Last updated: 28 ธ.ค. 2565 | 12033 จำนวนผู้เข้าชม |
“ชวน หลีกภัย” ชูผู้นำสุจริต ต้องมีธรรมาภิบาลภาคปฏิบัติ สื่อต้านโกงยกย่อง “วีระ-อรรถพล” คว้ารางวัล “ANTI-CORRUPTION AWARDS 2022” “ข่าว3มิติ-คอลัมน์หมายเลข7-สมาคมสื่อช่อสะอาด” พาเหรดรับรางวัลอันทรงคุณค่า
เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2565 ที่ห้องเบญจนฤมิต สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก (ททบ.5) กรุงเทพมหานคร สมาคมผู้สื่อข่าวต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ได้จัดงานมอบรางวัล “ANTI-CORRUPTION AWARDS 2022” เพื่อส่งเสริมการต้านคอร์รัปชัน ประจำปี 2565 โดยมี นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานและกล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “ผู้นำสุจริต”
นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร
ดร.เอก์ เหลืองสอาด นายกสมาคมผู้สื่อข่าวต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) กล่าวว่า นับเป็นครั้งที่ 4 ที่สมาคมฯ จัดงานมอบรางวัล “ANTI-CORRUPTION AWARDS 2022” เพื่อส่งเสริมการต้านคอร์รัปชัน ประจำปี 2565 ขึ้น เพื่อยกย่อง เป็นขวัญและกำลังใจให้กับองค์กร บุคคล และสื่อมวลชน ที่ยึดหลักธรรมาภิบาล ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความอุตสาหะ ซื่อสัตย์ สุจริต และถือเป็นโอกาสดีที่สมาคมฯ ดำเนินการมากว่า 1 ทศวรรษ ในปีนี้ ครบรอบ 11 ปี สมาคมฯ รู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติต่อต้านการทุจริต พร้อมกับองค์กรพันธมิตร มูลนิธิต่อต้านการทุจริต องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน และภาคีเครือข่ายธรรมาภิบาลแห่งชาติ รวมทั้งทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ดำเนินโครงการ “ผู้นำธรรมาภิบาล” โดยผลักดันจัดตั้งสภาธรรมาภิบาลนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นศูนย์กลางสร้างพลเมืองสุจริต เป็นอนาคตของชาติสืบไป
ดร.เอก์ เหลืองสอาด นายกสมาคมผู้สื่อข่าวต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย)
ด้าน นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “ผู้นำสุจริต” ตอนหนึ่ง ว่า เมื่อเราพูดถึง “ผู้นำสุจริต” ปัญหาภาคปฏิบัติคือเรื่องใหญ่ เพราะผู้นำทุกคนท่องจำได้หมด ไม่ว่าจะเป็นหลักนิติธรรม หลักคุณธรรม หลักการมีส่วนร่วม หลักการตรวจสอบได้ หลักความคุ้มค่า หลักความรับผิดชอบต่อสังคม ทุกคนท่องได้หมด แล้วทำไมยังมีปัญหา นั่นเพราะไม่นำไปปฏิบัติ ดังนั้นธรรมาภิบาลภาคปฏิบัติจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญในการแก้ไขปัญหานี้ อยู่ที่เราทำหรือไม่
เช่นเดียวกับหน่วยงานสังกัดรัฐสภา ป.ป.ช.ได้ประเมิน ITA หรือการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในปี 2565 ซึ่งหลังจากที่ตนเข้ามาเกือบ 4 ปี คะแนนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 80 เพิ่มขึ้นเรื่อยมา จนกระทั่งปีนี้ การประเมิน ITA ขึ้นมาถึง 99.46 สูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับองค์กรอื่นประเภทเดียวกัน สะท้อนให้เห็นว่าถ้าเราตั้งใจลงมือทำด้วยความสุจริตแล้ว ย่อมสามารถทำได้
นายชวน กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน สภาฯ ยังได้ทำโครงการ “ประเทศรุ่งเรือง เมื่อบ้านเมืองสุจริต” เป็นโครงการพิเศษที่ได้ขยายผลไปทั่วประเทศ ให้นักเรียน นักศึกษา ประชาชน ได้ยอมรับในเรื่องความสุจริต เช่น ขอขยายไปยังสถาบันการศึกษา โดยเน้นย้ำเรื่องความสุจริตกับนักเรียนนักศึกษา สั้นๆ เพียง 1-2 นาที สอดแทรกในหลักสูตรของแต่ละวิชา เพราะเป็นสิ่งสำคัญในการปลูกฝังจิตสำนึกเด็ก เยาวชน นิสิต นักศึกษา ที่จะเติบใหญ่เป็นพลเมืองดีของสังคมและประเทศชาติในอนาคต
ประธานรัฐสภา ยังได้กล่าวแสดงความยินดีกับสมาคมผู้สื่อข่าวต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ในโอกาสครบรอบ 11 ปี พร้อมกล่าวชื่นชมสมาคมผู้สื่อข่าวต้านคอร์รัปชั่นฯ ที่ได้จัดงานอันทรงคุณค่านี้ขึ้น เพื่อยกย่อง เชิดชู และเป็นกำลังใจให้กับองค์กร บุคคล และสื่อมวลชน ที่มุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่อย่างแข็งขันในการรณรงค์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น เพื่อให้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นลดน้อยลง
นายสุทนต์ กล้าการขาย นายกสมาคมสื่อช่อสะอาด
สำหรับรางวัล “ANTI-CORRUPTION AWARDS 2022” ส่งเสริมการต้านคอร์รัปชั่น ประจำปี 2565 แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ประเภทองค์กร บุคคล และสื่อสารมวลชน ประเภทองค์กร ได้แก่ สมาคมสื่อช่อสะอาด โดยมี นายสุทนต์ กล้าการขาย เป็นนายกสมาคมฯ ได้ขับเคลื่อนกิจกรรมต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ผ่านสื่อวิทยุกระจายเสียง และสื่อออนไลน์ เช่น รายการวิทยุ “คนไทยไม่ทนต่อการทุจริต” โดยร่วมมือกับมูลนิธิต่อต้านการทุจริต รายการวิทยุ "ภารกิจพิชิตโกง" ร่วมมือกับสำนักงาน ป.ป.ช. ออกอากาศครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ส่งผลให้ประชาชนมีความตื่นตัวกับปัญหาการทุจริต และร่วมเป็นภาคีเครือข่ายแจ้งเบาะแสการทุจริตอีกด้วย
นายวีระ สมความคิด ประธานเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน (คปต.)
ประเภทบุคคล ได้แก่ 1.นายวีระ สมความคิด ประธานเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน (คปต.) ได้ตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันภาคประชาชนมาอย่างยาวนาน สามารถนำข้อมูลการทุจริตมาตีแผ่ จนนำไปสู่การตรวจสอบ และนำผู้กระทำผิดรับโทษตามกฎหมาย ซึ่งล่าสุดได้เปิดเผยข้อมูลนักการเมืองถือครองที่ดิน ส.ป.ก.4-01 และที่ดินป่าสงวนฯ ในพื้นที่จังหวัดราชบุรี โดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยศาลฎีกาพิพากษาว่านักการเมืองผู้นั้น มีความผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง และถูกตัดสิทธิทางการเมือง
ศาสตราจารย์พิเศษ อรรถพล ใหญ่สว่าง อดีตอัยการสูงสุด และนายกสมาคมชาวฉะเชิงเทรา
2.ศาสตราจารย์พิเศษ อรรถพล ใหญ่สว่าง อดีตอัยการสูงสุด และนายกสมาคมชาวฉะเชิงเทรา ซึ่งในวงการนักกฎหมายให้ความเชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา และยังมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันปฏิรูปพัฒนาสำนักงานอัยการสูงสุดให้มีความโปร่งใส เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) โดยผลักดันร่างระเบียบสอบวินัยชั้นต้นรองอัยการสูงสุด และในเวลาต่อมา ระเบียบนี้ได้ถูกนำมาใช้กับ นายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด สั่งไม่ฟ้องคดี นายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา เป็นครั้งแรก
ประเภทสื่อสารมวลชน ได้แก่ 1.สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง 3 รายการ "ข่าว 3 มิติ" สกู๊ปข่าว เรื่อง การทุจริตยักยอกเงินสหกรณ์ออมทรัพย์ครูจังหวัดขอนแก่น "ข่าว 3 มิติ" ได้ติดตามเกาะติดข่าวปัญหาของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น จำกัด กรณีอดีตผู้บริหาราสหกรณ์ฯยักยอกเงินของสหกรณ์ ประมาณ 431 ล้านบาท เข้าบัญชีส่วนตัว ซึ่งต่อมาผู้บริหารรายนี้ ได้รับเลือกตั้งเป็นส.ส.บัญชีของพรรคการเมืองใหญ่ ระหว่างการต่อสู้คดีได้ยอมรับต่อศาลว่า ยักยอกเงินไปจริง โดยจะผ่อนชำระเงินดังกล่าวคืนสหกรณ์ฯ ปีละ 50 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขให้สหกรณ์ยุติการดำเนินคดี ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาถูกอายัดทรัพย์ชั่วคราว
2.สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 รายการ "คอลัมน์หมายเลข 7" จากผลงานสกู๊ปข่าว เรื่อง การทุจริตเงินอุดหนุนวัด อบจ.สมุทรปราการ เผยแพร่ : 2564-2565 "คอลัมน์หมายเลข 7" ได้ขยายผลจากข้อมูลร้องเรียนเกี่ยวกับข้อพิรุธเงินอุดหนุนวัด ในจังหวัดสมุทรปราการ ที่ได้รับงบประมาณจากอบจ.สมุทรปราการ เพื่อนำไปก่อสร้างศาลาอเนกประสงค์ และเตาเผาศพจำนวน 60 วัด มูลค่าเกือบ 800 ล้านบาท ทั้งนี้ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้ยื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบผู้บริหาร อบจ.สมุทรปราการ ซึ่งใช้เวลาตรวจสอบนานหลายปี กระทั่งปี 2565 ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดอดีตผู้บริหารอบจ.สมุทรปราการ กับพวก ร่วมกันอนุมัติเบิกจ่ายเงินอุดหนุนให้กับวัดโดยมิชอบ