รายการ "ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" วันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม 2561

Last updated: 26 ต.ค. 2561  |  2383 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รายการ "ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" วันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม 2561

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม 2561 เวลา 20.15 น.
-------------------------

 

สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน

23 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในรัชสมัยของพระองค์ ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายในบ้านเมืองของเรา ที่สร้างความ เจริญก้าวหน้าให้ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ ด้วยพระราชกรณียกิจที่ยังความผาสุกให้เกิดแก่ประชาชน ทวยราษฎร์ทั้งปวงจึงน้อมใจแสดงความจงรักภักดี ด้วยการถวายพระนามว่า “สมเด็จพระปิยมหาราช” หรือพระพุทธเจ้าหลวง โดยกำหนดให้ทุกวันที่ 23 ตุลาคม เป็น “วันปิยมหาราช” พระราชกรณียกิจสำคัญที่นับว่าเป็นการปฏิรูปประเทศครั้งยิ่งใหญ่ ก็คือ “การเลิกทาส” อย่างค่อยเป็น ค่อยไป ปราศจากการเสียเลือดเนื้อ หรือการต่อต้านที่รุนแรง เหมือนที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ โดยอาศัยมาตรการทางกฎหมาย และด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์ จนประสบความสำเร็จได้ในเวลาเพียง 30 ปีเศษ ทาสในเมืองไทยก็หมดไป นอกจากนี้ ยังมีการปฏิรูประบบราชการให้ทันสมัย การปฏิรูประบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน อาทิ การไฟฟ้า การประปา การไปรษณีย์ โทรเลข โทรศัพท์ และการสาธารณสุข เป็นต้น

สำหรับการเสด็จประพาสยุโรป นับเป็นพระราชกรณียกิจที่สำคัญอีกประการของพระองค์ ที่ไม่เพียงเพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีกับประเทศต่าง ๆ ในยุโรปเท่านั้น แต่ยังทรงเลือกสรร เอาแบบแผน ขนบธรรมเนียมอันดีในดินแดนเหล่านั้น มาปรับปรุงประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรืองขึ้น เป็นที่ยอมรับของชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวตะวันตก ที่สำคัญช่วยให้ชาติไทยเราเป็นประเทศเอกราช ไม่ตกเป็นเมืองขึ้นของใครจวบจนทุกวันนี้

ในการนี้ เพื่อแสดงออกซึ่งความจงรักภักดี และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ รัฐบาลได้จัดกิจกรรมต่าง ๆ ประกอบด้วย พิธีทำบุญตักบาตร พิธีวางพวงมาลาและถวายบังคม หน้าพระบรมราชานุสรณ์ ณ พระลานพระราชวังดุสิต อีกทั้งพิธีถวายบังคมและจุดเทียน เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ ท้องสนามหลวง โดยขอเชิญชวนประชาชน แต่งกายด้วยเสื้อโทนสีชมพูในวันอังคารที่ 23 ตุลาคมนี้ อย่างพร้อมเพรียงกันทั่วประเทศครับ

พี่น้องประชาชนที่รักครับ

การปฏิรูปประเทศนั้น ต้องอาศัยระยะเวลาและการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และความร่วมมือจากทุก ๆ คน ผมขอยกเหตุการณ์เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2515 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นผู้อำนวยการสาธิตการสร้างฝนเทียมเพื่อเติมน้ำในแหล่งเก็บกัก โดยเลือกพื้นที่เขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งมีพื้นที่ผิวน้ำเพียง 46.5 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 1,160ไร่ เป็นพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งถือว่าเป็นเป้าหมายที่เล็กที่สุดเท่าที่เคยมีการทดลองสร้างฝนเทียม โดยการสาธิตดังกล่าวประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่ง พระองค์สามารถสร้างฝนเทียมให้ตกลงในพื้นที่เป้าหมายได้อย่างแม่นยำจนเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลก ท่ามกลางสักขีพยานซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์และสื่อมวลชน ทั้งชาวไทยและต่างประเทศเป็นจำนวนมาก นับเป็นก้าวสำคัญก้าวหนึ่งของการปฏิรูปประเทศ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ที่เป็นความเดือดร้อนของพสกนิกรชาวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวนาไทย ดังนั้น วันที่ 19 ตุลาคม ของทุกปี จึงถูกกำหนดให้เป็น “วันเทคโนโลยีของไทย” เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ และพระปรีชาสามารถของพระองค์ในครั้งนั้น

สำหรับวันนี้ ผมขอยกตัวอย่างการปฏิรูปภาคเกษตรกรรม ที่รัฐบาลนี้ ได้สืบสาน รักษา ต่อยอดศาสตร์พระราชาต่าง ๆ ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการภาคเกษตรใหม่ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและรายได้ แก่เกษตรกรไทย ให้หลุดพ้นจากวังวนแห่งปัญหาเดิม ๆ อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น อาทิ
1. การปรับโครงสร้างการทำงานของหน่วยงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในพื้นที่ ให้มีการบูรณาการเชื่อมโยงกันระหว่างหน่วยงานรัฐและภาคเอกชน ในรูปแบบคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ระดับจังหวัด ส่งผลให้การทำงานในภาพรวมมีเอกภาพ สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและตรงจุด
2. การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบอย่างบูรณาการกัน ร่วมกับหลายหน่วยงาน ภายใต้กำกับของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ส่งผลให้มีการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบกระจายน้ำได้มากกว่าที่ผ่านมาถึง 4 เท่า ก่อนที่เราจะเข้ามา สามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทาน กว่า 3,500 แห่ง บนพื้นที่กว่า 2.8 ล้านไร่ มีพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์รวม 9.74 ล้านไร่ สามารถเพิ่มปริมาณน้ำได้ 1,652 ล้านลูกบาศก์เมตร เกษตรกรได้รับประโยชน์จากการดำเนินโครงการ 1.3 ล้านครัวเรือน และมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2,750 บาทต่อไร่ นอกจากนี้ ยังได้จัดทำที่พักน้ำหลากด้วยระบบแก้มลิงตามพระราชดำริ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมที่ทุ่งบางระกำและทุ่งเจ้าพระยา ซึ่งเรายังคงต้องทำต่อเนื่อง และมีอีกหลายโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ผ่าน ๆ มาไม่ได้ทำหรือทำไม่ได้ แต่เกิดขึ้นในรัฐบาลนี้อยู่หลายโครงการด้วยกันนะครับ
3. การส่งเสริมการทำเกษตรสมัยใหม่ เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มช่องทางการตลาด โดยสนับสนุนให้มีการรวมกลุ่มกันทำการเกษตรแบบแปลงใหญ่ และจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกร รวมทั้งจัดหาภาคเอกชนเข้ามาเป็นผู้รับซื้อผลผลิตจากกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่โดยตรง ในส่วนของร้านค้าก็มีร้านค้าประชารัฐรวมเข้าไปด้วย ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนสหกรณ์การเกษตรให้มีบทบาทเป็นหน่วยธุรกิจร่วมกับภาคเอกชน ภายใต้กลไกกลุ่มสานพลังประชารัฐ รวมทั้งพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ หรือ Smart farmer เพื่อทดแทนเกษตรกรสูงอายุ และเพิ่มช่องทางการตลาดผ่านระบบออนไลน์เป็นต้น ที่สำคัญ รัฐบาลต้องการส่งเสริมให้เกษตรกรมีความรู้และมีภูมิคุ้มกันด้วย จะได้สามารถพัฒนาตนเอง และเข้มแข็งได้ด้วยตัวเองอย่างยั่งยืน
4. การแก้ไขปัญหาราคาข้าวให้มีเสถียรภาพ โดยร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ จัดทำแผนการผลิตข้าวครบวงจร ด้วยการส่งเสริมให้เกษตรกรที่ทำนาในพื้นที่ไม่เหมาะสม หันไปทำการเกษตรอย่างอื่น แทนการทำนา ครั้งที่ 2 โดยใช้มาตรการจูงใจ ด้วยการหาผู้รับซื้อผลผลิต และรับรองราคารับซื้อขั้นต่ำ ทำให้ปริมาณข้าวลดลง ราคาข้าวมีเสถียรภาพ ทั้งนี้ ผู้ที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการก็ทำได้หลายรายแล้ว และประสบความสำเร็จจำนวนมาก
5. การแก้ไขปัญหาเกษตรกรอย่างยั่งยืน ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชน จัดทำแผนการผลิตทางการเกษตรของประเทศ ตามนโยบายการตลาดนำการผลิตของรัฐบาล โดยมีหลักการก็คือ เกษตรกรควรรู้ปริมาณความต้องการ และราคาซื้อ-ขายผลผลิตทางการเกษตรก่อนลงมือเพาะปลูก และภาครัฐมีมาตรการลดความเสี่ยงในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมต่าง ๆ ให้แก่เกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรเปลี่ยนวิธีทำการเกษตรแบบเดิม หันมาทำตามแผนการผลิตดังกล่าว โดยจะเริ่มดำเนินการในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ เป็นต้นไป ซึ่งเราคงต้องติดตามสถานการณ์ตลาดโลกด้วย เราตั้งราคาเองโดยตั้งราคาสูงไว้ก่อนทำนองนี้ไม่ได้ เพราะจะต้องแข่งขันในตลาดโลก เราต้องสร้างราคาให้เหมาะสม ให้สมดุลกันระหว่างดีมานด์กับซับพลายด้วย
6. การแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร ด้วยการเจรจาไกล่เกลี่ยกับสถาบันการเงินเจ้าหนี้ ทำให้เราสามารถปรับโครงสร้างหนี้สินเกษตรกรได้มากกว่า 36,000 ราย ลดภาระหนี้ของเกษตรกรได้ประมาณ 10,200 ล้านบาท และเราจะต้องติดตามเจ้าหนี้รายใหม่ ๆ รายใหญ่ ๆ ซึ่งอาจจะคงมีเหลืออยู่ ก็ขอให้ทุกคนระมัดระวังในการปล่อยกู้ด้วย ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของการปฏิรูปนั้น จะต้องเริ่มจากตนเองก่อนเสมอ จากนั้นก็จะต้องร่วมแรง ร่วมใจ ร่วมมือกัน ในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ของประเทศให้ได้อย่างยั่งยืน

พี่น้องประชาชนที่รักทุกท่านครับ

การปฏิรูปประเทศนั้น เราจะมองเฉพาะในมุมของเรา หรือปัจจัยภายในประเทศ แต่เพียงอย่างเดียวคงไม่ได้ เราต้องทำงานเชิงรุก โดยสร้างจุดยืนของเราในเวทีระหว่างประเทศ ที่เป็นปัจจัยภายนอกด้วย ให้สามารถรู้เท่าทัน ไปจนถึงสร้างสภาวะที่เกื้อกูลต่อการขับเคลื่อนประเทศของเราไปด้วย

ช่วงเดือนตุลาคมนี้ ผมมีโอกาสได้เดินทางไปต่างประเทศ เพื่อเข้าร่วมการประชุมต่าง ๆ บ่อยครั้ง ได้รับทราบมุมมองของประเทศต่าง ๆ ก็อยากมาเล่าสู่กันฟังกับพี่น้องประชาชนคนไทย หลังจากกลับมาจากการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นในวันที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมาแล้ว ผมก็ได้เดินทางไปประชุมระดับผู้นำอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ โดยมีผู้นำองค์การระหว่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่ องค์การสหประชาชาติ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ และธนาคารโลก ที่เมืองบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ซึ่งท่านผู้นำอาเซียนได้ร่วมกันแสดงวิสัยทัศน์ และบทบาทที่สำคัญในความร่วมมือที่จะผลักดันการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) รวมถึงการลดช่องว่างการพัฒนาเพื่อส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค โดยใช้ประโยชน์จากความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภูมิภาค และความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ เราต้องคำนึงถึงความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในด้านเศรษฐกิจอีกด้วย การประชุมครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญที่องค์การระหว่างประเทศได้ให้กับภูมิภาคอาเซียน และประเด็นเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ผมก็ได้แลกเปลี่ยนมุมมองกับที่ประชุม ในเรื่องหลัก ๆ 3 เรื่อง ได้แก่
1. การส่งเสริมเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินของภูมิภาค และของโลก ภายใต้ภาวะแวดล้อมที่มีความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจสูง ซึ่งที่ผ่านมาฐานะด้านการต่างประเทศของไทยที่เข้มแข็ง และการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจแบบผสมผสาน รวมทั้งมีความยืดหยุ่น เหมาะสมกับสถานการณ์ ก็ได้ช่วยบรรเทาความผันผวนในตลาดการเงินได้ในระดับหนึ่ง และส่งเสริมเศรษฐกิจของภูมิภาคในอนาคต ผมจึงขอให้ทุกฝ่ายร่วมกันสนับสนุนนโยบายการค้าเสรีอย่างต่อเนื่อง แต่จะต้องสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินตั้งแต่ในระดับประเทศ ก็คือมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพียงพอ และมีหนี้สินต่างประเทศที่ไม่สูงจนเกินไป ให้เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งขณะนี้หนี้ต่างประเทศของเราอยู่ที่ประมาณร้อยละ 35 ซึ่งนับว่าดีกว่าหลักเกณฑ์สากลที่กำหนดว่าไม่ควรสูงเกินร้อยละ 80 อันนี้เป็นเรื่องของหนี้ต่างประเทศ หนี้สาธารณะนั้นอีกตัวหนึ่ง อันนั้นเราไม่เกิน 60 ในภาพรวม เรามีประมาณ 40 กว่า ๆ ซึ่งที่กำหนดไว้แล้วนั้น ก็จะต้องมองไปตามขนาดเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งหากเกินกว่านั้นก็จะเป็นสัญญาณอันตรายในระดับภูมิภาค ผ่านความร่วมมือทางการเงินและความช่วยเหลือกันในด้านต่าง ๆ และในระดับโลก ผ่านความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศในการสอดส่องดูแลเศรษฐกิจการเงิน และการสนับสนุนทางการเงินที่เป็นวงกว้าง เพื่อช่วยเหลือประเทศที่เกิดวิกฤต และป้องกันไม่ให้วิกฤตลุกลามไปยังประเทศอื่น ๆ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ประเทศสามารถมีกันชน ช่วยป้องกันความเสี่ยงทางการเงินได้ดีขึ้นแล้ว กลไกความร่วมมือเหล่านี้ยังจะช่วยเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงบริการด้านการเงินของประชาชนได้มากขึ้นด้วย
2. ผมได้เชิญชวนให้ World Bank และ UN ทำการศึกษาวิจัยเพื่อจะเพิ่มความเชื่อมโยงระหว่างยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยงเดิมในภูมิภาค เช่น ACMECS และ IMT-GT รวมถึงการสร้างหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่าง World Bank, ADB และ AIIB ในการระดมทุน
และ 3. การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของ UN หรือ SEP for SDG ในบริบทของภูมิภาค ประกอบกับการที่อาเซียนจะจัดตั้งศูนย์อาเซียนเพื่อการหารือและการศึกษาวิจัยด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทย ในปี 2562 ก็ถือเป็นปัจจัยส่งเสริมให้อาเซียนบรรลุ SDGs และเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางมากยิ่งขึ้น ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และมีวิสัยทัศน์ สร้างอนาคตร่วมกันอย่างมียุทธศาสตร์

นอกจากนี้ ผมได้เน้นย้ำความสำคัญของการพัฒนามนุษย์ ที่ถือเป็นหัวใจของการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของธนาคารโลก โดยได้เสนอว่า ไทยพร้อมจะเป็นเจ้าภาพในการหารือเรื่องการพัฒนาทุนมนุษย์ระหว่างอาเซียน, World Bank, IMF และ UN ซึ่งประธานธนาคารโลกก็ยอมรับว่าในอดีตได้เคยแนะนำให้ประเทศต่าง ๆ ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานก่อน จนเศรษฐกิจโตระดับหนึ่ง แล้วค่อยลงทุนกับทรัพยากรมนุษย์ แต่ประเทศไทยกลับให้ความสำคัญกับคนเป็นอันดับแรก อาทิ การลงทุนด้านสาธารณสุขอย่างครอบคลุมทั่วถึง ซึ่งได้ส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตของประเทศอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันธนาคารโลกจึงหันมาสนับสนุนให้นานาประเทศให้ความสำคัญกับการพัฒนาทุนมนุษย์ ได้แก่ การดูแลประชากรทั้งในด้านการศึกษาและด้านสุขภาพ เนื่องจากจะมีผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยการประชุมครั้งนี้ได้สร้างแรงผลักดันสำคัญที่มุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามแนวทางที่ประเทศไทยกำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งก็จะเป็นการปูทางสำหรับการเป็นประธานอาเซียนของไทยในปีหน้าด้วย

สำหรับระหว่างวันที่ 18 และ 19 ตุลาคมนี้ ผมได้เข้าร่วมการประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป (ASEM) ครั้งที่ 12 เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นต่อสถานการณ์ และพัฒนาการทางด้านเมืองความมั่นคง เศรษฐกิจและสังคมของโลก เพื่อจะกำหนดทิศทาง แนวนโยบายในการกระชับความสัมพันธ์ ส่งเสริมความร่วมมือ และเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างกัน โดยสหภาพยุโรปในฐานะเจ้าภาพได้กำหนดหัวข้อหลักของการประชุมฯ ว่า “ยุโรปและเอเชีย หุ้นส่วนระดับโลกเพื่อความท้าทายระดับโลก” โดยมีผู้นำจากประเทศในเอเชียและยุโรปจำนวน 51 ประเทศ กับอีก 2 องค์กรนานาชาติ ได้แก่ สหภาพยุโรปและสำนักเลขาธิการอาเซียน เข้าร่วมด้วย

การประชุมในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีในการส่งเสริมบทบาทของประเทศไทยในเวที ASEM ซึ่งผมก็จะได้แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือ เพื่อการเติบโตที่ครอบคลุมและความเชื่อมโยงอย่างยั่งยืน สนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ซึ่งไทยสนับสนุนให้เอเชียและยุโรปเข้าร่วมเป็น “หุ้นส่วนเพื่อความยั่งยืน” และความเชื่อมโยงที่เป็นรูปธรรม เพื่อรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ทั้งจากธรรมชาติ จากน้ำมือมนุษย์และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี นอกจากนี้ ผมยังมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้นำอื่น ๆ ในการส่งเสริมความร่วมมือพหุภาคีต่อสถานการณ์ในภูมิภาคและของโลก ทั้งในเรื่องการสนับสนุนการค้าเสรี และการปรับกฎกติการะหว่างประเทศให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ ๆ ร่วมกัน ในช่วงการประชุมหารืออย่างไม่เป็นทางการอีกด้วย
ภายหลังการประชุม ASEM ผมยังได้เข้าร่วมการประชุม EU-ASEAN Leaders' Meeting ซึ่งได้มีการหารือเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับสหภาพยุโรปในด้านต่าง ๆ ภายใต้แผนปฏิบัติการอาเซียน – อียู ค.ศ. 2018 ถึง 2022 เพื่อจะแก้ไขปัญหาระดับโลก รวมทั้งการร่วมกันรับมือกับสงครามการค้าและการสร้างดุลยภาพใหม่ทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก และอินโด - แปซิฟิก รวมถึงการยกระดับความเชื่อมโยงระหว่าง 2 ภูมิภาคไปสู่ความเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อ ทั้งในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมดิจิทัล กฎระเบียบ รวมถึงความเชื่อมโยงของประชาชนเพื่อจะเตรียมการสำหรับอนาคต ซึ่งเป็นความท้าทายที่เกิดมาจากหลากหลายมิติ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเข้าสู่สังคมสูงวัย และการสร้างสมดุลระหว่างประเด็นด้านมนุษยธรรม กับการรักษาเสถียรภาพและความมั่นคง สิ่งเหล่านี้จะเป็นประเด็นที่เป็นประโยชน์และ อาจส่งผลต่อเนื่องในช่วงที่ไทยได้รับหน้าที่ประธานอาเซียนต่อไปด้วย

สุดท้ายนี้ ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ได้มีการจัดนิทรรศการ “สร้างความสุข” ให้ชาวจังหวัดกาฬสินธุ์และแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นจังหวัดนำร่องแก้ปัญหารายได้ให้กับพี่น้องประชาชน ด้วยการแสวงหาจุดแข็ง - จุดขายของตนมาขยายผล ทำให้นึกถึงการรวมกลุ่มกันของ Girl group ชื่อ “แพรวา จีจี้” มีสมาชิก 18 คน จาก 18 อำเภอของจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นการนำเสนอผลงานเพลงเป็นภาษาถิ่น และท่าเต้นแบบพื้นบ้านประยุกต์ ซึ่งสิ่งที่ผมเห็นว่าน่าสนใจก็คือการนำผ้าไหมแพรวา ผ้าทอมือที่เป็นเอกลักษณ์ของภูไท มาตัดเย็บเป็นชุดของศิลปินที่สามารถดัดแปลง ออกแบบเสื้อผ้าให้แปลกใหม่ ทันสมัย พลิ้วไหว ทั้งหมดเป็นผลงานผลผลิตจากคนในท้องถิ่นเอง ออกสู่สายตาชาวไทยทั่วประเทศ ผมเห็นว่าจังหวัดต่าง ๆ ล้วนก็มีผ้าพื้นบ้าน ที่มีเอกลักษณ์ รูปแบบ สวยงาม แตกต่างกันไป แต่อาจไม่แพร่หลาย ไม่เป็นที่รู้จักในต่างถิ่นหรือไม่ได้รับการพัฒนาจนสามารถส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศได้ มีการนิยมใช้กันเองในท้องถิ่นโดยเฉพาะผู้สูงอายุ ส่วนเยาวชนก็จะแต่งผ้าพื้นเมืองตามงานเทศกาลงานบุญ ผมเองก็คิดว่าหากได้รับการพัฒนาในเรื่องของการออกแบบเพื่อนำไปใช้ในรูปแบบอื่น ๆ บ้าง นอกจากจะเป็นการอนุรักษ์แล้ว ก็น่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีกด้วยเช่น เอาไปทำเครื่องแต่งกายนักแสดง กระเป๋า รองเท้า ผ้าม่าน ผ้าปูที่นอน หรืออะไรก็ตามที่เห็นว่าเหมาะสม ต้องริเริ่มสร้างสรรค์ ตอบสนองตลาดท้องถิ่น ตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศด้วย

ดังนั้น ผมเห็นว่าเกริ์ล กรุ๊ป “แพรวา จีจี้” ไม่ได้เป็นเพียงศิลปิน นักร้อง แต่อาจเรียกได้ว่าเป็นนางแบบเสื้อผ้า และเป็นสินค้า OTOP ของ จ.กาฬสินธุ์ ผ่านเวทีการแสดงที่เริ่มสร้างมูลค่าเพิ่ม จากในท้องถิ่นออกสู่สายตาชาวไทยและชาวต่างชาติ ให้รู้จัก “ผ้าไหมแพรวา” สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่สนับสนุนให้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ในการสร้างงาน สร้างรายได้ จากสิ่งที่มีอยู่เดิม แล้วพัฒนาไปสู่กิจกรรมเชิงพาณิชย์ นำรายได้เข้าสู่ชุมชนท้องถิ่นให้ได้ เพื่อกระจายรายได้ กระจายความเจริญ ออกสู่ทุกภูมิภาคของประเทศ แม้กระทั่งการเป็นศิลปิน ก็ไม่จำเป็นต้องการเสี่ยงโชค เสี่ยงชะตา ห่างหายบ้านนาเข้ามาเมืองกรุง เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลและสื่อโซเชียล ก็เปิดกว้างให้ทุกคนสามารถนำเสนอสินค้า แสดงความสามารถของตนได้จากทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ

ยิ่งกว่านั้น วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ เป็นต้นไป สถานีโทรทัศน์ NBT ของกรมประชาสัมพันธ์ จะทำการทดลองออกอากาศทีวีดิจิทัลในระดับภูมิภาค ผ่านช่องหมายเลข 11 เหมือนกันทั้งประเทศ แต่เนื้อหาต่างกัน ซึ่งจะเป็นการผลิตรายการโดย NBT ใน 4 ภูมิภาค ตามภูมิศาสตร์ของประเทศ เหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ เพื่อนำเสนอข่าวสารและสาระความรู้ เจาะลึกท้องถิ่นมากขึ้น ต่อไปเวลาเดินทางไปไหนในประเทศไทย เมื่อตื่นขึ้นมาจะได้รู้ว่าอยู่ภาคไหน เป็นการเสริมสร้างเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมประจำถิ่น ทั้งข่าวสารจากทีวี วิทยุ การแต่งกายของคนท้องถิ่น รวมถึงสถาปัตยกรรม โรงแรม บ้านเรือน ที่เป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่นนั้น ๆ อันเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความมั่นคงทางวัฒนธรรม ซึ่งส่งเสริมความเข้มแข็งให้กับท้องถิ่น ที่รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญ ทุกจังหวัดก็ต้องใช้รูปแบบการพัฒนาเช่นนี้ เราจะได้มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ในระยะยาว

หลายท่านคงทราบแล้วว่าผมได้เริ่มมีเว็บไซต์ส่วนตัว และช่องทางการสื่อสารทางโซเชียลมีเดียอื่น ๆ เช่น เฟสบุ๊ก อินสตาแกรม และทวิตเตอร์ ไปพร้อมกัน ผมก็ต้องการใช้เป็นอีกช่องทางในการสื่อสารกับพี่น้องประชาชน ในรูปแบบการสื่อสารสองทาง นอกจากจะเป็นช่องทางที่พี่น้องประชาชนจะสามารถรับรู้ รับทราบ และเข้าใจ ถึงการทำงานและนโยบายของผม และรัฐบาลได้สะดวกขึ้น แล้ว ก็ยังเปิดโอกาสให้พี่น้องประชาชนสามารถจะส่งข้อเสนอแนะ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น อันเป็นประโยชน์ หรือแจ้งความต้องการให้รัฐบาลทราบ เพื่อจะได้ลงไปดูแลหรือแก้ปัญหาในเรื่องใด ก็สามารถแจ้งเข้ามาส่งข้อมูลเข้ามาได้ ซึ่งถือเป็นการนำเทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับการทำงานของผม ของรัฐบาล

ที่ผ่านมาก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ก็มีพี่น้องประชาชนเขียนเข้ามามากมาย ผมก็ได้ติดตามอ่านอยู่อย่างสม่ำเสมอ อะไรที่ตอบได้เองก็จะตอบไป แล้วก็จะมีทีมงานที่ช่วยคอยติดตามด้วย เพื่อจะรวบรวม สรุปข้อคิดเห็น และปัญหาต่าง ๆ เป็นหมวดหมู่ แจ้งให้ผมได้ทราบเป็นระยะ ๆ เพื่อจะได้แก้ไขปัญหา ในอนาคต ผมก็จะหาเวลามาชี้แจง และตอบในประเด็นคำถามสำคัญ ๆ ตามช่องทางดังกล่าวด้วยตัวของผมเองอีกด้วยครับ

ล่าสุดในเฟสบุ๊ก มีเด็กนักเรียนจากต่างจังหวัด เขียนมาขอคำปรึกษาว่า “ทำไมเวลาตั้งใจจะทำอะไรที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม มักมีคนเข้ามาพูดบั่นทอนจิตใจ ไม่ให้กำลังใจ ทำให้บางทีรู้สึกท้อแท้” เมื่อได้อ่าน ก็รู้สึกว่าเด็กคนนี้ต้องเจอกับสิ่งที่ผมเจออยู่บ่อยครั้ง ผมจึงขอเป็นกำลังใจให้ อยากจะบอกว่าขอให้อดทน เราต้องไม่ท้อแท้ในการทำความดี ทำประโยชน์เพื่อสังคม อย่าปล่อยให้คำบั่นทอน หรือคำต่อว่า มาทำให้เป็นอุปสรรคในการทำความดี แต่ให้ยึดมั่นในความตั้งใจดี ทำให้ดี และทำให้มากขึ้น ถ้าในสังคมและประเทศไทยของเรามีคนอย่างเด็กคนนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ผมก็เชื่อว่า ประเทศจะสามารถเดินหน้าต่อไปอย่างมีความสุขและสงบร่มเย็นด้วย

ส่วนในอินสตาแกรม มีเรื่องของการปฎิรูปการศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศให้ยั่งยืน ซึ่งรัฐบาลเองก็อยู่ระหว่างการเร่งหาแนวทางการพัฒนาที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย เพื่อให้ก้าวตามทันกับโลกที่เปลี่ยนเร็วมาก และถ้าหากระบบการศึกษาของเรายังไม่เปลี่ยน วันนี้เราก็ทำหลายอย่างไปแล้ว แต่ต้องใช้เวลาในการให้เกิดผลผลิตออกมาที่มีผลสัมฤทธิ์โดยรวม เพราะว่าถ้าเราไม่เปลี่ยนแล้ว ทรัพยากรมนุษย์ที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการสร้างสังคมความเป็นอยู่ที่ดี อาจพบกับความยากลำบาก ในการดำรงชีวิตหรือในการทำธุรกิจเพื่อให้แข่งขันกับต่างประเทศได้ ดังนั้นหากพี่น้องประชาชนมีความคิดเห็นหรือข้อเสนอในการปรับปรุงระบบการศึกษาเพิ่มเติม ก็สามารถจะส่งกันเข้ามาได้ ผมอยากให้ช่วยกันคิด ถ้าอยากให้ทำอะไร ถ้าเป็นไปได้ก็กรุณาแนะนำด้วยแล้วกัน ถ้าคิดว่าสิ่งที่ตัวเองคิดนั้นเป็นประโยชน์ หรือจะเสริมเติมต่อในส่วนของรัฐบาลด้วย ทั้งนี้เพื่อให้นโยบายตอบโจทย์ความต้องการของพี่น้องประชาชนและประเทศให้ได้มากที่สุด ที่สำคัญ ก็คืออยากให้เป็นการแสดงความคิดเห็นแบบมีเหตุมีผล ยอมรับความเห็นที่อาจจะแตกต่างกันได้ แล้วก็ขอให้ใช้คำพูดที่สุภาพด้วยครับ

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องการทุจริต เรื่องปัญหายาเสพติด เรื่องการบังคับใช้กฎหมาย ก็ช่วยกันส่งกันเข้ามาเยอะแยะ ทั้งหมดผมจะเก็บไว้เป็นข้อมูลและเร่งตรวจสอบ ดำเนินการให้ ผมขอฝากหน่วยงานในพื้นที่ ได้กวดขันดูแล และแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างเข้มงวดและใกล้ชิด บนพื้นฐานของความรับผิดชอบตามลำดับชั้นลงไป เพราะผมถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมากนะครับ

ขอบคุณครับ ขอให้ทุกคนมีสวัสดิภาพ และทุกครอบครัวมีความสุข ปลอดภัยนะครับ สวัสดีครับ

ชมรายการย้อนหลังผ่านยูทูป ช่องวีดีโอ chorsaard

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้