Act แนะก้าวข้ามวิกฤตคอร์รัปชันในภาครัฐกับอนาคตประเทศไทย

Last updated: 12 เม.ย 2565  |  4246 จำนวนผู้เข้าชม  | 

Act แนะก้าวข้ามวิกฤตคอร์รัปชันในภาครัฐกับอนาคตประเทศไทย

“ก้าวข้ามวิกฤติคอร์รัปชันในภาครัฐ จะเป็นไปได้อย่างไร? ในเมื่อทุกวันนี้นอกจากจะโกงตั้งแต่หัวยันหางแล้ว คนมีอำนาจยังทำตัวไม่เกรงกลัวกฎหมายและไม่อายใคร” ถ้าเป็นเช่นนี้ อนาคตประเทศไทยจะต้องจมปลักกับคอร์รัปชันตลอดไปอย่างนั้นหรือ?

บทความนี้นำเสนอปัจจัยเพื่อประเมินว่า เราจะก้าวข้ามวิกฤตร้ายนี้ไปได้อย่างไรและวันนี้เราพร้อมหรือยัง กับองค์ประกอบที่ว่าด้วย 1. พฤติกรรมคอร์รัปชัน 2. การเปลี่ยนแปลงของภาครัฐ และ 3. ความตื่นตัวของประชาชน ทั้ง 3 ปัจจัยนี้ยังจะช่วยตอบคำถามด้วยว่า วันนี้สถานการณ์คอร์รัปชันไทยดีขึ้นหรือเลวลง

1. พฤติกรรมโกงของเจ้าหน้าที่รัฐที่คนไทยรู้เห็น แต่ทำอะไรไม่ได้

ก. โกงล้างผลาญ สร้างแล้วทิ้ง จ่ายแพงแต่ใช้ไม่ได้ ขอให้ได้ผลาญเงินภาษีประชาชน เช่น โครงการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ ประปาชุมชน เสาไฟกินรี ตัดถนนลงทุ่งนา ศูนย์โอทอป สนามบินต่างจังหวัด ฯลฯ

ข. โกงซ่อนเงื่อน หลายคดีที่ชวนให้ตื่นตะลึง เช่น กรณีปล่อยเงินกู้ของธนาคารกรุงไทย กรณีที่ ส.ส.โกงในการจัดทำ พ.ร.บ. งบประมาณประจำปี การโกงถุงมือยางขององค์การคลังสินค้า กระทรวงพาณิชย์ เสียหายมากถึง 2 พันล้านบาทจนนักการเมืองต้องดิ้นปฏิเสธความเกี่ยวข้อง และปีที่ผ่านมาศาลเพิ่งตัดสินคดีโกงภาษีมูลค่าเพิ่ม 3 พันล้านบาทโดยอดีตอธิบดีกรมสรรพากร คดีนี้ไม่เชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้กรมสรรพากรมีระบบที่ดี และตัวบุคคลที่รับราชการเติบโตมาจนถึงระดับอธิบดี

ค. โกงเป็นระบบ ทุกวันนี้ข่าวการล็อคสเปกและฮั้วประมูล กลายเป็นเรื่องธรรมดาไปเสียแล้ว เพราะมีข่าวการโกงเป็นขบวนการที่ใหญ่กว่าอย่าง คดีสินบนข้ามชาติ เช่น กรณีสินบนโรลล์ รอยส์ ในการบินไทยและ ปตท. กรณีโรงไฟฟ้าขนอม และเหมืองทองคำ คอร์รัปชันเชิงนโยบายอย่างคดีฟุตซอล และอีกหลายหน่วยงานอ้างปัญหาโควิดเพื่อออกมาตรการช่วยเหลือเอกชนที่เป็นผู้มีอุปการะคุณและพวกพ้องของตน จนหลายท่านวิจารณ์ว่า นี่คือยุคที่นายทุนมีอำนาจครอบงำรัฐ (State Capture) แล้ว

ง. โกงในระบบยุติธรรม ที่ทำให้การแก้ปัญหาคอร์รัปชันเป็นเรื่องยากขึ้น กรณีสำคัญเช่น คดีบอสกระทิงแดง คดีผู้กำกับโจ้ และล่าสุดคือคอร์รัปชันในกระบวนการของหน่วยงานราชทัณฑ์

ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ จึงไม่แปลกอะไรที่ประเทศไทยไทยจะถูกจัดอันดับโลกด้านคอร์รัปชันให้ตกต่ำต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็มีรายงานที่ระบุว่า มีการโอนเงินเข้า - ออกประเทศไทยอย่างผิดกฎหมายจำนวนมาก เป็นการโอนเงินออกราว 4 แสนล้านบาทและโอนเข้าราว 2 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งแน่นอนว่ามีจำนวนไม่น้อยที่เป็นเงินสกปรก

2. การเปลี่ยนแปลงของภาครัฐ

ก. เทคโนโลยีกับข้อมูลข่าวสาร ที่ผ่านมามีการลงทุนเพื่อจัดตั้งและพัฒนาหน่วยงานด้านเทคโนโลยีของรัฐหลายแห่ง ทำให้ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ถูกนำมาใช้ประโยชน์ผ่านนวัตกรรม เช่น เว็บไซต์ “ภาษีไปไหน” ของ DGA เว็บไซต์ “ไทยมี” ของสภาพัฒน์ฯ ระบบ e - GP และ GF - MIS ของกรมบัญชีกลาง และอีกหลายแอปพลิเคชันของหลายหน่วยงาน

ปรากฏการณ์นี้ทำให้เชื่อว่า ในวันข้างหน้า หากเจ้าหน้าที่รัฐยอมปรับเปลี่ยนทัศนคติและพัฒนาตัวเองมากขึ้น แล้วยอมเปิดเผยข้อมูลต่างๆ อย่างโปร่งใส เมื่อถึงวันนั้นความพร้อมทางเทคโนโลยีและข้อมูลที่ถูกเก็บกระจัดกระจายอยู่จำนวนมาก จะถูกนำไปใช้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสร้างความเป็นธรรมในสังคมได้เป็นอย่างดี

ข. กฎหมายและมาตรการของรัฐ โดยเฉพาะกฎหมายสำคัญคือ พ.ร.บ. จัดซื้อฯ พ.ศ. 2560 เพื่อจัดระเบียบสร้างมาตรฐานในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐฯ กฎหมายนี้จึงมีผลต่อเจ้าหน้าที่รัฐและภาคเอกชนเป็นหลัก ส่วนที่มีผลต่อประชาชนและภาคธุรกิจทั่วไปคือ พ.ร.บ. การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการฯ และ พรฎ. การทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายฯ ที่มุ่งหวังให้หน่วยงานของรัฐต้องปฏิรูปการบริการประชาชนให้สะดวกรวดเร็ว ลดภาระและลดเงื่อนไขการเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่ ส่งผลให้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานของราชการอย่างมาก อาทิ การเปิดให้บริการ E-Service แล้วจำนวน 343 งานบริการ พัฒนาระบบ E-License และระบบ Digital ID ฯลฯ

นอกจากนี้ ศอตช. ได้สำรวจพบว่า ผลจากแผนปฏิรูปประเทศฯ และนโยบายของรัฐทำให้หน่วยงานต่างๆ สร้างเครื่องมือบริการประชาชนเพื่อให้เกิดความโปร่งใสอีก 1,430 เครื่องมือ

ที่ต้องชื่นชมไม่แพ้กันคือ การปรับตัวให้กระชับและมีประสิทธิภาพมากขึ้นของ ป.ป.ช. สตง. ป.ป.ท. ศาล และอัยการ

3. ความตื่นตัวของประชาชน

ตลอดเวลาที่ผ่านมา เราได้เห็นความตื่นตัวและลงมือแก้ปัญหาในภาคเอกชนกันเองมากขึ้น ทั้งภาคธนาคาร อุตสาหกรรม สมาคมวิชาชีพ มีการรวมตัวเป็นแนวร่วม CAC กำหนดแนวปฏิบัติเพื่อสร้างธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบร่วมกัน เช่น การผลักดันมาตรการตรวจสอบบัญชี NOCLAR

นอกจากนี้ เรายังได้เห็นความตื่นตัวอย่างมากของนักวิชาการ ความตื่นตัวของสื่อสารมวลชนจากการทำข่าวลึก ข่าวเจาะ คอลัมน์รายการที่เกี่ยวกับคอร์รัปชัน

ความตื่นตัวที่เป็นพลังชี้ขาดการต่อสู้เอาชนะคอร์รัปชันคือ พลังของประชาชนที่เข้าใจและรังเกียจคอร์รัปชัน ช่วยกันเปิดโปงคนโกงและแสดงพลังผ่านโซเชียลมีเดียอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ ทักท้วง และเรียกให้พรรคพวกออกมาช่วยกันลงมือแก้ไขปัญหาบ้านเมือง

อุปสรรคจากการปกป้องกันเองของเจ้าหน้าที่รัฐ?

เราเคยเข้าใจกันว่า การมีกฎหมายที่เข้มงวดจำนวนมากจะทำให้คอร์รัปชันลดลง แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือ? หากพิจารณากฎหมายที่ยอมให้มีการจ่าย “สินบนและรางวัลนำจับ” แก่เจ้าหน้าที่และบุคคลทั่วไป เช่น กรณีผู้กำกับโจ้นายตำรวจที่จัดฉากชี้เบาะแสให้จับรถหรูที่ถูกลักลอบนำเข้า แต่ตนและพวกคือผู้รับสินบนรางวัลนำจับ แล้วตามไปซื้อรถเหล่านั้นจากการขายทอดตลาด ทำเงินหลายต่อสบายๆ สรุปว่ากฎหมายกลายเป็นเครื่องมือของคนโกง แม้มีเสียงคัดค้านมาก แต่วันนี้กฎหมายเหล่านั้นทั้ง 132 รายการ ยังคงถูกใช้กันต่อไป

ตรงกันข้าม กฎหมายสำคัญๆ ที่ทั่วโลกพิสูจน์แล้วว่ามีประโยชน์แต่กลับถูกขัดขวางในบ้านเรา เป็นต้นว่า พ.ร.บ. ป้องกันการมีผลประโยชน์ทับซ้อน ที่ถูกเตะถ่วงมาตั้งแต่ปี 2550 พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารฯ ตั้งแต่ปี 2557 เช่นเดียวกับมาตรการควบคุมเจ้าหน้าที่ของรัฐมิให้รับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคลอื่น และมาตรการให้เจ้าหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน ที่แม้มีกฎหมายเขียนไว้แล้วแต่ก็ใช้การไม่ได้เพราะถูกตีความให้ลากยาวต่อไป

บทส่งท้าย

การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นของภาคประชาชนและหน่วยราชการทำให้มั่นใจได้ว่า ประเทศไทยไม่ไร้อนาคตแน่นอน แต่การต่อสู้เอาชนะคอร์รัปชันจะสำเร็จช้าหรือเร็วนั้นขึ้นอยู่กับว่า คนไทยจะเลือกยืนรอผลการปฏิรูปประเทศไปอีก 20 ปี หรือปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคนอื่น หรือลงมือสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยตนเอง วันนี้เราต้องพูดถึงอนาคต ต้องริเริ่มทำอะไรสักอย่างให้สำเร็จ (Quick win) เพื่อเป็นแรงจูงใจ แล้วมุ่งมั่นสู้ไม่ถอยจนกว่าจะก้าวข้ามวิกฤตทั้งปวงได้

ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้