Last updated: 12 ธ.ค. 2560 | 2593 จำนวนผู้เข้าชม |
7 วันอันตรายวันแรกเซ่นสงกรานต์ดับ 33 ราย เหตุเมาแล้วขับ “อุบล – โคราช” ดับ จังหวัดละ 4 ราย ศปถ.กำชับ จังหวัดเข้มข้นสายหลัก-สายรอง คุมเข้มพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุ
เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 12 เม.ย. ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พล.ท.ธเนศ กาลพฤกษ์ หัวหน้าฝ่ายกิจการพลเรือน ส่วนงานการรักษาความสงบเรียบร้อย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2560
โดย ศปถ.ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 11 เม.ย. ซึ่งเป็นวันแรกของการรณรงค์ ภายใต้แนวคิด “ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร” เกิดอุบัติเหตุ 409 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 33 ราย ผู้บาดเจ็บ 420 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาแล้วขับ ร้อยละ 45.48 ขับรถเร็ว ร้อยละ 24.94 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 77.80 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 65.28 บนถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 36.67 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 32.03
ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01-20.00 น. ร้อยละ 29.34 ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน ร้อยละ 46.36 ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,025 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 63,299 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 603,474 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 93,564 ราย มีความผิดฐานไม่มีใบขับขี่ 27,081 ราย ไม่สวมหมวกนิรภัย 26,465 ราย
โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 18 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ อุบลราชธานี และนครราชสีมา 4 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ เชียงราย 17 คน
พล.ท.ธเนศ กล่าวต่อว่า วันนี้เป็นวันสุดท้ายของการทำงาน ประชาชนส่วนใหญ่ทยอยเดินทางกลับภูมิลำเนา ท่องเที่ยว และเล่นน้ำสงกรานต์ในพื้นที่ต่างๆ คาดว่าถนนสายหลักโดยเฉพาะเส้นทางขาออกจากกรุงเทพฯ มุ่งสู่ภูมิภาคต่างๆ จะมีปริมาณรถหนาแน่น ศปถ.ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายจราจรที่มีอยู่เดิม และกฎหมายพิเศษตามคำสั่ง คสช.อย่างเคร่งครัด เน้นการปฏิบัติการบนเส้นทางสายหลัก
โดยเฉพาะการคุมเข้มการขับรถเร็ว เมาแล้วขับ ไม่สวมหมวกกันน็อก ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย และขับรถย้อนศร พร้อมเพิ่มความเข้มข้นในการเรียกตรวจรถโดยสารสาธารณะทั้งประจำทาง ไม่ประจำทาง และรถจักรยานยนต์เป็นพิเศษ รวมถึงเข้มงวดรถกระบะที่บรรทุกผู้โดยสารท้ายกระบะในลักษณะเสี่ยงอันตราย ที่สำคัญ ให้กวดขันสภาพความพร้อมของรถโดยสารสาธารณะ และตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ของพนักงานขับรถ เพื่อให้อุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะเป็นศูนย์
ด้าน นายชยพล ธิติศักดิ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ได้กำชับให้จังหวัดบูรณาการตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง อาสาสมัคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่บริหารจัดการจราจร และอำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่ประชาชนตลอดเส้นทาง โดยเฉพาะจังหวัดที่มีเส้นทางหลักมุ่งสู่ภูมิภาคต่างๆ และมีการจราจรหนาแน่น ให้เร่งระบายรถ เปิดช่องทางพิเศษ ปิดจุดกลับรถ ปรับสัญญาณไฟจราจรให้สอดคล้องกับช่วงเวลาในการเดินทางของประชาชน
พร้อมทั้งประสานหน่วยทหารในพื้นที่จัดกำลังพลสนับสนุนการปฏิบัติงานในจุดตรวจ จุดบริการ และด่านชุมชน เพื่อเสริมประสิทธิภาพในการสร้างความปลอดภัยในการเดินทาง นอกจากนี้ได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจ เข้มงวดการเรียกตรวจผู้ขับขี่ที่มีพฤติกรรมการขับรถในลักษณะเสี่ยงอุบัติเหตุ โดยเฉพาะเมาแล้วขับ ขับรถเร็ว เพื่อป้องปรามไม่ให้สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้ร่วมใช้เส้นทาง
ขณะที่ นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 13 เม.ย. เป็นวันมหาสงกรานต์ ศปถ.จึงได้กำชับให้จังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพิ่มความเข้มข้นในการดำเนินงานตามแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ดูแลความปลอดภัยในการสัญจรทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ โดยเฉพาะการดำเนินมาตรการ “1 ท้องถิ่น 1 ถนนปลอดภัย” และ “1 อำเภอ 1 ลานกิจกรรม” เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ พร้อมดำเนินมาตรการทางสังคม โดยกำหนดกติกาชุมชน ประชาคมหมู่บ้าน
สำหรับเป็นข้อตกลงร่วมกันในการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย รวมถึงจัดโซนนิ่งพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ปลอดภัยและปราศจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่งเสริมการเล่นน้ำสงกรานต์ตามประเพณีวิถีไทย ท้ายนี้ ฝากผู้ใช้รถใช้ถนนยึดการปฏิบัติตามหลัก “4 ห้าม 2 ต้อง” 4 ห้าม ได้แก่ ห้ามขับรถเร็ว ห้ามเมาแล้วขับ ห้ามโทรแล้วขับ ง่วงห้ามขับ 2 ต้อง ได้แก่ ต้องสวมหมวกกันน็อก และต้องคาดเข็มขัดนิรภัย เพื่อให้การเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เต็มเปี่ยมด้วยความสุขและความปลอดภัย