Last updated: 12 ธ.ค. 2560 | 3060 จำนวนผู้เข้าชม |
ประธาน ป.ป.ช. เปิดสัมมนาร่างมาตรการป้องกันการทุจริตเพื่อแก้ไขปัญหาการออกเอกสารสิทธิในที่ดินโดยมิชอบ
วันที่ 8 มีนาคม 2560 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ จังหวัดนนทบุรี มีการจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับ “ร่างมาตรการป้องกันการทุจริตเพื่อแก้ไขปัญหาการออกเอกสารสิทธิในที่ดินโดยมิชอบ” โดยมี พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธาน ในพิธีเปิดการสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็น ร่างมาตรการป้องกันการทุจริตเพื่อแก้ไขปัญหาการออกเอกสารสิทธิในที่ดินโดยมิชอบ โดยมีนายณรงค์ รัฐอมฤต กรรมการ ป.ป.ช. พร้อมด้วยนายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ร่วมงานด้วย ณ ห้องนนทบุรี 1 สำนักงาน ป.ป.ช.
สำหรับการจัดทำมาตรการในการป้องกันการทุจริตในการออกเอกสารสิทธิในที่ดินโดยมิชอบนี้ มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน เนื่องจากมีผลกระทบต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง ในวงกว้าง เพื่อให้มาตรการดังกล่าวมีความสมบูรณ์ของข้อมูลมากที่สุด และมีแนวทางแก้ไขครอบคลุมทุกประเด็นปัญหา นอกจากนี้ ยังเป็นการสนับสนุนให้ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม หน่วยงานของรัฐและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำมาตรการในการป้องกันการทุจริต ตลอดจนเป็นการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2560 – 2564) ในยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนาระบบป้องกันการทุจริตเชิงรุก ให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งยุทธศาสตร์นี้มุ่งเน้นการพัฒนากลไกและกระบวนงานด้านการป้องกันการทุจริตของประเทศไทยให้มีความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อลดโอกาสการทุจริต หรือทำให้การทุจริตเกิดยากขึ้นหรือไม่เกิดขึ้น โดยอาศัยทั้งการกำหนดกลไกด้านกฎหมาย กลไกทางการบริหารและกลไกอื่น ๆ ตลอดจนเสริมสร้างการปฏิบัติงานของหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนให้มีธรรมาภิบาลมากยิ่งขึ้น
พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวด้วยว่า สิ่งนี้จะเป็นการช่วยชาวบ้านที่ตกเป็นเหยื่อจากกลุ่มนายทุนหรือกลุ่มผู้มีอิทธิพลบางกลุ่มได้ด้วย ซึ่งขณะนี้คณะอนุกรรมการดังกล่าวได้ศึกษาและรวบรวมข้อมูลจากปริมาณคดี สถิติเรื่องกล่าวหาที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานต่างๆ และเรื่องที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด โดยเห็นว่า ปัญหาสำคัญในเรื่องนี้ ได้แก่ ปัญหาแนวเขตที่ดินของรัฐไม่ชัดเจน ปัญหาหน่วยงานของรัฐไม่ตรวจสอบและเฝ้าระวังแนวเขตที่ดินของรัฐ ปัญหาผู้มีอิทธิพล และปัญหาเจ้าหน้าที่ของรัฐจงใจทุจริต และอาจมีข้อเสนอแนะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการร่วมด้วย เช่น การตรวจสอบข้อมูลการออกเอกสารสิทธิในที่ดินโดยมิชอบที่ต้องสอบสวนดำเนินคดี ทั้งทางแพ่ง และทางอาญา เป็นต้น
นายมานัส ฉั่วสวัสดิ์ รองอธิบดีกรมที่ดิน กล่าวว่า การออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบเกิดจาก 3 ส่วนคือ 1.คนทั้งผู้ปฏิบัติ ทั้งเจ้าหน้าที่ ผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ขอออกเอกสารสิทธิ 2.ข้อกฎหมาย ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง บางอย่างที่ทำในอดีตคิดว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ แต่ตอนนี้เราก็องว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และ 3.ความคิดเห็นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน ทั้งเรื่องการออกเอกสารสิทธิ การเพิกถอนเอกสารสิทธิ ทั้งนี้ตนเข้าใจว่าการที่เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการมาด้วยความระมัดระวังทั้งหมด ไม่ได้ตั้งใจจะออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ แต่การออกเอกสารสิทธิสมัยก่อนยังไม่มีเครื่องมือและเทคโนโลยีในการตรวจสอบ อย่างไรก็ตามปัจจุบันกรมที่ดินพยายามตัดเรื่องการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ให้มากที่สุด ทั้งนี้การแก้ปัญหาต้องมีนโยบายที่ชัดเจน และต้องแก้ทั้งระบบ โดยบูรณาการร่วมกันของทุกภาคส่วน
นายสุจิตร จันทร์สว่าง ผู้แทนกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า เหตุผลที่มีขบวนการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบจำนวนมาก เป็นเพราะผลตอบแทนที่สูง เช่น ที่ดินหาดป่าตอง หาดฟรีดอม มีราคามากกว่าไร่ละ100 ล้านบาท ข้าราชการหวังตำแหน่ง จึงต้องสนองนโยบายนักการเมืองที่ไม่ชอบ แสวงหาประโยชน์ด้วยการโยกย้ายไปในพื้นที่ที่มีที่ดินราคาแพงหรือถูก ผู้มีอิทธิพล มีอำนาจและบารมี กดดัน ด้วยความหวาดกลัวจึงต้องสนองความต้องการ ขณะเดียวกันการออกโฉนดตามกฎกระทรวงฉบับที่ 43 ปี 2537 ที่เจ้าหน้าที่อุทยานขาดความรอบคอบ กระบวนการเพิกถอนที่ดินมีความล่าช้าใช้ระยะเวลานาน ทั้งนี้ตนขอเสนอว่ากระบวนการตรวจสอบที่ดินโดยมิชอบ ควรให้ ดีเอสไอ ป.ป.ช. อัยการ เข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบด้วย ในบางคดีที่คณะกรรมการไม่สั่งฟ้อง กรมอุทยานก็ฟ้องเอง เพราะเชื่อมั่นต่อศาล ต่อกระบวนการยุติธรรม นอกจากนี้ยังเห็นว่าสิ่งสำคัญคือ อายุความของคดีที่มีเพียง 10 ปีเท่านั้น แต่มูลค่าความเสียหายของที่ดินของรัฐมีจำนวนมหาศาล
ร่างมาตรการป้องกันการทุจริตเพื่อแก้ไขปัญหาการออกเอกสารสิทธิในที่ดินโดยมิชอบ ได้เสนอว่าควรมีการกำหนดเขตพื้นที่ป่าให้ชัดเจน และกำหนดเขตที่ดินให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ และเผยแพร่ภาพถ่ายทางอากาศไปยังสาธารณะเพื่อให้สาธารณะชนสามารถตรวจสอบได้ และเสนอให้กรมที่ดินกำหนดระเบียบ คำสั่ง และขั้นตอนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้เคร่งครัดและชัดเจนในการออกเอกสารสิทธิที่ดิน เพื่อให้โปร่งใสและลดช่องว่างในการแสวงหาผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่รวมทั้งดำเนินการกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องทั้งทางวินัย ทางแพ่งและทางอาญา นอกจากนั้นยังเสนอให้แก้กฎกระทรวงฉบับที่ 43 (พ.ศ.2537) ในเรื่องการออกเอกสารสิทธิ รวมทั้งแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ให้ถือรายงานและความเห็นของ คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นสำนวนการสอบสวนเพื่อขอให้ศาลสั่งเพิกถอนเอกสารสิทธิ รวมทั้งให้ทำโครงการออกเอกสารสิทธิที่ดินเชิงรุกเฉพาะพื้นที่ โดยเริ่มดำเนินการพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยวก่อน และดำเนินการให้ครบทุกจังหวัดที่ยังมี ส.ค.1 ค้างอยู่ นอกจากนั้นเสนอให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการแก้ปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ รวมทั้งยกระดับสำนักแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ ให้เป็นหน่วยงานระดับกรม เพื่อแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ และให้กรมที่ดินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานผลการดำเนินการแก้ปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐทุก 1 ปี รวมทั้งให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดให้มีศูนย์ข้อมูลและมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันในการออกเอกสารสิทธิที่ดิน โดยมาตรการดังกล่าวคาดว่าจะสามารถส่งถึงคณะรัฐมนตรีได้ภายเดือน พ.ค.นี้
ทั้งนี้สำหรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการออกเอกสารสิทธิในที่ดินโดยมิชอบ ที่อยู่ในการดำเนินการของป.ป.ช. มี 131 เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จ 80 เรื่อง แบ่งเป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างการแสวงหาข้อเท็จจริง 44 เรื่อง และอยู่ระหว่างไต่สวนข้อเท็จจริง 7 เรื่อง โดยพฤติการณ์กระทำความผิด ประกอบด้วย การเรียกรับเงินเพื่อออกเอกสารสิทธิ์, การออกเอกสารสิทธิ์โดยการสวมสิทธิ์แทนบุคคลอื่น, การออกเอกสารสิทธิทับพื้นที่ในป่าสงวน ที่สาธารณะ ที่ของบุคคลอื่น และออกเอกสารสิทธิ์ในพื้นที่ที่ไม่สามารถออกเอกสารสิทธิได้ ทั้งนี้ที่ผ่านมาป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด เกี่ยวกับการออกเอกสารสิทธิในที่ดินโดยมิชอบ ตั้งแต่ ปี 2542-2559 แล้ว 64 เรื่อง