4 ปี ปฏิรูปทุจริต วางรากฐาน หรือเสียเปล่า ?

Last updated: 28 พ.ค. 2565  |  3580 จำนวนผู้เข้าชม  | 

4 ปี ปฏิรูปทุจริต วางรากฐาน หรือเสียเปล่า ?

คณะกรรมการปฏิรูปฯ ด้านปราบโกง แถลงผลงาน 5 ด้าน ชี้แก้ไข พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ไม่ได้รับตอบสนอง ย้ำข้อมูลราชการต้องเปิดเผยทั้งหมด ระบบราชการถึงจะโปร่งใส

“...เราใช้เวลาประมาณ 1 ปีเศษ พบว่าปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการขับเคลื่อนเรื่องนี้ คือ คน กฎหมาย และภาครัฐ ปัจจุบันดำเนินการจนประสบผลสำเร็จจริงจัง แต่หลายเรื่องจะทำให้สำเร็จ ต้องได้รับความเข้าใจ ความตื่นตัว และการมีส่วนร่วมของประชาชน เมื่อไม่ได้ประชาสัมพันธ์อย่างจริงจัง จึงได้รับการสนับสนุนยาก…”

วันที่ 27 พฤษภาคม 2565 เวลา 09.30 น. คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ได้จัดแถลงข่าว “การดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ในรอบปีที่ผ่านมา” นำโดย นายภักดี โพธิศิริ ประธานกรรมการฯ, พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ ประธานอนุกรรมการฯ, ดร.มานะ นิมิตรมงคล กรรมการฯ, นายปฏิภาณ จุมผา รองผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน), นายสิน สื่อสวน ผู้แทนเครือข่ายภาคประชาชน, นายภูเทพ ทวีโชติธนากุล ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. และ นายกฤษณ์ กระแสเวส ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคาร 5 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร

นายภักดี โพธิศิริ ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ แถลงว่า แผนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบประกาศใช้ครั้งแรกเมื่อเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2561 และได้ปรับปรุงโดยประกาศใช้แผนการปฏิรูปประเทศ(ฉบับปรับปรุง) เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งได้มุ่งเน้นการขับเคลื่อนกิจกรรมปฏิรูปที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ หรือ กิจกรรม ‘Big Rock’ ซึ่งถูกกำหนดไว้จำนวน 5 กิจกรรม ได้แก่ 1) การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการต่อต้านการทุจริต โดยส่งเสริมให้ภาคประชาชนมีบทบาทเป็นแกนหลักในการต้านภัยทุจริต โดยดำเนินการผ่านกลไกเครือข่ายภาคประชาชน เครือข่ายองค์กรชุมชน ภาคีภาคประชาสังคม เพื่อป้องกันการทุจริตในพื้นที่ของตนเอง เช่น จัดตั้งคณะ ‘ผู้ก่อการดี’ 17 จังหวัด 71 ตำบล เป็นกลไกหลักขยายความร่วมมือกับเครือข่ายอื่นๆ 2) การพัฒนาการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและระบบคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสการทุจริตที่มีประสิทธิภาพ ผลักดันการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลภาครัฐโดยไม่ต้องร้องขอ และเตรียมช่องทางให้ผู้แจ้งเบาะแส เช่น จัดให้มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการฟ้องปิดปาก หรือ Anti-SLAPP Law ที่ห้ามเจ้าหน้าที่ฟ้องร้องบุคคลที่แสดงความเห็นหรือเปิดโปงการทุจริต ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา 3) การพัฒนากระบวนการยุติธรรมที่รวดเร็ว โปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติ ในการดำเนินคดีทุจริตทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เช่น การกำหนดบทลงโทษกับหน่วยงานและหัวหน้าหน่วยงานที่ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม โดยคาดว่าจะให้แล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2565 4) การพัฒนาระบบราชการไทยให้โปร่งใส ไร้ผลประโยชน์ เช่น การจัดทำพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทุกคนต่อหัวหน้าหน่วยงาน เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการตรวจสอบความร่ำรวยผิดปกติ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อให้มีมติแก้ไขกฎหมาย 5) การพัฒนามาตรการสกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบายในการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ โดยมีการจัดทำการประเมินความเสี่ยงต่อการทุจริต และมาตรฐานการบริหารจัดหารความเสี่ยงมาใช้ในโครงการที่มีวงเงินสูง 500 ล้านบาท ถึง 1,000 ล้านบาท เพื่อป้องกันการทุจริตเชิงนโยบาย โดยมีการติดตาม ตรวจสอบ โดย ป.ป.ท. ร่วมกับหน่วยงานตรวจสอบอื่นๆ

นายภักดี โพธิศิริ กล่าวว่า ที่มีคำถามว่าจะปฏิรูปอะไรนั้น ขอชี้แจงว่าเราพยายามจะดูปัญหาและอุปสรรคดั้งเดิมเพื่อจะขจัดปัดเป่าให้หมดไป โดยเน้น 3 มิติ คือ ปฏิรูปภาคประชาชน ปฏิรูประบบกฎหมาย และปฏิรูปในภาครัฐและกระบวนการยุติธรรม อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาประสบปัญหาอุปสรรคอย่างมากทำให้การดำเนินการป้องกันและปราบปรามการทุจริตไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร สำหรับเรื่องการปฏิรูปภาคประชาชน ต้องเปลี่ยนประชาชนมาให้เป็นพลังพลเมือง ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการป้องกันเชิงรุกอย่างแท้จริง ไม่ใช่เชิงรับที่เครือข่ายรัฐพยายามเอากิจกรรมและโครงการต่างๆ ไปชักชวนมาเป็นเครือข่าย ลักษณะอย่างนั้นประชาชนจะมองไม่เห็นความสำคัญและประโยชน์ เขาจะไม่เข้าใจว่าจะแก้ปัญหาที่เขาประสบในพื้นที่อย่างไร ต้องปฏิรูปโดยคอนเซปต์ใหม่ให้ประชาชนมีเครือข่ายที่เข้มแข็ง ทำเรื่องที่มีประโยชน์กับเขาเอง โดยรัฐมีหน้าที่สนับสนุน

นายภักดี โพธิศิริ กล่าวว่า สำหรับการปฏิรูประบบกฎหมายนั้น จะมีทั้งในส่วนที่พยายามแก้ไขกฎหมายเดิมที่ยังมีความไม่เหมาะสม ในเรื่องความโปร่งใสจะเน้นความสำคัญในการให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะข้อมูลของภาครัฐ สาธารณชนต้องเข้าถึงได้ง่ายและทั่วถึง แต่ตัวกฎหมายเดิมยังไม่เอื้อ ทำให้เกิดสภาพเดิม ตัว พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 เป็นกฎหมายโบราณ ซึ่งที่อื่นเปลี่ยนแปลงหมดแล้ว อีกทั้งรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดเจนในมาตรา 59 ว่าข้อมูลราชการต้องเปิดเผย เพราะเป็นข้อมูลสาธารณะ ดังนั้น เป็นลักษณะกฎหมายที่ต้องมีการปฏิรูป และมีที่ต้องเพิ่มมาใหม่เพื่อให้การทำงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตมากขึ้น เช่น กฎหมายขัดแย้งกันของผลประโยชน์ กฎหมายป้องกันการปิดปาก รวมถึง พ.ร.ฎ.ให้มีการแสดงบัญชีทรัพย์สินของข้าราชการเจ้าหน้าที่รัฐทุกราย เพราะเป็นเรื่องที่จะป้องปรามได้อย่างแท้จริง ขณะที่ในส่วนการปฏิรูปในภาครัฐ ถือเป็นปัญหาสำคัญที่ล้วนแล้วแต่ส่งผลให้ค่าดัชนีภาพลักษณ์ หรือ CPI ตกต่ำ เช่น เรื่องรับสินบน ปัญหาการประพฤติมิชอบ การตระหนักรู้ทุจริต

นายภักดี โพธิศิริ กล่าวสรุปว่า ได้มีการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งหลายเรื่องประสบผลสำเร็จแล้ว แต่ขณะเดียวกัน มีอีกหลายเรื่องยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ จำเป็นต้องมีการขับเคลื่อนต่อ ไม่อย่างนั้นจะเป็นที่น่าเสียดาย ขาดหายไปถ้าไม่ได้ดำเนินการ โดยเรียนไปยังรัฐบาลให้เห็นถึงความสำคัญตรงนี้ โดยจะทำเรื่องเสนอไปยังคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมเป็นประธาน เพื่อขอให้มีการสนับสนุนแผนปฏิรูปโครงการกิจกรรมสำคัญที่เรากำหนดไว้แล้วต่อไป ซึ่งมีบางเรื่องยังไม่เสร็จต้องดำเนินการต่อ โดยเฉพาะบิ๊กล็อกเปลี่ยนพลังประชาชนเป็นพลังเมือง สำคัญมาก เป็นแนวคิดใหม่ หากดำเนินการได้จะทำให้เกิดความยั่งยืน เพราะการแก้ไขปัญหาทุจริตคงไม่มีอะไรดีกว่าการให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาและมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

ด้านนายภูเทพ ทวีโชติธนากุล ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า ปัจจุบัน ป.ป.ช.มีกฎหมายคุ้มครองพยาน และมีระบบการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสให้มีความปลอดภัย นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำกฎหมายที่สนับสนุนในเรื่องนี้คือ กฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันการฟ้องปิดปาก เพื่อห้ามเจ้าหน้าที่รัฐ หัวหน้าหน่วยงานของรัฐและเอกชนมาดำเนินคดีกับพยานบุคคลและผู้แจ้งเบาะแส ในเรื่องหลักการนั้นฝ่ายบริหารสนับสนุนเรื่องนี้ อยู่ที่จะบัญญัติเป็นกฎหมายเฉพาะ หรือเพิ่มมาในกฎหมาย ป.ป.ช.

นายภูเทพ ทวีโชติธนากุล กล่าวว่า หลักการสำคัญเกี่ยวกับการป้องกันการฟ้องปิดปาก เพื่อป้องกันการข่มขู่ปิดกั้นไม่ให้แสดงความคิดเห็นกับบุคคลที่กระทำความผิด เรื่องคดีทุจริตเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเป็นผู้ที่มีอำนาจในการบริหารงาน บริหารประเทศ ดังนั้น การที่ประชาชนจะลุกขึ้นมามีความเสี่ยงค่อนข้างสูง แม้ ป.ป.ช.จะมีกฎหมายคุ้มครองพยาน แต่บุคคลนั้นต้องเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการตรวจสอบของ ป.ป.ช. จึงจะคุ้มครอง แต่ยังไม่ครอบคลุมผู้ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการตรวจสอบของ ป.ป.ช. เช่น สื่อมวลชนที่ต้องใช้ประมวลกฎหมายอาญาทั่วไปเวลาถูกฟ้อง ดังนั้น จึงต้องผลักดันกฎหมายฉบับนี้

ด้านนายมานะ นิมิตมงคล กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ กล่าวว่า คอร์รัปชันในประเทศไทยวันนี้กลับเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ความรุนแรงไม่ได้ลดน้อยลงไป แม้บางเรื่องอาจถูกแก้ไขและซาลงไป แต่พฤติกรรมการคอร์รัปชันในรูปแบบใหม่ๆ ในพื้นที่ใหม่ๆ ยังเกิดขึ้น โดยรวมคือมันยังไม่เปลี่ยนแปลง แต่พลังในการต่อต้านคอร์รัปชั่นเราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ที่เกิดทั้งในภาครัฐและประชาชน ยิ่งความตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ถือเป็นสัญญาณที่ดีว่าในอนาคตเราจะสามารถควบคุมพฤติกรรมคอร์รัปชั่นและลดความสูญเสียต่อสังคมลงได้ ทั้งนี้ จากการรวบรวมข้อมูลในภาครัฐมีมาตรการการแก้ไขปัญหาคอรัปชั่นเกิดขึ้นอย่างชัดเจน เช่น เว็บไซต์ของ ป.ป.ช.จะพบเครื่องมือในการต่อสู้กับคอร์รัปชันที่สามารถใช้งานได้จริงหลายอย่าง

นายมานะ นิมิตมงคล กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม พลังการตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาที่ออกมาพูดออกมาเรียกร้องออกมาเปิดโปงพฤติกรรมคอร์รัปชันพฤติกรรมฉ้อฉลในสังคมมากขึ้น และพลังของคนรุ่นใหม่เป็นพลังที่กล้ามาก กล้าที่จะพูดความจริง กล้าที่จะเรียกร้องและชักชวนคนรู้จักให้ออกมาช่วยกันต่อต้านปัญหาคอร์รัปชัน นี่ถือว่าเป็นอนาคตที่ดีของประเทศไทย โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีอย่างโซเชียลมีเดียมาเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาคอรัปชั่น ซึ่งในการปฏิรูปประเทศมีความพยายามที่สนับสนุนให้มีการสร้างปัจจัยพื้นฐานเอาไว้

“...เป็นความจริงในวันนี้ ที่เราต้องรับรู้ร่วมกัน ว่าภาคเอกชนตื่นตัวมากขึ้น มีความตั้งใจหลายอย่างในการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน เกิดการตรวจสอบกันเอง และที่สำคัญ คือ พลังความตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ ที่ออกมาเปิดโปงการทุจริต เป็นพลังที่กล้าจะเรียกร้อง และชักชวนคนรู้จักให้ออกมาช่วยต่อต้านเรื่องนี้ โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีมาช่วยเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาที่ได้ผลดีอย่างมาก...”

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้