กสทช.ชี้วิทยุชุมชนกว่า 82% พร้อมเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบใบอนุญาต

Last updated: 18 ม.ค. 2568  |  4357 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กสทช.ชี้วิทยุชุมชนกว่า 82% พร้อมเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบใบอนุญาต

ผู้ประกอบการวิทยุระดับท้องถิ่นยืนยันเดินหน้าเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบใบอนุญาต 3,014 สถานี จาก 3,675 สถานี คิดเป็นร้อยละ 82.01 และมีผู้ประกอบการรายใหม่เข้าร่วมอีก 590 จาก 3,233 คำขอ คิดเป็นร้อยละ 18.25

          เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2568 ณ ห้องประชุม Jubilee Room ชั้น 19 โรงแรม เดอะควอเตอร์ รัชโยธิน บาย ยูเอชจี กรุงเทพมหานคร ในงานเสวนาการนำเสนอผลการศึกษาและอภิปรายบทบาทวิทยุกระจายเสียงในสภาวะฉุกเฉินนโยบายวิทยุดิจิทัล (DAB+) และอำนาจหน้าที่ กสทช. ในด้านกิจการกระจายเสียง โครงการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลตามนโยบาย กสทช.ที่สำคัญในด้านกิจการกระจายเสียง ประจำปี 2567

          พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า สำนักงาน กสทช. ได้สรุปผลการยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่วิทยุระบบเอฟเอ็ม สำหรับให้บริการกระจายเสียงในระดับท้องถิ่น (วิทยุชุมชน) ทั้งประเภทสาธารณะ ชุมชน และธุรกิจ ตามที่ได้มีประกาศเชิญชวนจำนวน 3,346 คลื่นความถี่ โดยแยกเป็นประเภทสาธารณะจำนวน 554 คลื่นความถี่ ชุมชน 148 คลื่นความถี่ สาธารณะ/ชุมชน 137 คลื่นความถี่ และธุรกิจ 2,507 คลื่นความถี่ และเมื่อครบกำหนดวันสิ้นสุดการยื่น มีผู้ประกอบการทั้งรายเดิมและรายใหม่ที่ยื่นคำขออนุญาต ดังนี้ ผู้ประสงค์ยื่นคำขออนุญาตใช้คลื่นความถี่ รวม 2,645 คลื่นความถี่ จาก 3,346 คลื่นความถี่ คงเหลือ 701 คลื่นความถี่ คิดเป็น 20.95% โดยแยกเป็นผู้ประกอบการรายเดิมยื่นคำขอ 2,643 คลื่นความถี่ (สถานี) จาก 2,177 นิติบุคคล และมีรายใหม่ 590 คลื่นความถี่ (สถานี) จาก 479 นิติบุคคล

          “จากข้อมูลการยื่นคำขออนุญาตใช้คลื่นความถี่วิทยุชุมชน เป็นผู้ประสงค์ขอประกอบการสถานีรายใหม่ถึง 590 จาก 2,643 สถานี คิดเป็น 18.25% โดยเฉพาะประเภทธุรกิจมีรายใหม่ 538 จาก 2,481 สถานี คิดเป็น 21.68% ในขณะที่สาธารณะ/ชุมชน มีรายใหม่เพียง 52 จาก 752 สถานี คิดเป็น 6.91% ขณะเดียวกันเมื่อดูข้อมูลของผู้ประกอบการรายเดิมนั้น ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 มีจำนวนสถานีวิทยุทดลองออกอากาศรวมทั้งสิ้น 3,675 สถานี จาก 2,773 นิติบุคคล และได้มายื่นคำขอ 2,996 สถานี จาก 2,166 นิติบุคคล คิดเป็น 81.52% ทำให้มีสถานีที่ไม่มายื่นคำขอและต้องยุติการออกอากาศหลังวันที่ 31 ธันวาคม 2567 นี้ จำนวน 679 สถานี จาก 607 นิติบุคคล ซึ่งทางสำนักงาน กสทช. จะออกไปกวดขันให้ยุติออกอากาศทันที ส่วนผู้ที่ยื่นจะยังสามารถออกอากาศได้ต่อไปจน ระบบใบอนุญาตได้ดำเนินการแล้วเสร็จ”

          พล.อ.ท.ธนพันธุ์ กล่าวต่อว่า การยื่นขอรับการอนุญาตในครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จ จากเดิมที่มีสถานีวิทยุในระดับท้องถิ่นนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 40 เป็นเวลากว่า 30 ปี ที่ไม่สามารถเข้าสู่ระบบใบอนุญาตได้ ซึ่งพบว่ามีผู้ประกอบการรายเดิมต้องการไปต่อเพื่อเข้าสู่ระบบเป็นจำนวนถึง 3,014 สถานี คิดเป็น 82.01% ซึ่งในขั้นตอนต่อไป สำนักงาน กสทช. ต้องดำเนินการตรวจสอบคำขอทั้งหมดที่ยื่นมาในครั้งนี้ จากนั้นหากเป็นประเภทสาธารณะหรือชุมชน จะต้องพิจารณาคำขอจาก 752 เพื่ออนุญาตให้ได้ 623 สถานี ด้วยวิธีการเปรียบเทียบคุณสมบัติ (บิวตี้ คอนเทนต์) สำหรับประเภทธุรกิจที่ต้องใช้วิธีการประมูล จาก 2,481 สถานี เพื่อให้ได้ผู้ชนะและอนุญาตได้ 2,022 สถานี โดยมีราคาเริ่มต้น 25,000 บาท ซึ่งคงมีการแข่งขันในบางพื้นที่เท่านั้น สำหรับคลื่นความถี่ที่เหลืออีก 701 คลื่นความถี่ จะนำมาพิจารณาจัดสรรเพิ่มต่อไป

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้