“มติ ครม.”ให้จัด“กิจกรรมบันเทิง-รายการวิทยุ-โทรทัศน์”ตามปกติ

Last updated: 28 มิ.ย. 2561  |  3856 จำนวนผู้เข้าชม  | 

“มติ ครม.”ให้จัด“กิจกรรมบันเทิง-รายการวิทยุ-โทรทัศน์”ตามปกติ

“มติ ครม.” ให้จัด “กิจกรรมบันเทิง -รายการวิทยุ-โทรทัศน์” ตามปกติ ภายใต้ความเหมาะสม พร้อม ชัก “ธงเต็มเสา” 14 พฤศจิกายน

ที่ทำเนียบรัฐบาล -วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 - พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกฯ ในฐานะรักษาราชการอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อหารือถึงกรณีความชัดเจนและแนวในการจัดกิจกรรมด้านบันเทิงของผู้ประกอบการสถานีวิทยุ สถานีโทรทัศน์ โดยใช้เวลาหารือประมาณ 1 ชั่วโมง

          จากนั้น พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า เมื่อครบ 30 วันคือในวันที่ 14 พฤศจิกายนนี้ สิ่งที่เคยทำก็ให้ทำตามปกติ กิจกรรมที่เกี่ยวกับการแสดง มหรสพ ดนตรี เข้าสู่ภาวะปกติ แต่ก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อกฎหมาย ห้ามหลุดออกนอกกรอบกฎหมาย และขอให้ผู้ว่าฯ นายอำเภอ นายกสมาคมธุรกิจบันเทิง หรือธุรกิจมหรสพในพื้นที่นั้นๆ เป็นผู้ให้คำแนะนำกับผู้ที่จะจัดงานว่าแค่ไหนถึงจะเหมาะสม ยืนยันว่าทุกอย่างดำเนินได้ตามปกติ รวมถึงการออกอากาศรายการทีวี รายการวิทยุ ต้องสอดคล้องกับความรู้สึก อารมณ์ของสังคม แต่ไม่ได้หมายความว่าให้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้ว่าฯหรือนายอำเภอ แต่ดุลพินิจดังกล่าวอยู่ที่ผู้จัดกิจกรรม อย่างไรก็ตาม การจัดในที่สาธารณะนั้น ต้องมีการขออนุญาตจากผู้ที่เกี่ยวข้องในการอนุมัติไม่ได้หมายความว่าใครจะจัดก็ได้ เมื่อถามว่าละครที่ออกอากาศไปก่อนหน้านี้จะสามารถกลับมาออกอากาศตามปกติได้หรือไม่หรือจะต้องตัดเนื้อหาบางช่วงบางตอนออกหรือไม่ พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า ทุกอย่างยังปกติ แต่เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับผู้จัดต้องพิจารณาโดยใช้ดุลยพินิจ เพราะผังรายการทีวีอาจจะต้องมีการสอดแทรกเรื่องการเทิดทูนพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และแสดงความอาลัย แทรกรายการเหล่านี้เข้าไปปะปนอยู่ในพังรายการทั้งวิทยุ และโทรทัศน์เหมือนที่ทำอยู่ตามปกติด้วย

          พ.อ.หญิงทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า สำหรับแนวทางการจัดกิจกรรมบันเทิงหรือกิจกรรมต่างๆตามที่รัฐบาลได้ขอความร่วมมือครบ30วันนั้น เมื่อวันที่30ต.ค.ที่ผ่านมา นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้หารือกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง โดยจำแนกกิจกรรมออกเป็น9ลักษณะ ได้แก่ 1.งานเทศกาลระดับประเทศ เช่น ลอยกระทง คริสต์มาส วันปีใหม่ ตรุษจีน 2.งานเทศกาลระดับจังหวัด เช่น งานกาชาด เทศกาลผีตาโขน เป็นต้น 3.งานส่งเสริมเศรษฐกิจระดับจังหวัด อำเภอ ท้องถิ่น เช่น งานกิจกรรมถนนคนเดิน งานประเพณีชนวัว เป็นต้น

         โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า 4.งานรื่นเริง วัฒนธรรมพื้นบ้าน เช่น ลิเก ลำตัด ดนตรี มหรสพ และการประกวดต่างๆ 5.กิจกรรมสถานบันเทิง เช่น ไนต์คลับ ผับ บาร์ 6.กิจกรรมที่จัดภายในโรงแรมต่างๆ เช่น การจัดประชุมสัมมนา งานเลี้ยงสังสรรค์ 7.การแสดงคอนเสิร์ต 8.งานตามประเพณีวัฒนธรรม เช่น งานกฐิน ผ้าป่า งานมงคลสมรส งานบวช และ 9.งานแข่งขันกีฬาทุกระดับ และกองเชียร์นั้น เพื่อให้ทุกอย่างดำเนินการไปตามปกติและเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จึงเห็นควรให้สามารถจัดกิจกรรมต่างๆได้ตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2559 เป็นต้นไป

          พ.อ.หญิงทักษดา กล่าวว่า ผู้จัดงานต้องพิจารณาความเหมาะสมให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดให้คำแนะนำ และปรึกษากับภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้การใช้พื้นที่จัดกิจกรรมต่างๆเป็นไปอย่างเหมาะสม และสอดคล้องกับวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ ขณะที่การจัดรายการของสถานีวิทยุโทรทัศน์สามารถดำเนินการได้ตามปกติ โดยขอความร่วมมือผู้รับผิดชอบรายการพิจารณาความเหมาะสม และควรสอดแทรกรายการที่ให้ความรู้เพื่อการพัฒนาด้านต่างๆของประเทศ

          โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่าสำหรับข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ไว้ทุกข์มีกำหนด1ปี เช่นเดิม สำหรับประชาชนและนักท่องเที่ยวให้พิจารณาตามความเหมาะสม ส่วนการลดธงครึ่งเสา 30 วัน ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี จะครบกำหนดในวันที่ 12 พฤศจิกายนนี้ ดังนั้นในวันที่ 14 พฤศจิกายน จะเป็นวันแรกในการชักธงเต็มเสาเหมือนเดิม

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้