กกต. ออกแนวทางปฏิบัติช่วงหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัคร-พรรคการเมือง-หน่วยงานรัฐ

Last updated: 28 ก.ย. 2565  |  5824 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กกต. ออกแนวทางปฏิบัติช่วงหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัคร-พรรคการเมือง-หน่วยงานรัฐ

แนวทางการปฏิบัติและข้อควรระวังในช่วงระยะเวลาการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ของผู้สมัครและพรรคการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และหน่วยงานของรัฐ

          คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกแนวทางการปฏิบัติและข้อควรระวังในช่วงระยะเวลาการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้สมัครและพรรคการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และหน่วยงานของรัฐ โดยการดำเนินการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อันเนื่องมาจากการครบอายุของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งให้กระทำได้ตั้งแต่ 180 วันก่อนวันครบอายุ จนถึงวันก่อนวันเลือกตั้ง (เริ่มวันที่ 24 กันยายน 2565) หน่วยงานของรัฐ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผู้สมัครและพรรคการเมือง สามารถดำเนินการเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งในห้วงระยะเวลาดังกล่าวได้ ดังนี้

1. ผู้สมัครและพรรคการเมือง

          1.1 ผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมือง สามารถไปร่วมงานประเพณีต่างๆ เช่น งานแต่งงาน งานบวช งานศพ และมอบพวงหรีดดอกไม้สดได้ แต่ต้องไม่มีการให้เงินหรือทรัพย์สินต่างๆ ยกเว้นกรณีที่ฝ่ายเจ้าภาพได้จัดเตรียมสิ่งของตามพิธีการไว้ให้มอบในงานด้วย เช่น ผ้าบังสุกุล ปัจจัย เป็นต้น หรือการระบุชื่อไว้เป็นประธานในงานกฐิน โดยผู้สมัครและ/หรือพรรคการเมืองไม่ได้มอบเงินหรือทรัพย์สินของตนเองสามารถกระทำได้ ทั้งนี้ เจ้าภาพงานจะประกาศชื่อ หมายเลขสมัครของผู้สมัครและ/หรือพรรคการเมือง ในลักษณะช่วยผู้สมัครหรือพรรคการเมืองนั้นหาเสียงเลือกตั้งไม่ได้

          1.2 ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มีความจำเป็นต้องจัดพิธีงานต่างๆ ในช่วงที่มีการหาเสียงเลือกตั้ง สามารถจัดงานได้เท่าที่จำเป็น เช่น งานศพ งานบวช งานแต่งงาน แต่ให้หลีกเลี่ยงการจัดงานในลักษณะที่เป็นงานขนาดใหญ่ มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก เพราะอาจเป็นเหตุให้มีการร้องคัดค้านว่าเป็นการจัดเลี้ยงหรือจัดมหรสพ อันเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้งได้

          1.3 หัวหน้าพรรคการเมือง ผู้บริหารพรรคการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง สามารถลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้สมัครในการหาเสียงเลือกตั้งได้ แต่ห้ามให้จัดหรือนำคนไปช่วยหาเสียงเลือกตั้งโดยได้รับคำตอบแทนหรือประโยชน์ตอบแทน และไม่ได้เป็นผู้ช่วยหาเสียงเลือกตั้ง

          1.4 ผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมือง สามารถเข้าไปหาเสียงเลือกตั้งในสถานที่ต่างฯ โรงเรียน สถานที่ราชการ เป็นต้น โดยต้องขออนุญาตจากเจ้าของพื้นที่ก่อนเข้าดำเนินการหาเสียง

          1.5 ผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมือง ไม่สามารถมอบสิ่งของช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์ต่างๆ ได้ เช่น การมอบสิ่งของช่วยเหลืออุทกภัย วาตภัย เหตุอัคคีภัย และโรคระบาด หรือเหตุอันเกิดขึ้นในลักษณะทำนองเดียวกัน

          1.6 ผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมือง สามารถปิดประกาศและติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยมีวิธีการ ขนาด จำนวน และสถานที่ ตามที่กำหนดในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด สำหรับแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่มีการติดตั้งไว้ก่อนแล้ว จะต้องมีการแก้ไขให้เป็นไปตามขนาดและสถานที่ที่กำหนดไว้

          1.7 ในการหาเสียงเลือกตั้ง ผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมือง ต้องปฏิบัติให้เป็นตามที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 และระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2565 อย่างเคร่งครัด

2. ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (นายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรี รวมถึงข้าราชการการเมืองอื่นตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการเมือง)

          2.1 ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตามปกติที่พึงต้องปฏิบัติในตำแหน่งได้ เช่น การออกรายการวิทยุโทรทัศน์ เป็นประธานเปิดงานในพิธีต่างๆ การลงตรวจงานพื้นที่ การพบปะประชาชนในพื้นที่ หรือการลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชน แต่ห้ามมีการกระทำใดๆ ที่เป็นการอาศัยตำแหน่งหน้าที่นั้นกระทำการหาเสียงเลือกตั้งให้แก่ตนเอง หรือผู้อื่น หรือพรรคการเมือง

          2.2 ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สามารถไปร่วมงานประเพณีต่างๆ เช่น งานแต่งงาน งานบวช งานศพ หรือพวงหรีดดอกไม้สดได้ แต่ต้องไม่มีการให้เงินหรือทรัพย์สินต่างๆ ในกรณีที่ฝ่ายเจ้าภาพได้จัดเตรียมสิ่งของตามพิธีการไว้ให้มอบในงานด้วย เช่น ผ้าบังสุกุล หรือระบุชื่อไว้เป็นประธานในงานกฐิน โดยผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ได้มอบเงินหรือทรัพย์สินของตนเอง สามารถกระทำได้ ทั้งนี้ เจ้าภาพงานจะประกาศชื่อ และ/หรือพรรคการเมือง ในลักษณะช่วยผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือพรรคการเมืองนั้นหาเสียงเลือกตั้งไม่ได้

          2.3 ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สามารถหาเสียงเลือกตั้งนอกเวลาราชการ ให้แก่ตนเอง ผู้สมัครอื่น หรือพรรคการเมืองได้ แต่ต้องไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยไม่ชอบ กระทำการใดๆ เพื่อเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด

3. หน่วยงานของรัฐ

          3.1 หน่วยงานของรัฐสามารถดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ได้ตามปกติ เช่น การจัดประชุมสัมมนา การจัดงานกิจกรรมประกวดแข่งขันต่างๆ การจัดงานเทศกาลตามประเพณี และต้องปฏิบัติ ให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี หนังสือ ด่วนที่สุด ที่ นร 2503/ว 61 ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2562 ดังนี้

          - ให้ข้าราชการ พนักงานเจ้าหน้าที่และลูกจ้างในสังกัดของราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานอื่นของรัฐ ให้ความร่วมมือช่วยเหลือสนับสนุนการดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

          - ให้ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่และลูกจ้างในสังกัดทุกระดับ ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น วางตัวเป็นกลางทางการเมือง

          - นับแต่มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจนถึงวันเลือกตั้ง การแต่งตั้งโยกย้าย ข้าราชการ พนักงาน ให้กระทำเท่าที่จำเป็นเพื่อไม่ให้กระทบต่อการเลือกตั้ง

          - ให้ราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานของรัฐให้การสนับสนุนสถานที่เพื่อใช้เป็นสถานที่ในการจัดการเลือกตั้ง และสนับสนุนสถานที่ปิดประกาศ และแผ่นป้ายหาเสียงเลือกตั้ง

          - ให้มีการสนธิกำลังระหว่างทหาร ตำรวจ พลเรือน และอาสาสมัครด้านความปลอดภัย เพื่อคุ้มครองประชาชนและเจ้าหน้าที่ให้ได้รับความปลอดภัย

          3.2 การจัดทำเอกสารเผยแพร่ผลงานของรัฐมนตรี ปฏิทินปีใหม่ ที่มีรูปและ/หรือผลงานของรัฐมนตรี ให้จัดทำเผยแพร่ในนามของหน่วยงานเท่านั้น และต้องระมัดระวังไม่ให้มีลักษณะเข้าข่ายเป็นการหาเสียงเลือกตั้งให้กับบุคคลหนึ่งบุคคลใด หรือพรรคการเมือง

          3.3 การจัดทำแผ่นป้ายต้อนรับการมาตรวจพื้นที่ของรัฐมนตรี คณะกรรมาธิการต่างๆ ที่มาปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ ให้ระมัดระวังไม่ให้เข้าข่ายเป็นการจัดทำป้ายหาเสียงเลือกตั้ง ส่วนการจัดทำแผ่นป้ายต้อนรับหรือป้ายขอบคุณพรรคการเมือง หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากต้องวางตัวเป็นกลางตามแนวทางมติคณะรัฐมนตรี

4. การปิดประกาศและแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

          4.1 การปิดประกาศหรือติดแผ่นป้ายสามารถดำเนินการได้ ดังนี้

          - การปิดประกาศให้จัดทำประกาศโดยกำหนดให้จัดทำเป็นแนวตั้ง มีขนาดไม่เกิน 30 เซนติเมตร x 42 เซนติเมตร (กระดาษขนาด A3)

          - การจัดทำแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ให้จัดทำได้โดยมีขนาดไม่เกิน 130 เซนติเมตร x 245 เซนติเมตร

          - การจัดทำประกาศและแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ให้ระบุชื่อตัว ชื่อสกุล ที่อยู่ของผู้ว่าจ้าง ผู้ผลิต จำนวน และวันเดือนปีที่ผลิตไว้บริเวณที่ชัดเจนของแผ่นป้ายและประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้ง

          - จำนวนและสถานที่ในการปิดประกาศหรือติดแผ่นป้ายเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำสถานที่ปิดประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 แต่กรณีที่ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง

          - การปิดประกาศหรือติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งโดยวิธีการจัดทำขนาดและจำนวนและสถานที่ให้ถือปฏิบัติตามที่คณะกรรมการ

          - การเลือกตั้งและผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดประกาศกำหนดในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด

          4.2 การติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ณ ที่ทำการพรรคการเมือง สาขาพรรคการเมือง ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด หรือศูนย์อำนวยการเลือกตั้ง สามารถติดได้สถานที่ละ 1 แผ่น ขนาดไม่เกิน 400 เซนติเมตร x 750 เซนติเมตร

          4.3 การดำเนินการเกี่ยวกับประกาศและแผ่นป้าย ผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมืองต้องเก็บรักษาเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องไว้ประกอบการยื่นบัญชีรายรับและรายจ่ายในการเลือกตั้ง

ดาวน์โหลดไฟล์ที่เกี่ยวข้องแบบฟอร์การแจ้งหาเสียง ตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้