Last updated: 19 ต.ค. 2562 | 13784 จำนวนผู้เข้าชม |
ป.ป.ช. ประกาศผลค่า ITA ประจำปี 2562 หวังกระตุ้นให้ภาครัฐส่วนขับเคลื่อนองค์กรสู่ความโปร่งใส
สำนักงาน ป.ป.ช. โดยสำนักประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส ประกาศผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ณ ห้องนนทบุรี 1 อาคาร 4 สำนักงาน ป.ป.ช. ถนนนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงาน จะได้รับทราบระดับคุณธรรมและความโปร่งใสขององค์กร ในรอบปีงบประมาณที่ผ่านมาซึ่งก็เปรียบเสมือนการรับผลตรวจสุขภาพขององค์กรประจำปี พร้อมกับข้อเสนอแนะเชิงนโยบายจากสถาบันวิจัยและสถาบันอุดมศึกษาที่ร่วมดำเนินการตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลผลการดำเนินงานของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งบันทึก ไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้วในระบบ ITAS โดยมี พลตำรวจเอกวัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานในพิธีเปิด และนายลี อุค-ฮอน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลี กล่าวแสดงความยินดีต่อการดำเนินงานการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) และการพัฒนาความร่วมมือในอนาคต และนายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้แถลงผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562
การประเมิน ITA เป็นเครื่องมือการประเมินหน่วยงานภาครัฐในเชิงบวก วัตถุประสงค์เพื่อสะท้อนให้หน่วยงานภาครัฐแต่ละแห่งได้รับทราบผลการดำเนินงานในมิติด้านคุณธรรมและความโปร่งใส จากแหล่งข้อมูลต่างๆ อย่างรอบด้าน รวมถึงเพื่อให้เกิดความตระหนักในการปรับปรุง พัฒนาการดำเนินงานให้บนฐานของความสุจริต เปิดเผย และเกิดประโยชน์ต่อประชาชนสูงสุด ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ดำเนินการออกแบบและพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศรองรับการประเมิน ITA ที่มีชื่อว่า “ITAS” โดยเป็นศูนย์กลางในการเก็บรวบรวมข้อมูลการประเมินที่มีความทันสมัย และกำกับติดตามการประเมินได้ทุกขั้นตอนแบบ real time ช่วยให้หน่วยงานภาครัฐ ที่เข้าร่วมการประเมิน สามารถบริหารจัดการข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้การประเมิน ITA สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วและเป็นมาตรฐานเดียวกัน และสำหรับในปี 2562 นี้ การประเมิน ITA ถือเป็นก้าวที่สำคัญของการประเมิน ITA เนื่องจากถือเป็นปีแรกที่ได้มีการทบทวนกรอบการประเมินและรายละเอียดต่างๆ ทำให้นำมาสู่พัฒนาการสำคัญของการประเมิน ITA ในหลายด้าน และนำมาใช้ในการประเมินหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศ โดยการประกาศผลการประเมิน ITA ในครั้งนี้จะประกาศพร้อมกันกับการแจ้งรายละเอียดผลการประเมินทางออนไลน์ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานสามารถเข้าดูผลการประเมินรายหน่วยงานของตนเองได้ทันทีในระบบการประเมิน ITAS
การประเมิน ITA มีหลักการสำคัญคือเป็นการประเมินที่มุ่งประเมินจากมุมมองหรือสายตาของประชาชน โดยจำแนกออกเป็น 3 มุมมอง ได้แก่ (1) มุมมองการรับรู้ของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐ ซึ่งพบว่ามีข้อมูลรวมทั้งสิ้น 407,109 คน (2) มุมมองการรับรู้ของผู้รับบริการหรือมาติดต่อหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งมีข้อมูลรวมทั้งสิ้น 599,166 คน ซึ่ง 2 มุมมองแรกนั้นรวมแล้วถึง 1,006,275 คน และ (3) มุมมองของประชาชนทั่วไปคือ การเข้าถึงข้อมูลสาธารณะของหน่วยงานภาครัฐผ่านทางเว็บไซต์ของหน่วยงาน ซึ่งสำรวจจาก 8,299 เว็บไซต์
โดยผลการดำเนินงานในขั้นแรกพบว่าหน่วยงานภาครัฐที่เป็นกลุ่มเป้าหมายการประเมินในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 นี้ จำนวน 8,299 หน่วยงาน สามารถดำเนินการลงทะเบียนและเปิดใช้งานระบบ ITAS ทุกหน่วยงานคิดเป็น 100% ขั้นตอนการนำเข้าข้อมูลบุคลากรภาครัฐและข้อมูลผู้รับบริการหรือผู้ที่มาติดต่อหน่วยงานภาครัฐ พบว่าสามารถดำเนินการได้ คิดเป็น 99.98% ขั้นตอนของการสำรวจการรับรู้ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พบว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐให้ความร่วมมือในการประเมิน ITA อย่างดียิ่ง โดยมีจำนวนหน่วยงานที่ดำเนินครบตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนการประเมินที่กำหนดกว่า 99.69% ขั้นตอนการสำรวจข้อมูลการรับรู้ของผู้รับบริการหรือติดต่อกับหน่วยงานภาครัฐ สามารถสำรวจข้อมูลได้ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดทุกหน่วยงาน 100% และขั้นตอนการตอบแบบตรวจการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ หรือ OIT ซึ่งเป็นการตรวจสอบระดับของการเปิดเผยข้อมูลบนเว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐตามหลักเกณฑ์การประเมินที่กำหนด พบว่า มีหน่วยงานภาครัฐดำเนินการตอบแบบ OIT คิดเป็น 97.35% โดยสรุปแล้วมีหน่วยงานภาครัฐที่ดำเนินการครบตามขั้นตอนที่กำหนดจำนวน ๘,๐๕๘ หน่วยงาน คิดเป็น 97.10% และดำเนินการไม่ครบตามขั้นตอนจำนวนเพียง 241 หน่วยงาน คิดเป็น 2.9%
สรุปผลการประเมิน ITA ในภาพรวมของประเทศ เริ่มจากผลการประเมินโดยเฉลี่ยในภาพรวม พบว่า มีผลการประเมิน 66.73 คะแนน หรืออยู่ในระดับ C ซึ่งแสดงให้เป็นว่าโดยรวมหน่วยงานภาครัฐของไทยมีผลการประเมินในระดับปานกลาง และเมื่อพิจารณาจากผลการประเมิน ITA ปี 2562 แล้วพบว่า มีหน่วยงานภาครัฐที่มีผลการประเมินผ่านเกณฑ์ หรือมีระดับ A และ AA มีจำนวน =970 หน่วยงาน หรือคิดเป็นร้อยละ 11.69 เท่านั้น
นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.
สรุปผลการประเมิน ITA ในแต่ละกลุ่มของหน่วยงานภาครัฐ โดยมิติแรกในกลุ่มประเภทของหน่วยงานภาครัฐ ถือเป็นการประเมินที่ครอบคลุมหน่วยงานภาครัฐทุกกลุ่มประเภทมากที่สุด สรุปผล ได้ดังนี้
ในมิติกลุ่มกระทรวงสังกัดของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้เห็นภาพรวมของสถานการณ์ในแต่ละกระทรวง ซึ่งประกอบไปด้วยส่วนราชการระดับกรมหรือเทียบเท่า องค์การมหาชน รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐอื่นๆ และกองทุน ภายใต้การกำกับของแต่ละกระทรวง สรุปผลได้ดังนี้
สรุปผลการประเมินในมิติพื้นที่ของประเทศไทย เพื่อให้เห็นภาพรวมของสถานการณ์ของหน่วยงานภาครัฐภายใต้การบริหารราชการในระดับพื้นที่ ซึ่งได้แก่ ส่วนราชการส่วนภูมิภาค และส่วนราชการส่วนท้องถิ่น โดยหากดูเป็นกลุ่มจังหวัด หรือเป็นภูมิภาค ซึ่งจำแนกออกเป็น 9 ภูมิภาคทั่วประเทศนั้น สรุปผลการประเมินตามภูมิภาคของประเทศ มีผลดังนี้
สำหรับสรุปผลการประเมินในภาพรวมที่สำคัญอีกมิติหนึ่งคือ สรุปผลการประเมินในรายเนื้อหาของการประเมิน ซึ่งจำแนกออกเป็น 10 ตัวชี้วัด โดยจะแสดงให้เห็นภาพว่าหน่วยงานภาครัฐในภาพรวมของประเทศไทยนั้น มีลักษณะด้านคุณธรรมและความโปร่งใสในแต่ละด้านเป็นอย่างไร โดยจะพิจารณาจากค่าคะแนนเฉลี่ยของแต่ละตัวชี้วัด ดังนี้
เป้าหมายที่สำคัญของการขับเคลื่อนด้านคุณธรรมและความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐนั้น ตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตประพฤติมิชอบ กำหนดเป้าหมายในระยะแรกไว้ว่าภายในปี พ.ศ. 2565 หน่วยงานภาครัฐจะต้องมีผลการประเมิน ITA ผ่านเกณฑ์ (85 คะแนนขึ้นไป) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 โดยต่อมาได้มีการกำหนดค่าเป้าหมายรายปี คือ ในปี 2562 ค่าเป้าหมายคือร้อยละ 35 ปี 2563 ค่าเป้าหมายคือร้อยละ 50 ปี 2564 ค่าเป้าหมายคือร้อยละ 65 และปี 2565 ค่าเป้าหมายคือร้อยละ 80
สำนักงาน ป.ป.ช. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าหน่วยงานภาครัฐเมื่อได้รับทราบผลการประเมิน ITA แล้วจะร่วมกันขับเคลื่อนภารกิจการป้องกันการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาลในหน่วยงานภาครัฐ โดยนำผลการประเมิน ITA ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ไปใช้ในการวางแผน ตรวจสอบ ปฏิบัติ และกำกับการดำเนินงานขององค์กรในปีงบประมาณนี้ และปีงบประมาณถัดไป เพื่อที่จะให้หน่วยงานภาครัฐมีสุขภาวะในด้านคุณธรรมและความโปร่งใสที่ดียิ่งขึ้น และเพื่อสะท้อนให้นานาชาติ ได้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของหน่วยงานภาครัฐในประเทศไทย ที่ต้องการสร้างความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนไทยต่อไป