Last updated: 24 ธ.ค. 2561 | 2979 จำนวนผู้เข้าชม |
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 21 ธันวาคม 2561 เวลา 20.15 น.
-------------------------
สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน
เนื่องด้วยสัปดาห์หน้า จะเป็นช่วงวันหยุดยาว “เทศกาลส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่” ผมจึงขอเชิญ “พรปีใหม่” พุทธศักราช 2562 ซึ่งสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานแก่พุทธศาสนิกชน และพี่น้องประชาชนชาวไทย ทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา อันเป็นพระคติธรรมโดยเชิญพุทธศาสนสุภาษิต ความว่า “ขนฺติ หิตสุขาวหา ความอดทน นำมาซึ่งประโยชน์สุข” เพื่อให้เป็นสิริมงคลชีวิต แก่ตนเอง และครอบครัว โดยการน้อมนำ ยึดถือ เป็นแนวทางปฏิบัติ ให้มีความมุ่งมั่น ไม่ย่อท้อ และขอให้ผ่านพ้นอุปสรรคต่าง ๆ นานา ในปีนี้ ก้าวสู่ความสงบ ความสุข สดใส และประสบความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไปในปีหน้า ทุก ๆ คน นะครับ
ในการนี้ รัฐบาลขอเชิญชวนพี่น้องประชาชน เข้าร่วมกิจกรรม “สวดมนต์ข้ามปี ถวายพระราชกุศล เสริมสิริมงคลทั่วโลก ส่งท้ายปีเก่าวิถีไทย ต้อนรับปีใหม่วิถีธรรม พ.ศ. 2562” ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2561 – 1 มกราคม 2562 ณ ทุกวัดทั่วประเทศ และสถานที่อื่น ๆ ที่เหมาะสม เพื่ออุทิศถวายพระราชกุศลแด่สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช และถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ รวมทั้งเพื่อให้ประชาชนทุกพื้นที่ รักษาศีล เจริญภาวนา ปฏิบัติธรรมและสวดมนต์เป็นสิริมงคลให้ประเทศไทย ครอบครัวและตนเอง ตลอดจนเป็นแรงจูงใจให้ประชาชน ลด ละ เลิกอบายมุข ในช่วงเทศกาลปีใหม่ และตลอดไปด้วยนะครับ
ช่วงเวลาที่ดี ๆ ค่ำคืนนี้ ผมอยากจะเริ่มพูดคุยกับพี่น้องประชาชนชาวไทย ด้วยเรื่องราวที่ดี น่าประทับใจ ที่เกิดขึ้นมากมายในบ้านเมืองของเรา ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานะครับ เรื่องแรก ผมขอแสดงความชื่นชม กลุ่มนักเรียนชั้น ม.ปลาย โรงเรียนวัดสุทธิวรารามที่ช่วยให้นักท่องเที่ยวชาวจีนเลิกความคิดฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดสะพานได้สำเร็จ โดยเกลี้ยกล่อม ปลอบประโลมทั้งคำพูดเตือนสติ ภาษากาย จับมือ จนทำให้เขาเชื่อใจเเละใจเย็นลง ก่อนที่จะส่งต่อให้ตำรวจดูแลต่อไป สมกับเป็น “สุภาพบุรุษสุทธิวราราม” ตัวจริง ผมเห็นว่าเด็กไทยกลุ่มนี้มีทักษะชีวิตที่สำคัญ คือ ความช่างสังเกตสิ่งผิดปกติ จึงรู้ว่านักท่องเที่ยวชาวจีนคนนี้กำลังคิดสั้น และการสนทนาภาษาจีน ที่ได้จากการเรียนในห้อง ที่แม้จะไม่ได้ใช้อย่างจริงจังมานาน แต่เมื่อถึงยามคับขัน ก็สามารถช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ได้ เป็นการสร้างกุศลอันยิ่งใหญ่จากสติปัญญาที่น่ายกย่อง อีกทั้งเป็นการสร้างชื่อเสียง และความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวด้วย ซึ่งผมเห็นว่าเป็นเหตุการณ์เล็ก ๆ ไม่กี่นาที ที่ส่งผลยิ่งใหญ่ต่อบ้านเมือง สะท้อนภาพลักษณ์อันดีของประเทศไทย และคนไทยในสายตาชาวโลก ที่ส่งผลดีไม่เฉพาะด้านการค้าขาย การลงทุนเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมในด้านการท่องเที่ยว ที่เราตั้งเป้าเชิญชวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาสัมผัสประเทศไทยกว่า 30 ล้านคนต่อปี ในจำนวนนี้เป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน สัดส่วนถึง 1 ใน 3 ซึ่งข้อมูลทางสถิติตลอดปี 2561 นี้ มีนักท่องเที่ยวมากกว่า 10 ล้านคน คิดเป็นอัตราการเติบโตร้อยละ 5 – 7 สร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวมากกว่า 5.9 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 – 12 ส่วนใหญ่เดินทางมาไทยมากกว่า 1 ครั้ง ด้วยความประทับใจในความสวยงามและสัมผัสได้ว่าไทยเป็นประเทศแห่งความสุข ผมรู้สึกดีใจที่เราสามารถทำให้นักท่องเที่ยวรู้สึกอบอุ่นในบ้านเรา เหมือนอยู่บ้านตนเอง ทั้งนี้การเป็นเจ้าบ้านที่ดี รวมทั้งการใช้ภาษาจีนและอังกฤษได้ดีของคนไทย ทุกเพศ ทุกวัย ทุกสาขาอาชีพ ย่อมมีส่วนช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับบ้านเมืองของเราอีกด้วยนะครับ
อีกเรื่อง ที่ผมเห็นว่ามีความเชื่อมโยงกัน ระหว่างการประกวดนางงาม กับการประชาสัมพันธ์ประเทศ ได้แก่ “น้องนิโคลีน” พิชาภา ลิมศนุกาญจน์ มิสไทยแลนด์เวิลด์ 2018 ที่สามารถคว้ามงกุฎรองชนะเลิศอันดับ 1 มิสเวิลด์ 2018 มาครองได้สำเร็จ ด้วยความงามที่ทรงคุณค่าของหญิงไทย ที่มิเป็นรองชาติใดในโลก ทุกยุค ทุกสมัย นับเป็นโอกาสอันดี ที่ได้ตอกย้ำภาพลักษณ์ความงดงามที่น่าประทับใจตามแบบฉบับไทย ๆ ในเวทีระดับโลก ในขณะที่ “น้องนิ้ง” โศภิดา กาญจนรินทร์ สาวงามตัวแทนประเทศไทยอีกคน ก็สามารถผ่านเข้ารอบ 10 คนสุดท้ายเวทีมิสยูนิเวิร์ส 2018 ซึ่งก็ถือว่าทำหน้าที่ได้ดีที่สุด น่าประทับใจ นอกจากนี้ คุณคำภีร์ อลังการ ดีไซเนอร์คนไทย ผู้ออกแบบชุดสามกินนรี ให้สาวงามจากประเทศลาว จนสามารถคว้ารางวัลชุดประจำชาติยอดเยี่ยม มิสยูนิเวิร์ส 2018 เป็นครั้งแรก ถือว่าเป็นบุคคลที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนี้เช่นกัน ทั้งนี้ เวทีมิสยูนิเวิร์ส 2018 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพนี้ ผมขอขอบคุณ ขอชื่นชมทุกฝ่าย ที่ช่วยให้ชาวโลกได้เห็นสิ่งดีงามในบ้านเมืองของเรา เริ่มตั้งแต่ “การไหว้” สถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติทั่วไทย รวมทั้งการแต่งกายชุดไทยย้อนยุคของเหล่านางงาม เพื่อมาร่วมงาน “อุ่นไอรัก คลายความหนาว สายน้ำแห่งรัตนโกสินทร์” ซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชานุญาตให้จัดขึ้น ซึ่งผมถือว่าเราประสบความสำเร็จมากกว่าการจัดเวทีการประกวดนางงาม แต่เราได้บอกกล่าว เล่าด้วยภาพ ความงดงามของความเป็นไทย ผ่านความสง่างามของบรรดานางงามจากทั่วโลก ด้วยการไหว้อย่างไทย ประกอบกับรอยยิ้มบนใบหน้า ไปสู่ชาวโลกนับร้อยนับพันล้านคนนะครับ
นอกจากนี้ ผมทราบว่าเมนูอาหารไทย ก็เป็นอีกความประทับใจหนึ่ง ที่เหล่านางงาม จาก 95 ประเทศ ต่างให้การชื่นชม บอกว่าทานได้ทั้ง 3 มื้อเป็นครั้งแรก เช่น ผัดไทย แกงพะแนง รวมไปถึงผลไม้ไทย อีกทั้ง ข้าวเหนียวมะม่วง ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็น 1 ใน 50 ของหวานที่อร่อยที่สุดในโลก จัดอันดับโดยสำนักข่าว CNN ของสหรัฐอเมริกา และมีทับทิมกรอบ ที่ก็เป็น 1 ในนั้นด้วย ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งดี ๆ ที่ผมอยากให้เราทุกคน ได้ภาคภูมิใจร่วมกันนะครับ
พี่น้องประชาชนที่เคารพครับ
จะเห็นว่าที่ผมได้กล่าวมาเมื่อสักครู่ ทั้งลักษณะเฉพาะที่ดีของคนไทย การไหว้พร้อมยิ้มสยาม สถานที่ท่องเที่ยว อาหาร การแต่งกาย ล้วนเป็นทุนทางวัฒนธรรม ที่เราสามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างงาน สร้างรายได้ สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนฐานรากได้ หากได้รับการส่งเสริม การบริหารจัดการที่ดีและเป็นระบบ รวมความไปถึงเรื่องการรักษาความปลอดภัยด้วย ผมขอยกตัวอย่างการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการสื่อสารบูรณาการการปฏิรูปประเทศ ที่ชวนคนไทยร่วม “สร้างไทยไปด้วยกัน” ตามนโยบายรัฐบาลนี้ โดยการขับเคลื่อนประเทศที่เน้นการมีส่วนร่วม และการสร้างความเข้มแข็งตั้งแต่ระดับชุมชน ทั้งนี้หัวใจสำคัญในการปฏิรูปประเทศครั้งนี้ คือ “แก้จน แก้เหลื่อมล้ำ แก้โกง ปฏิรูปราชการ เพิ่มการมีส่วนร่วม และสร้างอนาคต” ซึ่งรัฐบาลนี้ พยายามที่จะสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ ไปให้ทั่วถึงพี่น้องประชาชนทุกกลุ่ม ทุกพื้นที่ของประเทศ ที่ผ่านมาเราก็ได้รับความร่วมมือจากเหล่าศิลปินหลายท่าน จากหลากหลายสังกัดในประเทศ มามีส่วนร่วมนำพาเรื่องราวการปฏิรูปและสิ่งดี ๆ ที่รัฐบาลนี้ได้ทำไว้ เตรียมไว้ ให้กับพี่น้องประชาชนโดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อย และผู้ด้อยโอกาสต่าง ๆ ผ่านรายการ “เดินหน้าประเทศไทย สร้างไทยไปด้วยกัน” ในทุกวันเสาร์ ซึ่งผมก็ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้อีกครั้ง อันที่จริงรายการ “เดินหน้าประเทศไทย” เป็นช่องทางหลัก ที่เปี่ยมไปด้วยสาระ ที่ผมแนะนำให้พี่น้องประชาชนได้ติดตามชมทุก ๆ วัน เวลา 18.00 น. นะครับ
ปัจจุบัน รัฐบาลก็ได้ริเริ่มดำเนินงาน อีก 1 โครงการ คือ “ศิลปกรรมชุมชน” ที่เน้นสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชน ผ่านการสร้างงานศิลปะ ซึ่งเป็นทุนทางวัฒนธรรม หรือ วัฒนธรรมกินได้ สามารถต่อยอดเชิงพาณิชย์และการท่องเที่ยวชุมชนได้ในอนาคต โดยแนวคิด คือ “สร้าง 2 ประโยชน์ จาก 2 กิจกรรมสำคัญ” ได้แก่
1. การสานเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เล่าสู่กันฟัง ซึ่งจะเป็นเวทีแสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ที่เป็นจุดเด่น จุดขาย ทั้งทางวัฒนธรรม ทางธรรมชาติ หรือด้านอื่น ๆ ของชุมชน ด้วยเวทีที่เปิดกว้างสำหรับสภาเด็กและเยาวชน กลุ่มสตรี คนพิการ ผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน รวมทั้งองค์กรและเครือข่ายต่าง ๆ ในแต่ละพื้นที่ เป็นต้น ได้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการพัฒนา การปฏิรูป และการกำหนดนโยบายสาธารณะ ที่เหมาะสมกับลักษณะเฉพาะของแต่ละพื้นที่ต่อไปในอนาคต ตามแนวทาง “ศาสตร์พระราชา” คือ การระเบิดจากข้างใน
2. การสร้างสรรค์งาน “ศิลปกรรมชุมชน” ซึ่งเป็นกระบวนการมอบโอกาสให้กับคนในชุมชน ได้มีส่วนร่วมสร้างสรรค์งานศิลปกรรมชุมชนบนพื้นที่สาธารณะ ร่วมกับสถาบันการศึกษา ศิลปินท้องถิ่น และศิลปินแห่งชาติ โดยการนำเนื้อหาและความคิดเห็นต่าง ๆ จากเวทีเสวนาฯ ของประชาชนดังกล่าวข้างต้น มาถอดรหัสโดยศิลปิน แล้วสร้างสรรค์เป็นผลงานร่วมกันให้เป็นงานศิลปะที่จะอยู่กับชุมชนนั้น ๆ ตลอดไป เนื่องจากทุกคนได้มีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน ย่อมมีความหวงแหน ร่วมเป็นเจ้าของ ที่สำคัญจะเป็นการสะท้อนงานศิลปะในยุคปัจจุบัน ที่มีเอกลักษณ์แตกต่างกัน ตามแต่ละภูมิภาค ซึ่งถือว่าเป็นความงดงาม หรือสุนทรียภาพทางศิลปะที่แท้จริงนะครับ
ทั้งนี้ นับเป็นครั้งแรก และเป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการสร้างศิลปะของไทย ที่ผ่านกระบวนการคิดและสร้างสรรค์ โดยมีประชาชนและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน อย่างเต็มรูปแบบ ภายใต้แนวคิด “ร่วมแรง ร่วมใจ สร้างไทยไปด้วยกัน” จากนั้น รัฐบาลก็จะร่วมกับองค์การบริหารส่วนภูมิภาค และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการต่อยอดอย่างต่อเนื่อง บรรจุไว้ในแผนพัฒนาชุมชนระยะยาว เพื่อส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มจากศิลปกรรมชุมชนนี้ ไปสู่การสร้างเศรษฐกิจชุมชน ตามนโยบายรัฐบาล อาทิ การท่องเที่ยวชุมชน ตลาดประชารัฐ ถนนคนเดิน เส้นทางท่องเที่ยว เป็นต้น ที่จะช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ ให้กับคนในชุมชนได้อย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ศิลปะ วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้เป็นทรัพย์สินของชาติ และมรดกของชุมชนที่ส่งต่อไปยังคนรุ่นต่อ ๆ ไปอีกด้วย
ปัจจุบันกิจกรรมนี้ จะนำร่องใน 31 พื้นที่ 22 จังหวัดทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ “ภาคเหนือ” จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน “ภาคกลาง” กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี สิงห์บุรี “ภาคอีสาน” กาฬสินธุ์ มหาสารคาม และ “ภาคใต้” ภูเก็ต สงขลา กระบี่ เป็นต้น ทั้งนี้ พี่น้องประชาชนสามารถติดตามความคืบหน้าของโครงการนี้ ผ่านทาง Facebook “สร้างไทยไปด้วยกัน” ได้ นอกจากนี้ ก็จะมี ททบ. 5 ช่อง 9 อสมท. NBT กรมประชาสัมพันธ์ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมทั้ง Thai PBS ที่จะติดตามกิจกรรมตามโครงการศิลปกรรมชุมชนนี้ เพื่อนำเรื่องราวและผลงานศิลปะออกสู่สายตาประชาชนในแง่มุมต่าง ๆ อีกด้วย ผมขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้ ที่มาร่วมปฏิรูปประเทศของเราด้วยนะครับ
พี่น้องประชาชนที่รักครับ ในช่วง 30 – 40 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับการยอมรับว่า เป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง ในเรื่องของการพัฒนา เราสามารถก้าวข้ามประเทศรายได้ต่ำ ไปสู่การเป็นประเทศรายได้ปานกลาง ตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 3 เป็นต้นมา โดยทุกรัฐบาลได้มุ่งเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยนโยบายการกระจายความเจริญไปสู่ชนบท การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร การพัฒนาอุตสาหกรรม การสร้างมูลค่าเพิ่ม และการบริหารจัดการดูแลสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ทำให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตดีขึ้นมาเป็นลำดับ ช่วยยกระดับรายได้เฉลี่ยของประชาชน และลดสัดส่วนคนยากจนลง อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ผลดีจากการพัฒนายังไม่กระจายตัวไปยังประชาชนอย่างทั่วถึง เรายังเห็นว่ามีการกระจุกตัวของการเติบโตในบางพื้นที่ หรือในบางกลุ่มเท่านั้น ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำในด้านต่าง ๆ ทั้งรายได้และความมั่งคั่งที่ไม่เท่าเทียม รวมถึงการเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพ เช่น การศึกษา สาธารณสุข สวัสดิการ และโครงสร้างพื้นฐาน ที่ยังเป็นปัญหาในบางพื้นที่ ซึ่งปัญหาความเหลื่อมล้ำนี้ยังเห็นผลต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน ทั้ง ๆ ที่เราได้เห็นเศรษฐกิจเติบโตดีขึ้น แต่ประชาชนกลุ่มใหญ่ยังรู้สึกว่าเศรษฐกิจอ่อนแรง เพราะมีรายได้ที่ลดลง
รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ และพยายามแก้ปัญหามาโดยลำดับ โดยมองว่าการลดความเหลื่อมล้ำ ต้องทำในทุกมิติ ต้องบูรณาการเพื่อแก้ปัญหา และต้องลงไปทำที่ต้นตอของสาเหตุ เพื่อให้เกิดผลที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยได้กำหนดไว้เป็น 1 ใน 6 ด้านของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม รวมทั้งกำหนดไว้ในแผนการปฏิรูปประเทศด้านต่าง ๆ ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ตามกรอบหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งผมขอเล่าให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบ ถึงสิ่งที่รัฐบาลนี้ได้ดำเนินการไปแล้ว เพื่อจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยขอสรุปเป็นกลุ่มมาตรการใน 2 รูปแบบ ก็คือ รูปแบบแรก เป็นการจัดสรรสวัสดิการเพื่อประชาชนให้กลุ่มต่าง ๆ เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส รวมถึงพี่น้องเกษตรกรรายได้น้อย และยังมีการให้ความช่วยเหลือพิเศษกับผู้ประสบปัญหาต่าง ๆ โดยเฉพาะผู้ประสบภัย และผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาชายแดนภาคใต้ ซึ่งทั้งหมดนี้ได้ดำเนินการผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและคนพิการ โครงการจัดสรรที่ดินทำกิน โครงการจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่เด็กนักเรียน โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และมาตรการส่งเสริมคุณภาพชีวิตเกษตรกรรายย่อย เป็นต้น อีกรูปแบบหนึ่ง ได้แก่ การเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับประชาชน เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงปัจจัยขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิต เช่น โครงการลดค่าครองชีพของประชาชน โครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการศึกษา ตั้งแต่ระดับอนุบาล จนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน โครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า โครงการเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินต่าง ๆ เป็นต้น
ทั้งนี้ สวัสดิการเหล่านี้ของรัฐ ในปัจจุบันมีรวมกันมากกว่า 40 โครงการ ทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนคนไทยตั้งแต่เกิด จนเสียชีวิต และการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาด้านต่าง ๆ อีก 12 สวัสดิการ เพื่อจะช่วยเยียวยาให้พี่น้องประชาชนได้ผ่านช่วงของความยากลำบาก โดยสิ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือ สวัสดิการที่ผมได้กล่าวถึงเหล่านี้ ใช้งบประมาณรวมกันปีละ 5 แสนกว่าล้านบาท ซึ่งภาครัฐจะต้องใช้เงินดังกล่าวให้เกิดประโยชน์สูงสุด และมีประสิทธิภาพที่สุด ตามหลักธรรมาภิบาลและการรักษาวินัยการเงิน การคลัง ซึ่งรัฐบาลนี้ ก็ได้จัด ทำโครงการที่ชื่อว่า “สร้างสุขทุกช่วงวัย” ให้เป็นสวัสดิการแห่งรัฐที่จะช่วยยกระดับการให้บริการสวัสดิการกับพี่น้องประชาชนให้ทันสมัยขึ้น และสร้างความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของการปฏิรูประบบราชการไทย โดยนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้บริหารจัดการฐานข้อมูลสวัสดิการแห่งรัฐอย่างเป็นระบบ ซึ่งกระทรวงและหน่วยงานต่าง ๆ รวม 11 หน่วยงาน ได้ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อสนับสนุนการจัดทำข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อนำมาใช้ในการกำหนดนโยบาย มาตรการต่าง ๆ รวมถึงติดตามประเมินผลการจัดสวัสดิการภาครัฐ นอกจากนี้ ยังจะใช้การนำระบบบริหารการจัดการข้อมูลแบบชี้เป้า (TPMAP) เพื่อให้รัฐบาลสามารถช่วยได้ถูกตัว ตรงไปยังคนที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง
นอกจากนี้ ระบบข้อมูลในโครงการนี้ ยังจะช่วยป้องกันปัญหาการทุจริตสวัสดิการ และช่วยให้การใช้สวัสดิการภาครัฐโปร่งใสมากยิ่งขึ้น ซึ่งต่อไป กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง จะได้พัฒนาระบบออนไลน์ให้พี่น้องประชาชนสามารถตรวจสอบได้ว่า เราได้รับสวัสดิการกี่อย่าง เราได้รับสวัสดิการครบถ้วน และมีการสวมสิทธิ์ของเราไปแล้วหรือไม่ และหลังจากนั้น สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.) ก็จะช่วยพัฒนาระบบ Application “สวัสดิการแห่งรัฐ สร้างสุขทุกช่วงวัย” เพื่อให้พี่น้องประชาชนรับทราบถึงสิทธิ และเป็น One Stop Service (OSS) ในการติดต่อสอบถามเกี่ยวกับสวัสดิการแห่งรัฐทั้งหมด เพื่อให้ทุกคนไม่พลาดสวัสดิการที่พึ่งได้ และได้รับความสะดวกสบายจากการติดต่อกับภาครัฐ
ตามที่ผมได้กล่าวไว้แล้ว การทำงานแบบบูรณาการเพื่อต่อสู้กับปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจนนั้น เป็นสิ่งที่ต้องทำพร้อมกันในหลายมิติ ไม่เพียงแต่เรื่องสวัสดิการเท่านั้น ล่าสุด คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้มีการจัดตั้งสำนักงานบูรณาการลดความเหลื่อมล้ำและแก้ไขปัญหาความยากจน เป็นครั้งแรกของประเทศไทย เพื่อให้เรามีหน่วยงานหลัก ที่จะรวมพลังทุกหน่วยงาน บูรณาการในการขับเคลื่อน อย่างประสานสอดคล้อง ต่อสู้ ขจัดปัญหาด้านความยากจนและความเหลื่อมล้ำได้อย่างแท้จริง โดยหน่วยงานนี้ จะทำหน้าที่ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมถึงศึกษาและวิจัย เรื่องปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ พัฒนาและติดตามเครื่องชี้วัด จัดทำฐานข้อมูล Big data เกี่ยวกับความยากจนและความเหลื่อมล้ำ ให้บูรณาการกันทั้งหมด รวมทั้งช่วยสำนักงบประมาณในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณด้านความยากจนและความเหลื่อมล้ำ ซึ่งในปีล่าสุด นอกจากงบสวัสดิการ 5 แสนกว่าล้านบาทที่ผมได้กล่าวไปแล้ว ยังมีงบประมาณประจำเพื่อแก้ไขเรื่องความเหลื่อมล้ำและความยากจน ผ่านกระทรวงต่าง ๆ อีก 3 แสนล้านบาท รวมเป็นเงินถึง 8 แสนล้านบาท ซึ่งเราต้องใช้งบเหล่านี้ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมถึงแผนปฏิรูปประเทศด้วยนะครับ
ยิ่งไปกว่านั้น เพื่อให้ทุกชุมชนของพี่น้องประชาชนสามารถระเบิดจากภายใน และได้รับการพัฒนาความเข้มแข็งจากฐานรากอย่างแท้จริง ตามพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 นั้น ซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็มีพระราชดำริให้สานต่อพระราชปณิธานทั้งปวง ด้วยการ “สืบสาน รักษา ต่อยอด” โดยรัฐบาลได้เร่งรัด ผลักดัน และแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายสำคัญ ๆ มาอย่างต่อเนื่อง ที่เกี่ยวกับการยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะในช่วงปัจจุบัน มีกฎหมายจำนวนเกือบ 10 ฉบับ ที่จะเป็นเครื่องมือช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้คนยากจนและผู้ด้อยโอกาส ให้ได้รับโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมในการดำรงชีวิต ทั้งนี้ กฎหมายที่ออกมาทั้งหมด ล้วนถือเป็นส่วนสำคัญในการปฏิรูปประเทศครั้งสำคัญนี้ อาทิ พระราชบัญญัติสถาบันการเงินประชาชน พระราชบัญญัติวิสาหกิจชุมชน พระราชบัญญัติวิสาหกิจเพื่อสังคม พระราชบัญญัติป่าชุมชน พระราชบัญญัติป่าไม้ไทย (ฉบับแก้ไข เพื่อให้ประชาชนสามารถตัดต้นไม้มีค่าในพื้นที่กรรมสิทธิ์ได้) พระราชบัญญัติคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ เพื่อให้พี่น้องประชาชนที่อยู่มาแต่เดิม สามารถอยู่ในป่าได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และพระราชบัญญัติคุ้มครองประชาชนในการทำสัญญาขายฝากที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม หรือที่อยู่อาศัย เป็นต้น
ผมขอให้ทุกท่านมั่นใจว่า รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการแก้ไขปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ และมีการมองภาพแบบครบถ้วนทุกมิติ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการกับปัญหา กำหนดนโยบายสาธารณะ หรือมาตรการต่าง ๆ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ให้เกิดผลอย่างต่อเนื่องยั่งยืน ผมขอให้พี่น้องประชาชนรักษาสิทธิของตนในเรื่องสวัสดิการเหล่านี้ และขอให้ทุกท่านลองมองเส้นทางการหารายได้ในระยะยาวไปด้วย ถ้าต้องการรายได้เพิ่มขึ้น แต่ละคนจะต้องปรับตัววันนี้อย่างไร ซึ่งบริการของภาครัฐผ่านโครงการต่าง ๆ รวมถึงแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย ก็จะช่วยเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจของท่านให้กว้างขึ้นได้ หากมีการปรับตัวให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของโลก สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี โดยเราต้องไม่ลืมลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลง ด้วยการจัดทำบัญชีครัวเรือน บัญชีรายรับ รายจ่าย ซึ่งก็นับว่าเป็นเครื่องมือสำคัญประจำบ้าน ที่จะช่วยในการพิจารณาให้สามารถใช้ชีวิตตามวิถีพอเพียงได้ วันนี้เราก็ต้องแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้นอกระบบ ปัญหาการขายฝาก วันนี้กำลังเร่งดำเนินการอยู่ทั้งหมด ก็ขอให้ติดตามทุกช่องทางด้วย ไม่อย่างนั้นก็ไม่รู้กัน ก็แก้ปัญหาไม่ได้ แล้วก็อย่าสร้างหนี้ใหม่
สุดท้ายนี้ ช่วงนี้ภาคเหนือและภาคอีสานอากาศจะเย็นลง ส่วนภาคใต้ฝนลดลงจากช่วงที่ผ่านมา แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ก็ขอให้ทุกคนรักษาสุขภาพ และติดตามข่าวสารสภาพลมฟ้าอากาศอย่างต่อเนื่อง สำหรับเตรียมตัวและเตรียมพร้อมกับลมฟ้าอากาศที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ช่วงเทศกาลปีใหม่ในสัปดาห์หน้า หากใครต้องเดินทางกลับภูมิลำเนา หรือท่องเที่ยว ก็ขอให้พักผ่อนให้เพียงพอ เช็คสภาพรถ ตรวจสอบเส้นทาง เตรียมการล่วงหน้า สำหรับชาวกรุงเทพฯ ที่ไม่มีโปรแกรมเดินทางไปไหนไกล ผมก็ขอแนะนำสถานที่ท่องเที่ยววันเดียว เช่น จังหวัดอ่างทอง มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่สุดในโลก พระนอนที่ยาวเป็นอันดับสองในประเทศไทย พิพิธภัณฑ์ตุ๊กตาชาววังบ้านเสด็จ ร้านกาแฟบรรยากาศบ้านไร่ ปลายนา เข้าถึงธรรมชาติ หรือฟาร์มเมล่อน กว่า 10 สายพันธุ์ ที่นำมาประยุกต์เป็นของหวาน ไอศครีม เป็นต้น หรือ จังหวัดสิงห์บุรี ที่มักจะเป็นเมืองทางผ่าน แต่เป็นจังหวัดในตำนานของชาวบ้านบางระจัน ในประวัติศาสตร์ชาติไทย ผมอยากให้เยาวชนได้สัมผัสตลาดย้อนยุคบ้านบางระจันและวัดโพธิ์เก้าต้นในตำนาน ตลาดเก่าแก่ ตลาดต้องชม ตลาดประชารัฐอีกหลายแห่งนะครับ รวมทั้ง “เทศกาลกินปลา ของดีเมืองสิงห์” ระหว่างวันที่ 25 ธันวาคม ปีนี้ ถึง 3 มกราคม ปีหน้า ซึ่งสิงห์บุรีเป็นศูนย์รวมของแม่น้ำที่สำคัญ 3 สาย คือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย และแม่น้ำลพบุรี จึงมีชื่อเสียงเรื่องปลา ที่ผมอยากให้ไปเที่ยว ไปชิม ช่วยกระจายรายได้ และสัมผัสวิถีไทย ใกล้กรุง ดูบ้างนะครับ
ขอบคุณนะครับ ขอให้ทุกคน ทุกครอบครัว มีความสุข ปลอดภัยในช่วงเทศกาลวันปีใหม่ พร้อมหน้า พร้อมตากันนะครับ สวัสดีครับ
ชมรายการย้อนหลังผ่านยูทูป ช่องวีดีโอ chorsaard