลนด์ 4.0 รวมถึง 1.0 2.0 และ 3.0 , สมาร์ทฟาร์เมอร์ , ตลาดชุมชน ตลาดออนไลน์ , การแปรรูปผลิตภัณฑ์ การสร้างมูลค่าเพิ่ม ห่วงโซ่มูลค่า, การพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และอีอีซี ความมั่นคงทางพลังงาน, มหาอำนาจทางอาหาร - บริการ - การท่องเที่ยวศูนย์กลางทางภูมิภาคอาเซียน, ไทยแลนด์+อาเซียน+1 , Stronger together การเข้มแข็งไปด้วยกัน และ Not let anyone behind โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และที่สำคัญที่สุดคือ หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน และสอดคล้องกับหลักการขององค์การสหประชาชาติ ที่เรียกว่า SEP for SDG ด้วย
ทั้งนี้ ผมกำลังจะพูดถึงช่องทางการสื่อสารของหน่วยงานภาครัฐที่รัฐบาลมีความพยายามอย่างต่อเนื่อง ในการพัฒนาทั้งรูปแบบ ทั้งวิธีการ หรืออะไรก็ตาม เพื่อจะเข้าถึงประชาชนทุกกลุ่ม หรือให้พี่น้องประชาชนทั้งหมดของประเทศนี้ ได้รับทราบข่าวสารของทางราชการ บนพื้นฐานของความเป็นจริง ไม่ต้องไปพึ่งพาช่องทางอื่นที่อาจไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด หรือ คำตอบสุดท้ายของสังคม โดยการศึกษาจากผลโพล ผลจากการประเมิน หรือคำติชมต่างๆ ผมรับฟังทุกค่าย เพื่อนำมาปรับปรุงการประชาสัมพันธ์ภาครัฐ อาทิ
1.สวนดุสิตโพล มีผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับรัฐบาลในการรับรู้ผลงานของรัฐบาลก่อนแถลงผลงานรอบ 3 ปี ว่า ประชาชน 54% พอรับรู้อยู่บ้างจากสื่อต่างๆ 20% รับรู้อย่างดี เพราะติดตามข่าวรัฐบาล และรายการของนายกรัฐมนตรี รวมไปแล้วก็ 70 กว่าเปอร์เซ็นต์ อีกพวกหนึ่งคือ 8% ไม่รับรู้เลย ไม่สนใจ เพราะต้องทำงาน อันนี้เป็นความแตกต่าง
2.ข้อมูลจากการศึกษาของ TNS ระบุว่า คนไทยที่เข้าชมยูทูปมากกว่า 71% เข้ามาดูมากกว่า 1 ครั้งในแต่ละวัน โดย 90% เข้าใช้งานทุกวัน และ 61% ใช้เวลากับยูทูปมากกว่าทีวี คนไทยใช้ออนไลน์รวม 8.3 ชั่วโมงต่อวัน ถือว่ามาก เป็นการใช้ผ่านมือถือ 4 ชั่วโมง ใช้เวลาดูทีวี 2.3 ชั่วโมง เหล่านี้เป็นต้น
หรือ 3.รูปแบบสื่อและโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่จะได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบันจะมีลักษณะเน้นการเล่าเรื่องราวมากกว่าขายของ เสริมด้วยเพลงดนตรี และการใช้ผู้มีชื่อเสียง ดารา หรือผู้นำทางความคิดเป็นผู้นำเสนอ เป็นต้น
ที่กล่าวมานั้นเป็นตัวอย่างข้อมูลที่เป็นโจทย์ให้งานประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลจำเป็นต้องปรับตัว เพื่อให้บริการและอำนวยความสะดวกแก่พี่น้องประชาชนอย่างทั่วถึง และดีที่สุด ปัจจุบันนอกจากช่องทางสื่อสารเดิมที่เรารู้จักกันดีอยู่แล้ว รัฐบาลได้สร้างกลไกการประชาสัมพันธ์เพิ่มเติม” อีก อาทิ
1.เครือข่าย ID-IA-IRChat ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงสื่อทุกประเภทของกรมประชาสัมพันธ์ที่มีทั้งวิทยุ โทรทัศน์ สื่อออนไลน์ กับโฆษกรัฐบาล โฆษกกระทรวง องค์กรมหาชน และรัฐวิสาหกิจ ในการตอบประเด็นปัญหาสังคมทุกเรื่อง ทุกมิติ ที่เน้นความถูกต้องทันเวลาภายใน 1 วัน หรือ เร็วที่สุด โดยมีสํานักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (สรอ.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) สนับสนุนในการปฏิบัติ ปัจจุบัน ได้เปิดให้บริการเฟซบุ๊กชื่อ PAGE IR เพื่อนำคำตอบ การไขข้อข้องใจ และรับฟังเสียงสะท้อนจากประชาชนโดยตรง เพิ่มเติมจากการสื่อสารผ่านเครือข่ายสื่อมวลชนทุกแขนง จะได้เป็นการสื่อสาร 2 ทาง ผมหวังว่า จะเป็นแหล่งข้อมูลให้สื่อโซเชียล สื่อกระแสหลักสามารถนำไปใช้อ้างอิง ขยายผล และลดความเข้าใจผิด ลดความขัดแย้งในสังคมได้ในอนาคต ด้วย อย่าไปเพิ่มมากกว่าเดิมก้แล้วกัน
และ 2.เครือข่ายวิทยุกระจายเสียง หอกระจายข่าว วิทยุชุมชน ขอความร่วมมือนะครับ โดยกรมประชาสัมพันธ์ กสทช. และกระทรวงมหาดไทย จะทำงานร่วมกัน นอกจากการนำประเด็นใน IR Chat ดังกล่าวไปขยายผลให้ตรงกลุ่มเป้าหมายในแต่ละพื้นที่อย่างปัจจุบันทันด่วนแล้ว ยังเป็นกลไกในการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล ซึ่งบางครั้งเป็นเรื่องยาก แต่เล่าข่าวโดยคนในท้องถิ่นด้วยภาษาถิ่น อาจจะทำให้เข้าใจได้ง่ายมากขึ้น
สำหรับการสื่อสารกันเองในหน่วยงานราชการ ผมเน้นการสร้างความเข้าใจให้กับข้าราชการทุกคน ทุกกระทรวง ทุกระดับในนโยบายต่างๆ เพื่อการนำไปสู่การปฏิบัติ จะต้องไม่มีอุปสรรค และต้องสามารถทำความเข้าใจพี่น้องประชาชนได้อย่างชัดเจน ได้สั่งการให้รัฐมนตรี และปลัดกระทรวง อธิบดีได้เน้นย้ำให้ผู้บริหารลงพื้นที่ เพื่อสร้างความเข้าใจกับผู้ปฏิบัติ และประชาชนโดยตรง เลี่ยงการทำงานบนโต๊ะ เน้นการชี้แจง การสร้างการรับรู้ ให้มากที่สุดให้ถี่ให้ถึงทุกพื้นที่ ข้าราชการระดับล่างจะได้มีกำลังใจด้วย
ทั้งนี้ ข่าวสารสำคัญในช่วงนี้ คือ ภารกิจการสร้างความปรองดองที่ทุกคนอยากทราบของรัฐบาล และ คสช. ผมอยากให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบความคืบหน้า และเชิญชวนให้มีส่วนร่วม คือคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองของ ป.ย.ป. จะจัดเวทีสาธารณะ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากพี่น้องประชาชนทั่วประเทศอีกครั้ง ช่วงสัปดาห์หน้า วันที่ 17 – 20 กรกฎาคมนี้ รายละเอียดวัน เวลา และสถานที่ ตามหน้าจอ
ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน รวมทั้งจากพรรคการเมืองต่างๆ ด้วย แล้วจะนำมาจัดทำร่างสัญญาประชาคม พี่น้องประชาชนที่สนใจสามารถติดตามความคืบหน้าต่างๆ สามารถหาข้อมูลได้โดยตรงจากเฟซบุ๊กชื่อ "ปรองดองเป็นของประชาชน" โดยเวทีสาธารณะในครั้งนี้ นอกจากต้องการสร้างความตระหนักรู้แล้ว ก็ยังจะเปิดรับฟังความเห็นเพิ่มเติมอีกด้วย ก่อนที่จะนำมาจัดทำเป็นสัญญาประชาคมฉบับสมบูรณ์ ผมได้สั่งการไปแล้วในสัญญาฉบับประชาคมนั้นมันจะต้องมีแนวทางในการปฏิบัติด้วย ไม่เช่นนั้นมันก็จะมีเฉพาะในเรื่องของเรียกว่านามธรรม มันต้องมีอะไรที่จะต้องร่วมมือกันบ้าง เช่น การปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ขัดแย้ง ไม่มีการใช้อาวุธอะไรต่างๆ ทำนองนี้แนบไปกับสัญญาประชาคมด้วย ถ้าเซ็นกันแล้วต่อไปจะต้องไม่เกิดความวุ่นวายสับสนอลหม่าน เมื่อเช่นที่ผ่านมาก่อนปี 57 และเราจะมีการแถลงอย่างเป็นทางการต่อไป
ทั้งนี้ก็เป็นเสมือนการกระตุ้นจิตสำนึกความเป็นไทย ความรักชาติ และ สัญญาทางใจว่าเราจะอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างไร เราจะร่วมกันสร้างสังคมที่เข้มแข็ง สังคมที่มีสันติสุขของเราได้อย่างไรในอนาคต ประชาชนเป็นผู้กำหนดตรงนี้ไม่ใช่นักการเมือง
สุดท้ายนี้เรื่องการศึกษามีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านในการปฏิรูปของเรา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระราชทานไว้มากมาย รัฐบาลยังคงน้อมนำมาขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง กอปรกับพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ที่ทรงพระกรุณา พระราชทานเพิ่มเติมว่า การศึกษาต้องมุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียน 4 ด้านก็คือ 1.ทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง 2.พื้นฐานชีวิต อุปนิสัยที่มั่นคงเข้มแข็ง มีคุณธรรม 3.มีอาชีพ มีงานทำ และ 4.เป็นพลเมืองดี ซึ่ง ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ได้บรรยายให้กับผู้บริหารของมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2560 ผมขอให้ทุกคนและทุกหน่วยงาน รวมทั้งเน้นย้ำให้คณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษาได้น้อมนำไปขับเคลื่อนอย่างบูรณาการด้วย
ทั้งนี้ ผมอยากจะฝากถึงเด็กเยาวชนไทย คือเรื่องพฤติกรรมรักการอ่าน คุณพ่อคุณแม่อย่าคิดว่ารอให้เด็กอ่านออกเอง แล้วค่อยสนับสนุนให้ลูกอ่านหนังสือ แบบนี้มันช้าไป นิสัยรักการอ่านต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็ก ยิ่งเล็กยิ่งได้ผล บางครอบครัวผมเห็นเขาอ่านให้ลูกฟังตั้งแต่อยู่ในท้อง เมื่อโตขึ้น อ่านหนังสือออก เขาจะกลายเป็นเด็กที่รักการอ่าน รักการแสวงหาความรู้ มีสมาธิ และจินตนาการ เพราะการอ่านหนังสือเด็กต้องตั้งใจค่อยๆ คิดตามเนื้อเรื่อง พ่อแม่บางคนอาจบอกว่า ไม่มีเวลา ต้องทำมาหากิน ผมก็เข้าใจ แต่ถ้าเรารักลูกหลาน ไม่ให้เขามีปัญหาในอนาคต เราต้องพยายามจัดสรรเวลาให้ได้ ไม่ต้องมาก อาจจะอ่านให้เขาฟังวันละ 5-10 นาที ทุกๆ วันเท่านั้นเอง ให้ลูกหลานติดหนังสือ ดีกว่าไปติดเกม ติดมือถือ แล้วเราไปแก้ไขไม่ได้เมื่อเขาโตขึ้น ผลลัพธ์ในที่สุด เขาก็จะเติบโตขึ้นเป็นคนมีความคิด มีความรู้ เป็นทรัพยากรที่ดีของชาติในอนาคต ทุกประเทศแข่งขันกันในที่การมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญอย่างหนึ่งว่า ประเทศนั้นๆ จะเจริญก้าวหน้าได้เพียงใด ผมอยากฝากข้อความเหล่านี้ถึงคุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ปกครองทุกครอบครัวด้วย
และขอแสดงความยินดี และชื่นชมน้องจีน ด.ญ.อาฒยา ฐิติกุล นักกอล์ฟมือสมัครเล่นของไทย โดยสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศในการแข่งขันรายการเลดี้ ยูโรเปียนไทยแลนด์ แชมเปี้ยนชิป ณ เมืองพัทยา จ.ชลบุรี นับว่าผู้ชนะการแข่งขันกอล์ฟอาชีพที่อายุน้อยที่สุดในโลก เพียง 14 ปี เป็นบทพิสูจน์ว่า ความสามารถไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุ แต่ขึ้นอยู่กับการสนใจ ใฝ่เรียนรู้ มั่งมั่นฝึกฝน และพัฒนาตนเอง ด้วยความมีวิริยะอุตสาหะอย่างสม่ำเสมอ ที่ผ่านมานั้นน้องจีนมีแรงบันดาลใจจากรุ่นพี่ เช่น โปรเม เอริยา เป็นแรกผลักดันให้ประสบความสำเร็จในวันนี้ ผมชื่อว่าน้องจีนก็กลายเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจของเด็กไทยอีกหลายต่อหลายคน
กีฬาหลายประเภท ขอชื่นชมกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาขอบคุณสมาคมต่างๆ วันนี้มีนักกีฬาของเราหลายประเภทได้รับรางวัล ไม่ว่าจะเป็น โปโลน้ำ เทควันโด แบดมินตันและอะไรต่างๆ ก็ถึงแม้ว่าจะไม่ชนะเลิศแต่เราได้เข้าไปแข่งขันก็ไม่ได้เสียชื่อ เป็นกำลังใจให้ต่อไป คนไทยทุกคนเป็นกำลังใจ ทั้งที่ผมกล่าวถึง และยังไม่ได้กล่าวถึง อาจจะหลงลือไปบ้าง แต่ผมก็ได้ให้โฆษกรัฐบาลได้ชื่นชมไปแล้วในข่าวสารประจำวัน ขอบคุณครับขอให้ทุกคนมีความสุขในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ อย่าทานเหล้านะครับ ช่วงนี้ช่วงเข้าพรรษาลองหยุดดูซิ อาจจะดีขึ้น หยุดทานเหล้าหยุดสูบบุหรี่ สวัสดีครับ
ฟังรายการย้อนหลังผ่านยูทูป ช่องวีดีโอ chorsaard