Last updated: 12 ธ.ค. 2560 | 2065 จำนวนผู้เข้าชม |
สนช.หักกมธ.โหวตตกคุณสมบัติผู้ทรงคุณวุฒิดิจิทัล
กฎหมายดิจิทัลสะดุด สนช.หักกมธ.โหวตตกคุณสมบัติกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิดิจิทัล ปิดทางผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ขณะที่ กมธ.ขอถอนร่างพ.ร.บ.ฯออกไปเพื่อปรับปรุง
ร่าง พ.ร.บ.ดิจิทัลชะงัก หลัง สนช. โหวตไม่ผ่าน เหตุ กมธ.แก้ไขคุณสมบัติ คกก.ผู้ทรงคุณวุฒิ ชี้เปิดช่องเอื้อประโยชน์ให้นายทุน ทำลายระบบธรรมาภิบาล ไม่มีความโปร่งใส ส่อเจตนาแอบแฝงล็อกสเปกบุคคล ด้าน กมธ.ขอถอนร่างออกไปเพื่อปรับปรุงใหม่อีกรอบ
เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2559 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. ... ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแล้วเสร็จ โดยเป็นการพิจารณาในวาระ 2 เรียงลำดับรายมาตรา โดยมาตรา 8 คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง ซึ่งคณะกรรมาธิการได้มีการตัดข้อความใน (6) “ไม่เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หรือหน่วยงานของเอกชนเพราะทุจริตต่อหน้าที่ และ (7) และไม่ประกอบอาชีพหรือวิชาชีพอิสระอื่นใด หรือเป็นกรรมการ ผู้จัดการ หรือลูกจ้างขององค์กรเอกชนใดที่มีส่วนได้เสียหรือมีผลประโยชน์ขัดแย้งไม่ว่าโดยตรง หรือโดยอ้อมกับการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งกรรมการ” ออกไป
โดยสมาชิกหลายคนไม่เห็นด้วยกับการตัดข้อความดังกล่าวออก โดยเห็นว่าการตัดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามนี้ออกถือเป็นเรื่องใหญ่ เปิดช่องให้บุคคลที่มีผลประโยชน์ บุคคลที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับธุรกิจดิจิทัลเข้ามาเป็นกรรมการ และเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนอย่างแท้จริง รวมทั้งยังเป็นการทำลายระบบธรรมาภิบาล ไม่มีความโปร่งใส มีเจตนาอะไรแอบแฝงในการตัดข้อความดังกล่าว เป็นการล็อกสเปกบุคคลหรือไม่ เพราะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จะมีอำนาจในการบริหารกองทุน ซึ่งมีจำนวนเป็นหมื่นล้านบาท ซึ่งหากที่ประชุมเห็นชอบเชื่อว่ามีคนร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้
ด้านตัวแทนกรรมาธิการชี้แจงว่า กรรมการชุดนี้จะเป็นผู้วางนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจสังคม ออกระเบียบการบริหารกองทุน การจัดหาผลประโยชน์และจัดการกองทุน ซึ่งถือว่ามีความสำคัญจำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้ แต่บุคลากรด้านนี้มีน้อยอีกทั้งคนที่อยู่แวดวงไอซีทีส่วนใหญ่ก็มาจากภาคเอกชน กรรมาธิการมีความกังวลเรื่องคน ดังนั้น การตัดข้อความนี้ออกก็เพื่อต้องการได้คนที่มีความเชี่ยวชาญ คนเก่ง มาเป็นกรรมการไม่มีผลประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น เพราะดิจิทัลจะเป็นเสาหลักของชาติ ถ้าได้คนไม่มีความรู้มาเป็นก็ไม่รู้ว่าอนาคตของชาติจะเป็นอย่างไร
นอกจากนี้ คนที่มีส่วนได้เสียก็จะไม่สามารถเข้าร่วมประชุมในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตนเองได้ ประกอบกับจะมีร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและผลประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ. ... ซึ่งจะเป็นตัวควบคุมในเรื่องของผลประโยชน์ของกรรมการ และหากในอนาคตเห็นว่ามีปัญหามากก็สามารถที่จะนำเสนอแก้ไขกฎหมายมาตรานี้ได้
อย่างไรก็ตาม ทางสมาชิก สนช.ยังคงยืนยันไม่เห็นด้วย ทำให้ที่ประชุมต้องลงมติ ซึ่งผลปรากฏว่า เสียงส่วนใหญ่มีมติใน (6) ไม่เห็นชอบตามที่คณะกรรมาธิการตัดออกด้วยคะแนน 38 ต่อ 146 งดออกเสียง 10 และลงมติไม่เห็นชอบกับการตัด (7) ด้วยคะแนน 26 ต่อ 158 งดออกเสียง 10 จึงต้องคงมาตรา 8 ตามร่างเดิม
ต่อมานายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ได้เสนอว่า ผลจากการลงมติดังกล่าวทำให้ต้องมีการแก้ไขอีกหลายประเด็น ดังนั้น ควรให้กรรมาธิการทำการแก้ไขก่อนที่จะมีการพิจารณาเพื่อให้ดำเนินไปอย่างสะดวก รวดเร็ว นายพรเพชรจึงสั่งพักการประชุม 15 นาที เพื่อให้คณะกรรมาธิการไปหารือถึงการปรับแก้ร่าง พ.ร.บ. และเมื่อมีการเปิดประชุมอีกครั้ง ทางกรรมาธิการ ได้ขอถอนออกไปเพื่อพิจารณาปรับปรุงให้เหมาะสมและสอดคล้องกับที่สมาชิกอภิปรายและขอแปรญัตติ ก่อนนำมาให้ที่ประชุมได้พิจารณาต่อไป
สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือ กำหนดให้คณะรัฐมนตรีจัดให้มีนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจสังคมเพื่อให้การพัฒนาการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเกิดประโยชน์สูงสุด พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีดิจิทัลที่เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม กำหนดให้มีคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือดีอี โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ให้ปลัดกระทรวง เป็นกรรมการและเลขานุการ และให้เลขาธิการเป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ ซึ่งกรรมการดิจิทัลที่มีหน้าที่จัดทำนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจสังคมเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อกำหนดนโยบายและทิศทางด้านการเงิน การคลัง การลงทุน มาตรการทางภาษีและสิทธิประโยชน์ต่างๆ
นอกจากนี้ยังกำหนดให้จัดตั้งกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้จ่ายเกี่ยวกับการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และให้มีคณะกรรมการกำกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
28 ต.ค. 2565