เปลี่ยนพลังภาคประชาชน ร่วมเป็นพลังปราบทุจริต

Last updated: 9 มิ.ย. 2565  |  4358 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เปลี่ยนพลังภาคประชาชน ร่วมเป็นพลังปราบทุจริต

ภาคประชาชนตื่นตัวสนับสนุนปราบโกง เรียกร้องปรับปรุงกลไกเปิดข้อมูลภาครัฐ สร้างเครื่องมือให้ร่วมตรวจสอบ ย้ำสมการ “คน” และ “ข้อมูล” นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง

วันที่ 8 มิถุนายน 2565 คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ และ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดเสวนา “ปราบโกง ประเทศไทย 2022” พูดคุยถึงความตื่นตัวของภาคประชาชน เรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน ที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะ หลังเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนใหม่ ที่มีนโยบายที่ใช้ต่อต้านคอร์รัปชันทันที โดยเฉพาะการทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบภาครัฐ ทั้งที่ประเทศไทยมีแผนปฏิรูปปราบปรามทุจริต แผนแรก ปี 2560 แต่จนถึงวันนี้ ปัญหาการทุจริตก็ยังไม่ลดลง ล่าสุดมีแนวทางการปราบโปรง 2020 ผ่านแนวทางปราบโกง 5 Big Rock ประกอบด้วย การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน, การพัฒนาข้อมูลข่าวสาร และระบบกฎหมายคุ้มครองพยาน ผู้แจ้งเบาะแส, พัฒนากระบวนการยุติธรรมโปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติ, ระบบราชการโปร่งใสไร้ผลประโยชน์, สกัดกั้นการทุจิตเชิงนโยบายขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นโจทย์ท้าทาย มรดกปราบโกงในสังคมไทย

นายภักดี โพธิศิริ ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และประพฤติมิชอบ

นายภักดี โพธิศิริ ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และประพฤติมิชอบ ระบุว่า แผนปฏิรูปปราบปรามทุจริต แผนแรกของไทยเกิดขึ้นใน ปี 2560 การขับเคลื่อนไม่ราบรื่น นำมาปรับกันปี 2563 และใช้จริงปี 2564 เน้นไปที่การปฏิรูปกฎหมาย-ภาครัฐ-กระบวนการยุติธรรมโดยเน้นให้สามารถพูดถึงเรื่องข้อมูลข่าวสารโดยไม่ต้องร้องขอ เน้นการปฏิรูปภาครัฐ-ระบบราชการ เพราะปัญหาใหญ่ไม่ใช่ทุจริต แต่เป็นประพฤติมิชอบ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ระบบอุปถัมภ์ ทั้งหมดนี้นำมาสู่แผนการปราบปรามทุจริต 5 Big rocks เพื่อเชื่อมต่อการทำงานกับภาคีต่างๆ ประกอบด้วย 1.) พัฒนาการมีส่วนร่วม เปลี่ยนประชาชนเป็นพลังพลเมือง  แต่หลักการจะตอบสนองส่วนที่เราจะปฏิรูปประชาชน 2.) เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และคุ้มครองผู้ให้เบาะแส 3.) เราจะต้องมีการพัฒนากระบวนการยุติธรรมให้รวดเร็วโปร่งใส และยุติธรรม ขณะเดียวกันก็จะช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดความเหลื่อมล้ำ 4.) ปฏิรูปภาครัฐ ให้เป็นภาครัฐที่โปร่งใส ไร้ผลประโยชน์ 5.) สกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบาย ในการดำเนินการขนาดใหญ่

ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอรัปชั่น (ประเทศไทย)

ด้าน ดร.มานะ นิมิตรมงคล กรรมการปฏิรูปประเทศฯ และเลขาธิการองค์กรต่อต้านคอรัปชั่น (ประเทศไทย) กล่าวว่า การมีแผนปราบปรามทุจริตฯ เป็นเหมือน แสงสว่าง เราได้เห็นแนวทางที่จะแก้ปัญหาคอรัปชั่นโดยพลังประชาชน แต่จะทำอย่างไรให้เกิดการปฏิรูปภาครัฐราชการ และการเมืองด้วย

อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้จะช่วยแก้ปัญหาหลักการรีดไถ เก็บเงินใต้โต๊ะ ภาคประชาชน คือ พลังสำคัญในการตรวจสอบ แต่พอมาดูกฎหมายน่าผิดหวัง เพราะไม่มีอะไรเป็นชิ้นอันจับต้องได้ เท่ากับไม่มีการแก้ไขอะไรเลย การเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร กฎหมายฟ้องปิดปาก กฎหมายตัวนี้ก็ยังคลานต้วมเตี้ยม มันยังเป็นอะไรที่ต้องปีนภูเขาอีกหลายลูก… ขณะที่การทำงานของข้าราชการก็เป็นการทำงานเพื่อตอบสนอง KPI หลายงานบริการอย่าง One stop service ก็ประชาชนใช้น้อย เพราะไม่มีความเชื่อมั่น และการทำงานก็ไม่มีความเชื่อมโยง โดย ไทยมีแผน มีเป้าหมายและหลักการที่ดี แต่ภาครัฐและการปฏิบัติยังเป็นตัวถ่วงที่ทำให้เรื่องนี้เดินหน้าได้ช้า

ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

ขณะที่ ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และอดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงหรือการปฏิรูป สิ่งที่จะล้มเหลวคือการเขียนยุทธศาสตร์ไว้อย่างดีแต้ล้มเหลวเพราะวัฒนธรรมองค์กร ของคนที่มีส่วนร่วมในการทำ รวมถึงการไม่มีแผนปฏิบัติที่ชัดเจน ทั้งนี้การจะปฏิรูปเราต้องมีข้อมูลที่ชัดเจน ว่าแต่ละหน่วยงานรัฐมีเรื่องทุจริตอะไรบ้าง การทุจริตที่เกิดเป็นประจำมีอะไรเป็นพื้นฐาน หรือทัศนคติขององค์กรนั้นๆ เพราะเราคุ้นเคยกับการทุจริตมานาน และคิดว่าสิ่งที่ทำบางอย่างไม่ทุจริต อย่างไรก็ตามตนมองว่าสิ่งที่จำเป็นอย่างเร่งด่วนคือ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร เพราะการที่ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนรับรู้ได้เท่ากับแพ้การทุจริตไปครึ่งหนึ่งแล้ว

“ฝ่ายนิติบัญญัติและรัฐบาล ต้องพยายามผลักดันเรื่องนี้ให้เกิดขึ้น เราเปลี่ยนวัฒนธรรมไม่ได้ ในส่วนของรัฐบาลต้องมีเจตจำนงทางการเมือง (Political Will) ตรงนี้สำคัญมาก รัฐบาลต้องมีความตั้งใจที่จะผลักดันให้ได้ และวันพรุ่งนี้และมะรืนนี้ (9-10 มิถุนายน 2565) ตนจะต้องเข้าไปพิจารณาการปฏิรูปตำรวจ จะได้รู้ว่ามันคือปฏิรูป หรือ ปฏิลูบ" ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ กล่าวตอนหนึ่ง

“ผมบอกเลยว่า ผมมีตัวอย่างเยอะมากของคนที่ต่อสู้ในระบบ แต่ถูกระบบบีบเค้น สิ่งที่ผมเห็นว่ามีความจำเป็นที่ต้องทำอย่างเร่งด่วนที่สุดคือ การแก้ไข พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสาร 2540 เพราะว่านี่คือหัวใจเลย องค์กรความโปร่งใสสากลหรือ Transparency International (TI) ระบุชัดเจนว่า ถ้าข้อมูลข่าวสารของคุณ ทำเป็นข้อมูลสาธารณะไม่ได้ เปิดเผยให้ประชาชนเข้าถึงได้ เท่ากับคุณแพ้การทุจริตไปครึ่งหนึ่งแล้ว เพราะเราไม่สามารถเข้าถึงปข้อมูลที่ควรรู้เลย แทนที่จะรอให้หน่วยงานต่างๆ มาบอกว่าเขามีอะไรบ้าง เราจะต้องให้หน่วยงานนั้นตีแผ่ว่า มีข้อบกพร่องอะไร ต้องยอมรับก่อน แต่ที่ผ่านมาไม่มีการแก้ไขเรื่องนี้ เพราะเราติดกับวัฒนธรรมความลับ (Secrecy Culture) ประเทศไทยทุกอย่างเป็นความลับหมด เพราะฉะนั้น การเปิดเผยข้อมูลจึงเป็นเรื่องที่สยดสยองของหน่วยงานรัฐมาก” ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ กล่าว

นางรสนา โตสิตระกูล แกนนำเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนเพื่อผู้บริโภค

ด้านนางรสนา โตสิตระกูล แกนนำเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า 5 Big Rocks ที่พูดมายังแยกๆกันอยู่ และไม่น่าช่วยให้การตรวจสอบทุจริตทำได้ง่ายขึ้น เช่น การเปลี่ยนประชาชนเป็นพลังพลเมือง เอาจริงๆ ประชาชนตื่นตัวอยู่แล้ว เพียงแต่ขาดเครื่องมือในการช่วยตรวจสอบได้ ส่วนตัวคิดว่า การทุจริตที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่มาจากระดับสูง การแก้ไขปัญหาควรมาจากเจตจำนงในระดับบนเลย ซึ่งที่ผ่านมาก็ No Action , Talk Only ไม่มีอะไรเกิดขึ้น และการทุจริตมักจะเกิดในที่มืด เพราะฉะนั้น หากไม่สามารถทำพื้นที่ต่างๆให้สว่างขึ้นมา หรือไม่สามารถฉายไฟส่องไปได้ การทุจริตก็ยังอยู่ ดังนั้น การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารจึงสำคัญ ประเด็นการปฏิรูปกิจการภาครับ ก็ควรมีระบบให้การจัดซื้อจัดจ้าง จะต้องมีีส่วนของประชาชนเข้ามาในกระบวนการด้วย เพราะที่ผ่านมามีแค่ภาครัฐและเอกชนที่ยื่นประมูล ซึ่งหากมีส่วนของประชาชนเข้ามา ดังที่อ้างว่าจะไปปลุกเขา แต่ไม่ให้เข้ามีส่วนร่วมเลย ก็ไม่ทำให้เกิดพื้นที่สว่างได้ และการตรวจสอบข้อมูลข่าวสาร ที่ผานมาไม่เคยทำเลย แม้จะมีกฎหมายเรื่องข้อมูลข่าวสาร แต่บัดนี้ หน่วยงานรัฐก็มักไม่เปิดเผยข้อมูลเหมือนเดิม

“ยกตัวอย่างประถะเด็นสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่คนเรียกร้องให้เปิดข้อมูล ก็อ้างว่าเป็นความลัทางธุรกิจ อีกหน่อยควรระบุเลยว่า สัญญาทางปกครอง เมื่อรัฐทำกับเอกชน ต้องเปิดเผยให้ประชาชนรู้ได้ ถ้ารู้ไม่ได้ กิจการที่เป็นสาธารณูปโภคพื้นฐาน ประชาชนรู้ไม่ได้ แต่ประชาชนต้องเสียเงิน อันนี้ก็ควรจะแก้ไขออกมา” นางสาวรสนา โตสิตระกูล กล่าว

นายภูเทพ ทวีโชติธนากุล ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.

ทั้งนี้ นางสาวรสนา โตสิตระกูล กล่าวต่อว่า การที่จะทำให้การแก้ทุจริตสำเร็จได้ ต้องอาศัยการทำให้เกิดกลไกที่จะทำให้ประชาชนใช้เป็นเครื่องมือตรวจสอบและฟ้องร้องต่อมา ซึ่งเครื่องมือนี้ยากมาก เช่น การฟ้องกับศาลอาญาทุจริต ได้รับการปฏิเสธ เพราะไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะฟ้องโดยตรง แม้จะอ้างมาตรา 50 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ศาลอาญาก็ไม่รับอีก อ้างว่า ประชาชนไม่สามารถยกหน้าที่ของชนชาวไทยมาต่อสู้ แต่หากเป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพ ถึงจะยกเป็นเหตุต่อสู้ได้ ต่อมา ได้ถามนายมีชัย ฤชุพันธ์ อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ถึงได้ทราบว่า มาตรานี้ร่างไว้ให้ข้าราชกรเป็นผู้มีอำนาจไปฟ้องร้องเป็นหลัก หลังจากนั้น ลองให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ดำเนินการฟ้องร้องแทน ซึ่งก็ใช้เวลา 2 ปี ในการกำหนดว่า มีสิทธิ์ที่จะฟ้องร้องหรือไม่ ซึ่งตอนแรก ศาลยกฟ้อง เพราะศาลระบุว่า มูลนิธิสามารถฟ้องได้ทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่องการทุจริต จึงสู้ต่อว่า การทุจริตทำให้ผู้บริโภคเสียหายมาที่สุด นำไปสู่การประชุมใหญ่ของศาล และศาลจึงประทับรับฟ้องไว้ในที่สุด ซึ่งถ้าจะให้ดี ควรกำหนดเลยว่า จะมีหน่วยงานใดเข้าตรวจสอบหรือฟ้องแทนได้

นายกฤษณ์ กระแสเวช ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท.

อย่างไรก็ตาม นางสาวรสนา โตสิตระกูล มองว่า สิ่งที่คณะกรรมการปฏิรูปฯ เสนอไปนั้น รัฐบาลไม่ทำแน่นอน เพราะที่ผ่านมาก็ตั้งคณะกรรมการแบนี้มามากแล้ว แต่ก็ไม่ได้ทำอะไรเลย เพราะคณะกรรมการฯ ไม่มีอำนาตอะไร หน่วยงานจะทำหรือไม่ ก็เรื่องของแต่ละองค์กร เพราะฉะนั้นการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ควรมีเครื่องมือ หรือแรงจูงใจอย่างอื่นด้วย รวมถึงกระบวนการยุติธรรมต้องรวดเร็ว

นายสิน สื่อสวน ที่ปรึกษา สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.)

ในวงเสวนาหัวข้อ “โปร่งใสแบบไหนไม่ติด Lock ถ้าประชาชนมีส่วนร่วม” นายพงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ บรรณาธิการอาวุโส The MATTER กล่าวว่า เมื่อประชาชนตื่นตัวในการต่อต้านการทุจริตก็ควรมีกลไก หรือเครื่องมือสำหรับการตรวจสอบ ยกตัวอย่างกรณี GT200 การเข้าไปตรวจสอบงบประมาณ 7.5 ล้านบาท ต้องแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือต้องเข้าไปดูเว็บไซต์ของกรมสรรพวุธทหารบก เพื่อดูแบบการจัดซื้อจัดจ้าง เว็บไซต์ภาษีไปไหนดูสรุปการจัดซื้อจัดจ้าง สาม เว็บเครื่องมือสู้โกง ACT Ai เพื่อดูรายละเอียด ส่วนที่สองคือต้องไปดูที่กรมบัญชีกลางเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างแต่มีเวลาไม่กี่วันเพราะข้อมูลจะแสดงย้อนหลังในเว็บไซต์แค่หนี่งเดือน สะท้อนให้เห็นว่าแค่เรื่องเดียวแต่ต้องหาข้อมูลหลายแหล่ง อีกทั้งข้อมูลที่ได้ก็มีทั้งรูปแบบไฟล์พีดีเอฟ ไฟล์รูป และเลขไทย ดังนั้น เรื่องการเปิดเผยข้อมูลจึงต้องการให้เกิดการสร้างฐานข้อมูลเดียว ที่สามารถเข้าไปค้นหาข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างที่มีรายละเอียด

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาประชาชนตื่นตัวในการร่วมตรวจสอบมากขึ้น เห็นได้จากยอดเอ็นเกจเม็นต์ที่สูงต่อข่าวการทุจริต ใช้อำนาจมิชอบที่คนสนใจแชร์ แต่ก็ยังไปต่อลำบาก นำมาสู่เรื่องข้อเสนอเรื่องการเปิดเผยข้อมูล ปัจจุบันมีความพยายามแก้ไข พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร 2540 ที่ค้างอยู่ที่สภาฯ แต่เห็นว่าหากยึดตามร่างของครม. ไม่แก้จะดีกว่า เพราะเป็นการรวมร่างของข้อมูลข่าวสารและข้อมูลความมั่นคงที่ทำให้เกิดการผิดฝาผิดตัว ต่างจากร่างของพรรคก้าวไกลที่เปลี่ยนมายด์เซ็ตว่าข้อมูลข่าวสารไม่ใช่ของราชการแต่เป็นของทุกคน การไม่เปิดเผยเพราะเรื่องความมั่นคงจะต้องเป็นแค่บางเรื่องบางถ้อยคำที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงเท่านั้น

ด้าน นายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ผู้ผลักดันร่างกฎหมายข้อมูลข่าวสารสาธารณะ กล่าวว่า สมการการแก้ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นคือ ‘ดุลพินิจ’ ลบด้วย ‘การตรวจสอบ’ ที่ผ่านมามีการแก้ปัญหาเรื่องการใช้ดุลพินิจทั้งการกำหนดหลักปฏิบัติหนึ่งสองสามสี่ เพื่อลดการใช้ดุลพินิจหรือการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตัดสินใจร่วมกันหลายคน อีกด้านคือการเพิ่มกลไกการตรวจสอบทำให้ข้อมูลรัฐโปร่งใส่มากขึ้น นำมาสู่การเสนอแก้ไขพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ที่เปลี่ยนตั้งแต่ชื่อว่าไม่ใช่ข้อมูลข่าวสารราชการแต่เป็นเรื่องของสาธารณะ หากยึดหลักนี้ก็จะเปลี่ยนวิธีคิดได้ โดยได้ไปดูแนวทางจากประเทศเอสโตเนียที่เขียนว่าข้อมูลภาครัฐในฐานข้อมูลต้องเปิดข้อมูลต่อสาธารณะ ซึ่งทำให้ทุกอย่างต้องเปิดเผยก่อนส่วนหน่วยงานไหนมองว่ามีเรื่องลับก็ไปปิดข้อมูลเป็นรายการไป หากทำแบบนี้ได้ก็จะทำให้สามารถตรวจสอบข้อมูลการงบประมาณ ทำให้ประชาชนลุกขึ้นมาตรวจสอบข้อมูลการทุจริตการจัดซื้อจัด

ขณะที่ นายธนิสรา เรืองเดช WeVis เทคโนโลยีประชาชน เพื่อประชาธิปไตย มองว่า WeVis เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่หวังอยากจะเห็นภาพการค้นหาข้อมูลภาครัฐทำได้เหมือนเสิร์ชกูเกิล ซึ่งทำงานมาเกือบสามปีก็เริ่มมีความหวัง แต่ก็ยังมีข้อจำกัดเช่นการเปิดเผยข้อมูลที่ยังมีข้ออ้างที่จะไม่เปิดเผย ไปจนถึงการเชื่อมต่อกับกลไกภาครัฐ และการประสานงานที่เหมือนพูดกับกำแพง ไม่รู้ว่าตอนนี้เรื่องไปถึงไหน ต้องตามต่ออย่างไร ซึ่งที่ผ่านมามีงานที่ทำไปคือเรื่องการตรวจสอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี ที่เปิดให้ใช้ได้ก่อนอภิปรายงบฯ ในวาระ1 ประมาณหนึ่งสัปดาห์ พบว่ามีคนเข้ามาดูเกือบแปดแ สนคนดังนั้นจะบอกว่าประชาชนไม่ตื่นตัวไมได้ รวมทั้งมี ส.ส.หลายพรรค ติดต่อประสานเรื่องข้อมูลเพิ่มเติม หลายคน

ดร.ต่อภัสร์ ยมนาค ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ดร.ต่อภัสร์ ยมนาค ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ก่อตั้ง HAND Social Enterprise กล่าวว่า การต่อต้านการคอรัปชั่นสิ่งสำคัญคือประชาชน ถ้าไม่มีประชาชนอยู่ในสมการ การต่อต้านก็จะไม่มีประสิทธิภาพแน่นอน โดย ‘ควิกวิน’ ที่สำคัญคือการเปิดเผยข้อมูลที่จะส่งผลต่อดัชนีภาพลักษณ์คอรัปชั่น (CPI) จากที่ได้ไปพบกับ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ เพื่อพูดคุยถึงเรื่องการต่อต้านคอรัปชั่น พบว่ามีหลายเรื่องที่ทำได้ เช่น ข้อตกลงคุณธรรมที่ช่วง 5 ปีที่ผ่านมาช่วยให้ประเทศประหยัดงบไปได้ถึงแสนล้านบาท การเปิดเผยข้อมูลที่ทาง ACT Aiดึงข้อมูลมา 22 ล้านชุด เพื่อทำให้ค้นหาได้ง่าย ซึ่งได้พูดถึงการเชื่อมต่อกับระบบ กทม. ที่จะมีข้อมูลรายเขต ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาเครื่องมืออื่นๆ ตามมาอีกมาก

สุดท้ายคือประเด็นเรื่องการใช้ดุลพินิจ ที่อาจปรับแก้ให้ลดการใช้ดุลพินิจ เช่น การออกใบอนุญาตโดยไม่จำเป็น ลดการพบปะ คนต่อคน ก็จะช่วยลดโอกาสคอรัปชั่น ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างซึ่งต้องติดตามต่อไปว่าจะเกิดขึ้นได้จริงแค่ไหน แต่ก็มีความหวังหากรับแนวทางนี้ไปใช้ก็มีโอกาสความสำเร็จสูง กทม.อาจจะเป็นอีกต้นแบบโปรโตไทป์ ในการพัฒนาหรือเป็นแซนด์บอกซ์ ขนาดใหญ่ โดยสมการใหญ่ คนยังเป็นหลักสำคัญ และต้องมีข้อมูล เมื่อมี “คน” และ “ข้อมูล” การเปลี่ยนแปลงก็จะเกิดขึ้นได้

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้