ป.ป.ท. ร่วมกับสถาบันวิจัยฯ ม.ธรรมศาสตร์ เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นฯ ดึงภาครัฐ-เอกชน-นักวิชาการ หาแนวทางยกระดับค่าคะแนน CPI ของประเทศไทย

Last updated: 18 ธ.ค. 2566  |  5463 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ป.ป.ท. ร่วมกับสถาบันวิจัยฯ ม.ธรรมศาสตร์ เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นฯ ดึงภาครัฐ-เอกชน-นักวิชาการ หาแนวทางยกระดับค่าคะแนน CPI ของประเทศไทย

สำนักงาน ป.ป.ท. ร่วมกับสถาบันวิจัยฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นฯ ดึงภาครัฐ-เอกชน-นักวิชาการ หาแนวทางยกระดับค่าคะแนน CPI ของประเทศไทย

        วันจันทร์ที่ 18 ธันวาคม 2566 เวลา 09.55 น. นายภูมิวิศาล เกษมศุข เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. เป็นประธานในพิธีเปิด “กิจกรรมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มเป้าหมายที่มีต่อการขับเคลื่อนแผนที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต ระยะ 5 ปี” ภายใต้โครงการขับเคลื่อนค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index: CPI) ของประเทศไทยสู่เป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ท. ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินจัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้นเพื่อให้เกิดข้อเสนอแนะและแนวทางในการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อยกระดับค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ของประเทศไทย ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 สู่การปฏิบัติจากการมีส่วนร่วมของภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะในด้านการเปิดพื้นที่เชิงนโยบายในการบูรณาการความร่วมมือทั้งในระดับประเทศ และระดับนานาชาติ โดยมีนายเอกชัย เกษมสุขธวัช ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ท. เจ้าหน้าที่รัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม นักวิชาการชาวไทยและชาวต่างชาติที่เกี่ยวข้อง จำนวน 150 คน เข้าร่วมฯ ณ ห้องประชุม Watergate Ballroom 1 และ 2 ชั้น 6 โรงแรม Amari Bangkok (Formerly Amari Watergate Bangkok) ถนนเพชรบุรี แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ

        เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. กล่าวว่า ปัญหาการทุจริตเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศ ภาครัฐจึงให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการทุจริตของประเทศ ซึ่งถูกระบุไว้เป็นเป้าหมายในแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) ดังนั้น สำนักงาน ป.ป.ท. ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับค่าคะแนน CPI ของประเทศไทยให้สูงขึ้นตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ จึงมีการจัดทำโครงการขับเคลื่อนค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index: CPI) ของประเทศไทยสู่เป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มเป้าหมายที่มีต่อการขับเคลื่อนแผนที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต ระยะ 5 ปี ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับค่าคะแนน CPI ให้สูงขึ้นตามเป้าหมาย รวมถึงพัฒนาข้อเสนอแนะ และแนวทางในการขับเคลื่อนนโยบายการยกระดับคะแนน CPI ของประเทศไทยสู่การปฏิบัติจริง ตลอดจนสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการขับเคลื่อนการยกระดับคะแนน CPI ให้กับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติต่อไป

        สำหรับเป้าหมายในแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) กำหนดไว้ว่า “ภาครัฐมีความโปร่งใส ปลอดการทุจริต และประพฤติมิชอบ” มีการวัดความสำเร็จด้วยดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index: CPI) โดยมีเป้าหมายให้ประเทศไทยมีคะแนนไม่น้อยกว่า 50 คะแนน และในแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นที่ 21 การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ กำหนดให้ ในปี พ.ศ.2580 ประเทศไทยจะต้องมีระดับดัชนีการรับรู้การทุจริตอยู่ในอันดับไม่เกิน 1 ใน 20 ลำดับแรกของโลก และมีคะแนนไม่น้อยกว่า 73 คะแนน ประกอบกับคณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2563 รับทราบข้อเสนอแนะ เพื่อยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ระยะที่ 3 ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอให้สำนักงาน ป.ป.ท. เป็นหน่วยงานหลักในการยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต

        โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 รับทราบแนวทางการขับเคลื่อนมาตรการยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตและมอบหมายให้สำนักงาน ป.ป.ท. เป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตประเทศไทยแบบบูรณาการ และประสานความร่วมมือกันในทุกภาคส่วน มาตรการ แนวทาง และพัฒนากลไกในการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทยให้สูงขึ้นและสามารถบรรลุตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติได้

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้