เฉียบขาด! ปปช. ฟัน ปปง. ระดับผู้อำนวยการเรียกรับเงิน 20 ล้านเป่าคดีอายัดทรัพย์

Last updated: 12 ธ.ค. 2560  |  3813 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เฉียบขาด! ปปช. ฟัน ปปง. ระดับผู้อำนวยการเรียกรับเงิน 20 ล้านเป่าคดีอายัดทรัพย์

คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดทางวินัยและอาญา ข้าราชการสังกัด ปปง. และกองทัพเรือ

วันที่ 16 มิถุนายน 2560 ที่สำนักงาน ป.ป.ช. สนามบินน้ำ จังหวัดนนทบุรี ​นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. และโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลทางวินัยและอาญา ข้าราชการสังกัดสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และกองทัพเรือ และให้ส่งรายงานการไต่สวนไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อลงโทษทางวินัย และอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีอาญา แล้วแต่กรณีต่อไป ดังนี้

​1. เรื่องกล่าวหานายอภิชาติ ถนอมทรัพย์ ผู้อำนวยการกองคดี 2 สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และนายอเนก ใจพยุงตน กรณีร่วมกันเรียกเงิน จำนวน 20 ล้านบาท จากนายเกษม กลั่นยิ่ง และนายสุรเดช พรหมโชติ ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ที่ถูกตรวจสอบทรัพย์สินตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการตอบแทนในการช่วยเหลือทางคดีเกี่ยวกับการถอนอายัดทรัพย์สิน
​จากการไต่สวนข้อเท็จจริงฟังได้ว่า สำนักงาน ปปง. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้นายอภิชาติ ถนอมทรัพย์ ผู้อำนวยการกองคดี 2 เป็นหัวหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงิน กรณีนายเกษม กลั่นยิ่ง และนายสุรเดช พรหมโชติ ผู้บริหารสำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา สกสค. กับพวก มีพฤติการณ์ทุจริตเงินกองทุนของ สกสค. ปรากฏว่าหลังจากที่คณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติให้อายัดทรัพย์สินของผู้ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราวแล้ว เมื่อประมาณกลางเดือนมิถุนายน 2558 นายอภิชาติ ถนอมทรัพย์ และนายอเนก ใจพยุงตน ซึ่งเป็นราษฎร ได้ร่วมกันเรียกเงิน จำนวน 20 ล้านบาท จากนายเกษม กลั่นยิ่ง และนายสุรเดช พรหมโชติ เพื่อเป็นการตอบแทนในการช่วยเหลือทางคดีเกี่ยวกับการถอนอายัดทรัพย์สิน จากนั้นมีการส่งมอบเงินให้นายอภิชาติ ถนอมทรัพย์ และนายอเนก ใจพยุงตน รวม 3 ครั้งๆ ละ 2 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 6 ล้านบาท ครั้งที่ 1 เมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2558 ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2558 และครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2558 ตามลำดับ

​คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว จึงมีมติว่านายอภิชาติ ถนอมทรัพย์ มีมูลความผิดทางวินัย อย่างร้ายแรงและมีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงาน เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 และมาตรา 157 และฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ รับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคลนอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมายหรือกฎ ข้อบังคับ ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 103 กรรมหนึ่ง และมีมูลเป็นความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้น การปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และฐานเป็นเจ้าพนักงานรู้หรืออาจรู้ความลับของทางราชการ กระทำโดยประการใด ๆ อันมิชอบด้วยหน้าที่ให้ผู้อื่นรู้ความลับนั้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 164 และฐานรู้หรืออาจรู้ความลับในราชการเกี่ยวกับการดำเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กระทำด้วยประการใด ๆ ให้ผู้อื่นรู้หรืออาจรู้ความลับดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติ ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 66 อีกกรรมหนึ่ง โดยมีนายอเนก ใจพยุงตน ซึ่งเป็นราษฎรเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดดังกล่าว

2. เรื่องกล่าวหา นาวาเอกอัชฌบูรณ์ เซ็นพานิช เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บังคับการเรือหลวงสิมิลันกับพวก กรณีเบียดบังน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดดีเซลหมุนเร็วของเรือหลวงสิมิลันไปเป็นประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่น หรือยอมให้ผู้อื่นเอาน้ำมันเชื้อเพลิงดังกล่าวไป เป็นเหตุให้น้ำมันเชื้อเพลิงชนิดดีเซลหมุนเร็วของเรือหลวงสิมิลันขาดบัญชีจำนวน 305.294 กิโลลิตร คิดเป็นเงินจำนวน 4,350,439.50 บาท

​จากการไต่สวนข้อเท็จจริงฟังได้ว่านาวาเอกอัชฌบูรณ์ เซ็นพานิช ได้สั่งการให้ผู้ใต้บังคับบัญชา จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดดีเซลหมุนเร็วจากถังระวางบรรทุกหลายกรณี ได้แก่ จ่ายไปยังแผนกอื่น จ่ายเป็นสวัสดิการแก่กำลังพลประจำเรือ จ่ายให้การสนับสนุนเรืออื่น จ่ายให้หน่วยงานอื่นในสังกัดกองทัพเรือ หน่วยงานอื่นนอกสังกัด และจ่ายสนับสนุนนักกีฬาในการฝึกซ้อม โดยไม่มีอำนาจ และรายงานสถานภาพน้ำมันเชื้อเพลิงคงคลังในถังระวางบรรทุก เป็นเท็จ ทั้งที่ทราบว่าสถานภาพน้ำมันเชื้อเพลิงคงคลังที่แท้จริงมีจำนวนน้อยกว่าที่รายงาน

คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว จึงมีมติว่านาวาเอกอัชฌบูรณ์ เซ็นพานิช มีมูลความผิด ทางวินัยอย่างร้ายแรง และมีมูลเป็นความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสียตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

"..การชี้มูลความผิดทางอาญาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สุด ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด.."

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้