Last updated: 28 มี.ค. 2564 | 3229 จำนวนผู้เข้าชม |
การเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรี จำนวน 2,472 แห่ง กำลังเกิดขึ้นในวันที่ 28 มีนาคม โดยมีผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งประเทศ 73,390 คน เพื่อชิงชัยเก้าอี้ 33,666 ตำแหน่ง ซึ่งหลายทีมได้ดูดดึง "คนรุ่นใหม่" เข้าไปเสริมทัพเพื่อให้สอดคล้องกับกระแสทางการเมืองยุคปัจจุบัน
แต่ถึงกระนั้นผู้เชี่ยวชาญด้านการปกครองส่วนท้องถิ่นก็ยังไม่กล้าฟันธงทิศทางการตัดสินใจของประชาชนในศึกเลือกตั้งเทศบาลในรอบ 7 ปี เนื่องจากเทศบาลมีความใกล้ชิด-ใกล้ตัวกับประชาชนมาก บีบีซีไทยได้รวบรวมข้อมูลน่าสนใจ และประมวลความคิดเห็นจากนักวิชาการที่ศึกษาการเมืองท้องถิ่นมาฉายภาพเพื่อประกอบการตัดสินใจของประชาชน 76 จังหวัดก่อนเดินเข้าคูหาเลือกตั้ง
ข้อมูลพื้นฐานว่าด้วยเทศบาล : เทศบาลเป็นการปกครองท้องถิ่นขนาดเล็กที่สุด และมีความใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด เนื่องจากมีภารกิจสำคัญคือการจัดบริการสาธารณะให้แก่คนในท้องที่ ตั้งแต่เก็บขยะ, รดน้ำต้นไม้, จัดหาน้ำประปา, ไฟฟ้าส่องถนน, โรงฆ่าสัตว์, โรงรับจำนำ, โรงพยาบาล, โรงเรียน, ตลาด, ลานกีฬา, สวนสาธารณะ ฯลฯ โดยแบ่งรูปแบบการปกครองออกเป็น 3 ระดับ ตามจำนวนประชากร และรายได้ของเทศบาล
สำหรับความแตกต่างระหว่างเทศบาล กับ อบต. ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 5,300 แห่งนั้น หากพื้นที่ใดมีความเป็นชุมชนเมืองมากขึ้น (พิจารณาตามเกณฑ์ความหนาแน่นของประชากรและความสามารถในการจัดหารายได้) กระทรวงมหาดไทยก็จะออกประกาศยกฐานะ อบต. ขึ้นเป็น ทต. หรือ ทม. โดยอาจครอบคลุมพื้นที่ยกตำบล หรือกินพื้นที่ของตำบลใกล้เคียงก็ได้ ส่วนพื้นที่อื่น ๆ นอกเหนือจากนั้นก็จะยังอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของ อบต. ซึ่งมีความเป็นชนบทกว่า นั่นหมายความว่าในตำบลเดียวกัน อาจมีทั้ง อบต. และ ทต./ทม. ปกครองพื้นที่
กล่าวโดยสรุป ใน 1 จังหวัด จะมีราชการส่วนท้องถิ่นหลายรูปแบบ ตั้งแต่ขนาดใหญ่ที่สุดคือองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ไล่ไป อบต. เทศบาล และองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ (กรุงเทพมหานคร กับ เมืองพัทยา) และยังมีราชการส่วนภูมิภาค จากระดับใหญ่สุดคือจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน ให้ประชาชนไปติดต่อราชการ
การได้มาซึ่งนายกเทศมนตรี/สมาชิกสภาเทศบาล : มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน เช่นเดียวกับ ส.ส., ส.อบจ., ส.อบต. แต่ผู้สมัครไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมืองอย่างในการเลือกตั้ง ส.ส.
นอกจากนี้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 กำหนดห้ามข้าราชการการเมือง, ส.ส., ส.ว., ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ กระทำการใด ๆ ไม่ว่าเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัคร ทำให้พรรคการเมืองต่าง ๆ พากันหลบเลี่ยงข้อจำกัดทางกฎหมาย ทั้งงดส่งผู้สมัครในนามพรรค งดหาเสียงช่วยผู้สมัครอย่างโจ่งแจ้ง โดยมีเพียงพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่อนุญาตให้ผู้สมัครบางรายใช้โลโก้พรรค และคณะก้าวหน้าที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในนามกลุ่ม
จำนวน : ในแต่ละเทศบาล ให้มีนายกเทศมนตรี 1 คน ส่วน ส.ท. มีเขตละ 6 คน รวม 12-24 คน/เทศบาล ดังนี้
นั่นเท่ากับว่าศึกเลือกตั้งเทศบาลหนนี้ มีเก้าอี้ให้ชิงชัยพร้อมกันถึง 33,666 ตำแหน่ง แบ่งเป็นนายกฯ 2,472 ตำแหน่ง และ ส.ท. อีก 31,194 ตำแหน่ง
จังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวนเทศบาลมากที่สุด 121 แห่ง แบ่งเป็น ทน. 1 แห่ง, ทม. 4 แห่ง และ ทต. 116 แห่ง ขณะที่ จังหวัดนครนายก มีเทศบาลน้อยที่สุดเพียง 6 แห่ง แบ่งเป็น ทม. 1 แห่ง และ ทต. 5 แห่ง
อำนาจหน้าที่ : นายกเทศมนตรีกับ ส.ท. แบ่งบทการเมืองกัน โดยนายกเทศมนตรีรับหน้าที่ฝ่ายบริหาร ทั้งจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น, จัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี และรายงานผลการปฏิบัติงานและการใช้จ่ายงบให้สภาเทศบาลทราบ ขณะที่สภาเทศบาลเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ มีหน้าที่ตราเทศบัญญัติเพื่อใช้ในท้องถิ่น และตรวจสอบและควบคุมการปฏิบัติงานของผู้บริหารท้องถิ่น เช่น ตั้งกระทู้
วาระ : อยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี ติดต่อกันได้ไม่เกิน 2 วาระ
ค่าตอบแทน : นายกเทศมนตรีได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทนตั้งแต่ 14,280-75,530 บาท (ขึ้นอยู่กับรายได้ของเทศบาล ซึ่งมีตั้งแต่กลุ่มที่จัดเก็บรายได้ได้ต่ำกว่า 1 ล้านบาท ไปจนถึงกลุ่มที่จัดเก็บรายได้ทะลุ 300 ล้านบาท), รองนายกเทศมนตรีได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทนตั้งแต่ 8,670-45,540 บาท, ประธานสภาเทศบาลได้ค่าตอบแทนตั้งแต่ 5,520-30,540 บาท และ ส.ท. ได้ค่าตอบแทนตั้งแต่ 3,520-19,440 บาท
งบเทศบาล : รายได้ของเทศบาลเกิดจาก 2 แหล่งสำคัญ แหล่งแรก มาจากการเก็บภาษีต่าง ๆ ในจังหวัด เช่น ภาษีบำรุงท้องที่, ภาษีโรงเรือนและที่ดิน, ภาษีป้าย และอากรสัตว์ ฯลฯ อีกแหล่ง มาจากงบอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้
ในปีงบประมาณ 2564 รัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 90,978.4 ล้านบาท ตามแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในจำนวนนี้เป็นการจัดสรรงบให้เทศบาลนคร 13,386 ล้านบาท และเทศบาลเมือง 24,887.7 ล้านบาท
บีบีซีไทยตรวจสอบพบว่า เทศบาลที่ได้รับงบจากส่วนกลางสูงสุดคือ เทศบาลนครนนทบุรี ได้รับงบ 775.3 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3,100.1 ล้านบาทตลอด 4 ปีของวาระในการดำรงตำแหน่ง อีกทั้งยังเป็นวงเงินที่สูงกว่าองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นนทบุรี ซึ่งได้รับการจัดสรรงบในปีนี้ 673.1 ล้านบาท และสูงกว่างบของ จังหวัดนนทบุรี ในฐานะหน่วยราชการส่วนภูมิภาค ซึ่งได้รับการจัดสรรงบตามแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ วงเงิน 170.5 ล้านบาท
สำหรับเทศบาลนครที่ได้รับงบอุดหนุนจากรัฐบาลสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่
โดยมีเทศบาลนครอ้อมน้อย จังหวัดสมุทรสาคร ได้รับงบอุดหนุนต่ำสุดที่ 182.4 ล้านบาท
ส่วนของเทศบาลเมืองที่ได้รับงบอุดหนุนจากรัฐบาลสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่
โดยมีเทศบาลเมืองโนนสูง-น้ำคำ จังหวัดอุดรธานี ได้รับการจัดสรรงบน้อยสุดที่ 27.3 ล้านบาท
สถิติน่าสนใจในศึกเทศบาล 64 : ในการเปิดสมัครรับเลือกตั้งนายกเทศมนตรีและสมาชิกสภาเทศบาล ระหว่างวันที่ 8-12 กุมภาพันธ์ 2564 ปรากฏว่ามีผู้สมัครสูงถึง 73,390 คน ตามรายงานสรุปผลของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2564 แบ่งเป็น ผู้สมัครนายกเทศมนตรี 5,771 คน และผู้สมัคร ส.ท. 67,619 คน
สำหรับจังหวัดที่มียอดผู้สมัครสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่
ส่วนจังหวัดที่มีผู้สมัครน้อยที่สุดคือแม่ฮ่องสอน 197 คน เป็นผู้ท้าชิงเก้าอี้นายกเทศมนตรี 20 คน และ ส.ท. 177 คน
นอกจากนี้ยังมีเทศบาลตำบล (ทต.) หลายแห่งที่มีผู้สมัครนายกเทศมนตรีเพียงรายเดียว อาทิ จังหวัดเชียงใหม่ มี 13 เทศบาลที่ไร้คู่แข่ง, จังหวัดบุรีรัมย์ 10 เทศบาล, จังหวัดอุดรธานี 5 เทศบาล และ จังหวัดนครศรีธรรมราช 7 เทศบาล
แต่ถึงกระนั้นผู้สมัครเหล่านี้ต้อง "แข่งกับตัวเอง" เพื่อให้ผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นฯ มาตรา 111 โดยต้องได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 10% ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น และมากกว่าคะแนนเสียงที่ไม่เลือกผู้ใด (โหวตโน)
งบหาเสียง : ในการเลือกตั้งเทศบาลหนนี้ ผอ.กกต. ประจำจังหวัดทั้ง 76 จังหวัดได้ออกประกาศกำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น โดยกำหนดวงเงินให้จ่ายได้แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับขนาดของพื้นที่และลักษณะทางภูมิศาสตร์, จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง, จำนวนหน่วยเลือกตั้ง และดัชนีราคาผู้บริโภคตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์
อย่างใน จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีผู้ร่วมศึกเลือกตั้งเทศบาลสูงสุดทะลุ 4,000 คน และมีการเลือกตั้งเทศบาลครบทั้ง 3 รูปแบบ รวม 121 แห่ง ผอ.กกต. กำหนดงบหาเสียงของผู้สมัครไว้ ดังนี้
รศ.ดร. อลงกรณ์ อรรคแสง อาจารย์วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ให้ความเห็นว่าการเลือกตั้งเทศบาลทำให้เกิดความคึกคักทางเศรษฐกิจ โดยเขาได้ทดลองนำยอดผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งประเทศราว 73,000 คน ไปคำนวณกับงบหาเสียงโดยเฉลี่ยหัวละ 150,000 บาท พบเม็ดเงินสะพัดกว่า 11,000 ล้านบาท ซึ่งก่อให้เกิดการจ้างงานทั้งการจัดทำป้ายไวนิล, แผ่นพับ, เสื้อทีม, จ้างรถแห่หาเสียง, รถซาเล้งหาเสียง ทั้งหมดนี้เป็นการกระตุ้นบรรยากาศการเลือกตั้งและส่งเสริมเศรษฐกิจในท้องถิ่น
อย่างไรก็ตามนักวิชาการรายนี้ได้แสดงความผิดหวังต่อ "กติกาหยุมหยิมที่กดทับไม่ให้มีการโฆษณาหาเสียงได้อย่างเต็มที่" และชี้ว่ากฎระเบียบเหล่านี้ออกมาด้วยความรู้สึกไม่ไว้วางใจนักการเมือง ทำให้ผู้สมัครต้องเซ็นเซอร์ตัวเองเยอะมาก เพราะเกรงกลัวกฎหมาย
ข้อควรรู้สำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง : การเลือกตั้งเทศบาลจะเกิดขึ้นใน 76 จังหวัด แต่ไม่ใช่คนไทยทุกคนที่ต้องออกไปใช้สิทธิ เฉพาะผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่อยู่ในเขตเทศบาลเท่านั้นที่ได้ออกไปใช้สิทธิ ทั้งนี้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีในวันเลือกตั้ง และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปี โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ที่นี่ และมีข้อควรรู้ ดังนี้
การประกาศผลการเลือกตั้ง : กกต. ระบุว่าจะประกาศผลการเลือกตั้งได้ในวันที่ 27 เมษายน 2564 หากไม่มีเรื่องร้องเรียน แต่ถ้ามีกรณีร้องเรียนกล่าวโทษ กกต. ก็ต้องสืบสวนไต่สวน ทำให้การประกาศผลล่าช้าออกไปอีกเดือน หรือประกาศผลภายในวันที่ 27 พฤษภาคม 2564
การต่อสู้ของผู้สมัคร 4 ภาค
การเลือกตั้งเทศบาล 28 มีนาคม ถือเป็นอีกสนามที่ "คนรุ่นใหม่" โดดเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองในฐานะผู้สมัครรับเลือกตั้ง
หากคำขวัญบนแผ่นป้ายหาเสียงของใครขึ้นต้นว่า "สานต่อ" ประชาชนก็จะรู้ได้ทันทีว่าเป็นนักเลือกตั้งหน้าเก่าที่ลงสมัครเพื่อรักษาเก้าอี้ แต่ถ้าใช้ข้อความว่า "เปลี่ยนแปลง" ก็แสดงว่าเป็นทีมผู้ท้าชิง
"ของแท้-ของเทียม" ในจังหวัดเชียงใหม่
ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรภ.เชียงใหม่ เล่าถึงบรรยากาศการเลือกตั้งเทศบาลนครเชียงใหม่ ซึ่งนายกฯ เดิมต้อง "เว้นวรรค" หลังทำหน้าที่ครบ 2 สมัย และส่งเครือญาติลงสมัครแทน โดยถือ "เป็นคนหน้าใหม่ แต่นามสกุลเก่า" ขณะที่เทศบาลรายรอบ นายกฯ เดิมยังลงสนามต่อไป แต่ที่น่าสนใจคือมีการฉายภาพทีมงานด้วย ซึ่งปรากฏชื่อของอดีตอธิการบดี, หอการค้า, ศิลปิน เพราะ "ลำพังนายกฯ อาจฉายภาพได้ไม่พอ ต้องการภาพคนรุ่นใหม่ จึงต้องดึงคนใหม่ ๆ เข้าไป"
อีกข้อสังเกตจาก ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ คือการเลือกตั้งเทศบาลใน จังหวัดเชียงใหม่ หนนี้เชื่อมโยงกับพรรคการเมืองระดับชาติ จากเดิมที่ท้องถิ่นระดับเล็กอย่างเทศบาลไม่เคยต้องพึ่งพิงพรรคขนาดนี้ ซึ่งเขาวิเคราะห์ว่าเป็นปฏิกิริยาหลังการเลือกตั้ง อบจ. เมื่อ พ.ย. 2563 ที่เกิดการพลิกล็อก-โค่นแชมป์เก่า ทำให้เห็นกระแสนิยมของ พท. และใช้อิงแอบได้ แต่ถึงกระนั้นก็มีทั้ง "ของแท้-ของเทียม" มี "เพื่อไทยแท้" ซึ่งหมายถึงผู้สมัครที่ได้รับอนุญาตให้ใช้โลโก้พรรค กับ "กลุ่มที่ไม่ใช่เพื่อไทยแท้ แต่พยายามออกแบบโลโก้ให้คล้ายคลึง" และมี "ก้าวหน้าแท้" ที่ลงสมัครในนามคณะก้าวหน้าจริง ขึ้นป้ายหาเสียงคู่กับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กับอีกกลุ่มที่ตั้งชื่อกลุ่มโดยนำคำว่า "ก้าวหน้า" ไปห้อยท้าย
3 ขั้วอำนาจในจังหวัดชลบุรี
ขณะที่ภาคตะวันออก ซึ่งมี จ.ชลบุรี ฉายภาพ "ตระกูลการเมือง" และ "เจ้าพ่อ" ผูกขาดพื้นที่มายาวนาน แต่ในศึกเลือกตั้งเทศบาลรอบนี้ รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา พบ "ขั้วอำนาจใหม่" และกระแสตื่นตัวของ "คนรุ่นใหม่"
เขาแบ่งกลุ่มคนรุ่นใหม่ออกเป็น 2 ความหมายคือ คนรุ่นใหม่ที่เป็นลูกหลานและเครือญาติของนักการเมืองรุ่นเก่า กับคนรุ่นใหม่ที่เป็นหน้าใหม่จริง ๆ และยังไม่มีหลักประกันว่าจะประสบชัยชนะเลือกตั้งหรือไม่ แม้ในการเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2562 พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) จะปักธงที่ชลบุรีได้สำเร็จ แต่กลับพ่ายแพ้หมดในภาคตะวันออกในการเลือกตั้ง อบจ. ปี 2563 ซึ่งส่งผลต่อทีม ส.ท. และทำให้เห็นว่า "กระแสไม่เหมือนเดิม มีความถดถอยเยอะหากเทียบกับการเลือกตั้งใหญ่"
นอกจากคนรุ่นใหม่ ผู้สมัครรับเลือกตั้งส่วนใหญ่ยังกระจุกตัวที่ชนชั้นนำท้องถิ่น ซึ่งอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบทางการเมือง เพราะเตรียมหาเสียงล่วงหน้ามานาน และหลายพื้นที่โดยเฉพาะเทศบาลที่มีงบเกิน 100 ล้านบาทขึ้นไป ก็จะเป็น "สงครามตัวแทน" ของ 3 ขั้วการเมือง เพื่อยึดครองพื้นที่ของอีกฝ่าย และรักษาพื้นที่ตัวเองเอาไว้ ซึ่งภาพขั้วการเมืองใหม่ในชลบุรีปรากฏให้เห็นชัดเจนตั้งแต่ศึกเลือกตั้ง ส.ส. มาถึง อบจ. และ ส.ท. ดังนี้
ประชาธิปัตย์ "ไม่ง่าย" ในภาคใต้
ส่วนบรรยากาศที่ภาคใต้แตกต่างออกไป แม้แคนดิเดตนายกฯ ที่มีความสัมพันธ์กับพรรคการเมืองและรับรู้โดยทั่วกันในหมู่คนในท้องถิ่น แต่กลับไม่มีคำประกาศสนับสนุนอย่างเป็นทางการจากพรรคการเมือง ซึ่ง ผศ. เอกรินทร์ ต่วนศิริ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เห็นว่า "ความพ่ายการเลือกตั้ง ส.ส.นครศรีธรรมราช ส่งผลกระทบ และไม่มีใครกล้าบอกว่าอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)" สำหรับพรรคสีฟ้าจึงไม่ง่ายในศึกเลือกตั้งท้องถิ่นหนนี้
แม้คาดการณ์ว่า "คนเก่า" อยู่ในฐานะได้เปรียบกว่าจากการครองตำแหน่งนานถึง 7 ปี แต่จากการสำรวจของ ผศ. เอกรินทร์พบว่า ทั้งทีมเก่าและทีมใหม่ต่างดึงคนรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาดี ภาพลักษณ์ดี มีประสบการณ์เข้าร่วมเป็นทีมงาน นอกจากนี้ในการตั้งชื่อกลุ่มยังมีคำว่า "ใหม่" และ "ก้าว" เป็นส่วนประกอบ แต่คำที่แทบไม่พบเห็นคือคำว่า ชาติ" และ "อนุรักษ์" ซึ่งสะท้อนให้เห็นกระแสเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย เช่นเดียวกับการนำเสนอภาพลักษณ์ของผู้สมัครซึ่งฉายภาพบุคลิกกระฉับกระเฉง เลือกสวมใส่เสื้อใส่ ชุดวิ่งออกกำลังกาย แทนการสวมชุดราชการ/ชุดทางการแบบในอดีต มายืนถ่ายภาพหน้าตรงขึ้นโปสเตอร์หาเสียง
ส.ท. "ไม้ประดับ" ในภาคอีสาน
ในภาคอีสาน หากพิจารณากลยุทธ์ในการหาเสียงของผู้สมัคร รศ.ดร.อลงกรณ์ อรรคแสง อาจารย์วิทยาลัยการเมืองการปกครอง ม.มหาสารคาม พบความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่าง "คนหน้าเก่า" กับ "คนรุ่นใหม่" ซึ่งเขาแบ่งออกเป็น 3 ประเภท
"การสื่อสารแนะนำตัวแบบคนเก่าจะบอกว่า 'พร้อมสานต่องานเก่า' แต่ไม่รู้ว่างานเก่าที่ผ่านมาทำอะไร.. แต่ถ้าเป็นคนใหม่ก็จะบอกว่า 'ถึงเวลาคิดใหม่ ทำใหม่ เปลี่ยนแปลงใหม่' แต่ก็ไม่ได้บอกเหมือนกันว่าจะเปลี่ยนอะไรใหม่.. แต่จะมีผู้สมัครรุ่นใหม่ที่พยายามนำเสนอนโยบายที่น่าสนใจ เช่น น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี ขยะไม่มี ปฏิรูประบบเก็บขยะเทศบาล ฯลฯ"
นักวิชาการด้านการปกครองท้องถิ่นรายนี้ยังชี้ให้เห็นปัญหาสำคัญในการเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งสังคมมักให้ความสนใจกับตัวนายกฯ ทำให้สมาชิกสภากลายเป็นเพียงไม้ประดับ แม้แต่ป้ายหาเสียง ก็ยังทำรูปนายกฯ ตัวเบ้อเร่อ ส่วน ส.ท. ตัวเล็ก ๆ ต้องจอดรถดู เพราะมองไม่เห็นว่าหน้าตาเป็นอย่างไร
"ผู้สมัคร ส.ท. บ้านเราไม่ให้ความสำคัญ เป็นแค่ไม้ประดับ เวลาเลือกตั้ง นายกฯ จะหาเสียงให้เลือกยกทีม เพื่อเป็นตรายางให้เทศบาลสบายใจ เพราะเวลาพิจารณางบ ถ้ามีแต่ฝ่ายค้านเยอะ นายกฯ ก็จะไม่สบายใจ.. ผมจึงขอเสนอให้เลือกคนละทีมไปเลย จะได้มีการตรวจสอบและถ่วงดุลในสภาเทศบาล" รศ.ดร. อลงกรณ์แนะนำผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
สำหรับแนวโน้มการตัดสินใจของประชาชนในการเลือกตั้งหนนี้ นักวิชาการระบุตรงกันว่าขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ หากเป็นพื้นที่เล็กอย่างเทศบาลตำบล ประชาชนมีแนวโน้มเลือกตัวบุคคลที่มีความใกล้ชิด สนิทสนม เกื้อกูลกัน แต่ถ้าเป็นเทศบาลเมือง ชนชั้นกลางใหม่อาจตัดสินใจเลือกจากนโยบาย แต่ทั้งหมดนี้ยังเป็นเรื่องยากที่จะคาดเดาผล เพราะเทศบาลทำงานใกล้ชิดกับประชาชนมาก หากคนเก่าทำผลงานไว้ไม่ดี ก็เสี่ยงสอบตก
หมายเหตุ : บีบีซีไทยสรุปและเรียบเรียบความเห็นของนักวิชาการด้านการปกครองท้องถิ่นทั้ง 4 ภาคจากเวทีเสวนาออนไลน์เรื่อง "6 จับกระแสเลือกตั้งเทศบาลทั่วไทย" จัดโดยวิทยาลัยพัฒนาการปกครองท้องถิ่น สถาบันพระปกเกล้า เมื่อ 16 มีนาคม 2564