ศาล รธน.มีมติไม่รับคำร้องกรณีเสนอชื่อนายกฯ ซ้ำ เหตุผู้ร้องไม่ใช่คนถูกละเมิดโดยตรง

Last updated: 16 ส.ค. 2566  |  3048 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ศาล รธน.มีมติไม่รับคำร้องกรณีเสนอชื่อนายกฯ ซ้ำ เหตุผู้ร้องไม่ใช่คนถูกละเมิดโดยตรง

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ขอให้พิจารณาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 กรณีรัฐสภามีมติไม่เห็นชอบกับการเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีรอบ 2 ว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

          วันที่ 16 สิงหาคม 2566 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับคำร้อง กรณีการเสนอชื่อนายกฯ ซ้ำ เนื่องจาก ผู้ที่ร้อง คือผู้ตรวจการแผ่นดิน ไม่ใช่ผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิโดยตรง

          กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งคำร้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มติของรัฐสภาที่ระบุว่า การเสนอชื่อนายกฯ เป็นญัตติซ้ำตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภานั้น ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตรา 272 เรื่องการได้มาซึ่งนายกฯ หรือไม่

          ศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 46 เป็นบทบัญญัติที่มีเจตนารมณ์ให้ศาลรัฐธรรมนูญคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลจากการกระทำละเมิดโดยใช้อำนาจรัฐ 

บุคคลที่จะมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญต้องเป็นบุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพโดยตรง สำหรับกระบวนการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีรัฐธรรมนูญ  มาตรา 272 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 159 วรรคหนึ่ง ให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบเฉพาะจากบุคคลที่พรรคการเมืองเสนอและเป็นผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 เท่านั้น ดังนั้น ผู้มีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาให้ความเห็นชอบจากรัฐสภาต้องเป็นผู้ที่พรรคการเมืองเสนอตามมาตรา 159 วรรคหนึ่ง อันเป็นสิทธิเฉพาะบุคคลที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 

          ส่วนคำขอที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุติการเลือกนายกรัฐมนตรีไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยนั้น ศาลก็ระบุว่า เมื่อมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว คำขออื่นย่อมเป็นอันตกไปเช่นกัน

          นอกจากนี้ จากรณีคำร้องเรื่องที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกลที่เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อ ‘ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ หรือไม่

          กรณีดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญ อนุญาตให้ผู้ถูกร้องทั้งสอง [พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และ พรรคก้าวไกล] ขยายระยะเวลายื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ออกไปอีก 30 วัน ตามที่ทั้ง 2 ได้ขอ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้