Last updated: 12 ธ.ค. 2560 | 1256 จำนวนผู้เข้าชม |
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา 20.15 น.
สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน
วันนี้ ผมมี “ศาสตร์พระราชา” ที่มีความสำคัญ ในการสร้างความมั่นคงของชีวิต เพื่อจะลดปัญหาปากท้อง หนี้สิน ที่เราเรียกว่า “ชักหน้าไม่ถึงหลัง” และป้องกันปัญหาสังคมได้ ตั้งแต่ในระดับครัวเรือน ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง ได้แก่ แนวคิดและวิธีปฏิบัติที่เกี่ยวกับการบริหารการเงิน ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ตามที่ “สมเด็จย่า” ได้ทรงอบรม สั่งสอน ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ อาทิเช่น การจ่ายค่าขนมเป็นรายสัปดาห์ เพื่อให้รู้จักการบริหารเงิน โดยทรงหยอดกระปุกไว้ซื้อของที่สนพระทัย เช่น เครื่องดนตรี กล้องถ่ายรูป รถจักรยาน รู้จักการอดออม โดยทรงฝากเงินในธนาคาร และเรียนรู้การคำนวณดอกเบี้ย รู้จักการลงทุนและการสร้างรายได้ โดยทรงซื้อเมล็ดพันธุ์ผักมาปลูก แล้วเก็บไปขาย รู้จักการให้ ได้ตั้ง “กระป๋องคนจน” ซึ่งทรงสละเงิน 10% จากกิจกรรมที่มีกำไร สำหรับนำไปมอบให้โรงเรียนตาบอด เด็กกำพร้า หรือทำกิจกรรมเพื่อคนยากจน เหล่านี้เป็นต้น ผมไม่ทราบว่า เด็ก ๆ เดี๋ยวนี้ยังคงเก็บเงินค่าขนมไว้ฝากธนาคารบ้างหรือไม่
โครงการตัวอย่าง ที่ผมเห็นว่าสมควรสนับสนุนและน่าชื่นชม อันได้แก่ โครงการ “ออมวันละน้อยตามรอยสมเด็จพ่อ สานต่อเศรษฐกิจพอเพียง” ของโรงเรียนอนุบาลอุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นการดำเนินตามนโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ของรัฐบาล ได้มีการสอนให้เด็กนักเรียนเป็น “นักธุรกิจตัวน้อย” โดยนำสินค้าเล็ก ๆ น้อย ๆ รวมทั้งสิ่งประดิษฐ์ ของเล่น อาหาร จากกิจกรรมนอกเวลาเรียน มาซื้อ-ขายใน “ตลาดนัดร้อยร้าน” ที่ทางโรงเรียนจัดเป็นประจำทุกปี ในช่วงเดือนมกราคม ถึงเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อจะส่งเสริมให้เด็ก ๆ นั้น ได้รู้จักการเป็นทั้งผู้ขายและผู้ซื้อ ได้รับประสบการณ์จริงจากการประกอบอาชีพค้าขาย ซึ่งถือว่าเป็นอาชีพสุจริต รู้เทคนิคการขาย การเรียกลูกค้าและเห็นคุณค่าของเงิน รู้จักการออม การบริหารการเงิน จัดทำบัญชี มีการเก็บเงินบางส่วนไว้เป็นทุนการศึกษาและซื้ออุปกรณ์การเรียนต่าง ๆ อีกด้วย
สิ่งที่สำคัญคือ สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง ไม่ว่าจะตอนเด็ก หรือโตแล้ว ก็ขอให้ช่วยกันคิดและสร้างสรรค์กิจกรรมดี ๆ เหล่านี้ ที่จะเป็นการสานต่อ “ศาสตร์พระราชา” ให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล เพื่อจะปลูกฝังให้เยาวชนของชาติ ได้มีทักษะทางธุรกิจ ตั้งแต่ต้นทาง – กลางทาง – ปลายทาง และรู้คุณค่าของเงิน การบริหารการเงิน รวมทั้งการออมด้วย โตขึ้นเราจะได้พึ่งพาตนเองได้ มีความเข้มแข็งตั้งแต่ในระดับฐานรากช่วยครอบครัว
เรื่องที่ผมอยากทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนในวันนี้ หลายเรื่องด้วยกัน เรื่องแรกคือเรื่องพลังงาน ขอให้เข้าใจว่า พลังงานนั้นจะมีความสำคัญมากทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดย เฉพาะอย่างยิ่งการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งจัดหานวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งล้วนต้องใช้พลังงานทั้งสิ้น สำหรับโครงสร้างพื้นฐานทุกระบบ ทั้งการคมนาคมขนส่ง และการสื่อสาร สารสนเทศ อินเทอร์เน็ต และในกิจกรรมภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งนับวันจะมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม รัฐบาล และ คสช. ต้องคำนึงการสร้างความสมดุลระหว่าง การพัฒนาในด้านพลังงานกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมอยู่เสมอ โดยผมยืนยันว่าจะทำให้ดีที่สุด ทั้งนี้ เพื่อจะรักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติของประเทศที่มีอยู่อย่างจำกัด แต่อยากให้ประชาชนได้ทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ เพราะหากลงทุนด้านพลังงานที่ไม่เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงแล้ว อาจจะเป็นปัจจัยเสี่ยงด้านความมั่นคงทางพลังงานเป็นอย่างยิ่ง สำหรับเชื้อเพลิงที่ใช้กับเครื่องกำเนิดไฟฟ้านั้นมีหลายประเภทด้วยกัน เราอาจจะจำเป็นต้องพิจารณาให้เกิดความเหมาะสม เราไม่อาจจะพึ่งพา ฝากความหวังไว้แต่เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง อาทิเช่นกับก๊าซธรรมชาติหรือน้ำมัน
วันนี้เราพึ่งพาอยู่ 70% เช่นในปัจจุบันเราต้องลดลง แล้วหาเชื้อเพลิงอื่นที่เหมาะสม ราคาถูก หาง่ายและปลอดภัย มีคุณภาพ ตลอดจนไม่มีความเสี่ยงในเรื่องราคามากนัก เพื่อจะมาทดแทน 70% ที่ว่าให้ลดน้อยลง ไม่เช่นนั้นจะเป็นภาระของพี่น้องประชาชน และภาคการลงทุนต่าง ๆ ก็จะเกิดอุปสรรค ทางด้านสังคมและเศรษฐกิจตามมา เพราะฉะนั้นการใช้พลังงาน ฟอสซิล ดังกล่าว ทั้งแก๊ส ทั้งน้ำมันนั้น จะต้องลดลงจาก 70% ให้เหลือ 60% ให้ได้ก่อน แล้วเราก็จำเป็นต้องเพิ่มพลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานจากขยะ ชีวมวล ลม แดด อื่น ๆ เราก็ทำอยู่แล้วในขณะนี้ ถ้าหากเราทำ เพิ่มได้จาก 30% เป็น 40% ก็ย่อมจะดีกว่าเดิม ลดการผลิตแก๊ส CO2 ลดปัญหาโลกร้อนได้ด้วย เพราะฉะนั้นเราจำเป็นต้องปรับอัตราส่วน แผน PDP ของเรา จากการใช้พลังงานจากฟอสซิล 70% กับ 30% จากพลังงานหมุนเวียน ให้เป็น 60% และ 40% ตามลำดับ
ปัญหาสำคัญต่อมา คือ วันนี้เราอาจจะเข้าใจไม่ตรงกัน คือคำว่า “ความเสถียร” และ “ไม่เสถียร” ก็คือความแน่นอนของพลังงานที่เกิดขึ้นจากการผลิต จากเชื้อเพลิงต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น และการก่อสร้าง ต้นทุนการก่อสร้าง วัสดุต้นทุนที่นำมาใช้ ในการเป็นเชื้อเพลิง เหล่านี้อาจจะทำให้มีต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าที่สูงขึ้น เราต้องเอาสิ่งเหล่านี้มาพิจารณาด้วย อาจจะส่งผลกระทบกับ “ค่าไฟ” ของคนทั้งประเทศ เพราะเราเอามารวมกันแล้วหารแบ่งกัน ใช้อัตราค่าไฟเท่ากันทั้งประเทศ อาจจะทำให้ “ค่าครองชีพสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว
เพราะฉะนั้น รัฐบาลต้องมองในหลายประเด็นด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นพลังงานจากแก๊ส จากน้ำมัน จากถ่านหิน จากพลังงานทดแทน พลังงานทางเลือก ทุกอย่างต้องพิจารณาในทุกแง่ทุกมุม ซึ่งถ่านหินนั้นเราก็เอามาพิจารณาเป็นทางเลือกหนึ่ง ที่จะนำมาพิจารณาในการที่จะพยายามลดสัดส่วนและค่าใช้จ่ายจากก๊าซธรรมชาติหรือน้ำมัน ที่เราจำเป็นต้องนำเข้าเป็นจำนวนมากทุกปี เราไม่มั่นใจว่าวันหน้าจะสะดวกง่ายดายแบบนี้หรือไม่ มีพอหรือไม่ ราคาจะสูงขึ้นอีกหรือไม่ แล้วเขาจะขายหรือไม่วันหน้า ถ้าน้อยลง ๆ อันนี้เป็นสิ่งที่เป็นความเสี่ยง ในส่วนของที่เป็นถ่านหินนั้น ถ้าเราสามารถทำได้ ผมใช้คำว่าถ้าสามารถทำได้ จะต้องเป็นถ่านหินที่มีคุณภาพสูง ไม่ใช่ถ่านหินลิกไนต์ แล้วจะต้องเป็นชนิดทีสร้างมลภาวะน้อยที่สุด ซึ่งการสร้างมลภาวะนั้นมีอยู่หลายอย่างด้วยกัน ที่เกี่ยวข้องวันนี้ก็ยังมีใช้อยู่ในต่างประเทศด้วย ไม่ใช่เป็นถ่านหินลิกไนต์ เป็นถ่านหินชนิด “บิทูมินัส” ที่เรียกว่า บิทูมินัส ซึ่งมีคุณภาพ มีระบบกำจัดในกระบวนการผลิตที่ทันสมัย และเป็นมาตรฐานสากล
ทั้งนี้ เราจะต้องทำให้สอดคล้องกับการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และการลดโลกร้อนลงไปด้วย ซึ่งผมได้ไปกล่าวหรือไปรับทราบมติในที่ประชุมสหประชาชาติไปแล้วว่า เราต้องพยายามลดให้ได้ 20 - 25% ภายในปี 2030 อันนี้ผมไม่เคยลืม แล้วผมไม่ได้มุ่งหวังว่า ที่ทำมาทั้งหมด เพื่อจะยกเลิกอันนี้ ไม่ปฏิบัติตามพันธะสัญญา หรือไปทำเพื่อประโยชน์ใครทั้งสิ้น ผมมองว่าประโยชน์ประเทศชาติอยู่ตรงไหน ประชาชนอยู่ตรงไหน เพราะฉะนั้นอะไรที่ทำได้เราก็ต้องหาทางพิจาณาหาความร่วมมือกันให้ได้
ทั้งนี้ อยากจะเรียนให้ทราบว่า ประเทศไทยเราอาจจะโชคดีที่เราผลิตก๊าซ CO2 ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพียง 0.9% ซึ่งถือว่าน้อยมากกว่าหลาย ๆ ประเทศในโลก แต่รัฐบาลก็จำเป็นที่ต้องปฏิบัติตามพันธะสัญญา แล้วขณะเดียวกันต้องรับฟังเสียงจากประชาชนไปด้วย จะเห็นว่า 2 ปี ที่ผ่านมานั้น รัฐบาลรับฟังมาโดยตลอด ไม่ได้หมายความว่าจะไปสั่งการ หรือลงมติโดยที่ไม่ฟังเสียงจากประชาชนเลย เราต้องการการมีส่วนร่วมด้วยความเข้าใจ มากกว่าการบังคับใช้กฎหมาย สำหรับในเรื่องของการทำ EIA/EHIA อย่าไปฟังคำบิดเบือนของใครทั้งสิ้น วันนี้ให้ไปทำใหม่ก็ไปทำใหม่ คำว่าทำใหม่ต้องมีของเก่าอยู่แล้วด้วย เอาของเก่ามาพิจารณาร่วมกันกับของใหม่ที่ยังทำไม่เสร็จทั้งหมด ทั้งฉบับ ทั้ง 2 เรื่อง ก็ต้องทำให้ผ่านทั้งหมด
เพราะฉะนั้นถ้าไม่ผ่านจะทำยังไง ไม่ผ่านก็สร้างไม่ได้ ผมจะไปบังคับได้ยังไง แต่ทุกคนต้องยอมรับในสิ่งที่เกิดผลตามมา แล้วเราต้องไปพิจารณาทางเลือกอื่น ๆ ที่จะทำอย่างไรให้ประชาชนเดือดร้อนในเรื่องของ “ค่าไฟฟ้า” น้อยที่สุด รวมทั้งต้องคำนึงถึง “ต้นทุนด้านพลังงาน” ชนิดอื่น ๆ อีกด้วย ความมีเสถียรภาพ คือ ไม่สม่ำเสมอ เพราะการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานทดแทนสามารถใช้ในโรงงานขนาดเล็ก ในการที่จะส่งเข้าเป็นพลังงานหลัก พลังงานไฟฟ้าหลักในระบบนี่ค่อนข้างจะเป็นปัญหา เพราะบางครั้งขึ้น ๆ ลง ๆ ไม่เสถียร ต้องมีพลังงานหลักใส่เข้าไปด้วย เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถที่จะทำได้อย่างที่ว่าทั้งหมด ก็จะมีการผสมกัน ทดแทนกัน อยู่ในกรอบ 100% ของการจัดหาพลังงาน ตามแผน PPP จะต้องตอบคำถามข้างต้นได้ทั้งหมด ตอบคำถามประชาชนได้ด้วย รัฐบาลจริง ๆ แล้วก็ไม่อยากจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหรอก เพราะว่าไม่ได้เป็นผลอะไรกับผมเอง หรือกับรัฐบาล กับ ครม. แต่เป็นผลกับประเทศชาติ ถ้าทำได้ก็คือทำได้ ทำไม่ได้ก็คือทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นผมไม่อยากให้มาขัดแย้งกันอีก ก็มีการพูดจาหารือกันดี ๆ ไม่จำเป็นต้องมาประท้วง ผมก็ให้ทบทวนอยู่แล้วในขณะนี้ แต่อย่าใช้คำว่า จะกดดันอย่างโน้นอย่างนี้ ถ้าทำ หรือถ้าไม่ทำจะเป็นอย่างไร ผมว่าไม่ถูกต้อง กฎหมายก็มีอยู่ เพราะฉะนั้นรับฟังเหตุผลซึ่งกันและกัน อย่าประท้วงกันอีกเลยให้เสียแรงเสียเวลา อันตรายเดินทางไป-มา เสียเวลาหาเงิน ดูแลครอบครัวด้วย ช่วยกันไปพัฒนาตนเอง ทำความเข้าใจ เดินหน้าประเทศดีกว่า
เรื่องสำคัญ คือ เราไม่อาจใช้การเกษตรกรรมเป็นรายได้ของประเทศแต่เพียงอย่างเดียวได้อีกต่อไป เพราะราคาพืชผลทางการเกษตรมีความผันผวน ไม่แน่นอน เราจำเป็นต้องเป็น “ประเทศเกษตรอุตสาหกรรม” และมีอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมด้วย มิฉะนั้นประเทศเราจะมีรายได้ไม่เพียงพอ สำหรับในการที่จะนำมาพัฒนาประเทศ หรือการพัฒนาด้านสวัสดิการของรัฐ สาธารณสุข การศึกษา การดูแลผู้สูงวัย และอื่น ๆ อีกมากมาย ที่ทุกคนทราบดี ผมอยากให้ทุกคน ทุกฝ่าย พยายามทำความเข้าใจกันด้วย
ทุกอย่างไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ก็เหมือน “เหรียญ 2 ด้าน” มีได้ ก็ต้องมีเสีย แต่เหรียญที่มีด้านเดียว เป็นเหรียญใช้ไม่ได้อยู่แล้ว เหรียญ 2 ด้าน มีได้ มีเสีย แต่ต้องมีได้มากกว่ามีเสีย แล้วจะดูแลผู้ที่เสียอย่างไร เราจะมุ่งไปทางใดทางหนึ่งอย่างเดียวไม่ได้ เปรียบเสมือนเหรียญ 2 หน้าที่ต้องมีสมบูรณ์ทั้ง 2 ข้าง เราต้องหาทางเลือกที่เหมาะสมของประเทศให้ได้ในทุกมิติ การทำ EIA/EHIA นั้น ก็ขอให้เร่งทำ ให้ได้ข้อยุติ จะได้ หรือไม่ได้ก็แล้วแต่ ยิ่งช้าก็จะยิ่งเสียการ จะได้รีบคิดกันใหม่ จะทำอะไร แล้วก็ต้องยอมรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในอนาคตร่วมกัน การเสียอนาคต เสียโอกาส ความเสี่ยง พลังงาน ต้นทุน ความเสถียร และราคาค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น ทุกคนต้องร่วมกันรับผิดชอบด้วย เพราะรัฐบาลพยายามทำอย่างเต็มที่แล้ว อาจจะทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศนั้นมีปัญหาอีก
อย่างไรก็ตาม แง่มุมที่ผมเห็นว่า จากเหตุการณ์ครั้งนี้ เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมที่คนไทยในวันนี้มีความตื่นตัวในเรื่องของการพัฒนาและการอนุรักษ์ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ถ้าไม่ขัดแย้งกัน ก็ไม่รู้กัน ไม่รู้ว่าสำคัญอย่างไร ไม่รู้ว่ามีอะไรอยู่บ้าง ถ้าทุกคนใช้โอกาสนี้สำรวจตัวเองว่าเรารู้หรือยัง เรารู้ครบถ้วนหรือยัง ก็จะแก้ปัญหาได้ ถ้ายังรู้ไม่พอ ก็ฟัง ก็อ่านเอา แล้วก็ตัดสินใจด้วยตัวเอง หรือปรึกษากันในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ในส่วนของการรักษาสิ่งแวดล้อมนั้น ผมอยากจะขอร้องว่าให้ช่วยกันสำรวจตัวเองว่าวันนี้เราใช้กล่องโฟม ใช้ถุงพลาสติกกันในแต่ละครัวเรือน แต่ละคนมากน้อยเพียงใด เพราะว่าเป็นขยะซึ่งทำลายได้ยาก ใช้เวลาเป็นร้อยปี เพราะฉะนั้น เรามีการทิ้งขยะแยกประเภทหรือยัง มีการแยกขยะตั้งแต่ต้นทางหรือยัง เจ้าหน้าที่ขนได้ตรงตามที่แยกไว้หรือยัง ทุกส่วนเกี่ยวข้องกันหมด ทั้งประชาชน ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ การใช้ไฟฟ้า เราประหยัดพอหรือยัง ปิดไฟเมื่อหมดความจำเป็น ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ เมื่อไม่ใช้ หรือหลอดไฟทุกหลอด อีกอย่างหนึ่งการประหยัดพลังงานน้ำมัน แก๊ส ที่เราใช้กันอยู่ บางที่ก็ไม่ระมัดระวัง ราคาถูก วันหน้าราคาขึ้นจะทำอย่างไร รัฐบาลไม่สามารถจะอุดหนุนได้อีกแล้วในวันต่อไป
ถ้าหากว่าท่านช่วยกันทำอย่างนี้ แล้วปลูกฝังลูกหลานให้ทำเป็นนิสัยทำในสิ่งที่ถูกต้องเหล่านี้ ด้วยเหตุ ด้วยผล ก็จะทำให้เกิดผลดีในทุกด้าน ไม่แต่เพียงการประหยัดเท่านั้น รวมความไปถึงการสร้างจิตสำนึก แล้วเกิดความร่วมมือกับสังคม กับรัฐบาล กับชาวโลกในการที่จะรักษาสิ่งแวดล้อม และการอนุรักษ์ธรรมชาติที่ดี
เรื่องถุงพลาสติก ขอให้ทุกคนถือว่า เป็นเรื่องสำคัญ ทุกคนควรช่วยกันรณรงค์ตั้งแต่บัดนี้ไปเลย ให้ใช้ “ถุงผ้า” นำถุงผ้าไปซื้อของด้วย ก็มีหลายชนิด ชนิดที่กันน้ำได้ ภายในก็บุเป็นอะไรที่กันน้ำได้ ที่ทำลายได้ง่าย ก็ขอให้นำติดไปแล้วกัน จะได้ลดการใช้ถุงพลาสติก อีกหน่อยห้าง ร้านค้าอาจจะต้องคิดราคาถุงพลาสติกด้วย เพราะจะต้องส่งเสริมกันทุกมมิติ สำคัญอยู่ที่ประชาชน
เรื่องที่สอง เรื่อง มาตรา 44 มีคนพูดกันมากมาย วิพากษ์วิจารณ์กันทั้งดีและไม่ดี ตลอดจนคำสั่ง คสช. ต่าง ๆ นั้น ก็อยากให้เข้าใจตรงกันว่า เป็นเพียงกฎหมายชนิดหนึ่ง เหมือนกับกฎหมายอื่น ๆ ที่ออกมาใช้เพียงเพื่อจะ “ปลดล็อก” อุปสรรคด้านกฎระเบียบต่าง ๆ ที่ไม่ทันสมัย เป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดิน หรือให้การดำเนินการต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วขึ้น รวมทั้งระงับข้อขัดแย้งในกฎหมายหลายฉบับ ที่อาจจะมีผลต่อการทำงาน ที่เป็นการแก้ไข เป็นมาตรการเฉพาะหน้า เพื่อให้การขับเคลื่อนประเทศ การเดินหน้าประเทศ มีความต่อเนื่องและต้องเป็นการกระทำโดยสุจริตของเจ้าหน้าที่ด้วย
อีกประเด็นหนึ่งคือ ต้องใช้ในการแก้ปัญหาความมั่นคง เพราะว่ามีหลายคน หลายประเภท หลายพวก ที่ไม่ค่อยชอบปฏิบัติตามกฎหมายปกติ กฎหมายอะไรก็ไม่ทำสักอย่าง ผมก็ไม่ทราบจะทำอย่างไรเหมือนกัน เพราะฉะนั้นไม่อยากให้มาโทษมาตรา 44 อย่างโน้นอย่างนี้ ถ้าท่านไม่ทำความผิด มาตราไหนก็ทำอะไรไม่ได้ทั้งสิ้น
ตัวอย่างที่เราใช้ไปแล้ว “งานที่คั่งค้าง” ในอดีต อาทิเช่น การขอตั้งโรงงาน กว่า 4,000 ราย การขอใบอนุญาตจาก อย. กว่า 10,000 ราย การขอจดสิทธิบัตรของต่างประเทศ ที่ยื่นขอมา 20 ปีแล้ว กว่า 12,000 ราย เหล่านี้เป็นต้น ค้างคามาได้ยังไง รัฐบาลนี้เข้ามาก็เข้าไปแก้ไขในทันทีที่ทำได้ เพราะเสียโอกาส เสียขีดความสามารถในการแข่งขัน และให้การประกอบธุรกิจในระดับฐานรากเดินหน้าไปได้ด้วย เพราะสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ไปติดในเรื่องไม่เป็นเรื่อง ไม่สนใจ ไม่เอาใจใส่ ไม่กำกับดูแล ก็จำเป็นต้องใช้มาตรา 44 มาแก้ไขให้สำเร็จ
ส่วนมาตรการที่ทำให้เกิดความยั่งยืน ในเรื่องกฎหมายนี้ ก็คือว่าจะต้องมีการออกเป็นกฎหมายในรูปแบบต่าง ๆ ตามความเหมาะสม หลังจากที่มีมาตรา 44 ไปแล้ว โดยจะต้องให้มีผลบังคับใช้ในเวลาต่อมาอย่างยั่งยืน ซึ่งตอนนี้กำลังทยอยผลักดันเข้าสู่กระบวนการออกกฎหมาย ทางนิติบัญญัติ อาจจะต้องใช้เวลานาน พิจารณากัน 3 วาระ บางทีเป็นเดือน หลายเดือน รัฐบาลนี้ได้ผลักดันกฎหมายทั้งหมดเข้าสู่กระบวนการแล้ว กว่า 500 ฉบับ วันนี้มีผลบังคับใช้เป็น พระราชบัญญัติ แล้ว กว่า 200 ฉบับ ไม่นับรวมการแก้ไขระเบียบ กฎ ข้อบังคับอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก
ประเด็นสำคัญก็คือ เราจะต้องเอากฎหมายที่เร่งด่วนมาดำเนินการก่อน กฎหมายที่ทำไม่ได้หรือไม่เคยทำ เพราะว่ามีพันธะสัญญาระหว่างประเทศอีกด้วย เรามีความจำเป็นในการที่ต้องบริหารราชการแผ่นดิน แล้วก็มีการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาคมโลกไปด้วย อาทิเช่น การแก้ปัญหา CITES การค้างาช้างที่ผิดกฎหมาย เราทำสำเร็จไปแล้ว รวมทั้ง IUU กำลังคืบหน้า แล้วก็ ICAO ซึ่งมีทิศทางที่ดี ได้รับการยอมรับจากองค์กรระหว่างประเทศ ที่มาตรวจก็ขอชื่นชม ในความจริงใจ จริงจัง ความตั้งใจในการทำงาน เจตนารมณ์ของรัฐบาล เราก็คงต้องช่วยกันทำ ทำให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น ตามที่เขากำหนดมา ถ้าเราไม่ทำแบบนี้ ปล่อยปละละเลย ไม่กำกับดูแล ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของข้าราชการอย่างเดียว การทำงานก็มีแต่ปัญหา ติดขัดไปหมด ไม่ทันเหตุการณ์ แล้วก็เท่ากับเราทำอะไรใหม่ ๆ ไม่ได้เลย ปฏิรูปอะไรก็ไม่ได้ ติดของเก่า ติดปัญหาเดิมทั้งสิ้น
อีกกรณีหนึ่งก็คือ กรณีธรรมกาย ผมก็ไม่ได้หมายความว่าจะเอามาตรา 44 มารังแกพระ รังแกพุทธศาสนา ไม่เคยคิดอย่างนั้นเลย ผมเป็นไทยพุทธนะ ครอบครัวผมก็ไทยพุทธ แต่ผมมีหน้าที่ในการดูแลทุกศาสนาที่อยู่ในประเทศไทย ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ออกหรอกครับ มาตรา 44 เกี่ยวกับเรื่องกรณีนี้ เนื่องจากกฎหมายทุกกฎหมายไม่ได้รับการยอมรับเลย จากคนบางกลุ่ม บางพวก ใช้กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย กระทำความผิด แล้วไม่ยอมรับอำนาจรัฐ ทับซ้อนอำนาจรัฐ ใช้กฎหมู่ ใช้คนจำนวนมาก ไม่เคารพ ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมปกติ แล้วก็มีการผิดวินัยสงฆ์ เข้าไปด้วย
เพราะฉะนั้น ในการที่จะต้องใช้มาตรา 44 เพื่อมาดูแลในภาพรวม แต่วันนี้ถึงแม้ว่าจะใช้ 44 ก็ยังมีการต่อต้าน ดึงดัน ฝ่าฝืน ไม่ยอมรับกันอีก แล้วเจ้าหน้าที่เขาก็ทำงานลำบากนะครับ วันนี้ก็เห็นว่าเจ้าหน้าที่เขาก็เหน็ดเหนื่อยนะ มีการสร้างภาพเจ้าหน้าที่ทำร้ายประชาชน การรักองค์กร ไม่ว่าองค์กรใดก็ตาม เป็นสิ่งที่ดี ผมเคารพแต่ต้องรักในทางที่ถูก ขจัดคนไม่ดีในองค์กรออกไป โดยให้กระบวนการยุติธรรม หรือกฎหมายตัดสิน บ้านเมืองมีขื่อ มีแป ไม่มีใครจะสามารถอยู่เหนือกฎหมายได้ คดีความก็คงต้องเดินหน้าต่อไปทุกคดี สังคมก็กำลังรอคำตอบอยู่ ต้องการเห็นความโปร่งใส
กฎหมายหลายฉบับที่มีอยู่แล้วนะครับบังคับใช้ไม่ได้ ก็เลยจำเป็นต้องใช้มาตรา 44 เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งก็เห็นใจเจ้าหน้าที่เขาด้วย หลายหน่วยงานเขาก็ไปทำงาน เขามีความเสี่ยง เขาเสี่ยงอยู่ท่ามกลางคนจำนวนมาก ความรุนแรงพร้อมจะเกิดขึ้นตลอดเวลา อาจจะมีบุคคลที่ 3 หรือ 4 อะไรก็แล้วแต่เข้ามา เพราะถ้ามีรุนแรงเกิดขึ้น เจ้าหน้าที่เขาก็มีครอบครัว มีลูกเมียที่ต้องรับผิดชอบ คนที่รักของเขาเหมือนกัน ถ้าเขาไม่ปลอดภัยขึ้นมา เขา ถูกกระทบกระทั่ง ท้ายที่สุดก็บานปลายไปสู่การใช้กำลังกัน แล้วจะทำอย่างไร ไม่เห็นใจเขาหรือเจ้าหน้าที่ พอเขาไม่ทำก็ไปว่าเขา พอเขาทำก็ไม่ได้อีก แล้วจะอยู่กันอย่างไร
เพราะฉะนั้นผมต้องทำ เพื่อให้เจ้าหน้าที่เขามีความมั่นใจในการทำงาน มีความรู้สึกปลอดภัย เพราะว่าถ้าเขาประสบอันตรายขึ้นมา ใครรับผิดชอบเขาได้ แล้วลูกเมีย ใครจะเลี้ยงดูเขา ผมก็ต้องปกป้องดูแลเขาตามสมควรนะ เพราะฉะนั้นไม่อยากให้ทุกคนมองเจ้าหน้าที่ เป็นจำเลยสังคม เจ้าหน้าที่ทุกคนไม่มีอาวุธทั้งสิ้น ก็ถูกผลัก ถูกดัน ถูกอะไรต่าง ๆ มากมายไปหมด เขาอดทนเพราะผมเห็นรอยยิ้ม ขอขอบคุณและชื่นชมเจ้าหน้าที่ทุกคน ไม่ว่าจะ ตำรวจ DSI ทหาร ข้าราชการฝ่ายพลเรือนต่าง ๆ พระ และทุกคนที่เข้ามาช่วยกันแก้ปัญหาตรงนี้ แต่ประเด็นสำคัญก็คือ ผู้ที่ทำให้เกิดปัญหา ไม่ยอมร่วมมือ แล้วก็มีคนหมู่มากซึ่งอาศัยแรงศรัทธาของเขามาชักจูง ทำให้ปัญหาแก้ได้ยากขึ้นไปอีกเรื่อย ๆ
วันนี้เราไม่อยากใช้ในเรื่องของเครื่องมืออุปกรณ์ ในเรื่องของการบังคับใช้กฎหมาย การควบคุมฝูงชน หรือในเรื่องของ พรบ. ชุมนุมสาธารณะ เพราะว่าวันนี้เราพยายามอย่างเต็มที่ ที่จะรักษาความสงบเรียบร้อยให้มากที่สุด ทุกคนต้องอยู่ด้วยกันให้ได้ ถ้าเรายังสู้กันอยู่แบบนี้ วันหน้าก็เป็นอย่างนี้ เพราะเป็นตัวอย่าง เป็นแบบอย่างที่ไม่ดีนะครับ ที่คนทั่ว ๆ ไปเห็นเขาก็รู้สึกไม่ดี เจ้าหน้าที่ก็รู้สึกไม่ดี เด็ก ๆ เห็นก็เป็นแบบอย่างวันหน้าก็เป็นแบบนี้อีก
ทำไมเราไม่หยุด หยุดซะวันนี้ ถ้าหยุดเมื่อไร มอบตัวกันทันที ให้เข้าไปบริหารจัดการให้โปร่งใส มาตรา 44 ก็ยกเลิกได้เมื่อนั้น เพราะเรียกร้องมา ขณะเดียวกันก็ยังผิดกฎหมายอยู่ ประเทศไหนเขาทำกันบ้างล่ะ เราก็พยายามอย่างเต็มที่ ที่จะรักษาความสงบเรียบร้อย รักษาความปลอดภัย ชีวิตละทรัพย์สินของทุกคน มาตรการต่าง ๆ จะเห็นว่าจาก เบาไปหาหนัก ผ่อนหนัก ผ่อนเบา มีการพูดคุย ไม่ให้บานปลาย ไม่ให้มีการปะทะ คุยแล้วคุยอีก ก็ไม่สำเร็จสักที แล้วก็มีการต่อต้านที่ไม่ชอบธรรม ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
ผมขอให้กระบวนการยุติธรรมตัดสิน ให้เจ้าหน้าที่เขาทำงาน ก็ไม่อยากให้ภาพต่าง ๆ เหล่านี้ออกไปต่างประเทศ สื่อทุกคนก็เห็นว่าอะไรคือถูก อะไรคือผิด แต่ก็พยายามที่จะขยายภาพ ขยายข่าว ขยายอะไรไปเรื่อย ๆ ท่านคำนึงหรือไม่ว่าต่างประเทศเขามองว่ายังไง เขาก็มองกลายเป็นว่าเหมือนเราไปรังแกพระ รังแกพระพุทธศาสนา แล้วเกิดอะไรขึ้น ดีกับประเทศไทยไหม ผมอยากจะถามท่าน ขอให้ชักจูงให้คนกลับบ้าน ให้มามอบตัว ต่อสู้คดี ซึ่งเป็นวิธีการที่ถูกต้องที่สุด สื่อต้องช่วยแบบนี้ เขาเรียกว่าจรรยาบรรณ ไม่ต้องควบคุมกันถ้าแบบนี้ ไม่ต้องใช้มาตร 44 ไม่ต้องมีกฎหมายควบคุมสื่อด้วยซ้ำไป ต้องทำให้ได้
ผมอยากให้สติแก่สังคมในวันนี้ ให้มีความอดทน อดกลั้นอย่างที่สุด เอาอะไรมาเป็นหลักคิด หลักธรรม หลักปฏิบัติ ให้ได้ ใช้สติปัญญาในการแก้ไขปัญหา ผมไม่อยากใช้มาตรการที่หนัก หรือรุนแรง ใช้กฎหมายอย่างเต็มที่ วันนี้กำลังใช้กฎหมายปกติอยู่ด้วยนะครับ กฎหมายมาตรา 44 ตีกรอบเฉย ๆ แต่วันนี้เจ้าหน้าที่ถูกกระทำมากไปเรื่อย ๆ การที่รุนแรงต่อเจ้าหน้าที่ ถูกผลัก ถูกดัน แล้วก็กลายเป็นว่า รังแกพระ รังแกประชาชน ก็ดีเหมือนกัน แปลกดี ไม่เข้าใจว่า โซเชียลมีเดีย สื่อหลายฉบับ พาดพิงโจมตีมาที่ผม ผมไปเปลี่ยนศาสนา โน่น จะยึดที่นี่ไปห้ามศาสนานั้น ศาสนานี้ คิดได้ยังไง เพราะฉะนั้นถ้ามีคนเชื่อ ผมก็จนใจ คนที่จะเชื่อเรื่องแบบนี้ คนเขียนสติไม่มีอยู่แล้ว ขอโทษด้วยผมไม่อยากจะว่า เขียนอะไรก็ได้ให้คนปั่นป่วน ให้คนทะเลาะเบาะแว้งกันไป เรื่องไม่รับผิดชอบสักอย่าง เพราะฉะนั้นผมอยากให้ทุกคนพยายามเข้าใจในกฎหมายและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ที่เขาทำงานด้วย เขาได้กลับบ้านไปดูแลลูกเมียเขา รถก็ไม่ติด ทุกคนก็ไม่อันตราย แล้วประชาคมโลกเขาก็เข้าใจเรา
วันนี้ผมก็พยายามสื่อสารไปต่างประเทศด้วย ผ่านกระทรวงต่างประเทศว่า ได้เกิดอะไรขึ้นในประเทศไทย ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีพอสมควร แต่ขณะเดียวกันก็มีคนไม่ดีอยู่ที่พยายามปล่อยข่าวความไม่ดี ความไม่เรียบร้อย การทำงานของรัฐบาล อะไรต่าง ๆ ท่านก็ทราบอยู่แล้วว่าใคร ไม่เลิกซะที รอบบ้านก็ไปทำ ต่างประเทศก็ไปทำ ล๊อบบี้ยิสต์ก็ใช้ เหล่านี้ทุกคนก็ทราบดีทั้งหมด แต่ทำไมถึงยอมรับฟังกันอยู่ สื่อก็ไปขยายความให้อยู่ทุกวัน เหมือนกับทุกเรื่องเป็นเรื่องสนุก บ้านเมืองไม่ใช่เรื่องสนุก ไม่ใช่ว่าใครผิดใครถูก ใครชนะ ใครแพ้ สับสนไปหมด เพราะฉะนั้นไม่อยากให้เสนอข่าวเหมือนกับเชียร์มวยเชียร์กีฬา วันนี้ใครแพ้ ใครชนะ ไม่มีใครแพ้ แล้วก็ไม่มีใครชนะด้วย ประเทศ แพ้ ประชาชนก็เดือดร้อน ทุกคนต้องมีสติ ใช้สติปัญญาแยกแยะให้ออกด้วย อย่าให้เสียภาพลักษณ์ของประเทศ เสียความน่าเชื่อถือในเวทีระหว่างประเทศ
สื่อออนไลน์ก็เหมือนกัน ท่านอาจจะคิดว่าจับไม่ได้ ไม่มีใครตามได้ วันหน้าก็ตามได้เอง เพราะมีกฎหมายอยู่แล้ว วันนี้จับไม่ได้ วันหน้าก็จับได้ ผมไม่ได้ขู่ เพราะฉะนั้นวันหน้าอย่ามาปฏิเสธว่าไม่ได้ทำ หลักฐานมีทุกอัน เพราะฉะนั้นเราไม่ควรสร้างความแตกแยก เพื่อให้สอดคล้องกับการที่เราจะต้องปรองดอง สมานฉันท์ ภายในช่วงระยะเวลานี้ด้วยนะครับ
เรื่องของการปรองดองนั้น คณะกรรมการ ป.ย.ป. ดำเนินการอยู่ วันนี้มีหลายคนออกมาพูดจาให้เสียหาย แต่ไม่ได้ผล นักโทษบางคนได้รับการประกันตัวออกมา ก็มาข่มขู่ว่า “...ใน 3 เดือนต้องเห็นผล ถ้าไม่เห็นผลจะเกิดการเปลี่ยนแปลง” ทำไม ท่านจะปลุกระดมคนมาอีกหรือ ทำให้คนเขาตาย เขาเจ็บ ไปเท่าไหร่แล้ว ตอนนี้จะทำอีกหรือ แล้วใครจะออกมาให้เขาหรือ อีกพวกก็บอกว่า ต้องรีบเลือกตั้งให้ได้ภายในเดือนสิงหาคม ไม่อย่างนั้นก็จะเคลื่อนไหวอีก เป็นนิสิต นักศึกษา ผมถามนี่เกิดอะไรขึ้น เพราะฉะนั้นผมก็ไม่อยากให้ความสำคัญกับคนเหล่านี้มากนัก เป็นคนส่วนน้อย และเป็นความเห็นที่ไม่สร้างสรรค์ สังคม คนไทยทั้งประเทศ ตัดสินเอาเอง จะยอมหรือไม่ จะยอมให้เรื่องแบบนั้นเกิดขึ้นอีกหรือไม่ ที่ผมพูดมาอยากให้มีสติ ใช้เหตุผลนำความคิด เกรงว่าจะทำลาย “บรรยากาศการปรองดอง” ของประเทศ ประชาชน “ทั้งประเทศ” คงไม่อยากให้เหตุการณ์ปี 53 และปี 57 เกิดขึ้นอีกอย่างแน่นอน
ทำไมไม่รู้เหมือนกันว่า คนเหล่านี้ยังมีที่ยืนอยู่ในสังคมได้อีกต่อไป มีเงินใช้ มีหน้ามีตา มีคนเคารพนับถือทั้งที่มีความผิดมากมาย และไม่ยอมรับความผิด พูดจาโกหก บิดเบือนทุกวัน สื่อก็ไปสัมภาษณ์อยู่ทุกวัน ๆ แพร่ภาพ และคำพูด ให้ประชาชนสับสนไปหมด ทำลายความสงบสุข ทำลายชื่อเสียงประเทศชาติ หลายคนมีคดีแล้ว ตัดสินแล้ว ประกันตัว อาจยังไม่ตัดสิน ก็ออกมาพูดจาโวยวาย แต่คดีใดที่ตัวเองถูกยกฟ้อง หรือไม่ถูกลงโทษก็ดีใจ ไม่เห็นพูดเลยว่ากฎหมายยุติธรรม แต่คดีใดที่ตัวเองผิดบอกไม่ยุติธรรม สองมาตรฐาน ตัวเองนั่นแหละสองมาตรฐาน ไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรมที่ถูกต้อง อย่าสร้างความเกลียดชังด้วยคำพูดกันอีกเลย น่าจะพอได้แล้ว อย่าไปขยายความให้เขาเอาใจเขา มาใส่ใจเราบ้าง นึกถึงคนที่สูญเสียบ้างว่า ถ้าเป็นญาติพี่น้องของตัวเองจะรู้สึกอย่างไร ขอให้ช่วยกันรักษาบรรยากาศที่ดีของบ้านเมือง เดินหน้าไปสู่ความปรองดองทุกเรื่อง โดยเฉพาะในส่วนที่จะต้องเป็นกติกา อย่าไปคิดเฉพาะที่ได้ประโยชน์ พอเสียประโยชน์แล้ว ไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องมีทั้งได้ประโยชน์ และเสียประโยชน์ ไปด้วยกัน เพราะว่าเรากำลังปฏิรูปกันอยู่
เรื่องเศรษฐกิจฐานราก สำคัญคือด้านเกษตรกรรม การบริหารจัดการน้ำ อาชีพอิสระ SMEs Start-up เหล่านี้ ต้องดูแลทั้งหมด ผมเห็นการเสนอข่าวในโทรทัศน์หลายช่องสื่อหนังสือพิมพ์ดี ๆ หลายฉบับ ทั้งหน้าใน ส่วนใหญ่เป็นหน้าใน ๆ ก็อ่านบ้าง มีรายงานความก้าวหน้า การพัฒนาตนเองให้มีรายได้ดีขึ้น จากคำแนะนำของเจ้าหน้าที่รัฐบ้าง ของปราชญ์ชาวบ้านบ้าง ของเกษตรกรที่จบปริญญาความรู้สูง ๆ เขาก็กลับมาทำการเกษตร เป็น Smart Farmer หรือผู้นำท้องถิ่นทางธรรมชาติ มีอยู่มากมาย เขาทำหมดแล้ว ทดลองทำ ลองผิดลองถูก ปรับปรุงแก้ไขแล้ว เป็นสูตรสำเร็จแล้ว ก็ไปเอาเขามาดูเป็นตัวอย่าง ซึ่งสำเร็จไปแล้ว มีรายได้ที่เพียงพอ เพิ่มขึ้นไม่รู้กี่สิบเท่ากี่ร้อยเท่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิบัติตาม “ศาสตร์พระราชา” แต่ก็มีคนอีกจำนวนหนึ่งไม่น้อยเลยที่ไม่สนใจ ไม่เปลี่ยนแปลง ยังเชื่อฟังคำพูดที่ชักจูงว่า วันหน้ารัฐบาลจะเข้ามาอย่างนี้ อย่างนั้น แล้วก็จะแก้ไข จะให้เงิน อย่าไปเปลี่ยนแปลงเลย ลำบากเปล่า ๆ ยังมีอย่างนี้อยู่อีก แล้วผมถามว่าที่ผ่านมา กี่สิบกี่ร้อยปีแล้วพัฒนาได้หรือไม่ หนี้สินหมดหรือยัง ก็ยังไม่หมด
เพราะฉะนั้นไม่อยากไปคิดแล้วไปทำแบบเดิม ๆ ถ้าอ้างว่าไม่มีความรู้ ทำไม่เป็น ไม่เคยทำ ทำแบบเดิม ๆ ก็ไปถามเจ้าหน้าที่ ถามพ่อแม่พี่น้องที่อยู่ในพื้นที่ตัวเอง ที่เขาทำสำเร็จ อย่ามารอเรียกร้องความช่วยเหลือของรัฐเมื่อเสียหายเลย คือปลูกแบบเดิมก็เสียหายแบบเดิม แล้วก็เรียกร้องจากรัฐแบบเดิม ก็วนกันอยู่แค่นั้น แล้วหนี้สินก็อยู่ที่เดิม ลองปรับเปลี่ยนดูบ้าง อย่าไปฟังคน นักการเมืองใด ๆ ที่ไม่ดี คนดี ๆ มีมากมาย ไปฟังคนดี ๆ เขาพูดกัน อย่าไปฟังที่เขาพูดเพื่อหวังผลทางการเมืองต่อไปเลย ที่ผ่านมาอยากจะรู้ว่า ที่พูด ๆ มาแล้วทั้งหมด นักการเมืองที่ไม่ดี อันไหนดี ๆ ผมไม่ไปแตะต้องท่าน ที่ไม่ดีก่อนปี พ.ศ. 2557 ท่านทำอะไรสำเร็จมาบ้าง ที่ไม่เสียหาย ที่ไม่สร้างความเข้มแข็ง ที่เพิ่มประสิทธิภาพประเทศมีหรือไม่
วันนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว ทั้งเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม อากาศ น้ำมีความเปลี่ยนแปลงทุกมิติ เราต้องเปลี่ยนแปลงความคิดของเราด้วย ถ้าเราหวังจะเปลี่ยนแปลงวันข้างหน้า ถ้าวันนี้ไม่เปลี่ยน ไปเปลี่ยนวันหน้า รอก่อน ไว้วันหน้าค่อยทำ ไม่ทันกาล ไม่ทันเวลา คนอื่นเขารวยไปแล้ว คนอื่นเขาหมดหนี้ไปแล้ว ท่านก็ยังมีหนี้สินล้นพ้นตัว ลูกหลานจะทำอะไร ไม่มีที่ทำกิน รัฐบาลหน้ามา ไม่มีให้แล้ว เพราะที่ดินก็หมดไปแล้ว ทุกคนจะต้องพัฒนาตนเอง อย่าให้ถึงกับสูญเสียที่ดินทำกินของตัวเองไปเลย หนี้สินล้นพ้นตัว แก้ไขอะไรไม่ได้ แล้วจะทำยังไง รัฐบาลนี้พยายามทำทุกอย่าง เอาทุกปัญหามา จะเห็นว่ามีมากมาย ตอนแรกกะว่าจะเอาเรื่องสำคัญทำก่อน ปรากฏว่าทำไปทำมาสำคัญหมดทุกอันเลย เพราะพันกันทั้งหมด ก็เพียงแต่ว่า ขอร้องก็แล้วกัน ขอให้เชื่อฟัง ปรับตัว อาศัยเวลา ต้องอดทนกันบ้าง เพราะเราอดทนมานานแล้ว เป็นสิบ ๆ ปีมาแล้ว เพราะฉะนั้นคำพูดต่าง ๆ ที่เหมือน “เลี้ยงไข้” ไม่จริงใจ อย่าไปเชื่อมากนัก อย่าไปคล้อยเพราะที่ผ่านมาก็อยู่ในอำนาจกันทั้งสิ้น ทำอะไรให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกันบ้างหรือไม่ ส่วนที่ดีก็มีมากะ ส่วนไม่ดีก็มาก ฉะนั้นก็พยายามลดลงให้เหลือแต่ส่วนที่ดีแล้วกัน
เราต้องส่งเสริมให้เข้มแข็ง ทุกระดับ สนับสนุนอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ เพราะคนมีหลายประเภทด้วยกัน หลายอาชีพด้วยกัน ต้องมีการพัฒนาตนเองเข้มแข็ง มีขีดความ สามารถ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนอย่าไปรอเงินช่วยเหลือ บางครั้งกฎหมายก็ไม่ให้ ให้ไม่ได้ แต่ไปให้กัน จึงผิดกฎหมาย เพราะฉะนั้นอย่าไปแก้ปัญหาแบบ “ขายผ้าเอาหน้ารอด” ปัญหายังอยู่ที่เดิม งบประมาณไม่คุ้มค่า ประชาชนได้ประโยชน์บางกลุ่ม งบประมาณมหาศาล มีการทุจริต เหล่านี้ผมเพียงยกตัวอย่างให้ฟัง ผมต้องการให้ทุกคนตระหนักว่า ไม่ว่าจะรัฐบาลนี้ รัฐบาลไหน ก็จะต้องเป็น “รัฐบาลของคนไทยทั้งประเทศ” ไม่ใช่เป็นรัฐบาลของ “ฐานเสียง” หรือรัฐบาลของ “คนที่ลงคะแนนให้” เท่านั้น รัฐบาลวันนี้กำลังแก้ปัญหาทุกอย่างหมด จะได้มากได้น้อยก็ต้องทำกันต่อไป
เรื่องหนี้นอกระบบ ผมเห็นพูดกันมาหลายรัฐบาลแล้ว มีรัฐบาลนี้จะทำให้จริงจังขึ้น ผลที่ออกมาขณะนี้ก็มีมติใน ครม. ออกมาแล้วก็ต้องมีวิธีการแก้ปัญหาที่มันถูกต้องตามระบบการเงินการคลัง ตามกฎหมาย ขอให้ติดตาม อันนี้ที่ผ่านมาไม่เห็นมีใครทำ วันนี้ก็ยังติติงอยู่เลย เหมือน พร้อมเพย์ เหมือนขึ้นบัญชี วันนี้หายไปไหนแล้วล่ะที่มาติติงกันอยู่ พอทำสำเร็จแล้วก็เงียบ คือคนพวกนี้น่าเป็นห่วง ประเทศชาติถ้ามีคนพวกนี้อยู่มาก ๆ น่าเป็นห่วง
เพราะฉะนั้นรัฐบาลนี้ วันนี้ได้มีการตั้งคณะกรรมการ “ประชารัฐ” ทั้ง 12 คณะ ผมพูดไปหลายครั้งแล้ว เพื่อจะสร้างประสิทธิภาพ ในการทำงานภาครัฐ รัฐทำคนเดียวไม่ได้ ต้องเชื่อมโยง ภาคประชาชน เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ไม่ใช่รัฐบาลจะไปเอื้อประโยชน์ให้กับใครเหล่านั้น วันนี้ก็ทำทุกอย่าง เราต้องไปแก้ไขในวงจรธุรกิจ ซึ่งก็เหมือน “วัฎจักรทางธรรมชาติ” มีสัตว์เล็ก สัตว์ใหญ่ พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน พืชพรรณนานาชนิดพึ่งพาอาศัยกัน อยู่อย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้จะเสียความสมดุล
วันนี้นักธุรกิจเหล่านั้น เขามีเจตนาดีมาช่วย “ตั้งไข่” เรียกได้ว่า ตั้งไข่ให้กับบริษัทประชารัฐรักสามัคคีจำกัด ธุรกิจเขาคือธุรกิจของเขา ถ้าถูกกฎหมายก็คือถูกกฎหมาย ผิดกฎหมายก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเขาก็มาตั้งไข่ให้เรา ภาคประชาชนใน “ทุกจังหวัด” ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารพัฒนาความรู้ ให้เงินทุน ดูแลการศึกษา ฝึกสอนการทำบัญชี เหล่านี้เขาก็มาช่วยอยู่ในส่วนราชการต่าง ๆ ทั้งสิ้น 12 คณะ ตั้งหลายสิบบริษัท เราต้องการสร้างความยั่งยืน
อีกเรื่องหนึ่งคือการจัดทำโครงการใด ๆ ก็ตาม ของรัฐบาลที่อนุมัติโดย ครม. นั้น เราจำเป็นต้องคิดให้ครบวงจร ต้องทำแผนอย่างมียุทธศาสตร์ว่า สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ใด เราจะพัฒนาประเทศไปอย่างไร 5 ปี 10 ปี 15 ปี 20 ปี เพราะฉะนั้นโครงการเหล่านั้นต้องสอดคล้องอย่างนั้น และให้เกิดการบูรณาการและต่อเนื่อง ถึงจะแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน อาทิเช่น “การแก้ไขปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วมภาคใต้ ก็เห็นอยู่แล้ว ถ้าเราแก้ไม่ได้ การระบายน้ำไม่ได้ เครื่องกีดขวางยังขวางทางน้ำอยู่ บ้านเรือนบ้านจัดสรร สถานที่อะไรต่าง ๆ ขวางไว้ทั้งหมด แล้วจะแก้ได้หรือไม่
เพราะฉะนั้นวันนี้ ผมได้สั่งการไป จำเป็นต้องแก้ไขให้เป็นรูปธรรม อาจจะต้องมีคนเดือดร้อนบ้าง แต่เดือดร้อน รัฐบาลก็ต้องดูแล ขอให้อย่าดื้อ ถ้าดื้ออีกปีหน้าก็โดนอีก แล้วเราจะต้องเสียเงินไปอีกเท่าไหร่ ท่านจะต้องเดือดร้อนไปอีกเท่าไหร่ หารือกัน ปรึกษากันนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคใต้ที่เกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ขอบคุณประชาชนทุกคนที่มีส่วนร่วมในการสละเงินบริจาคช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบภาคใต้ วันนี้มียอดรวมประมาณ 700 กว่าล้าน ก็เอาไปทำเรื่องซ่อมบ้าน เป็นหลักไปก่อน ที่เหลือก็ค่อย ๆ ทยอยไปในกิจกรรมอื่น ๆ
เรื่องการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ฝนแล้ง มันจะต้องแก้ทั้งระบบ แก้ทั้งวงจร อันแรกคือ “ต้นทาง” แก้ไขการบุกรุกพื้นที่ป่าต้นน้ำ ป่าอนุรักษ์ ในส่วนที่ผิดกฎหมาย ที่จะต้องดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม บางส่วนก็จะต้องนำมาจัดสรร เป็นที่ดินทำกิน ในส่วนที่เป็นป่าเสื่อมโทรมไปแล้ว ให้กับเกษตรกร แต่ไม่ให้เป็นเจ้าของให้ทำกินเฉย ๆ สำหรับผู้มีรายได้น้อย ให้ใช้ประโยชน์จากป่า และอนุรักษ์ป่าและปลูกป่าไปด้วย ป่าชุมชน ป่าเศรษฐกิจ ทำไป
อันที่ 2 “ตรงกลางทาง” คือ การบริหารจัดการลุ่มน้ำทั่วประเทศ 25 ลุ่มน้ำ ทั้งหมด ทั้งในระบบชลประทาน รอบระบบชลประทาน แม่น้ำ ลำคลองสาขา รวมทั้งการขุดลอกคูคลอง การกำจัดผักตบชวา ซึ่งยังไม่สำเร็จ 100% สำเร็จไปมากแต่ไม่ 100% เพราะประชาชนไม่ช่วยกันอย่างไร ทุกคนต้องช่วยกันคนละต้นก็หมดไปแล้ว 70 ล้านคน 70 ล้านต้น เก็บทุกวันทุกวันเดียวมันก็หมด สูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยเลย ช่วยกันให้ผมด้วย ไม่เช่นนั้นก็เสียเงินเสียทองมากมาย เดี๋ยวก็ไปโทษว่าทุจริตอีก แล้วก็อีกอันคือการป้องกันการพังทลายหน้าดิน ใช้ “หญ้าแฝก” ปลูกแฝก หญ้าธรรมดาก็ช่วยได้ในบางที ในที่ไม่ใช่ลาดชันมาก ๆ ก็ปลูกหญ้าเอาไว้ อย่างน้อยหญ้าก็คลุมดินพืชอื่นที่คลุมดินก็มากมายไป “ศาสตร์พระราชา” มีอยู่แล้ว พระราชทานไว้
“เรื่องปลายทาง” อันนี้ประเด็นสำคัญ ต้องจัดหาแหล่งน้ำ เพื่อการเกษตรกรรม เพื่ออุปโภคบริโภค ป้องกันภัยแล้ง เราต้องทำทั้งแก้มลิง ขนมครก ให้กระจายทั่วทุกพื้นที่ ส่วนใหญ่จะมีปัญหานอกเขตชลประทาน ในชลประทานถ้ามีน้ำทำได้เพราะมีระบบส่งน้ำ แต่ถ้านอกเขตชลประทานคราวนี้ล่ะเดือดร้อน เพราะว่าไม่มีแหล่งเก็บน้ำ เราต้องทำเพิ่มขึ้น ทำเสร็จแล้วก็ต้องทำระบบกระจายน้ำเข้าไปอีก ขุดทาง คูคลองส่งน้ำ ให้มันถึงทั่วทุกพื้นที่ ถึงหมู่บ้าน “หัวไร่ปลายนา” อาจจะต้องมีการขุดของตัวเองบ้าง ตามบ้านคน บ้านเกษตรกร ต้องมีสระน้ำของตัวเอง เพราะว่าอยู่นอกเขตชลประทาน เก็บกักน้ำฝนไว้ให้มากๆ ไม่อย่างนั้นระบายน้ำทิ้งหมด ต้องเชื่อมโยงกันทั้งหมด เรากำลังทำทุกอย่างในการแก้ปัญหาเป็นชิ้น ๆ ก็มี ปัญหาเชิงโครงสร้างก็มี ปัญหาที่ต้องบูรณาการก็มี ใช้ทั้งทรัพยากร งบประมาณจำนวนมาก ใช้เวลาอีกมากมาย ถ้าทำกันบ้างแล้วมันก็ไม่ลำบากอย่างนี้ เพราะฉะนั้นเราจะไม่ทำอีกหรือ เราจะไม่ช่วยกันทำวันนี้แล้วจะไปลำบากอีก 10 หรือ 20 ปีต่อไป ผมก็จนนะ เพราะฉะนั้นช่วง 2 ปีนี้ เราพยายามทำอย่างเต็มที่นะครับ
“เรื่องรถไฟฟ้า” จำเป็นต้องยกตัวอย่างก็เหมือนกัน ผมสอบถามแล้วหละ จะมีการจัดทำแผนแม่บทไป จัดลำดับความเร่งด่วนไปแล้วว่า จะทำสายไหนก่อน เส้นนี้ก่อน เส้นนั้นก่อน เพื่อจะให้สมบูรณ์ แล้วเส้นนี้ต่อขยายปรากฏว่า ไปเอาเส้นที่ควรจะทำทีหลังมาทำก่อน แปลกดีเหมือนกันอาจจะมีผลประโยชน์ตรงไหนผมไม่ทราบ เหมือนกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง สายสีน้ำเงิน ที่มี “ช่องว่าง 1 กิโลเมตร” จริง ๆ แล้วผมถามแล้วว่า ควรจะทำสายสีน้ำเงินก่อน ทั้งส่วน 1 กิโลเมตรและส่วนต่อขยายที่ว่ากันในวันนี้ ต้องทำเส้นนี้ก่อนถึงจะไปทำสายสีม่วงต่อทีหลัง แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องไปทำสายสีม่วงขึ้นมาก่อนแล้วก็เว้นช่องไว้ 1 กิโลเมตร แล้วต้องไปหาทางทำ 1 กิโลเมตรในส่วนต่อขยายนี้ให้ได้ ผมก็เหนื่อยใจกับเรื่องพวกนี้จริง ๆ สร้างปัญหาให้กับประชาชนในการเดินทาง
รัฐบาลนี้แก้ทุกอย่างก็ขอให้ไว้ใจกัน อย่าหาว่าไปเอื้อประโยชน์คนนั้นคนนี้เลย ทุกอย่างจะต้องชัดเจนขึ้น โครงการรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ ผมก็พยายามจะทำให้ดีที่สุด เร่งรัด ดำเนินการให้ได้โดยเร็ว ปัญหามีมากมายไปหมด อุปสรรค ทำแบบที่ผมทำดูยาก เข้าไปยุ่งมาก ๆ ก็เลยยาก ถ้าปล่อย ๆ ไปก็เสร็จเอง ซึ่งก็ไม่ดีผมปล่อยไม่ได้
การจราจรที่ติดขัดมาก การก่อสร้างวันนี้มีปัญหาเพราะว่า สร้างหลายสายแล้วถ้าไม่สร้างได้หรือไม่ ก็ต้องสร้าง แต่จะต้องช่วยกันอย่างไร ทำความเดือดร้อน ต้องอดทนเราจะได้มีระบบขนส่งที่สมบูรณ์ การจราจรในเขตเมืองก็จะดีขึ้น ไม่อย่างนั้นรถไฟก็ต้องสร้าง รถไฟฟ้าก็ทำ รถเมล์ก็ต้องทำใหม่ อุโมงค์ก็ต้องทำ สะพานข้ามแยกก็ต้องทำ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ทำมาเป็นรูปธรรมมามากนัก ก็เลยเกินปัญหาประดังประเดมาเวลานี้ เพราะฉะนั้นขอให้ทุกคนใจเย็น ให้อภัย มีน้ำใจ ใช้รถ ใช้ถนน อย่างถูกกฎหมาย ทำให้เป็น “สยามเมืองยิ้ม” อดทนบ้าง
เรื่องเศรษฐกิจ อยากให้ดูตัวเลขสภาพัฒน์ฯ ด้วย ทั้งโลกเขาใช้ตัวเลขเหล่านี้มาพิจารณามาอ้างอิงกัน อย่ามามองว่ารัฐบาลดูแต่ตัวเลขแบบนี้ เท่านี้ ไม่ใช่ดูทั้งของจริง ข้อเท็จจริงของประชาชนด้วยในทุกระดับ เพราะฉะนั้น GDP ในปี 60 นี้ คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.0 ถึง 4.0 ก็นับว่าเป็นสิ่งที่ดี อย่าเพิ่งไปดูถูกกันเลย ถ้าดีขึ้นก็ดีไง จะมาดูถูกให้ต่ำกว่านี้ทำไม ปี59 ก็ดีขึ้นไง 3.2 ก็ดีกว่าปีก่อน 2.8 ไม่ดีขึ้นหรอครับ ในเมื่อตัวเลขข้างบนมันดี ข้างล่างมันก็มีผลกระทบมาถึงข้างล่างด้วย แต่จะถึงทุกคนหรือเปล่า ก็ต้องมีอย่างอื่นมาเสริมด้วย ต้องคิดให้มีระบบแบบนี้ อย่าไปฟังคนที่พูดบิดเบือนอยู่ทุกวันนี้
เราไม่เคยละเลยเศรษฐกิจระบบฐานราก วันนี้ผมก็คิดถึงคนขายของริมถนน จะทำอย่างไร จะจัดระเบียบเขาได้ยังไง ที่เขาไม่เดือดร้อน ส่วนคนบริโภคคนกินอาหารจะทำยังไง เพราะว่าต้องพึ่งพาอาศัยกันและกันมา แต่ทำอย่างไรถึงจะเป็นระเบียบ ถ้าท่านร่วมมือกัน ก็พอจะอยู่ร่วมกันได้ แต่ถ้าไม่ร่วมมือกันเลยมันก็ไปกันหมด กฎหมายมันก็คือกฎหมายนั้นแหละ เพราะฉะนั้นขอให้ทราบถึงความห่วงใย จากการทำงานของรัฐบาลมาตรการต่างๆ คิดทุกอัน คิดให้ละเอียดยิบเลยทุกเรื่อง ถึงยากยังไง ถ้าคิดง่าย ๆ ก็ไม่ยาก สั่งลงไปโครมๆก็เสร็จแต่เสร็จแบบมีปัญหาหมด เราต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สร้างความเข้มแข็ง พัฒนาความรู้ ฝีมือแรงงาน มาตรฐานแรง สร้างเครือข่ายเชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจบน กลาง ล่าง เข้าด้วยกันให้ได้
เพราะฉะนั้นถึงจะไปด้วยกันได้ ลดหนี้ประชาชน SMEs เข้มแข็ง แก้ไขหนี้นอกระบบ พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนภาครัฐ มียุทธศาสตร์ต่อเนื่องเชื่อมโยง ไม่ทำแบบปะผุ ปะตรงนี้แล้วก็ผุตรงโน้นอีก วันหน้าก็จะเป็นอยู่แบบนี้ เพราะอย่างนั้น วันนี้ต้องทำทุกอย่างเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับทั้งในประเทศและต่างประเทศ เราต้องเชื่อมั่นกันเองก่อน ถ้าเรามัวแต่พูดกันไปกันมา ว่ากันเอง แล้วความมั่นใจมันจะเกิดหรือไม่ คนใช้เงินก็ไม่กล้าใช้ คนลงทุนก็ไม่กล้ามาลงทุน เศรษฐกิจก็ไม่เจริญเติบโต แล้วท่านจะได้อะไร นอกจากคำพูดของคนที่เขาพูดบิดเบือนกันอยู่ แล้วไม่ได้สร้างสรรค์อะไรให้ประเทศชาติ เตือนตัวเองเสมอว่า เราจะต้องทำให้สำเร็จ ด้วยศรัทธรา ด้วยความร่วมมือ ทุกคนทุกธุรกิจนั้นมีหน้าที่มีความสำคัญในวงจรเศรษฐกิจทั้งสิ้น โอกาสมีทุกคน ขยันขันแข็ง พัฒนาตนเองเสมอ อยู่เฉย ๆ เรียกร้องอย่างเดียวโอกาสก็เลยผ่านไป โอกาสก็หมดไป
เรื่องที่ 5. เรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ วันนี้มีคณะกรรมการอยู่แล้ว ถือเป็น“วาระแห่งชาติ” ด้วย ทำมาต่อเนื่อง วันนี้ก็มีปัญหาอีกมากมายยิ่งทำก็ยิ่งเจอ ยิ่งทำก็ยิ่งพบ แต่ไม่ใช่ว่าพบการทุจริตมากขึ้นอะไรทำนองนี้ เพียงแต่พบว่าระบบยังมีปัญหาอยู่ การตรวจสอบทุจริตนั้นตรวจสอบไป เจอก็จับ เจอก็ลงโทษ ถ้าทำไม่ได้ก็ทำต่อไปไม่มีอะไรที่ทำได้เร็ว จนวันนี้ พรุ่งนี้ ต้องใช้หลาย ๆ กลไกด้วยกัน แต่สิ่งสำคัญที่สุดก็คือระบบ วันนี้ผมก็มาคิดดูปรึกษากับท่านรองนายกรัฐมนตรีและก็ฝ่ายกฎหมายดูว่าจะทำยังไงให้ระบบดีขึ้น สามารถที่จะตรวจสอบได้ สามารถที่จะป้องกันการทุจริตได้ ในการทำโครงการต่างๆของรัฐบาล เรามี ป.ย.ป. อยู่แล้ว และมี บยศ. (คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์) คือบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ที่ขับเคลื่อนที่ติดขัด แล้วก็ผลักดันกฎหมายเชิงรุก เราป้องกันได้พอสมควร อุดช่องว่างได้พอสมควร แต่ปัญหาอีกอันหนึ่งที่เราเจอกันมานี้ก็คือการทุจริตในระบบการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งหลายอย่างทำถูกทั้งหมด แต่ที่ผิด ผิดนอกระบบ ไม่ผิดก่อนเข้ามาในกระบวนการ เช่น การสมยอมราคา (การฮั้วประมูล) การกำหนดราคากลางที่ไม่เป็นมาตรฐาน การกำหนดขอบเขตงาน (TOR) ที่ไม่ชัดเจน ล็อคสเปค หรือ การจัดซื้อผ่านตัวแทนจำหน่าย เหล่านี้เป็นต้น
2 ปีกว่าที่ผ่านมา ระบบเหล่านี้ได้แก้ไขไปตามลำดับ ได้มีการพัฒนาระบบการจัดซื้อภาครัฐ ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-GP) ซึ่งมีกำหนดแนวทางการจัดหาพัสดุ ด้วยวิธี “ตลาดอิเล็กทรอนิกส์”(e-Market) และด้วยวิธี “ประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์” (e-Bidding) ทำให้เราสามารถประหยัดงบประมาณแผ่นดิน ได้ราว 70,000 ล้านบาท ที่ผ่านมา อย่าหาว่าเราไม่ได้แก้ไข เราได้เงินคืนมา 7 หมื่นกว่าล้าน มีการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม (IP) ใน 35 โครงการ ช่วยประหยัดงบประมาณ ได้กว่า 2,000 ล้านบาท และได้กำหนดให้มีการเปิดเผยข้อมูลโครงการก่อสร้างภาครัฐ ที่เรียกว่า CoST ของประเทศอังกฤษ เข้ามาใช้ด้วย เพื่อเกิดความโปร่งใส ในทุกขั้นตอน ปัจจุบันมี 7 โครงการ วงเงินกว่า 1 แสนล้านบาท รวมทั้งมีการผลักดันพระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐฯ เพื่อจะให้มีผลบังคับใช้ต่อไปด้วย
ในอนาคตอันใกล้นี้ ผมจะต้องกำหนดหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับในเรื่องของการเสนอราคาไม่ว่าจะเป็นแบบ Local Bidding หรือ แบบ International Bidding ให้มีความชัดเจนขึ้น เช่น โครงการก่อสร้าง ที่สูงกว่า 5,000 ล้านบาทขึ้นไป ผมจะแต่งตั้ง Super Board เป็นคณะกรรมการกลาง เพื่อจะกำกับดูแลในเรื่องนี้ ให้มีการสอบทานกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมด ที่ทำแล้วยังไม่จบ จะต้องเข้าไปตรวจสอบ อันที่จะทำใหม่ก็ต้องเข้าไปดูแลได้ ทั้งราคากลาง งานก่อสร้าง ของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจด้วย
อีกชั้นหนึ่งในทุกขั้นตอนที่มีข้อสงสัย ถ้าสงสัยตรงไหนก็แก้ไขตรงนั้น ถ้าผิดทุจริตก็ส่งดำเนินคดีไป ไม่อย่างนั้นก็ติดไปหมด ทำเสร็จไปแล้วก็ทุจริตแล้วก็หาหลักฐานไม่ได้ เพราะฉะนั้นวันนี้ผมคิดแล้วคิดอีก ก็หารือร่วมกันกับท่านรองนายกรัฐมนตรี ทั้งฝ่ายกฎหมายด้วยอะไรด้วย และหลาย ๆ ท่าน ก็ได้คำตอบมาว่าเราต้องปรับปรุงตรงนี้ ซึ่งจะต้องประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ องค์กรวิชาชีพ นักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิ ผมได้สั่งการให้ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ป.ป.ช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปศึกษาความเป็นไปได้ในการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับ “อายุความ” ในคดีทุจริต โดยให้เริ่มนับตั้งแต่ “เมื่อปรากฏหลักฐานการทุจริต” ไม่ใช่นับจาก “วันที่กระทำผิด” เป็นต้นเหล่านี้นะครับ ก็ไปดูว่าทำได้หรือไม่
สุดท้ายนี้ ผมอยากจะบอกว่า วันนี้เรากำลังทำในสิ่งที่ยากร่วมกันอยู่ บางอย่างเราอาจจะไม่เคยทำมาก่อน แต่หากเราประพฤติโดยชอบ โดยธรรม ประพฤติโดยชอบประกอบโดยธรรมแล้ววิญญูชนยอมรับแล้ว ผมก็อยากเสนอให้ทุกคนประสบความสำเร็จ สมกับที่ทุกคนมุ่งหวังตั้งใจ อาทิเช่น ทีมนักศึกษาแพทย์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ก็มีความตั้งใจสร้างประวัติศาสตร์ในการทำกิจกรรม 1 ล้าน 5 แสนก้าววิ่งเพื่อชีวิต เชียงใหม่ - ศิริราช เหมือนตูน ที่ประจวบคีรีขันธ์ อันนี้เป็นการกุศลระยะทางรวมประมาณ 750 กิโลเมตร ระหว่างวันที่ 11-17 มีนาคมนี้
วัตถุประสงค์ที่น่าชื่นชม คือ หาเงินสมทบทุนในการก่อสร้างอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา ซึ่งจะเป็นอาคารหลังสุดท้ายของโรงพยาบาลศิริราชที่ได้รับพระราชทานนามจากในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อชีวิตที่ดี มีความเท่าเทียมในการรักษาพยาบาลของประชาชนชาวไทย ตามพระราชปณิธานของพระองค์ นอกจากนั้นเป็นการรณรงค์ให้คนออกกำลังกาย รักษาสุขภาพ เพื่อจะลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ผู้ที่มีจิตศรัทธราสามารถเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวตามกำลังกายของแต่ละท่าน ระมัดระวังตัวเองด้วย สุขภาพของตัวเองรู้อยู่แล้วดีแค่ไหนอย่างไร อย่าไปฝืน แล้วรถติดหรืออะไรต่าง ๆ ก็เห็นใจกันบ้างแล้วกัน เพราะเขาทำการกุศล ส่วนการบริจาคเงินนั้น สามารถติดตามรายละเอียดได้จากด้านล่างของจอนี้
ขอบคุณครับ ขอให้ทุกคนมีความสุขในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ เริ่มสัปดาห์หน้าเราก็มาร่วมมือกันทำสิ่งดี ๆ ทำความดีร่วมกัน ขอให้ทุกท่านมีสุขภาพกาย สุขภาพใจที่แข็งแรง รวมกันจรรโลงศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม เดินหน้าประเทศไทยของเราให้เจริญเติบโตก้าวหน้าด้วยความ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ขอบคุณครับ สวัสดีครับ