Last updated: 21 พ.ย. 2561 | 2595 จำนวนผู้เข้าชม |
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน 2561 เวลา 20.15 น.
-------------------------
สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รัก ทุกท่าน
สัปดาห์นี้ ผมมีภารกิจสำคัญในต่างประเทศ ต่อเนื่องตลอดทั้งสัปดาห์นะครับ โดยเริ่มจากวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้เดินทางไปเยือนสาธารณรัฐฝรั่งเศส ตามคำเชิญของประธานาธิบดี นายเอมานูว์แอล มาครง เช่นเดียวกับผู้นำประเทศ ผู้นำรัฐบาล รวมถึงหัวหน้าองค์การระหว่างประเทศ กว่า 120 คน เพื่อเข้าร่วมในงานวันรำลึกการครบรอบ 100 ปีการยุติสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการมีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืน และเป็นเครื่องเตือนใจว่าเราชาวโลกจะต้องไม่ก่อโศกนาฏกรรมอันร้ายแรงแสนสาหัสแก่มวลมนุษยชาติเช่นนี้ ให้เกิดขึ้นอีกต่อไป จากนั้น ได้ร่วมในการประชุมสันติภาพปารีส ซึ่งเป็นเวทีระดมสมองเพื่อจะหาข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม ด้านสันติภาพ ธรรมาภิบาล และการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีผู้แทนทั้งจากภาครัฐ ภาคประชาสังคม องค์การอาสาสมัครเอกชน สมาคม และหน่วยงานที่เป็นแหล่งความคิด เข้าร่วมกิจกรรม ในการนี้ ผมได้มอบหนังสือ 3 เล่มให้ห้องสมุดสันติภาพ กรุงปารีส เป็นหนังสือที่นอกจากจะสะท้อนแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของในหลวงรัชกาลที่ 9 แล้ว ยังจะช่วยนำพามวลมนุษยชาติ ก้าวไปสู่การสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนร่วมกัน อีกด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้ชาวโลกได้ศึกษาและซึมซับพระอัจฉริยภาพของในหลวงของเรา ซึ่งจะถูกจารึกไว้เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์โลกด้วย
ระหว่างวันที่ 13 - 15 พฤศจิกายน ผมได้มีโอกาสเดินทางต่อไปยังประเทศสิงคโปร์ เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 33 และการประชุมสุดยอดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือเป็นการประชุมในระดับผู้นำอาเซียนครั้งสุดท้าย ที่สิงคโปร์จะเป็นประธาน โดยนอกจากผู้นำอาเซียนแล้ว ยังมีผู้นำประเทศคู่เจรจาของอาเซียน ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน สาธารณรัฐเกาหลี รัสเซีย ญี่ปุ่น อินเดีย สหรัฐอเมริกา และนิวซีแลนด์ รวมทั้งผู้นำจากภาคีภายนอกและองค์การระหว่างประเทศอื่น ๆ ได้เข้าร่วมหารือ ในวาระต่าง ๆ ด้วย ในการนี้ มีการรับรองเอกสารผลลัพธ์ จำนวน 7 ฉบับ และได้รับทราบ เอกสารแนวคิด – ขอบเขตอำนาจหน้าที่ของ “ศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน” ซึ่งไทยเป็นผู้เสนอ โดยจะมีการเปิดตัวศูนย์ฯ อย่างเป็นทางการในปี 2562 เมื่อประเทศไทยเป็นประธานอาเซียน
ในการเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ ผมได้เน้นย้ำความสำคัญของประเด็นการสร้างความเข้มแข็งของประชาคมอาเซียน ที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง, ในเรื่องการส่งเสริมความยั่งยืนให้อาเซียนในทุกมิติ, การเสริมสร้างหุ้นส่วนที่มีกับประเทศคู่เจรจาและประชาคมโลก รวมถึงการลดอุปสรรคทางการค้า, การเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันภายในภูมิภาค และการเร่งรัดการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งมีความสำคัญที่สุดสำหรับอาเซียนเรา ให้แล้วเสร็จโดยเร็วภายในปีหน้า การส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาค และยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยงด้านต่าง ๆ ทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม โทรคมนาคมและการสื่อสาร กฎระเบียบ และการเชื่อมโยงในระดับประชาชน เพื่อจะก้าวไปสู่อาเซียนที่ไร้รอยต่อ ทั้งนี้ เราจะสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินผ่านระบบดิจิทัล และการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเงิน เพื่อจะส่งเสริมวิสาหกิจขนาดย่อม - เล็ก - และกลาง ของเราด้วย
สิ่งที่เราชาวอาเซียนจะต้องเผชิญ และต้องรับมือร่วมกันในปัจจุบันและในอนาคต ก็คือ “ภัยคุกคามด้านความมั่นคง” ทั้งรูปแบบดั้งเดิมและรูปแบบใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น ประชาชนชาวอาเซียน จำเป็นต้องตระหนักรู้ถึงความสำคัญในการบริหารจัดการชายแดน, การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, การบริหารจัดการภัยพิบัติ และการเสริมสร้างความมั่นคงทางไซเบอร์ อีกด้วย โดยอยู่ในกรอบของความเชื่อมโยงภายในภูมิภาค และความเชื่อมโยงระดับยุทธศาสตร์ต่าง ๆ อาทิ แนวคิดอินโด - แปซิฟิก, แผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน, Belt and Road Initiatives ของจีน, Quality Infrastructure ของญี่ปุ่น และ ACMECS Master Plan ซึ่งกรอบความร่วมมือเหล่านี้ จะต้องดำเนินการร่วมกันเป็นภาพรวม บนพื้นฐานหลักการ 3 เอ็ม ที่สำคัญคือ การไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน ความเคารพซึ่งกันและกัน และผลประโยชน์ร่วมกัน ทั้งนี้ เพื่อจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม และเกิดความยั่งยืน ในทุกมิติ ร่วมกัน
เหตุการณ์สำคัญของปวงชนชาวไทย จากการประชุมนี้ ก็คือ เราได้รับมอบตำแหน่งประธานอาเซียนอย่างเป็นทางการจากสิงคโปร์ ซึ่งเป็นปีที่ 51 ของอาเซียน ที่เกิดจากความริเริ่มของไทย โดยผมได้กล่าวขอบคุณประเทศสิงคโปร์ บนความสำเร็จในการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนให้มีความเข้มแข็งและก้าวหน้าด้านนวัตกรรมเป็นอย่างมาก ซึ่งเราประเทศไทยจะสานต่อทุกประเด็นที่อาเซียนให้ความสำคัญในช่วงที่ผ่านมา เพื่อรักษาความต่อเนื่อง อาทิ เครือข่าย “เมืองอัจฉริยะอาเซียน” ซึ่งไทยมีกรุงเทพฯ ชลบุรี และภูเก็ต เป็นเมืองนำร่อง เป็นต้น ในการนี้ ผมได้ประกาศแนวคิดสำหรับการเป็นประธานอาเซียนของไทย ในปี 2562 คือ “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” ซึ่งแต่ละคำมีความหมายที่ลึกซึ้ง ดังนี้
การร่วมมือ ร่วมใจ คือ ความเชื่อมโยง ผ่านการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนภายในอาเซียน และกับประชาคมโลกอื่น ๆ โดยเน้นการสร้างความร่วมมือ “อาเซียน พลัสวัน” และโครงสร้างภูมิภาคที่มีอาเซียนเป็นแกนกลาง ที่จะต้องคำนึงถึงความสมดุล และประโยชน์ต่อประชาชนเป็นสำคัญ รวมถึงเพิ่มบทบาทของอาเซียนในเวทีโลก เพื่อจะช่วยแก้ไขปัญหาสำคัญต่าง ๆ ที่จะส่งผลต่อภูมิภาคและประชาคมโลก
การก้าวไกล หรือ การมองไปสู่อนาคต โดยให้อาเซียนร่วมกันมอง และร่วมก้าวไปด้วยกัน สู่อนาคตอย่างมีพลังและต่อเนื่อง โดยใช้ประโยชน์จากวิวัฒนาการทางเทคโนโลยี เพื่อจะสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ควบคู่ไปกับการสร้างภูมิคุ้มกันจากเทคโนโลยีก้าวกระโดด และความท้าทายต่าง ๆ ที่จะเข้ามาในอนาคต เพื่อเราจะก้าวไปสู่ “ดิจิทัลอาเซียน” ร่วมกัน
และ ความยั่งยืน คือ การสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านความมั่นคง และความสงบสุขของประเทศ รวมทั้ง ความยั่งยืนด้านการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ตามแนวทาง “เศรษฐกิจสีเขียว” ซึ่งจะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน
ทั้งนี้ เราและอาเซียน ควรมีมุมมองที่ตรงกัน โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความยั่งยืน โดยการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ตามสโลแกนดังกล่าวมาแล้ว ตัวอย่างที่เราจะดำเนินการ เช่น ในทุก ๆ การประชุมตลอดทั้งปี จะจัดในรูปแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามแนวทาง “3R” ซึ่งจะเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ในการประชุมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดขยะพลาสติก เช่น ขวดน้ำดื่มทำจากแก้ว, ใช้ของที่ระลึกจากวัสดุธรรมชาติ, ใช้ถุงผ้า, ลดการใช้กระดาษ และลดการพิมพ์เอกสารให้เหลือน้อยที่สุด ผมจึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความยั่งยืนให้สอดคล้องกับแนวคิดของการเป็นประธานอาเซียนของไทย เพื่อจะสร้างพลังที่เริ่มจากจุดเล็ก ๆ เพื่อให้สามารถขยายไปสู่การปฏิบัติได้จริง ตามแนวทางดังกล่าวในวงกว้างต่อไป
ซึ่งปีหน้า ตลอดทั้งปี เราจะต้องเป็นเจ้าภาพการประชุม กว่า 170 การประชุม ภายใต้กรอบความร่วมมือด้านต่าง ๆ ของอาเซียน ผมขอเชิญชวนให้พี่น้องประชาชนให้ติดตามข้อมูลข่าวสาร และทุกกำหนดการประชุมได้ จากเว็บไซต์ www.asean2019.go.th และสื่อโซเชียลต่าง ๆ เพื่อจะรับทราบความคืบหน้าของงานและการประชุมในสถานที่ต่าง ๆ อีกทั้งในการประชุมใหญ่ ๆ หลายครั้ง ที่จะจัดขึ้นนั้น ก็จะมีผู้นำประเทศ หรือผู้แทนระดับสูง เดินทางมาเยือนบ้านเมืองของเรา และเข้าร่วมการประชุมด้วย อาจจะทำให้ต้องมีการจัดการจราจรเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้มาเยือนเหล่านั้น ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการสัญจรของพี่น้องประชาชนในเส้นทางผ่าน และพื้นที่การประชุมบ้าง ผมไปประชุมประเทศอื่น ๆ เขาก็ทำเหมือนกันให้เกียรติซึ่งกันและกัน รัฐบาลก็พยายามจะดำเนินการให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด ดังนั้น ผมขอให้ทุกฝ่ายเข้าใจ และขอให้ร่วมกันเป็นเจ้าบ้านที่ดี ในการเตรียมต้อนรับอาคันตุกะของเรา เช่นเดียวกับที่ประเทศเจ้าภาพอาเซียนที่ผ่าน ๆ มา ก็ได้ให้เกียรติ และอำนวยความสะดวกแก่ผู้นำ – ผู้เข้าร่วมประชุมจากประเทศสมาชิกมาโดยตลอดนะครับ
อย่างไรก็ตามไม่เพียงแต่ในกรุงเทพมหานครเท่านั้น แต่การประชุมต่าง ๆ จะกระจายตัวออกไปในหลายจังหวัด ทั่วประเทศ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว และกระตุ้นการใช้จ่ายให้กับเศรษฐกิจชุมชน ดังนั้น พี่น้องประชาชนชาวไทยทุกคน ย่อมมีส่วนร่วมในการเป็น เจ้าภาพที่ดี ให้การต้อนรับผู้นำประเทศ และผู้เข้าร่วมประชุมทุกระดับ ซึ่งถือว่าเป็นผู้แทนจากประเทศสมาชิกต่าง ๆ ด้วยการช่วยกันสอดส่องดูแล เป็นหูเป็นตา ให้ความช่วยเหลือ และมอบมิตรไมตรี เพื่อจะสร้างความประทับใจให้กับทุกคนที่มาเยือน และอยากกลับมาที่บ้านเราอีก เมื่อกลับไปที่บ้านเมืองของเขาแล้ว จะได้นำไปเล่าต่อให้กับประชาชน นักท่องเที่ยว หรือนักลงทุนบ้านเขา ให้อยากมาสัมผัสเมืองไทยของเราอีกนะครับ และสำหรับช่วงวันที่ 15 – 18 พฤศจิกายนนี้ ผมจะเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 26 ณ กรุงพอร์ตมอร์สบี ปาปัวนิวกินี ซึ่งรายละเอียด และผลจากการประชุมนั้น ผมจะนำมาเล่าให้พี่น้องประชาชนได้ติดตาม และรับฟังในภายหลังนะครับ
พี่น้องประชาชนที่เคารพ ครับ
ผมอยากจะใช้เวลาในช่วงท้ายรายการนี้ เพื่อตอบคำถาม “5 ประเด็น” ที่พี่น้องประชาชนได้ร่วมกันโหวตว่าอยากฟังหลักคิด – นโยบายจากผมมากที่สุด ดังนี้
1. ทำอย่างไรถึงจะแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบได้จริง การเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนกู้ในระบบ และมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยต่าง ๆ ซึ่งหลายอย่างที่รัฐบาลได้ดำเนินการไปแล้ว ทั้งมาตรการทางภาษี มาตรการอำนวยความยุติธรรม รวมทั้งผลักดันกฎหมายสำคัญ ๆ เช่น กฎหมายขายฝาก ที่จะช่วยปลดล็อคสัญญาเอารัดเอาเปรียบ ของนายทุน - ผู้มีอิทธิพล ประกอบกับการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ โดยให้เป็นไปตามกฎหมายบ้านเมือง ที่ยึดทั้งหลักนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ เพื่อคืนความเป็นธรรมให้กับผู้มีรายได้น้อย นอกจากนี้ ยังผลักดันกฎหมายธนาคารชุมชน เพื่อยกระดับสถาบันการเงินในชุมชนให้มีฐานะเป็นนิติบุคคล ซึ่งจะเปิดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายและทั่วถึง นับเป็นกลไกสำคัญในการที่จะสร้างความเข้มเเข็งจากฐานราก ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยกฎหมายฉบับนี้ ถือเป็นการปฏิรูปครั้งสำคัญในเรื่องการเงินระดับชุมชนและหมู่บ้าน โดยเราตั้งเป้าให้มีธนาคารชุมชนเข้าร่วมเป็นนิติบุคคล ราว 7,000 แห่ง จากทั้งหมด 30,000 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งมียอดเงินฝากรวมถึง 2 แสนล้านบาท โดยร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ คาดว่าจะผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ในเร็ว ๆ นี้ ภายใต้รัฐบาลชุดนี้
อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาความยากจนให้ยั่งยืนนั้น สิ่งสำคัญคือตนเอง ที่ต้องยึดแนวทาง “วิถีพอเพียง” ที่จะเป็นภูมิคุ้มกันให้ปราศจากหนี้สิน นอกจากนี้ รัฐบาลยังตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ เพื่อจะปลูกฝังวินัยการออม และสนับสนุนให้ประชาชนทำบัญชีครัวเรือน เพื่อสามารถนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์และกำหนดแนวทางเพื่อลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ให้กับแต่ละครัวเรือน ผมเชื่อมั่นว่าด้วยมาตรการ กฎหมาย และแนวทางที่รัฐบาลนี้ได้วางรากฐานเอาไว้ จะช่วยให้พี่น้องประชาชนผู้มีรายได้น้อย สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเองได้อย่างยั่งยืนด้วยตนเอง ให้ได้ในที่สุด
2. อยากให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด – เด็ดขาด เพื่อขจัดคนชั่ว ให้หมดไปจากบ้านเมือง การปลูกจิตสำนึก ความรับผิดชอบ และรู้จักเสียสละเพื่อส่วนรวม ซึ่งเป็นความตั้งใจแรกเริ่มที่เข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน อย่างไรก็ตาม เราอาจจะยังไม่มีเจ้าหน้าที่เพียงพอที่จะดูแลในสิ่งเหล่านี้ แต่เราทุกคนสามารถเป็นหู เป็นตา เสริมกลไกการทำงานภาครัฐ ช่วยกันสอดส่องป้องกัน ปิดประตูโอกาสในการกระทำความผิด ทั้งนี้ การปกครองบ้านเมืองนั้น เราไม่อาจจะมองเพียงแต่การปราบปราบผู้กระทำผิดเท่านั้น แต่เราควรส่งเสริมให้ทุกคนมีคุณธรรม จริยธรรมด้วย เพราะการเอาโทษผู้กระทำผิดนั้น เป็นเพียงการลดจำนวนคนไม่ดีออกไปจากสังคม ในขณะที่การเปลี่ยนคนไม่ดีนั้นให้เป็นคนดี นอกจากจะลดคนไม่ดีแล้ว ยังสามารถเพิ่มคนดีให้กับสังคมได้ ในเวลาเดียวกัน สำหรับวิธีการนั้น “ศาสตร์พระราชา” ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้สร้างกลไกพื้นฐานที่หลายคนอาจหลงลืมไป ก็คือ “บวร” (บ้าน – วัด – โรงเรียน) ที่จะช่วยซึมซับคุณธรรม ความดีในจิตใจของคนไทย ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ตั้งแต่ที่บ้าน ปัจจุบันเรามีวัด มีโรงเรียนประจำชุมชน หากสามารถจะเชื่อมโยงเข้าสู่วิถีชีวิตของคนในชุมชน มีกิจกรรมร่วมกันบ่อยครั้งขึ้น ผมเชื่อว่ากลไกบวร ก็จะช่วยสร้างพลเมืองดีของประเทศได้ และเราทุกคนที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข การไปที่โรงเรียน การไปที่วัดหรือแม้กระทั่งที่บ้านก็ตามควรต้องมีการพูดคุยกันในเรื่องเหล่านี้ด้วย ไม่อย่างนั้นเราไปเราไม่ได้พูดอะไรกันให้เป็นสาระมากนักเป็นการพบปะ ทำบุญร่วมกันแต่ไม่ได้อะไรกลับมามากนักในเชิงแนวความคิดนะครับ และสร้างจิตสำนึกที่มีการเผื่อแผ่แบ่งปัน ลดปัญหาต่าง ๆ ในพื้นที่ ในชุมชน ให้มันน้อยลง ลดความขัดแย้งด้วยตัวเอง สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะทำให้บ้านเมืองของเรามีความสงบสุขและปลอดภัยอย่างยั่งยืน
3. อยากให้เน้นเรื่องสิ่งแวดล้อม เช่น ป่าและทะเล ให้มากๆ ถ้าเป็นไปได้อยากให้ขยายพื้นที่ป่าให้มี 50% ของประเทศ การส่งเสริมอาชีพประมงถูกกฎหมาย เพื่อความยั่งยืนของท้องทะเล สนับสนุนเกษตรอินทรีย์ และการเกษตรที่ใช้พื้นที่น้อย แต่มีคุณภาพ สำหรับประเด็นในข้อนี้ น่าจะมาจากกลุ่มนักอนุรักษ์ ที่ติดตามการดำเนินงานของรัฐบาลนี้ มาอย่างต่อเนื่อง จึงมีแนวความคิดที่ตรงกับผมและรัฐบาล ว่าการพัฒนาบ้านเมืองนับแต่นี้ไป จะต้องเป็นการพัฒนาที่สมดุล เพื่อความยั่งยืนคำนึงถึงสภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติด้วย ด้วย รัฐบาลนี้ ตอบสนองทุก ๆ วาระของโลก ในการเอาจริงเอาจริงกับการบริหารจัดการขยะ โดยอย่างยิ่งขยะทะเล และส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มจากขยะ โดยเพื่อให้เป็นพลังงาน การหยุดยั้งขบวนการบุกรุก เพื่อทวงคืนผืนป่า ก็มีผู้เดือดร้อนมากมาย ทั้งนี้ จากการปล่อยปละละเลยในช่วงที่ผ่านมา เราก็จะทำดีที่สุด หลายเรื่องทำอย่างที่ท่านต้องการ แต่จะมีผลกระทบต่อคนจำนวนมาก ต้องหาวิธีการที่เหมาะสมว่าเราจะทำอย่างไร เพราะเราคือคนไทย เราไม่ต้องการเอื้อประโยชน์ให้กับใครทั้งสิ้น แต่ปัญหามันเกิดขึ้นมานานมาก ถ้าเราบังคับใช้กฎหมายเต็มที่ เดือดร้อนแน่นอนมากมายแล้วก็จะเกิดปัญหาความวุ่นวาย อย่างเช่นที่เกิดมาโดยตลอดนะครับ แต่เราต้องยึดถือกฎหมายเป็นหลักการในการแก้ปัญหา ในเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้เราได้มีการแก้ไขกฎหมายมากมาย ในเรื่องของการทำประมง เพื่อจะสร้างบรรยากาศทางการประมง ที่จะสอดคล้องกับกติกาสากล นี่ก็เดือดร้อนเหมือนกัน เราก็มุ่งหวังจะสร้างความยั่งยืนให้กับการประมงให้กับท้องทะเลของเรา ไม่ทำร้ายธรรมชาติ ไม่ทำลายระบบนิเวศน์ และฟื้นฟูท้องทะเลไทย ให้เวลาสัตว์น้ำได้ขยายพันธุ์ รวมทั้งการตัดวงจรการใช้แรงงานทาส การค้ามนุษย์ ที่อยู่ในอุตสาหกรรมการประมง ที่ถูกปล่อยปละละเลยมานาน
สำหรับด้านการเกษตรนั้น ผมเห็นว่าประเทศไทยเราจะสามารถเป็น “ครัวโลก” ได้ ด้วยความเป็นอู่ข้าว อู่น้ำ ที่มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งเรื่องดินและน้ำ เพียงแต่เราต้องมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบและบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่จะทำงานภายใต้ยุทธศาสตร์เดียวกัน ทั้งนี้ นโยบายตลาดนำการผลิตสำคัญที่สุด และเรื่องเกษตรอินทรีย์ก่อนไปตรงนั้นก็เกษตร GAP ให้ได้ก่อน คือเกษตรปลอดภัย ตรงไหนทำได้ก็ทำเลย เกษตรอินทรีย์ถ้ายังไม่ได้ก็ไป GAP ก่อน และก็ไปสู่เกษตรอินทรีย์ในอนาคตอันใกล้ เราไม่อาจจะทำทุกอย่างให้ประสบความสำเร็จได้ หากปราศจากปัจจัยสำคัญ 2 ประการ คือ (1) การทำงานที่ประสานสอดคล้องกัน บูรณาการกัน ของหน่วยงานต่าง ๆ ตั้งแต่ต้นทาง – กลางทาง – ปลายทาง หรือตั้งแต่แหล่งผลิต ขั้นตอนการแปรรูป การขนส่ง ไปจนถึงการตลาดภายในและภายนอกประเทศ (2) เกษตรกรจะต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตน จากการทำเกษตรแบบดั้งเดิม ตามคำแนะนำของหน่วยงานราชการ กล้าที่จะหันมาปลูกเกษตร GAP เกษตรปลอดภัยนะครับ และเกษตรอินทรีย์ที่มีตลาดชัดเจน จำกัด และมีมูลค่าสูง ไม่ปลูกพืชตามความเคยชิน ตามยถากรรม ซึ่งนอกจากจะได้ผลผลิตอาจจะไม่คุ้มค่าแล้ว บ่อยครั้งก็ทำให้ผลผลิตล้นตลาด ทำให้ราคาตก รัฐบาลก็จำเป็นต้องยื่นมือมาช่วยเหลือ ลักษณะเช่นนี้ จะเป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนใช้งบประมาณจำนวนมาก และก็เกิดขึ้นมาตลอดตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน เราต้องรีบแก้แล้วในวันนี้
4. อยากจะให้ช่วยแก้ปัญหายาเสพติดและมีบทลงโทษหนักขึ้น การแก้ปัญหาอาชญากรขอให้มีกระบวนการขั้นตอนที่เด็ดขาดและเข้มงวดให้เหมือน 10 20 30 ปีที่แล้ว ซึ่งแนวทางแก้ปัญหาเหล่านี้ “รากเหง้า” ของปัญหา คือ เรื่องปาก – ท้อง และความอบอุ่นในครอบครัว เพราะไม่มีใครที่กินอิ่ม นอนหลับ สมาชิกในครอบครัวรักใคร่ใกล้ชิดกันดี จะหันเหตนเองให้หลงใหล เผลอตัว ไปในเส้นทางเสื่อมเหล่านี้ แบบโงหัวไม่ขึ้น ดังนั้นผมคิดว่าเราต้องแก้ที่ต้นตอของปัญหา ทำให้ทุกครัวเรือนของไทยอยู่ดี มีสุข มีรายได้พอเลี้ยงครอบครัว มีการศึกษาที่ดี จึงเป็นที่มาของนโยบายต่าง ๆ เพื่อพี่น้องผู้มีรายได้น้อย อาทิ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การขจัดหนี้นอกระบบ เป็นต้น นอกจากนี้ ผมเห็นว่าการบังคับใช้กฎหมาย การลงโทษ ที่เด็ดขาด รุนแรง เป็นเพียงมาตรการปลายเหตุ ไม่ใช่การป้องกัน แต่เป็นการแก้ไข อาจจะไม่ใช่แนวทางที่ดีที่สุดนัก นอกจากนี้ลดผู้เสพ นโยบายผู้เสพคือผู้ป่วยให้โอกาสคนดีคืนสู่สังคม และส่งเสริมวิชาชีพ ปราบปรามผู้ขาย ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย โดยใช้กฎหมายที่เป็นธรรมและถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ เราจะต้องดำเนินการลดทั้ง demand และ supply ด้วย
และ ข้อสุดท้าย พี่น้องประชาชนอยากทราบว่า ผมมีแนวความคิดอย่างไร ในการแก้ปัญหาระบบการศึกษาของไทย ผมยอมรับว่าแก้ยากเหมือนกันนะครับ สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นว่าตรงกัน คือการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพ เราจะทำอย่างไร เป็นต้นตอของทุกปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น หมายถึง ถ้าระบบการศึกษาดี เราคงไม่ต้องมาตามแก้ปัญหาเดิม ๆ เราควรจะมีเวลาเหลือ ไปสร้างสรรค์ในสิ่งใหม่ ๆ มากขึ้น โดยการศึกษานั้น อย่างน้อยเราต้องยึดหลักการสำคัญ และมีสิ่งที่ควรพึงระลึกอยู่เสมอ ก็คือ (1) เราเรียนรู้ เราต้องเรียนเพื่อประกอบอาชีพ และเพื่อการดำรงชีวิตในสังคมให้ได้ต่อไป ดังนั้นการศึกษาต้องตอบโจทย์เหล่านี้ ไม่ใช่เรียนแล้วไม่มีงานทำ ไม่มีเป้าหมายในการทำงาน หรือทำงานไม่ได้ (2) การเรียนในวันนี้ เพื่อใช้งานในวันหน้า ดังนั้นบทเรียนและหลักสูตร จะต้องถูกออกแบบอย่างมีวิสัยทัศน์ เป็นองค์ความรู้ในศตวรรษที่ 21 ในยุคดิจิทัล ที่สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ก็มองไปข้างหน้า เตรียมขับเคลื่อนไปสู่อนาคต เช่น หากจะเรียนวิชาการเกษตร เนื่องจากเราเป็นประเทศเกษตรกรรม แต่กว่าจะเรียนจบ ตั้งแต่ประถม – มัธยม – อุดมศึกษา ก็ใช้เวลา 6 + 6 + 4 หรือ 16 ปีเข้าไปแล้ว สิ่งที่เรียนก็จะเริ่มล้าสมัย หากไม่มีการปรับปรุงหลักสูตรอยู่เสมอ ดังนั้น การวิจัยและพัฒนา ก็ต้องแสวงหาองค์ความรู้ใหม่ ๆ ป้อนสถานศึกษาด้วย ควบคู่ไปกับการสนับสนุนให้สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะนำไปสู่การต่อยอดในเชิงพาณิชย์ สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ (3) การปฏิรูปการศึกษา ก็เหมือนกับการปฏิรูปด้านอื่น ๆ ที่เราต้องมองตั้งแต่ต้นทาง ไปจนถึงปลายทาง มองให้เห็นทะลุเป็นเส้นตรงเดียวกัน มองให้ทะลุ ซึ่งต้องช่วยกันมอง ช่วยกันออกแบบ และมีการปรับปรุงแก้ไขตลอดเวลา รัฐบาลก็คือทีมไทยแลนด์ ต้องทำงานบูรณาการกัน กระทรวงศึกษาธิการในฐานะ “ผู้ผลิต” ซึ่งก็มีหลายส่วนด้วยกัน ทั้งประถม มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา อุดมศึกษา มีทั้งในระบบและนอกระบบ ซึ่งมีความแตกต่างกันไปในการบริหาร เพราะฉะนั้นทุกคนจะต้องมาหารือกันต้องพูดคุยกับกระทรวงเกษตรฯ – อุตสาหกรรม และกระทรวงอื่น ๆ ที่เป็น “ผู้ใช้แรงงาน” ด้วย ทำอย่างไรจะให้เด็กเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ไปด้วย เช่น เราตั้งเป้าหมายในการสร้าง 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย มีอะไรบ้าง กระทรวงต่าง ๆ ก็ต้องมาพูดคุยกันให้ข้อมูลไป เพื่อจะให้กระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำหลักสูตรการศึกษา โดยไม่ทิ้งให้เป็นหน้าที่เฉพาะของกระทรวงศึกษาธิการเพียงอย่างเดียว ทุกหน่วยงานต้องเตรียมทำงานของตัวเองให้สอดคล้องไปด้วย กล่าวได้ว่า ผมอาจจะกำหนดวิสัยทัศน์ได้ คิดได้ แต่ก็อาจจะทำได้ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ หรือนำไปสู่การปฏิบัติได้ ด้วยตัวผมคนเดียวทั้งหมด หรือด้วยรัฐบาลทั้งหมด หรือกระทรวงศึกษาธิการทั้งหมด มันเป็นไปไม่ได้ ผมต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และทุก ๆ คน และ (4) การศึกษาต้องไม่เพียงแต่สร้างคนเก่ง แต่ต้องเป็นคนดีด้วย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่ว่า “ความรู้คู่คุณธรรม” จึงจะนับได้ว่าสำเร็จการศึกษาวิชาชีวิตนะครับ นอกจากนี้ การศึกษาผมคิดว่าขึ้นอยู่กับสถานบันการศึกษา ครู เด็กผู้เรียนด้วย ที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องเอาใจใส่ร่วมมือกันมีหน้าที่ร่วมกันทั้งสองฝ่ายทั้งฝ่ายให้และฝ่ายรับในการถ่ายทอดวิชาความรู้ คุณธรรม มีความกระตือรือร้น มีการนำไปใช้ประกอบทำมาอาชีพในชีวิตประจำวันอีกด้วยในอนาคต
สำหรับปัญหาพืชผลทางการเกษตรก็มีสถานการณ์น่าเป็นห่วง เนื่องจากตลาดภายนอกประเทศต้องมาเจอปัญหากับสงครามทางการค้า และเศรษฐกิจที่บางพื้นที่อาจจะยังไม่ฟื้นตัวดีนัก มีกติกาใหม่ๆ มากมาย ราคาน้ำมันก็ยังผันผวนมีขึ้นบ้างลงบ้าง สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ไม่แน่นอน ทำให้ราคาส่งออกสินค้าเกษตรของเราและของทุกประเทศไม่ใช่ของประเทศเราประเทศเดียว ประเทศรอบบ้านที่ผมไปประชุมอาเซียนมาก็มีปัญหาหมด ไม่ว่าจะยาง ปาล์ม ก็ยังโชคดีที่ปีนี้ข้าวดีขึ้น ในหลายประเทศก็เจอพายุเข้าไป เพราะฉะนั้นการกำหนดราคาไปอาจจะยังไม่แน่นอนมากนักขึ้นอยู่กับความต้องการภายนอกมากน้อยเพียงใด รัฐบาลก็พยายามจะหามาตรการที่เหมาะสมแก้ไขให้อยู่นะครับ โดยเฉพาะปัญหาที่เดือดร้อนมากที่สุดคือยาง เราต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาเราก็พยายามส่งเสริมในเรื่องการใช้ยางของประเทศมากแล้วเป็นไปได้ช้าเพราะโรงงานต่างๆ ยังสร้างไม่เสร็จ เราผลิตมาได้โดยประมาณ 4.5 ล้านตันต่อปี เราใช้ในประเทศประมาณ 5 แสนตันเท่านั้นเอง ฉะนั้นอีก 4 ล้านตันเราต้องส่งขายออกนอกประเทศ ราคาเราก็ถูกกดราคาจากภายนอกมีการปลูกในพื้นที่อื่นๆ ด้วย ในต่างประเทศอีกด้วย เพราะเขาต้องการความมั่นคงทางด้านพลังงานของเขาเหมือนกันและอาหารด้วย และหลายประเทศก็มีปัญหาในเรื่องของการใช้น้ำมันปาล์ม แม้กระทั่งเอาน้ำมันปาล์มไปผลิตเป็นพืชพลังงานก็มีปัญหาไปหมด รัฐบาลก็ต้องแก้ปัญหาทั้งในพหุภาคีและทวิภาคีด้วย ทั้งในประเทศอีกด้วย เพราะฉะนั้นทั้งรัฐ เกษตรกร พ่อค้า ต้องเข้าใจกันตรงนี้ และต้องช่วยกันแก้ปัญหาให้ได้ อย่ามัวแต่โทษกันไปโทษกันมา รัฐบาลก็พยายามเสนอแนะหาวิธีการแต่ทุกอย่างก็ไม่ได้ว่าจะแก้ได้ พืชเกษตร แก้อย่างเดียว แก้ทีเดียว แก้ครั้งเดียวแล้วก็จะแก้ได้ เป็นไปไม่ได้หรอกครับ สถานการณ์เปลี่ยนไปตลอดเวลา ขึ้นอยู่ว่ามากหรือน้อยเท่านั้นเอง
สุดท้ายนี้ มีเรื่องร้องเรียนผ่านช่องทางสื่อสารออนไลน์ใหม่ของผม เป็นจำนวนมาก เกี่ยวกับ “เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด” ซึ่งผมก็ได้มอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ไปดำเนินการสอบสวนติดตาม หาข้อบกพร่องในระบบเป็นการเร่งด่วนแล้ว ว่าทำไมประชาชนผู้มีสิทธิ์ แต่ยังไม่ได้รับตามสิทธิ์ ติดขัดอย่างไร หากปรากฏตรวจพบว่ามีการทุจริตในระบบ ก็จะต้องดำเนินการขั้นเด็ดขาด ขอให้ดำเนินการอย่างรวดเร็วด้วย
ส่วนผู้ที่มีความเดือดร้อน หรือพบเห็นการกระทำผิด แล้วส่งข้อมูลมาหาผมเป็นการส่วนตัวนั้นข้อมูลของท่านเหล่านี้ จะถูกเก็บเป็นความลับ โดยผมจะส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการแก้ปัญหาเหล่านั้น ให้ได้โดยเร็ว ซึ่งได้รับรายงานว่าบางเรื่องก็ได้ดำเนินการแก้ไขสิ้นสุดไปแล้ว ผู้ร้อง ผู้ที่เดือดร้อนก็ได้รับทราบความคืบหน้าในการดำเนินการเป็นระยะๆ ไปแล้ว อันนี้รวมความไปถึงที่แจ้งมายังศูนย์ดำรงธรรมด้วยมีเป็นล้านๆ เรื่อง
ขอบคุณครับ ขอให้ทุกคนมีความสุข ขอให้ทุกคน ทุกครอบครัว ชาวไทย คนไทยได้เป็นเจ้าบ้านที่ดี ขอให้ชาวอาเซียนมาร่วมมือกัน กับพวกเราในการร่วมมือร่วมใจก้าวไกล ยั่งยืน นะครับ สวัสดีครับ ขอบคุณครับ แล้วพบกันใหม่
ชมรายการย้อนหลังผ่านยูทูป ช่องวีดีโอ chorsaard