Last updated: 14 มี.ค. 2564 | 2293 จำนวนผู้เข้าชม |
จ่าสิบตำรวจ ส. ขณะปฏิบัติหน้าที่ประจำช่องตรวจหนังสือเดินทางอาคารผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศ ท่าอากาศยานกรุงเทพ ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยได้อนุญาตให้บุคคลต่างด้าวสัญชาติจีนผ่านช่องตรวจเพื่อเดินทางออกนอกราชอาณาจักร โดยได้ตรวจประทับรอยตราขาออกในหนังสือเดินทางของบุคคลต่างด้าวเพียงบุคคลเดียว ส่วนอีก 2 คน ซึ่งถือหนังสือเดินทางไต้หวันปลอมและมีรอยตราประทับขาเข้ามาในราชอาณาจักรปลอม ได้ปล่อยให้ผ่านช่องตรวจไปโดยไม่ได้ตรวจประทับรอยตราแต่อย่างใดเพื่อแลกเปลี่ยนกับเงินสินบนรายละ 10,000 บาท รวมเป็นเงิน 20,000 บาท โดยจะโอนเข้าบัญชีเมื่อชาวต่างด้าวทั้งสองผ่านช่องตรวจเดินทางออกนอกราชอาณาจักรได้แล้ว
พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช. ฟันทุจริตคดีดังในอดีต ที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำข้อมูลมาเสนอต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 13 เพื่อเป็นประโยชน์ให้แก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายนำไปใช้เป็นแนวทาง ในการตรวจสอบคดีทุจริตต่างๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ว่า รูปแบบพฤติการณ์การทุจริต รวมไปถึงข้อกฎหมายสำคัญที่ใช้ในการตัดสินคดีของ ป.ป.ช. มีรายละเอียดเป็นอย่างไร ในสัปดาห์นี้ เป็นตัวอย่างคดีทุจริตในหมวดการทุจริตช่วยเหลือผู้กระทำความผิดจะมีคดีสำคัญอะไรบ้างไปติดตามกันได้เลย (การเผยแพร่ข้อมูลระบุชื่อผู้เกี่ยวข้อง เป็นตัวอักษรย่อ เพื่อปกป้องสิทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหา เพราะบางคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล)
@ ช่วยเหลือบุคคลต่างด้าวให้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร
ข้อเท็จจริง จ่าสิบตำรวจ ส. ขณะปฏิบัติหน้าที่ประจำช่องตรวจหนังสือเดินทางอาคารผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศ ท่าอากาศยานกรุงเทพ ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยได้อนุญาตให้บุคคลต่างด้าวสัญชาติจีนผ่านช่องตรวจเพื่อเดินทางออกนอกราชอาณาจักร โดยได้ตรวจประทับรอยตราขาออกในหนังสือเดินทางของบุคคลต่างด้าวเพียงบุคคลเดียว ส่วนอีก 2 คน ซึ่งถือหนังสือเดินทางไต้หวันปลอมและมีรอยตราประทับขาเข้ามาในราชอาณาจักรปลอม ได้ปล่อยให้ผ่านช่องตรวจไปโดยไม่ได้ตรวจประทับรอยตราแต่อย่างใดเพื่อแลกเปลี่ยนกับเงินสินบนรายละ 10,000 บาท รวมเป็นเงิน 20,000 บาท โดยจะโอนเข้าบัญชีเมื่อชาวต่างด้าวทั้งสองผ่านช่องตรวจเดินทางออกนอกราชอาณาจักรได้แล้ว
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของ จ่าสิบตำรวจ ส. เป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 82 วรรคสาม และมาตรา 98 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2521 มาตรา 45 และพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยตำรวจ พ.ศ. 2477 มาตรา 5 ประกอบพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 123 และเป็นความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157
@ ปลอมเอกสารเพื่อจะช่วยผู้กระทำผิดมิให้ต้องโทษหรือให้รับโทษน้อยลง
ข้อเท็จจริง นาย ส. ได้ขับขี่รถจักรยานยนต์ ได้เกิดอุบัติเหตุขับรถจักรยานยนต์เฉี่ยวชนนางสาว พ. ซึ่งปรากฏผลจากการตรวจชันสูตรบาดแผล พบว่าบริเวณมือซ้ายบวม มีรอยช้ำ หางตาขวาพบบาดแผลถลอก ผิวหนังเปิด ลักษณะการบาดเจ็บใช้เวลาในการรักษา 2 สัปดาห์ ในกรณีที่ไม่มีแผลแทรกซ้อน
พันตำรวจตรี ฐ. ในฐานะพนักงานสอบสวน (สบ. 2) ในท้องที่ ได้ปฏิบัติหน้าที่ร้อยเวรสอบสวน จึงได้ออกไปทำการตรวจสถานที่เกิดเหตุและเดินทางไปพบผู้เสียหายที่โรงพยาบาล โดยไม่ได้ทำการสอบปากคำพยานบุคคลแต่อย่างใด
ต่อมาพันตำรวจตรี ฐ. ได้เรียกนาย ส. มาพบที่สถานีตำรวจ โดยนาย ส. ยอมรับสารภาพตามข้อกล่าวหาและยินยอมชำระเงินค่าปรับตามความผิด แต่ปรากฏว่าผู้เสียหายไม่ได้มาที่สถานีตำรวจในวันดังกล่าวและไม่ได้ให้ความยินยอมกับการเปรียบเทียบปรับด้วย เนื่องจากยังตกลงค่าสินไหมทดแทนกันไม่ได้ แต่พันตำรวจตรี ฐ. ก็ได้ทำการเปรียบเทียบปรับนาย ส. เป็นเงิน 400 บาท พร้อมทั้งรับรถจักรยานยนต์ของกลางกลับคืนไปเรียบร้อยแล้วโดยที่การเปรียบเทียบปรับดังกล่าวเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 37 (2) มาตรา 38 คดีดังกล่าวจึงยังไม่เลิกกัน และยังไม่เป็นอันเสร็จเด็ดขาด
หลังจากนั้นพันตำรวจตรี ฐ. จึงได้ทำบันทึกการเปรียบเทียบและลงสมุดรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเพื่อแสดงให้เห็นว่าได้มีการเปรียบเทียบปรับนาย ส. ในความผิดฐานขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียวอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินเป็นเงิน 1,000 บาท อีกครั้งหนึ่ง ปรากฏว่าได้มีการลงลายมือชื่อในนามนาย ส. ในบันทึกการเปรียบเทียบ อีกทั้งผู้ถูกกล่าวหาก็เป็นผู้นำเงินค่าปรับดังกล่าวมามอบให้สิบตำรวจโท อ. ดำเนินการออกใบเสร็จรับเงินเพื่อแสดงให้เห็นว่าการเปรียบเทียบปรับได้ดำเนินการโดยชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 37 (1) แล้ว แต่จาการไต่สวนนาย ส. ได้ให้การยืนยันว่าไม่ได้เดินทางมาที่สถานีตำรวจในวันดังกล่าวแต่อย่างใด และไม่ทราบเรื่องที่มีการเปรียบเทียบปรับแต่อย่างใด ลายมือชื่อที่ปรากฏในบันทึกเปรียบเทียบ ใบเสร็จรับเงินและและสมุดรายงานประจำวันก็ไม่ใช่ลายมือชื่อของตน
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของพันตำรวจตรี ฐ. เป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 82 วรรคสาม มาตรา 85 วรรคสอง และมาตรา 98 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยตำรวจ พ.ศ. 2477 มาตรา 5 ข้อ 12 พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2521 มาตรา 45 และพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 123 127 และเป็นความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 161 162 (1) (2) (4) และมาตรา 200 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 90 และมาตรา 91 ให้ส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาโทษทางวินัย และไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีกับผู้ถูกกล่าวหา
@ ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ช่วยเหลือผู้ต้องหาเพื่อไม่ให้ถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
ข้อเท็จจริง พันตำรวจโท บ. ผู้ถูกกล่าวหา เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบสำนวน มีหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐาน จัดทำสำนวนการสอบสวนและนำตัวผู้กระทำผิดส่งพนักงานอัยการเพื่อฟ้องลงโทษ โดยหลังจากทำการสอบสวนเสร็จสิ้นได้มีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งสาม ซึ่งต่อมาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวโดยมีหลักประกันในชั้นศาล ภายหลังผู้ถูกกล่าวหาได้ขอสำนวนการสอบสวนจากเจ้าหน้าที่ซึ่งมีหน้าที่นำสำนวนการสอบสวนส่งพนักงานอัยการมาเก็บไว้โดยแจ้งว่าจะเป็นผู้นำส่งสำนวนถึงพนักงานอัยการด้วยตนเอง แต่กลับเก็บสำนวนไว้และทำหนังสือส่งพร้อมลงวันที่แล้วได้ประทับตรา “ได้รับเรื่องไว้แล้ว” ซึ่งผู้บังคับบัญชาลงลายมือชื่อไว้ก่อนแล้วและได้กระทำการปลอมลายมือชื่อของเจ้าหน้าที่สำนักงานอัยการประจำศาล ที่มีหน้าที่รับสำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวน แล้วนำสำเนาคู่ฉบับหนังสือนำส่งที่ประทับตราและลงลายมือชื่อปลอมดังกล่าวไปให้เจ้าหน้าที่ซึ่งมีหน้าที่ลงรายละเอียดในสมุดสารบบคดีเพื่อจำหน่ายคดีออกจากสารบบคดีค้าง เสมือนหนึ่งว่าคดีดังกล่าวได้ส่งให้พนักงานอัยการพิจารณาตามระเบียบปฏิบัติแล้ว ทั้งที่จริงผู้ถูกกล่าวหาได้เก็บสำนวนการสอบสวนไว้จนครบกำหนดฝากขังผู้ต้องหาจนศาลได้หมดอำนาจการควบคุม ไม่สามารถนำตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดีได้
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของพันตำรวจโท บ. เป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 82 วรรคสาม มาตรา 85 วรรคสอง และมาตรา 98 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2521 มาตรา 45และมาตรา 61 พระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยตำรวจ พ.ศ. 2477 มาตรา 5 (12) และพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 123 และเป็นความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 มาตรา 161 และมาตรา 200
ขอขอบคุณข้อมูลจากสำนักงาน ป.ป.ช. และสำนักข่าวอิศรา