Last updated: 13 ก.ย. 2562 | 2058 จำนวนผู้เข้าชม |
จากกรณีนักร้องดังเกิดการแพ้รุนแรงหลังกินอาหารทะเล อย. พร้อม สสจ.ชลบุรี นำหน่วยเคลื่อนที่ด้านความปลอดภัยอาหาร ลงพื้นที่ตรวจสอบเร่งด่วน หากพบปริมาณฟอร์มาลินเกินกำหนดจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายทันที
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ตามที่มีข่าวนักร้องดังเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงภายหลังกินอาหารทะเลที่ขายอยู่บริเวณริมชายหาด ซึ่งมีข้อสงสัยว่าอาจแพ้สารเคมีในอาหาร เช่น สารฟอร์มาลิน หรือสารที่ใช้ในการถนอมอาหารนั้น จากกรณีที่เกิดขึ้นนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ดำเนินการตรวจสอบอย่างเร่งด่วน ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี และหน่วยเคลื่อนที่ด้านความปลอดภัยอาหาร เขตบริการสุขภาพที่ 6 โดยลงพื้นที่เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์อาหารทะเลที่วางจำหน่ายในพื้นที่ตามที่เป็นข่าวตรวจสอบด้วยชุดทดสอบเบื้องต้น และส่งตรวจวิเคราะห์หาปริมาณสารฟอร์มาลินในห้องปฏิบัติการ ซึ่งตามกฎหมายฟอร์มาลินจัดเป็นวัตถุที่ห้ามใช้ในอาหาร อย่างไรก็ตาม ฟอร์มาลินสามารถเกิดในสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติอยู่แล้วในปริมาณหนึ่ง ซึ่งเทคนิคการตรวจวิเคราะห์ในปัจจุบันยังไม่สามารถระบุความแตกต่างระหว่างฟอร์มาลินที่เกิดตามธรรมชาติ และที่ตั้งใจเติมลงไปในอาหารเพื่อหวังผลในด้านการเก็บรักษาได้ ดังนั้น หากพบการเติมฟอร์มาลินลงไปในอาหาร และผลการตรวจวิเคราะห์พบฟอร์มาลินในปริมาณที่สูงจนอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค จะเข้าข่ายเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้งต้องถูกสั่งงดผลิตหรืองดจำหน่าย และประกาศผลการตรวจพิสูจน์ให้ประชาชนทราบด้วย
ทั้งนี้ อย. โดยหน่วยเคลื่อนที่ด้านความปลอดภัยอาหารได้มีการตรวจสอบเฝ้าระวังการปนเปื้อนสารฟอร์มาลินในอาหารตามแหล่งจำหน่ายอาหารสดทั่วประเทศ ทั้งตลาดสด ตลาดนัด งานเทศกาลต่าง ๆ เป็นประจำทุกปี โดยสุ่มเก็บตัวอย่างอาหารที่เสี่ยงปนเปื้อน เช่น ปลาหมึกกรอบ สไบนาง แมงกะพรุน ปลาหมึก และเล็บมือนาง เพื่อทำการตรวจสอบโดยชุดทดสอบเบื้องต้น ผลการเฝ้าระวัง พบว่าส่วนใหญ่ผ่านมาตรฐาน แต่ยังพบปัญหาการปนเปื้อนฟอร์มาลินในอาหารบางชนิด ซึ่ง อย. ได้ทำหนังสือสรุปผลการตรวจวิเคราะห์แจ้งทุกพื้นที่ เพื่อแจ้งผู้ประกอบการและเจ้าของตลาดทราบและดำเนินการแก้ไข รวมทั้งวางแผนการตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหารที่มีความเสี่ยงตกมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังได้ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการตระหนักถึงอันตรายของสารปนเปื้อนในอาหาร และให้ความรู้ในการเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัยมาจำหน่าย ขณะเดียวกันก็ได้ประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภครู้จักสังเกตและสามารถเลือกซื้อเลือกบริโภคอาหารที่มีความปลอดภัยด้วย
เลขาธิการฯ กล่าวในตอนท้ายว่า ฟอร์มาลิน เป็นสารมีพิษ ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตเคมีภัณฑ์ พลาสติก สิ่งทอ และใช้เป็นยาฆ่าเชื้อโรคและเชื้อรา กรณีนี้ผู้ประกอบการนำมาใช้ในทางที่ผิด เพื่อให้อาหารสด คงความสดอยู่ได้นาน ไม่เน่าเสียง่าย แต่การกินอาหารที่ปนเปื้อนฟอร์มาลินในปริมาณมากจะทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ อย่างรุนแรง ปวดท้อง ปากและคอจะแห้ง หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก อาจมีการถ่ายท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ปัสสาวะไม่ออกหรือปัสสาวะเป็นเลือด มีอาการเพลีย เหงื่อออก ตัวเย็น คอแข็ง สำหรับผู้บริโภคในการเลือกซื้ออาหารทะเลสามารถใช้วิธีการดมกลิ่น ถ้าอาหารนั้นมีกลิ่นฉุนแสบจมูก ให้สงสัยว่ามีฟอร์มาลินอยู่ และก่อนการทำอาหารควรล้างให้สะอาด เพราะฟอร์มาลินส่วนมากจะถูกชะล้างออกไปหมดเนื่องจากมีคุณสมบัติละลายน้ำได้ดี และควรปรุงอาหารให้สุกก่อนบริโภค หากผู้บริโภคพบเห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้มาตรฐานหรือไม่ได้รับความปลอดภัย ขอให้ร้องเรียนมาได้ที่สายด่วน อย. โทร. 1556 หรือ E-mail: 1556@fda.moph.go.th หรือ ตู้ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี 11004 หรือร้องเรียนผ่าน Oryor Smart Application หรือ สํานักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อ อย. จะดําเนินคดีตามกฎหมายกับผู้ที่กระทําผิดต่อไป