ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด 'ทรงศักดิ์ สุทัศน์ ณ อยุธยา' ผอ.ฝ่ายซ่อมบำรุง พิงคนคร ร่ำรวยผิดปกติ ที่ดินงอก-หนี้ลดลงผิดปกติ สั่งยึดทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดิน

Last updated: 26 ต.ค. 2565  |  3280 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด 'ทรงศักดิ์ สุทัศน์ ณ อยุธยา' ผอ.ฝ่ายซ่อมบำรุง พิงคนคร ร่ำรวยผิดปกติ ที่ดินงอก-หนี้ลดลงผิดปกติ สั่งยึดทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดิน

ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดนายทรงศักดิ์ สุทัศน์ ณ อยุธยา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการและซ่อมบำรุง สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) ร่ำรวยผิดปกติ

          วันที่ 26 ตุลาคม 2565 นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดกรณีร่ำรวยผิดปกติ นายทรงศักดิ์ สุทัศน์ ณ อยุธยา ผู้ถูกกล่าวหา ร่ำรวยผิดปกติ โดยมีทรัพย์สินมากผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ หรือการมีหนี้สินลดลงมากผิดปกติ หรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่มีมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมายสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติตามหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ รวมมูลค่า 3,297,516.50 บาท ตามรายการดังต่อไปนี้

1. ทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ จำนวน 1 รายการ ได้แก่ ที่ดินไม่มีสิ่งปลูกสร้าง เนื้อที่ 1 งาน 61 ตารางวา ตำบลหางดง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ราคา 900,000 บาท 

2. หนี้สินลดลงผิดปกติ รวมมูลค่าทั้งสิ้น 2,397,516.50 บาท จำนวน 3 รายการ ดังนี้

1. หนี้กู้ยืมเงินกับทางธนาคาร มีการชำระหนี้สินที่ลดลงผิดปกติ จำนวน 700,000 บาท

2. หนี้ค่าเช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อรถ MERCEDES BENZ รุ่น A 180 ราคา 1,747,663.55 บาท มีการชำระหนี้สินที่ลดลงผิดปกติ จำนวน 1,397,516.50 บาท

3. หนี้ค่าเช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อรถ HONDA รุ่น FREED ราคา 969,000 บาท มีการชำระหนี้สิน     ที่ลดลงผิดปกติ จำนวน 300,000 บาท

          นายนิวัติไชย เกษมมงคล กล่าวว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสาร พยานหลักฐาน และความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี เพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติ ตกเป็นของแผ่นดิน และแจ้งคำวินิจฉัย  พร้อมด้วยข้อเท็จจริงโดยสรุปไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อสั่งลงโทษไล่ออกผู้ถูกกล่าวหาภายในหกสิบวัน โดยให้ถือว่ากระทำการทุจริตต่อหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 122 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม ต่อไป

          หากไม่สามารถบังคับเอาแก่ทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าร่ำรวยผิดปกติตกเป็นของแผ่นดินได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนแล้ว ให้ขอให้ศาลบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของผู้ถูกกล่าวหาได้ภายในระยะเวลาสิบปี ตามนัยมาตรา 125 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การทุจริต พ.ศ. 2561 ด้วย  โฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. กล่าวเพิ่มเติม

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้