Last updated: 21 ม.ค. 2568 | 4446 จำนวนผู้เข้าชม |
'สุทนต์ กล้าการขาย' สมาชิกวุฒิสภา หนุนการออกกฎหมายควบคุมคุณภาพอากาศ แก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 เพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม
เมื่อวันอังคารที่ 21 มกราคม 2568 ก่อนเปิดการประชุมวุฒิสภา นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ได้อนุญาตให้สมาชิกวุฒิสภาปรึกษาหารือปัญหาเกี่ยวกับความเดือดร้อนของประชาชนหรือปัญหาอื่นใด ตามข้อบังคับการชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2562 ข้อ 18 โดย นายสุทนต์ กล้าการขาย สมาชิกวุฒิสภา ได้ปรึกษาหารือเนื่องจากสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ของประเทศไทยที่เพิ่มสูงขึ้น ในช่วงเดือนธันวาคม - มีนาคมของทุกปี นั้น ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างรุนแรง และจากผลการวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพเมื่อได้รับมลพิษอากาศและฝุ่น PM2.5[1] ระบุว่าฝุ่น PM2.5 และฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า PM2.5 สามารถแพร่กระจายเข้าสู่ทางเดินหายใจ กระแสเลือด และแทรกซึมสู่อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายและยังเป็นพาหะนำสารอื่นเข้าสู่ร่างกาย เช่น โลหะหนักอันตราย รวมถึงสารก่อมะเร็งต่างๆ ซึ่งสารเหล่านี้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติของสารพันธุกรรม และกระตุ้นการอักเสบในร่างกาย เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ
นอกจากนี้ จากรายงานสภาวะอากาศโลก ในปี พ.ศ. 2567 หรือ State of Global Air 2024 report ยังระบุว่า ปัญหาฝุ่น PM2.5 เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของคนทั่วโลกสูงถึง 8.1 ล้านคน และอีกหลายล้านคนเป็นโรคเรื้อรัง และสิ่งที่น่ากังวล คือ เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี มีจำนวนสูงถึง 7 แสนคน[2] และคนไทย ก็ป่วยโรคที่เกิดจากมลพิษทางอากาศ สูงถึง 12 ล้านคน[3]
จากสถานการณ์ดังกล่าว ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของคนไทย และถึงแม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการการแก้ไขปัญหาในเชิงสังคม หรือมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับรู้ถึงภัยอันตรายของฝุ่น PM2.5 ก็ตาม แต่ปัญหาฝุ่น PM2.5 ก็ยังคงเกิดขึ้นทุกปี และสะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและอย่างยั่งยืนหรือไม่อย่างไร
ดังนั้น กระผมจึงขอหารือท่านประธานวุฒิสภา ผ่านไปยังนายกรัฐมนตรีว่า รัฐบาลควรตระหนักถึงการแก้ไขวิกฤตปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่คนไทยกำลังเผชิญอย่างเร่งด่วน วางแนวทางการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในการจัดการปัญหาฝุ่น PM2.5 ตั้งเป้าหมายในการลดค่าฝุ่น PM2.5 ให้ต่ำกว่ามาตรฐาน รวมทั้งควรเร่งผลักดัน การออกกฎหมายควบคุมคุณภาพอากาศ เพื่อรักษาคุณภาพอากาศของประเทศไทย เพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม ให้คนไทย ได้มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่เหมาะสมต่อไป
เอกสารอ้างอิง
[1] สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์, PM2.5: วิกฤตฝุ่นละอองในประเทศไทยที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ, สืบค้นเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2568, https://www.cri.or.th/th/articles-20240320/.
[2] SDG News, PM2.5 คร่าชีวิตคนทั่วโลกว่า 7.8 ล้านคน, SDG MOVE, สืบค้นเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2568, https://www.sdgmove.com/2024/07/14/air-pollution-state-of-global-2024/
[3] Hfocus, ปี 67 คนไทยป่วยโรคมลพิษทางอากาศกว่า 12 ล้าน มุ่งแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5, สืบค้นเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2568