Last updated: 30 ก.ย. 2561 | 2159 จำนวนผู้เข้าชม |
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 28 กันยายน 2561 เวลา 20.15 น.
-------------------------
สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน
รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ด้วยนโยบาย "ไทยแลนด์ 4.0" ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งมีความก้าวหน้าตามลำดับ ตามแผนที่วางไว้ สิ่งที่จะเล่าให้พี่น้องประชาชนฟังในวันนี้ก็เป็นแนวคิดที่จะเร่งรัดการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ประสบความสำเร็จเร็วขึ้น ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า "BCG" B ก็คือ เศรษฐกิจชีวภาพ C ก็คือ เศรษฐกิจหมุนเวียน และ G คือ เศรษฐกิจสีเขียว หลายท่านคงจะสงสัยว่า ทำไมรัฐบาลจึงจะนำแนวคิดเศรษฐกิจทั้ง 3 มาหลอมรวมเพื่อใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งผมก็มีหลักคิด 3ประการก็คือ (1) โมเดลเศรษฐกิจใหม่ (หรือ BCG) ทั้ง 3 เรื่องนั้น จะสอดรับกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่9 (2) เศรษฐกิจ BCG จะช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างถ้วนหน้า โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และ (3) เศรษฐกิจ BCG เป็นรูปแบบเศรษฐกิจที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ SDG ขององค์การสหประชาชาติ ที่ต้องการร่วมกันพัฒนาความเป็นอยู่ของมวลมนุษยชาติ และดูแลโลกของเราในทุกมิติ ซึ่งผมขอขยายความดังนี้ครับ
เศรษฐกิจชีวภาพ หรือ Bio – Economy เป็นการพัฒนาความเข้มแข็งจากภายใน หรือศักยภาพที่เรามีอยู่แล้วในตัวของเราเอง ประกอบไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ และการเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรของโลก ด้วยการประยุกต์ใช้ความรู้ ร่วมกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม มาพัฒนาต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากรชีวภาพ และผลผลิตทางการเกษตร โดยเน้นสร้างความสมดุลทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นมากมายในบ้านเมืองเรา เพียงแต่เราต้องไม่หยุดค้นคว้าหาความรู้ใหม่ ๆ ประยุกต์จากตัวอย่างความสำเร็จของผู้อื่น และไม่ปิดรับความเปลี่ยนแปลงของโลก อาทิ ข้าวไรซ์เบอรี่ ซึ่งเป็นข้าวที่มีมูลค่าสูง ที่ได้รับการพัฒนาให้มีลักษณะดีด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ สารสกัดจากพืชสมุนไพรเพื่อใช้เป็นเครื่องสำอางหรืออาหารเสริม ซึ่งเพิ่มคุณค่าให้กับสมุนไพรไทยหลายเท่าตัว การผลิตเอทานอล และไบโอดีเซล สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงในภาคขนส่งของประเทศ ช่วยลดการนำเข้าน้ำมันได้ปีละนับแสนล้านบาท จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจชีวภาพนี้ จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ภาคเกษตรกรรมของประเทศ ได้สร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลผลิตดั้งเดิม ซึ่งคงไม่ใช่การขายเป็นวัตถุดิบ แต่เป็นการขายสินค้าแปรรูป โดยอาศัยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมสมัยใหม่ ๆ ดังนั้นเราถือได้ว่าเศรษฐกิจชีวภาพจะเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมการกระจายรายได้และความเจริญ ไปยังสู่ภาคส่วนต่าง ๆ อย่างทั่วถึง ที่สำคัญเศรษฐกิจชีวภาพมีความเกี่ยวเนื่องกับการจ้างงานในระบบไม่น้อยกว่า 16.5 ล้านคน ทั้งในภาคเกษตรอุตสาหกรรมและภาคอุตสาหกรรม ซึ่งนับว่ามากถึงร้อยละ 50 ของจำนวนแรงงานในปัจจุบัน คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ราว 3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 21 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ
สำหรับเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นระบบเศรษฐกิจที่มุ่งสร้างมูลค่าสูงสุดจากทรัพยากรธรรมชาติ ควบคู่ไปกับการลดของเสียลงให้ น้อยที่สุด หรือเป็นศูนย์ (Zero waste) ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต เพื่อลดการใช้น้ำ พลังงาน แต่เพิ่มการใช้เทคโนโลยีสะอาดมากขึ้น อีกทั้ง ให้ความสำคัญกับการป้องกันการเกิดของเสีย และ คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ กระบวนการผลิต การเลือกใช้วัสดุที่สามารถนำมาใช้ซ้ำได้ หรือนำของเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตมาแปรสภาพ เพื่อกลับมาใช้ในรูปแบบอื่น ๆ ได้
สำหรับตัวอย่างของเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศไทย เช่น การนำน้ำเสีย หรือของเสีย หลังจากกระบวนการผลิตแอลกอฮอล์ไปใช้เป็นปุ๋ย ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อปุ๋ยเคมี ทั้งนี้ เศรษฐกิจหมุนเวียนจะมีส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาขยะที่เพิ่มขึ้นทุกปี จากปริมาณ 24 ล้านตันในปี 2551 เป็น 27 ล้านตันในปี 2560แต่ละปีจะมีขยะตกค้างเป็นจำนวนมาก ถูกทิ้งลงแม่น้ำ ลำคลอง และท้องทะเล ก็ทำให้คุณภาพแหล่งน้ำเสื่อมโทรม สัตว์น้ำเสียชีวิตจากการกินขยะในทะเล แนวทางการแก้ปัญหาที่ทำไปแล้วมีทั้งการรณรงค์ลดใช้พลาสติก การใช้พลาสติกอื่น ๆ ด้วย หรือนำพลาสติกกลับมาใช้ซ้ำใหม่ ภาคธุรกิจมองหาแนวทางแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นทาง ได้แก่ การค้นคว้า วิจัย และพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่บางและเบา มีความแข็งแรงทนทานและสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ การนำขยะที่เน่าเสียได้ ไปหมักจนเกิดเป็นก๊าซชีวภาพ แล้วนำมาใช้ในการหุงต้ม ทำให้เกิดการหมุนเวียนจากของเสียไปเป็นพลังงาน แต่ทั้งหมดจะสำเร็จไม่ได้เลย ถ้าพวกเราทุกคนไม่ร่วมมือกันอย่างจริงจัง ไม่แยกขยะ ไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ทรัพยากรที่สิ้นเปลืองให้ลดน้อยลง
ส่วนเศรษฐกิจสีเขียวนั้น เป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจที่เข้ามาแก้ปัญหาโลกในปัจจุบัน ที่กำลังเผชิญกับความเสียสมดุล อันเป็นผลกระทบมาจากอดีต จากการเพิ่มขึ้นของประชากรโลก และนำไปสู่ความต้องการอุปโภค-บริโภคที่เพิ่มขึ้น ทั้งด้านอาหารและพลังงาน ความต้องการพื้นที่ทำการเกษตรและที่อยู่อาศัย อีกทั้งการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง ทำให้ทรัพยากรลดจำนวนลงไปมาก บางส่วนเสื่อมโทรม มีการปล่อยของเสียออกสู่สิ่งแวดล้อมเป็นจำนวนมาก เกินความสามารถของโลก ที่จะรองรับได้ ดังนั้น เศรษฐกิจที่พัฒนาด้วยการคำนึงถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสม และความตระหนักถึงคุณค่า จึงเป็นเศรษฐกิจที่ทุกประเทศต้องนำไปเป็นแนวทางพัฒนา หากทุกประเทศมุ่งแต่จะสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยไม่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสมดุลทางธรรมชาติ ด้วยความต้องการที่มากมายดังกล่าวที่นับวันยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ก็เคยมีคนประเมินว่า ในอีก 30 ปีข้างหน้า โลกอีก 3 ใบ ก็ยังไม่สามารถรองรับความต้องการของมนุษย์ได้ ดังนั้น เราทุกคน ทุกประเทศจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศ ที่สมดุล อย่างยั่งยืน จึงได้ชื่อว่ายุค 4.0 นะครับ
ที่ผ่านมานั้น เราทุกคนได้ประสบกับผลกระทบจากความแปรปรวนของภูมิอากาศ ฟ้าฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ความรุนแรงของภัยธรรมชาติ น้ำท่วม ฝนแล้ง พายุ ก็ส่งผลกระทบโดยอ้อมกับบางอาชีพ แต่กระทบโดยตรงกับพี่น้องเกษตรกรของเรา ทั้งนี้ แนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าวนั้น นอกจากต้องอาศัยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแล้ว ยังต้องมีนโยบายและการบริหารจัดการที่เหมาะสม เพื่อสร้างคุณค่าใหม่ ผลิตภัณฑ์ใหม่ การบริการใหม่ รวมถึงแพลตฟอร์มใหม่ ๆ มากกว่าเพียงแค่เพิ่มคุณค่า แบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยต้องใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่ามากขึ้น ประกอบกับการฟื้นฟูอย่างเหมาะสม ตัวอย่างที่เราสามารถช่วยกันทำได้ทันที อาทิ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านการเกษตรที่ใช้ สารชีวภัณฑ์ทดแทนสารเคมี การใช้พันธุ์พืชให้มีคุณสมบัติต้านทานโรค เพื่อลดการใช้สารฆ่าแมลง ซึ่งเป็นผลเสียต่อตัวเกษตรกร ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม การผลิตในอุตสาหกรรมที่เกิดของเสียน้อยที่สุด หรือนำของเสียมาใช้ใหม่ เป็นต้น ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ จะดำเนินการในระยะต่อไป คือการเร่งลงทุนทางด้านการวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อการสร้างและพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสม
สำหรับประเทศไทยของเราเองนั้น โดยจะต้องเปลี่ยนจากผู้ซื้อมาเป็นผู้ส่งออกนวัตกรรม ในทุกภาคการผลิต และภาคบริการ เพื่อสนับสนุนการพัฒนา เศรษฐกิจ BCG หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ และยั่งยืน ซึ่งความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนทุกคน ถือว่าเป็นพลังสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยก้าวเดินไปสู่จุดหมายได้อย่างที่ตั้งใจไว้ครับ
ช่วงนี้ เป็นปลายฤดูฝน รัฐบาลก็ขอชวนพี่น้องเกษตรกรให้มองไปข้างหน้า โดยนำเอาปัญหาในอดีต มาเป็นโจทย์ให้ช่วยกันขบคิด ก็ไม่อยากให้เกิดปัญหาซ้ำซ้อน อาทิ การทำนาปรังหรือปลูกข้าวนอกฤดูทำนาจนมีผลผลิตล้นตลาด ทำให้ราคาข้าวตกต่ำ วนเวียนทุกปี ดังนั้น ครม. จึงอนุมัติหลักการโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา เนื่องจากพบว่าราคาข้าวในปัจจุบันมีราคาสูงขึ้น โดยวิธีป้องกันไม่ให้ราคาข้าวตกนั้น ส่วนหนึ่งคือไม่ปล่อยให้เกษตรกรฝากชีวิตไว้กับการปลูกข้าวเพียงอย่างเดียว ให้ปลูกพืชชนิดอื่นด้วย แต่ต้องเป็นพืชที่ตลาดต้องการ และอยู่ในพื้นที่ที่สามารถบริหารจัดการเรื่องน้ำได้ ซึ่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นพืชชนิดหนึ่งที่ตลาดมีความต้องการสูง แต่ละปีผู้ประกอบกิจการเลี้ยงสัตว์ต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปีละ 8 ล้านตัน ในขณะที่เราสามารถผลิตได้ เพียงปีละ 4 ล้านตัน ยังมีความต้องการอีก 4 ล้านตัน จึงตั้งเป้าหมายให้ดำเนินการในพื้นที่33 จังหวัด โดยรัฐบาลไม่ได้ให้เงินไร่ละ 2,000 บาทแบบให้เปล่า เหมือนที่ผ่าน ๆ มา แต่ครั้งนี้รัฐบาลจะให้สินเชื่อ คือให้กู้วงเงินไร่ละ2,000 บาท ไม่เกิน 15 ไร่ต่อราย และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี แต่เก็บเกษตรกร หรือสถาบันเกษตรกร ร้อยละ 0.01 ที่เหลือ ร้อยละ 3.99รัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส. เป็นระยะเวลา 6 เดือน อย่างไรก็ตามได้ขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการ ให้รับซื้อข้าวโพดในราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 8 บาท ซึ่งเขาก็ตอบรับ ก็ขอให้ช่วยกันด้วยครับ
ทั้งนี้ หากเกษตรกรทำได้ตามกติกาจะมีกำไรตันละ 2,000 - 3,000บาท ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการปลูกข้าวแล้วต่างกันมาก ทั้งนี้ ถือเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่ง ที่ทำให้เกษตรกรสามารถมีพืชที่จะปลูกแล้วเป็นรายได้ดีกว่าการปลูกข้าว และไม่ทำให้ปริมาณข้าวล้นตลาด ราคาไม่ตก นี่คือความพยายามในการแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรทั้งระบบ ไม่ใช่ลักษณะที่ใครอยากปลูกข้าวก็ปลูกตามอำเภอใจ เพราะทุกอย่างต้องมีการบริหารจัดการและมองไปข้างหน้า เตรียมแผนป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซาก นี่คือหลักคิด และแนวทางการบริหารราชการของรัฐบาลนี้ในทุก ๆ เรื่อง ก็ต้องระวังเรื่องน้ำน้อย น้ำมาก เรื่องคุณภาพของดินด้วย เพราะบางพื้นที่ก็ปลูกได้ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าว แต่ก็ปลูกกันมาโดยตลอด วันนี้รัฐบาลก็หาทางออกให้สามารถจะปลูกพืชชนิดอื่นได้ ไม่ใช่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวหรือปลูกพืชที่มีราคาสูงขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับประชาชน บังคับก็ไม่ได้ แต่ท่านก็ต้องทบทวนตัวเอง ต่อไปขาดทุนมากขึ้นแล้วจะทำอย่างไร รัฐบาลก็ดูแลในด้านการตลาดให้ด้วย
พี่น้องประชาชนที่รักครับ
เราคงไม่อาจจะปฏิเสธได้ว่า "นวัตกรรม" มีความสำคัญกับประเทศของเราในทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ BCG ที่ได้กล่าวไปแล้ว รวมทั้งด้านอื่น ๆ ด้วย จากรายงานของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ระบุว่า ในปี 2561 นี้ ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับ ดัชนีชี้วัดความสามารถทางนวัตกรรม จากองค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก (WIPO) ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์การเฉพาะทางของสหประชาชาติ ให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 44 ของโลก จากทั้งหมด 126 ประเทศ ขยับอันดับดีขึ้นแบบก้าวกระโดด 7 อันดับ จากปีที่แล้วที่เคยอยู่อันดับที่ 51และยังเป็นการเลื่อนอันดับที่ดีขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 นับจากปี 2558 - 2561 อีกทั้งยังเป็นประเทศที่อยู่ในอันดับที่ 5 ของโลกในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง น่ายินดีนะครับ ก็ถือว่าเป็นการพัฒนาความสามารถทางนวัตกรรมที่ดีที่สุดอีกด้วย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของทุกภาคส่วน และความจริงใจของรัฐบาล ในการขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ ภายใต้นโยบาย "ไทยแลนด์ 4.0" ที่ถือเป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาบ้านเมืองของเรา โดยรัฐบาลเน้นกำหนดนโยบาย ปรับปรุงกฎระเบียบ และลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านต่าง ๆ เพื่อสร้างระบบนิเวศ ที่เกื้อกูลต่อการเติบโตด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ของทุกภาคส่วนในห่วงโซ่คุณค่า ทั้งบริษัทขนาดใหญ่ SMEs หรือ Startup ให้สามารถเข้มแข็งและแข่งขันได้ ในโลกการค้าเสรีได้
ล่าสุดรัฐบาลมีนโยบายที่จะดึงวิสาหกิจเริ่มต้น หรือ สตาร์ทอัพ เข้ามาช่วยในระบบบริหาร และบริการของรัฐ โดยการจัดงาน "สตาร์ทอัพ แฟร์" ภายใต้แนวคิด "ปลดล็อคข้อจำกัด พัฒนาสตาร์ทอัพ สู่ตลาดภาครัฐ" ในวันที่ 28 - 29 กันยายน นี้ ณ ฮอลล์ 5-6 อิมแพ็ค เมืองทองธานี เพื่อเบิกทางสตาร์ทอัพ สู่เส้นทางจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ นับว่าเป็นตลาดใหญ่ของสตาร์ทอัพที่มีมูลค่ากว่า 30,000 ล้านบาท (หรือ ร้อยละ1 ของงบประมาณภาครัฐ) อีกทั้งเป็นการสร้างมิติใหม่ที่จะเพิ่มประสิทธิภาพทางนวัตกรรมของภาครัฐ ที่มุ่งยกระดับการให้บริการประชาชนในวันข้างหน้า ในยุคดิจิทัล โดยคาดหวังว่าจะมีมูลค่าการซื้อขายเกิดขึ้นในงานนี้ ประมาณ 1,000 ล้านบาทครับ
ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ผ่านมานี้ ผมก็ได้พบปะ พูดคุย และเห็นศักยภาพตัวแทนสตาร์ทอัพ 5 ราย ที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจ และมีผลงานเป็นคู่ค้ากับภาครัฐแล้ว ซึ่งพร้อมที่จะมาเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชนของภาครัฐ ได้แก่
(1) นวัตกรรมด้านความมั่นคง "แพลตฟอร์มระบบเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์" ที่สามารถเชื่อมโยงอุปกรณ์ได้จากหลายประเภท เช่น กล้อง CCTV, กล้องติดยานพาหนะ, กล้องบุคคล, อากาศยานไร้คนขับ ให้ผู้ใช้ระบบ หรือผู้ควบคุมสถานการณ์ สามารถมองเห็น และวิเคราะห์ระบบได้จากทุกมุมมอง และทุกอุปกรณ์ไว้ในระบบเดียว
(2) นวัตกรรมแพลตฟอร์มสื่อกลาง ระหว่างจิตแพทย์ นักจิตวิทยา กับคนไข้ที่ช่วยให้สามารถพูดคุยออนไลน์ ปรึกษาจิตแพทย์ นักจิตวิทยา ผ่าน video call ในคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือได้ เพื่อความเป็นส่วนตัว ปลอดภัย และมีระบบนัดแนะกันล่วงหน้าได้
(3) นวัตกรรมแอพพลิเคชั่นจองคิวร้านอาหารและศูนย์บริการ ครบวงจร ทราบว่าได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี เนื่องจากสอดคล้องกับชีวิตประจำวัน และแก้ปัญหาพื้นฐานของทุก ๆ คน โดยเฉพาะระบบจองคิวโรงพยาบาล นัดหมอ และ แจ้งเตือนผ่าน Smartphone เป็นต้น ทำให้มียอดดาวน์โหลดครบ 1 ล้านคนแล้ว และมีผู้ใช้งานกว่า 1 แสน 5 หมื่นคนต่อเดือน
(4) นวัตกรรมโมเดลธุรกิจเพื่อการท่องเที่ยวยั่งยืน ที่ชนะการประกวดโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (หรือ Booking.com Booster 2017) จากผู้ร่วมแข่งขัน 700 ทีม จาก 102 ประเทศทั่วโลก คว้าเงินรางวัลกว่า 11 ล้านบาท ซึ่งมีส่วนช่วยพัฒนาการท่องเที่ยวกับชุมชน 70 แห่งทั่วประเทศ สร้างรายได้กลับคืนสู่ท้องถิ่นกว่า 20 ล้านบาท
และ (5) นวัตกรรมแพลตฟอร์มที่ช่วยจัดระเบียบงานอีเว้นท์ที่ส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจ MICE ซึ่งนับวันประเทศไทยของเรา จะเป็นจุดหมายปลายทาง ทั้งการท่องเที่ยว การจัดงานอีเว้นท์ต่าง ๆ ของทั้งภาครัฐและเอกชนในประเทศและต่างประเทศ ได้รับความสนใจอย่างมากในภูมิภาคนี้ ด้วยความพร้อมด้านต่าง ๆ และมาตรฐานการให้บริการ ซึ่งเราก็คงต้องช่วยกันรักษาภาพลักษณ์ที่ดีเหล่านั้นให้คงอยู่ต่อไป
สัปดาห์หน้า เราจะมีงาน Innovation Thailand Expo 2018ระหว่างวันที่ 4 - 7 ตุลาคม นี้ ณ ฮอลล์ 98 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา โดยในปีนี้ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้สร้างสรรค์งานขึ้นใหม่ ในรูปแบบเทศกาลนวัตกรรมเป็นครั้งแรกของประเทศ โดยได้มีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วนของประเทศ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสถาบันการศึกษา ตั้งแต่การให้ทุนวิจัย การพัฒนาทุนมนุษย์และงานจากวิจัย การใช้ประโยชน์งานวิจัย และการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อนำเสนอผลงานนวัตกรรมระดับประเทศ250 ผลงาน จาก 150 หน่วยงาน ให้สมกับที่ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็น "ประเทศที่มีการพัฒนานวัตกรรมอย่างรวดเร็ว" ขอเชิญชวนผู้ที่สนใจทุกท่านนะครับ
พี่น้องประชาชนครับ
มาตรการส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเพื่อความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม หรือ สิ่งแวดล้อมนั้น ไม่อาจจะประสบความสำเร็จได้ จากการจัดงาน จัดนิทรรศการ เท่านั้น เราต้องลงลึกไปถึงระบบการศึกษา ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ รัฐบาลก็มีหลาย ๆ มาตรการ อาทิ การอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ที่เกิดจากข้อตกลงระหว่างสถานศึกษากับ สถานประกอบการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ ในเรื่องการจัดหลักสูตร การเรียนการสอน การวัดและการประเมินผล โดยผู้เรียนใช้เวลาส่วนหนึ่ง ในสถานศึกษาอาชีวศึกษา และเรียนภาคปฏิบัติในสถานประกอบการ พูดให้ง่าย ก็คือเป็นนักเรียนในโรงเรียนและเป็นพนักงานของสถานประกอบการไปด้วย จะได้ทั้งทักษะอาชีพจากการทำงานจริง ได้รับเบี้ยเลี้ยงจริง ได้ใบประกาศนียบัตรวิชาชีพ และใบรับรองการทำงานจากบริษัทอีกด้วย
วันนี้ผมมีกิจกรรมตัวอย่างเสริมหลักสูตร ได้แก่ โครงการเรื่องความปลอดภัยทางถนนของเด็กและเยาวชน ของนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคชัยนาท ซึ่งก็เป็นกิจกรรมส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสังคม โดยอาศัยการประชุมเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมทำให้นักศึกษาอาชีวะได้รวมกลุ่มกันออกแบบ และทำกิจกรรม เพื่อให้ความรู้และตระหนักในเรื่องของความปลอดภัยบนถนน ของตนเอง ผู้อื่น และชุมชนนวัตกรรมที่น่าสนใจ อาทิ Smart Helmet ของช่างอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีการแจ้งเตือนกรณีสวมหมวกนิรภัยไม่เหมาะสม หรือ ไม่ได้สวมหมวกนิรภัยขณะขับขี่ สัญญาณเตือนขาตั้งรถของช่างยนต์ สำหรับการลืมเอาขาตั้งขึ้น ที่มักก่อให้เกิดอันตรายอยู่บ่อย ๆ สื่อการสอนเรื่องความปลอดภัยให้น้อง ๆ ชั้นอนุบาล ที่ออกแบบเป็นเกมให้เล่น เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องของความปลอดภัยทางถนน และรู้จักสัญลักษณ์ต่าง ๆ หรือ สื่อประชาสัมพันธ์ในเรื่องของการตรวจสอบคุณภาพรถมอเตอร์ไซค์ก่อนขับขี่ เป็นต้น
โครงการดังกล่าว ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันพระปกเกล้า และมูลนิธิประชาปลอดภัย ภายใต้โครงการ "การขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน กรณีศึกษาการใช้แนวคิดประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ในกลุ่มเยาวชนไทย เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยทางถนน" เพื่อเตรียมความพร้อมของคนในสังคมโดยดึงเยาวชนในสถานศึกษาให้มีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม และปลูกฝังจิตสำนึกความปลอดภัยบนท้องถนน ทั้งนี้ ประเทศไทยถูกจัดว่ามีสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูง รัฐบาลจึงต้องให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความปลอดภัยด้านการจราจร และถือเป็นเรื่องที่ต้องรีบดำเนินการบูรณาการให้เกิดผล อีกทั้งจะต้องสอดรับกับการประชุมระดับโลก ว่าด้วยการป้องกันการบาดเจ็บ และส่งเสริมความปลอดภัย ครั้งที่ 13 ซึ่งปีนี้จะจัดขึ้นช่วงวันที่ 5 - 7 พฤศจิกายน ศกนี้ ณ กรุงเทพมหานคร โดยองค์การอนามัยโลกกับรัฐบาลไทย ที่มีกระทรวงสาธารณสุขเป็นเจ้าภาพ กิจกรรมของเด็กอาชีวะครั้งนี้ ทราบว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เมื่อสิ้นสุดโครงการและถอดบทเรียนแล้ว นักศึกษาบอกว่าพวกเขามีความภูมิใจ มีความตระหนักรู้ในเรื่องของความปลอดภัยมากขึ้น ผมเห็นว่าสมควรที่จะขยายผลในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อลดการสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ จากภัยทางถนนเป็นกรณีที่เราต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน
พี่น้องประชาชนที่เคารพทุกท่านครับ
"ทุนมนุษย์" เป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ โดยรัฐบาลนี้มีนโยบายสาธารณะและมาตรการต่าง ๆ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทุกมิติ และทุกช่วงวัยมาอย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา อาทิ งานดูแลสุขภาพประชาชน ตามกรอบไทยนิยม ยั่งยืน ของกระทรวงสาธารณสุข ประกอบด้วย 4กิจกรรมหลัก ได้แก่
(1) โครงการ อสม. 4.0 โดยการยกระดับศักยภาพอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทั่วประเทศ กว่า 1 ล้านคน ให้สามารถปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขในชุมชน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด
(2) โครงการมหัศจรรย์ 1,000 วัน คือการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ผ่านเครือข่ายชุมชน ให้เติบโตสมวัย สมส่วน เป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ และเป็นพลเมืองดีของบ้านเมือง
(3) โครงการสร้างอาชีพสำหรับผู้ลงทะเบียนรายได้น้อยเช่น การเพิ่มพูนทักษะ ความรู้ ความสามารถ ในการนวดไทยเพื่อสุขภาพ สามารถนำไปประกอบอาชีพได้ สร้างรายได้เลี้ยงดูตนเอง และครอบครัว รวมทั้งการสร้างผู้ช่วยพยาบาล เพื่อสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาล ให้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น
และ (4) โครงการติดตามผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติด ผ่านกลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและระบบสุขภาพอําเภอ (พชอ.) เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีสุขภาพแข็งแรง มีครอบครัวที่อบอุ่น มีสังคมที่ปลอดภัยจากยาเสพติด
ทั้งนี้ โครงการของ พชอ. เป็นกลไกที่ส่งเสริมการทำงานแบบประชารัฐ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ให้ดีขึ้น โดยเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ขยะ และสิ่งแวดล้อมเป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีโครงการหมอครอบครัว ซึ่งจากผลการวิจัยพบว่า การจัดให้มีหมอประจำครอบครัวจะสามารถลดค่าเดินทางไปโรงพยาบาลของประชาชนได้ 1,655 บาทต่อคน ลดเวลาในการรอคอยในโรงพยาบาลใหญ่ได้ 44 นาที จากเดิม 3 ชั่วโมง ลดการตายในทารกแรกเกิดได้ร้อยละ 10 - 40 และลดค่าใช้จ่ายสุขภาพได้ถึงร้อยละ 25 - 30 ที่สำคัญก็คือ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศ ปีละ50,000 ล้านบาท เป็นต้น
ล่าสุดสำนักข่าว "บลูมเบิร์ก" ได้จัดทำดัชนีประสิทธิภาพระบบสุขภาพ เพื่อจัดอันดับประเทศที่มีความคุ้มค่าด้านระบบดูแลสุขภาพ ซึ่งคำนวณเปรียบเทียบระหว่างค่าใช้จ่ายกับอายุขัยโดยเฉลี่ยของคนในประเทศ ในปี 2561 นี้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 27 ของโลก จาก 56ประเทศ ดีขึ้นจากปีที่แล้วถึง 14 อันดับ ก็นับว่าเป็นประเทศที่สามารถพัฒนาอย่าง ก้าวกระโดดมากที่สุดในดัชนีนี้ เราทำมาต่อเนื่อง ทำให้ดีขึ้น โดยค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพของไทยต่อประชากร 1 คนนั้นอยู่ที่ 7,086 บาท มากกว่าเดิมเยอะครับ และอายุเฉลี่ยของประชากรไทยในปีนี้ก็อายุยืนขึ้น ถึง 75 ปี นอกจากนี้ ในรายงานยังระบุด้วยว่าเรื่องการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างมากอีกด้วย หากจัดอันดับภายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกแล้ว ไทยอยู่ในอันดับที่ 9
ในขณะที่องค์การอนามัยโลกชื่นชมประเทศไทย ว่าเป็นต้นแบบ และแหล่งเรียนรู้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยเห็นว่าเป็นระบบที่ยั่งยืน เพราะสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนได้อย่างเข้มแข็ง ปัจจุบันมีคนไทยกว่า 48.8 ล้านคน (73.7 %) จากจำนวนประชากรราว 61 ล้านคน ที่มีสิทธิ์ในหลักประกันสุขภาพ ที่ช่วยคุ้มครองดูแลสุขภาพในด้านการรักษาโรค ป้องกันโรค ส่งเสริมสุขภาพ และฟื้นฟูสมรรถภาพ ตามข้อบ่งชี้ของแพทย์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (30 บาท รักษาทุกโรค) ยังคงมี ความไม่สมบูรณ์ ในการขอรับบริการด้านสุขภาพ หลายประการ ได้แก่
(1) รักษาได้เฉพาะโรงพยาบาลรัฐ อาจจะสร้างความลำบากให้กับผู้ที่อยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาลรัฐมาก
(2) ไม่คุ้มครองการรักษาที่เกินความจำเป็นพื้นฐาน เช่น การผสมเทียม เพื่อมีบุตร การรักษากรณีที่มีบุตรยาก การบริการทางการแพทย์เพื่อความสวยงาม การเปลี่ยนแปลงเพศ เป็นต้น
(3) ไม่คุ้มครองการรักษาที่มีงบประมาณจัดสรรโดยเฉพาะ เช่น โรคจิต หรืออาการป่วยทางจิต ซึ่งทางการแพทย์จำเป็นต้องรับไว้ เพื่อการรักษาและฟื้นฟูจิตใจของผู้ป่วย โดยให้เป็นผู้ป่วยใน เกินกว่า 15 วัน การบำบัดผู้ติดยาเสพติด ผู้ที่เกิดอุบัติเหตุทางรถ โดยมี พ.ร.บ. คุ้มครองอยู่ ซึ่งจะต้องใช้สิทธิ พ.ร.บ. ให้ครบก่อน
(4) ไม่คุ้มครองกรณีโรคเรื้อรัง และโรคที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเป็นผู้ป่วยใน เกินกว่า 180 วัน ยกเว้นหากมีความจำเป็นจริง ๆ เช่น เกิดภาวะแทรกซ้อน จึงต้องรักษายาวนานขึ้น เป็นต้น
ดังนั้น ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลนี้ ได้ยกระดับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าดังกล่าว โดยการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ใช้สิทธิและเพิ่มเติมในเรื่องยา วัคซีน อุปกรณ์การแพทย์และการให้บริการต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอาทิ
(1) การเปิดคลินิกพิเศษนอกเวลา สำหรับโรงพยาบาลที่มีความพร้อม เพื่อรองรับกลุ่มคนที่ประสงค์มารับบริการในช่วงเย็น และสมัครใจจ่ายค่าบริการบางส่วนเอง
(2) การเร่งรัดจัดทำชุดสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะเป็นสิทธิประโยชน์ที่ประชาชน ทุกคนในทุกสิทธิประกันสุขภาพภาครัฐได้รับเหมือนกัน
(3) รัฐบาลไทยสนับสนุนระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร้อยละ100 โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทั้งประชาชนทั่วไป ประชาชนในกลุ่มเปราะบาง กองทุนสุขภาพท้องถิ่นและการดูแลผู้สูงอายุ
(4) การเข้าถึงสิทธิและบริการของกลุ่มเปราะบาง ตามบริบทของพื้นที่ ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่มีปัญหาในการเข้าถึงบริการสุขภาพ อาทิ ประชาชนที่อยู่ตามพื้นที่ชายขอบ ผู้ต้องขัง พระสงฆ์ และผู้พิการ เป็นต้น
(5) การมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อกระตุ้นและเร่งดำเนินกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น ในการส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค
(6) การดูแลกลุ่มผู้สูงอายุ ทั้งที่ดำเนินการผ่านกลไก "กองทุนระบบการดูแลระยะยาว" ด้านสาธารณสุข สำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง และการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีภาวะเจ็บป่วยมาก และค่าใช้จ่ายสุขภาพที่เพิ่มสูงขึ้น
และ (7) สิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต รักษาฟรี ภายใน 72 ชั่วโมง หรือ UCEP สำหรับอาการ "เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่" กรณีเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนนอกคู่สัญญา 3 กองทุน (ได้แก่ กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า, กองทุนประกันสังคม และ กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ)
ซึ่งในอนาคตเราจะขยายไปยังกองทุนต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความครอบคลุม ไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต อันจะทําให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตได้รับการคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงบริการอย่างปลอดภัย โดยไม่มีเงื่อนไขในการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาล เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรค หรือเป็นความเสี่ยงของการดูแลรักษา ซึ่งไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ภายใน 72 ชั่วโมง หรือพ้นภาวะวิกฤต ทุกสิทธิ ทุกโรงพยาบาล เป็นต้น
ขอบคุณนะครับ นี่ก็เป็นการพัฒนาในด้านการสาธารณสุขของประเทศไทย เราทำหลายอย่าง เรื่องของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้องทำให้ดีกว่าเดิม เพราะในเมื่อเราตั้งขึ้นมาแล้ว ต้องทำให้ดีขึ้น แก้ปัญหาเก่า ๆ ให้ดีขึ้น แล้วมองไปข้างหน้า เราจะเดินไปข้างหน้าอย่างไรในเรื่องเหล่านี้ เพราะมีการใช้จ่ายงบประมาณสูงขึ้นทุกปี ๆ
ขอบคุณอีกครั้ง ขอให้ทุกคนมีสวัสดิภาพและปลอดภัย ทุกครอบครัวมีความสุขนะครับ สวัสดีครับ
ชมรายการย้อนหลังผ่านยูทูป ช่องวีดีโอ chorsaard