Last updated: 13 ก.ย. 2562 | 3109 จำนวนผู้เข้าชม |
อย. ผนึกกำลังภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนจัดกิจกรรมรณรงค์ “รู้ฉลาก กินฉลาด ลดโซเดียม เพื่อสุขภาพ” เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในการลดการบริโภคเกลือหรือโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหาร และนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง พร้อมประกาศจุดยืนการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาการบริโภคโซเดียมเกินของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน
นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
วันที่ 13 กันยายน 2562 ณ ศูนย์การค้าเอ็มบีเค เซ็นเตอร์ กรุงเทพฯ นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงานกิจกรรมรณรงค์ “รู้ฉลาก กินฉลาด ลดโซเดียม เพื่อสุขภาพ” ซึ่งจัดขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักรู้ในการลดการบริโภคเกลือหรือโซเดียม และการได้รับโภชนาการที่เหมาะสมในการบริโภคอาหาร เพื่อให้มีสุขภาพดีห่างไกลโรค โดยได้เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า ภาวะโภชนาการเกินของประชากรไทยมีแนวโน้มสูงขึ้น อีกทั้งการบริโภคอาหารหวาน มัน เค็มในปริมาณที่มากเกินพอดี ส่งผลให้โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้ กระทรวงสาธารณสุขจึงมีนโยบายเน้นลดการบริโภคอาหารหวาน มัน เค็ม และผลักดันการลดการบริโภคเกลือหรือโซเดียมตามสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 8 รวมถึงดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การลดโซเดียมในประเทศไทย พ.ศ.2559-2568 เพื่อลดการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ต้องการลดการบริโภคอาหารที่มีโซเดียมลงร้อยละ 30 ของประชากรที่บริโภคเกลือหรือโซเดียม ดังนั้น ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการขับเคลื่อนการลดปริมาณเกลือหรือโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปในประเทศไทย จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องช่วยกัน เพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชน
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา
ทางด้าน นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2562 นี้ อย. ได้มีการจัดทำมาตรการแก้ไขปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) จากผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป เพื่อดำเนินการขับเคลื่อน “มาตรการปรับลดปริมาณเกลือหรือโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหารเชิงสมัครใจ” โดยมีผู้ประกอบการจากภาคอุตสาหกรรมสำเร็จรูปเข้าร่วมมาตรการดังกล่าวจำนวน 4 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ 1.กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรส 2.กลุ่มอาหารกึ่งสำเร็จรูป 3.กลุ่มอาหารแช่เย็น-แช่แข็ง (มื้อหลัก) 4.กลุ่มขนมขบเคี้ยว ทั้งนี้ อย. ภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง และภาคอุตสาหกรรมอาหารได้ร่วมกันขับเคลื่อน และจัดทำข้อมูลสนับสนุนเพื่อใช้เป็นแนวทางในการปรับลดปริมาณเกลือหรือโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปแต่ละกลุ่มเชิงสมัครใจ พร้อมทั้งร่วมกันขับเคลื่อนมาตรการดังกล่าวเพื่อให้เกิดการดำเนินงานสัมฤทธิ์ผลสูงสุดจึงได้มีการจัดกิจกรรมรณรงค์ขึ้น
“สำหรับการจัดกิจกรรมในวันนี้เป็นการประกาศจุดยืนในบทบาทหน้าที่การมีส่วนร่วมของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง การมอบประกาศนียบัตรให้แก่ภาคอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 25 แห่ง การมอบสื่อประชาสัมพันธ์ให้แก่ผู้แทนระดับภาคของกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค จำนวน 4 ภาค การเสวนาเพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ผู้บริโภคในการอ่านฉลากโภชนาการและฉลากโภชนาการแบบจีดีเอ รวมถึงการแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการปรับลดปริมาณเกลือหรือโซเดียม ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความตระหนักรู้ในการลดการบริโภคเกลือหรือโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหาร และนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่อไป” เลขาธิการฯ อย. กล่าวในตอนท้าย