การขัดกันแห่งผลประโยชน์ถือเป็นการทุจริตคอร์รัปชันหรือไม่(จบ) ตอนที่ 2

Last updated: 30 ก.ย. 2562  |  2506 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การขัดกันแห่งผลประโยชน์ถือเป็นการทุจริตคอร์รัปชันหรือไม่(จบ) ตอนที่ 2

"...โดยในรัฐบาลชุดที่ผ่านมาร่างพระราชบัญญัติฯ ได้ผ่านการพิจารณา ของกรรมาธิการวิสามัญและเสนอให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติเรียบร้อยแล้ว แต่เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาล ชุดใหม่ขึ้นสถานะของร่างกฎหมายจึงเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 147 ที่กำหนดให้คณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่หลังการเลือกตั้งสภาผู้แทนต้องเสนอร่างกฎหมายที่ยังพิจารณาไม่เสร็จให้รัฐสภาพิจารณาต่อภายในหกสิบวันนับแต่วันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรก หากคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ไม่เสนอให้พิจารณาต่อภายในหกสิบวัน จะถือว่าร่างกฎหมายตกไปโดยทางเทคนิค!..."

บทความในฉบับก่อนหน้านี้ เราได้ศึกษาประเภทและลักษณะของความผิดทางอาญาแล้ว จะเห็นได้ว่า การขัดกันแห่งผลประโยชน์ก็ยังไม่ถือว่าเป็นการทุจริตคอร์รัปชัน หากแต่เป็นสิ่งที่มีความใกล้ชิดกัน และผลของ การขัดกันแห่งผลประโยชน์อาจนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันในท้ายที่สุด

อย่างไรก็ตาม ในทางวิชาการและในทางนิติบัญญัติยังมีผู้ที่มีแนวคิดแตกต่างกัน โดยกลุ่มแรกเห็นว่า การขัดกันแห่งผลประโยชน์เป็นความผิดประเภทที่กฎหมายกำหนดให้เป็นความผิด (1) (Mala Prohibita) เช่นเดียวกับความเห็นของผู้เขียน แต่อีกกลุ่มเห็นว่าการขัดกันแห่งผลประโยชน์เกิดขึ้นเพราะความชั่วร้ายของผู้กระทำ และเป็นความผิดในตัวของมันเอง (2) (Mala In Se) (ด้วยความเคารพ ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว) อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์กำชัย จงจักรพันธ์ ได้เสนอแนวคิดที่สามไว้อย่างน่าสนใจว่าการขัดกัน แห่งผลประโยชน์อาจเป็นได้ทั้ง Mala Prohibita และ Mala In Se (3) เนื่องจากสถานการณ์การขัดกัน แห่งผลประโยชน์อาจเกิดได้บนเงื่อนไขหรือปัจจัยที่กว้างขวางและหลากหลาย บ่อยครั้งที่สถานการณ์การขัดกันแห่งผลประโยชน์อาจเกิดขึ้นพร้อมๆ กับเจตนาทุจริตของผู้กระทำก็ได้ หรือเกิดขึ้นโดยที่ผู้กระทำไม่มีเจตนาทุจริต ก็ได้ ดังนั้น การตีความประกอบการใช้บังคับกฎหมายจึงต้องพิจารณาให้เห็นถึงเจตนาทุจริตของผู้กระทำผิด จึงจะบอกได้ว่าการขัดกันแห่งผลประโยชน์ในแต่ละสถานการณ์นั้นเป็นความผิดประเภทใด

สิ่งที่สนับสนุนแนวคิดว่าการขัดกันแห่งผลประโยชน์เป็นความผิดคนละอย่างกับความผิดฐานทุจริตคอร์รัปชันคือการบัญญัติกฎหมายให้การขัดกันแห่งผลประโยชน์แยกออกจากการทุจริตอย่างชัดเจน เช่น 1. รัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 บัญญัติหมวด 9 การขัดกันแห่งผลประโยชน์ ไว้โดยเฉพาะ 2. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 บัญญัติ หมวด 6 การขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม ไว้โดยเฉพาะ 3. คณะรัฐมนตรี (4) มีแนวคิดที่จะกำหนดกฎหมายว่าด้วยการขัดกันแห่งผลประโยชน์ในระดับพระราชบัญญัติไว้โดยเฉพาะ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ. .... เป็นต้น นอกจากนี้ การกำหนดความผิดอันเนื่องจากการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวมยังกำหนดโทษเบากว่าโทษของความผิดฐานทุจริต ดังจะเห็นได้จากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 กำหนดอัตราโทษตามมาตรา 168 มาตรา 169 และมาตรา 170

ซึ่งเป็นอัตราโทษเนื่องจากการฝ่าฝืนมาตรา 126 มาตรา 127 และมาตรา 128 ซึ่งเป็นเรื่องของการขัดกันแห่งผลประโยชน์ กำหนดอัตราโทษไว้เบากว่าโทษตามมาตรา 171 และมาตรา 172 ซึ่งเป็นเรื่องของการทุจริต (5)

กล่าวโดยสรุปว่า การขัดกันแห่งผลประโยชน์จึงเป็นความผิดประเภทที่กฎหมายกำหนดให้เป็นความผิด (Mala Prohibita) ซึ่งแตกต่างจากความผิดฐานทุจริตซึ่งเป็นความผิดในตัวเอง (Mala In Se) เมื่อเป็นความผิด คนละประเภทกัน การขัดกันแห่งผลประโยชน์จึงไม่ใช่การทุจริต หากแต่ผลของการขัดกันแห่งผลประโยชน์มักจะนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันตามมาเสมอ ดังนั้น หากต้องการแก้ไขปัญหาการทุจริตให้ได้ผลสำเร็จ ควรต้องจัดการกับปัญหาการขัดกันแห่งผลประโยชน์ให้ได้เสียก่อน โดยหนึ่งในมาตรการการแก้ปัญหาการขัดกันแห่งผลประโยชน์คือมาตรการทางกฎหมาย ซึ่งประเทศไทยมีความพยายามที่จะผลักดันให้มีกฎหมายว่าด้วย การขัดกันแห่งผลประโยชน์มากขึ้นโดยตลอด สอดคล้องกับต่างประเทศที่มีการพัฒนากฎหมายว่าด้วยการขัดกันแห่งผลประโยชน์อยู่อย่างต่อเนื่อง โดยในรัฐบาลชุดที่ผ่านมาร่างพระราชบัญญัติฯ ได้ผ่านการพิจารณา ของกรรมาธิการวิสามัญและเสนอให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติเรียบร้อยแล้ว แต่เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาล ชุดใหม่ขึ้นสถานะของร่างกฎหมายจึงเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 147 ที่กำหนดให้คณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่หลังการเลือกตั้งสภาผู้แทนต้องเสนอร่างกฎหมายที่ยังพิจารณาไม่เสร็จให้รัฐสภาพิจารณาต่อภายในหกสิบวันนับแต่วันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรก หากคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ไม่เสนอให้พิจารณาต่อภายในหกสิบวัน จะถือว่าร่างกฎหมายตกไปโดยทางเทคนิค!!! ผู้เขียนได้เพียงแต่หวังว่าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะมองเห็นความสำคัญของมาตรการทางกฎหมายว่าด้วยการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ซึ่งจะเป็นมาตรการสำคัญในการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันได้ตั้งแต่ต้นน้ำของการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งก็คือการขัดกัน แห่งผลประโยชน์นั่นเอง

ขอขอบคุณต้นฉบับจากสำนักการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ป.ป.ช. | สำนักข่าวอิศรา

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้