Last updated: 13 ต.ค. 2562 | 2024 จำนวนผู้เข้าชม |
ชาวโตเกียวรับมือพายุ เตรียมอุปกรณ์ ทั้งถ่านไฟฉาย วิทยุทรานซิสเตอร์ อาหารแห้ง น้ำดื่ม ฯลฯ ขณะที่รัฐบาลเตือนให้อยู่ในบ้านตลอดเวลาที่พายุเข้า
เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2562 ปลา จิตรลดา ซากาโมโตะ คนไทยที่อาศัยอยู่ในโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เล่าถึงการเตรียมความพร้อมรับมือพายุไต้ฝุ่นฮากีบิสว่า คนญี่ปุ่นแต่ละครอบครัวค่อนข้างมีความพร้อมและรู้ได้ด้วยตัวเอง ว่าต้องเตรียมอะไรบ้าง เพราะที่ญี่ปุ่นจะมีภัยธรรมชาติบ่อย และสถานีโทรทัศน์ต่างๆ ก็จะมีการประกาศข่าวสถานการณ์ล่าสุดให้ทุกคนรับรู้อยู่ตลอดเวลา
“การตระเตรียมสิ่งของจำเป็นที่แต่ละบ้านต้องมี คือ วิทยุทรานซิสเตอร์ เผื่อไฟดับ แบตเตอรี่โทรศัพท์หมด ทุกคนก็จะยังติดตามข่าวที่รัฐบาลประกาศได้”
ซึ่ง “วิทยุทรานซิสเตอร์” เป็นสิ่งที่ทุกบ้านมีอยู่แล้ว (เพราะต้องใช้ค่อนข้างบ่อยเวลาเกิดแผ่นดินไหว หรือภัยพิบัติอื่นๆ) แต่ต้องซื้อถ่าน(แบตเตอรี่) ซึ่งในแต่ละบ้านก็มักจะมีติดบ้านเตรียมไว้อยู่แล้ว เพียงแต่ซื้อเพิ่มในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น
เตาแก๊สพกพาและแก๊สกระป๋อง ก็เป็นอุปกรณ์ที่ทุกบ้านมีอยู่แล้ว แต่อาจจะเตรียมแก๊สมากขึ้น เช่น ที่บ้านของคุณจิตรลดา ก็เตรียมไว้ 12 กระป๋อง เอาไว้อุ่นอาหารที่แช่แข็งเตรียมเอาไว้ และเผื่อในกรณีที่ต้องประสบภัยต่อเนื่องยาวนาน (แก๊สกระป๋องใช้วันละ 10-20 นาที สามารถใช้ได้กระป๋องละ 2-3 วัน)
ชาร์จแบตเตอรี่สำรองและไฟสำรองภายในบ้าน
บ้านของคนญี่ปุ่นในโตเกียว มักจะมีไฟฟ้าสำรองทุกหลัง เช่น ที่บ้านของเธอมีไฟฟ้าสำรองในบ้าน 3 ตัว หากเปิดใช้ทีละตัว ก็ใช้ได้ 3-5 วัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการเตรียมไว้ใช้ในช่วงกลางคืน เพราะถ้าอากาศร้อน คนญี่ปุ่นอาจจะไม่คุ้นเคยและกลายเป็นสาเหตุในการเสียชีวิตได้ ไฟสำรองช่วยให้ สามารถเปิดพัดลมได้ รวมทั้งเตรียมไฟฉายและถ่านไฟฉาย ให้เพียงพอกับจำนวนสมาชิกในบ้าน เช่นที่บ้านของเธอจะเตรียมไว้ 3 กระบอก
ส่วนอาหาร เบื้องต้นครอบครัวของเธอมาสมาชิก 3 คน (คุณย่า แม่ และลูก) ก็เตรียมอาหารไว้สำหรับ 3 วัน ได้แก่
ส่วนการเตรียมการเรื่องน้ำดื่ม น้ำใช้ ก็จะเตรียมเอาไว้พอกินพอใช้ ได้แก่ น้ำดื่ม 12 ขวด เครื่องดื่มที่ให้พลังงาน เช่น น้ำอัดลมให้ความหวาน น้ำที่มีวิตามิน เป็นต้น โดยเฉพาะกรณีของผู้สูงอายุ ที่อาจจะอ่อนเพลียง่าย
รองน้ำใส่อ่างอาบน้ำ เพื่อใช้อาบ ใช้เช็ดตัว ล้างหน้าแปรงฟัน โดยปกติบ้านในโตเกียวมักจะมีอ่างอาบน้ำทุกหลัง
การแบ่งปันและมารยาทการซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ต
คุณจิตรลดาเล่าว่า โดยปกติแม่บ้านญี่ปุ่นจะซื้อของใช้ ของกินเป็นประจำ ทุกวันอยู่แล้ว
ดังนั้นแม้จะมีภัยพิบัติก็จะเตรียมซื้อสิ่งของอุปโภคบริโภคในซูเปอร์มาเก็ตเพิ่มขึ้นไม่เยอะมาก แต่ละบ้านมักจะซื้อแค่พอดีคน พอดีวัน และพอดีมื้อ ไม่กักตุนสินค้า
เวลาไปหยิบสินค้าต่างๆ ก็มองจะคอยมองดูว่า แต่ละบ้านหยิบสินค้าไปแค่ไหน จะได้หยิบให้อยู่ในปริมาณที่ใกล้เคียงกัน สินค้าจึงมักจะมีเพียงพอสำหรับทุกคน
สิ่งของที่อาจจะหมดไปบ้างคือ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และถ่านไฟฉาย แต่ซูเปอร์มาร์เก็ตก็จะแจ้งว่า จะมีสินค้ารอบต่อไปส่งมาเมื่อไหร่ และซูเปอร์มาร์เก็ตก็มักจะมีขนาดเล็ก แต่กระจายตัวอยู่อย่างทั่วถึง จึงมักจะไม่มีปัญหาการแย่งกันซื้อหรือกักตุน
ส่วนใหญ่แต่ละบ้านก็จะเตรียมอาหารและสิ่งของเครื่องไว้เพียงพอสำหรับ 3-5 วันเท่านั้น เพราะหากภัยพิบัติกินเวลายาวนานกว่านั้น ภาครัฐก็จะมีศูนย์อพยพ ที่เป็นจุดบริการในแต่ละพื้นที่คอยดูแลเรื่องอาหารการกิน มีข้าวแจกให้ทุกวัน และดูความเป็นอยู่ของประชาชนในช่วงภัยพิบัติอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทุกบ้านสามารถไปใช้บริการที่ศูนย์ได้ หากอาหารที่เตรียมไว้ในแต่ละครอบครัวหมดลง
ซึ่งกรณีของคุณจิตรลดา ศูนย์อพยพที่ภาครัฐเตรียมไว้ก็คือโรงยิมของโรงเรียนที่ลูกสาวเธอเรียนอยู่นั่นเอง
ภาครัฐที่นี่ค่อนข้างทำงานเร็ว เขาเตรียมพวกเครื่องยังชีพทุกอย่างรองรับไว้หมดแล้ว แต่ตอนนี้เขาจะย้ำว่า
“ในช่วงพายุเข้าไม่อยากให้ทุกคนอออกจากบ้าน เพราะเกรงว่าจะประสบอุบัติเหตุจากสิ่งของที่ปลิวหรือลอยมาในช่วงที่มีไต้ฝุ่น ต้นไม้หรือเสาไฟฟ้าอาจล้มแล้วจะบาดเจ็บ เรื่องนี้จะน่ากังวลมากกว่าเรื่องการเตรียมของยังชีพ”
ช่วงนี้จะมีก็ประกาศแจ้งเตือนค่อนข้างถี่ จริงๆ ก็ประกาศมาราว 2 สัปดาห์แล้วผ่านทางทีวีเป็นหลัก ช่วงนี้จะย้ำว่าไต้ฝุ่นจะหนักสุดกี่โมงถึงกี่โมง ให้ระมัดระวังตั้งแต่คืนนี้ (วันศุกร์) แต่จะหนักสุดคือวันเสาร์ เย็น ๆ ถึงเช้าวันอาทิตย์ ก็จะย้ำว่าไม่ให้ออกจากบ้าน ลมจะเริ่มแรงมากๆ ตั้งแต่เช้าวันเสาร์ และย้ำว่าหลังฝนตกหนักแล้ว ในวันอาทิตย์จะมีลมกระโชกแรง ให้ระวังสิ่งของปลิว ต้นไม้ล้มทับ เรื่องนี้จะย้ำบ่อยมากๆ
เธอคาดการณ์ว่า ในช่วงสัปดาห์แรกที่ไต้ฝุ่นเข้า เชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่จะยังคงอยู่ในบ้าน แต่หากไฟดับ โรงไฟฟ้าใช้งานไม่ได้ (เหมือนกรณีที่เคยเกิดขึ้นที่เมืองชิบะ) หรือภัยพิบัติยืดเยื้อไปนาน ก็จะมีการแจกอุปกรณ์ผลิตกระแสไฟฟ้าให้แต่ละบ้าน เพื่อเอาไปชาร์จกับแบตเตอรี่รถ เพื่อให้แต่ละบ้านสามารถเปิดทีวี พัดลม ชาร์จแบตโทรศัพท์ได้
ซักผ้า-ตากที่นอน ทำความสะอาดบ้านเพื่อสุขอนามัย
นอกจากนี้ในช่วงที่พายุไต้ฝุ่นยังไม่เข้า ทุกบ้านเก็บผ้าทุกอย่างในบ้านมาซัก ทำความสะอาดให้ได้มากที่สุด ไม่ให้มีผ้าที่ใช้แล้วเก็บสะสมในบ้าน ทำความสะอาดบ้าน รวมทั้งเอาที่นอนหมอนมุ้งมาตากแดด เพราะถ้าไม่มีไฟฟ้า ก็ยังสามารถอยู่ได้อย่างสะอาดถูกสุขอนามัย ซึ่งจะลดโอกาสที่จะเจ็บป่วยในระหว่างที่ประสบภัยได้
อีกหนึ่งสิ่งที่จำเป็นมาก คือ ห้องน้ำเคลื่อนที่ จะมีลักษณะเป็นกล่อง ๆ เหมือนถุงสำหรับขับถ่าย ใช้สวมซ้อนกับชักโครกปกติ เมื่อขับถ่ายเสร็จแล้ว จะมีถุงจุลินทรีย์ย่อยสลายให้ใส่ลงไป ซึ่งทุกบ้านจะมีติดบ้านเอาไว้อยู่แล้ว อาจจะมีการซื้อเพิ่มเติมเพื่อสำรองไว้
ส่วนยาสามัญประจำบ้าน นอกจากยาพื้นฐานทั่วไปก็มักจะมี ยาช่วยย่อย เพราะในระหว่างที่ประสบภัยพิบัติ อาจจะต้องกินอาหารสำเร็จรูป กินอาหารผิดเวลา ไม่ครบมื้อ อาจทำให้อาหารไม่ย่อยได้
เท่าที่เธอพูดคุยกับเพื่อนๆ ชาวญี่ปุ่น พบว่าส่วนใหญ่ไม่หวาดกลัว และมีการเตรียมพร้อมตามปกติ แม้แต่ในเด็กๆ ก็มีการเตรียมพร้อม เพราะโรงเรียนในโตเกียวจะมีอบรมการหนีภัย การเอาตัวรอดขณะเกิดเหตุ เป็นประจำเดือนละครั้ง โดยไม่บอกเด็กล่วงหน้า โดยสมมติเหตุการณ์ เช่น แผ่นดินไหว เกิดพายุ มีสึนามี ไฟไหม้หรือมีภัยพิบัติหลายอย่างเกิดขึ้นพร้อมกัน เด็กจะถูกฝึกตั้งแต่อนุบาล จึงมีความพร้อมค่อนข้างมาก
ที่มา : องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย https://news.thaipbs.or.th/content/285106