Last updated: 13 ส.ค. 2561 | 3231 จำนวนผู้เข้าชม |
"...นาย ข. สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ได้จำนำรถยนต์ประกันการกู้ยืมไว้กับเจ้าของร้านคาโอเกะแห่งหนึ่ง จนกระทั่งพนักงานขับรถยนต์ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดมาพบเห็นว่ารถยนต์ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด จอดอยู่หน้าร้านคาราโอเกะ จึงสอบถามเจ้าของร้านได้ความว่านาย ข. นำมาจำนำ จึงแจ้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดทราบเรื่อง ต่อมานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้มอบเงินเพื่อไปไถ่ถอนรถดังกล่าว และในวันเดียวกันนาย ก. และภรรยา และนาย ข. ได้ร่วมกันแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนว่า นาย ข. ได้ยืมรถยนต์ไปจากภรรยานาย ก. และรถยนต์ถูกคนร้ายลักไป แต่ข้อเท็จจริงคือนาย ข. นำไปจำนำ..."
x-files : พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริตคดีดังในอดีต ที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำข้อมูลมาเสนอต่อเนื่องเป็นตอนที่ 8 เพื่อเป็นประโยชน์ให้แก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายนำไปใช้เป็นแนวทาง ในการตรวจสอบคดีทุจริตต่างๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ว่า รูปแบบพฤติการณ์การทุจริต รวมไปถึงข้อกฎหมายสำคัญที่ใช้ในการตัดสินคดีของ ป.ป.ช. มีรายละเอียดเป็นอย่างไร ในตอนนี้ ยังคงเป็นตัวอย่างคดีทุจริตในหมวดการทุจริตเบียดบังทรัพย์สินและผลประโยชน์ของทางราชการและประชาชน จะมีคดีสำคัญอะไรบ้างไปติดตามกันได้เลย (การเผยแพร่ข้อมูลระบุชื่อผู้เกี่ยวข้อง เป็นตัวอักษรย่อ เพื่อปกป้องสิทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหา เพราะบางคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล)
@ การทุจริตนำรถยนต์และน้ำมันเชื้อเพลิงของทางราชการไปเป็นประโยชน์สำหรับตนเอง
ข้อเท็จจริง นาย ก. รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ได้ทำบันทึกขออนุญาตใช้รถส่วนกลางขององค์การบริหารส่วนจังหวัดไปใช้ในราชการ 2 ครั้ง เป็นระยะเวลาต่อเนื่องกัน และขอนำรถยนต์ไปเก็บไว้ที่บ้านพักส่วนตัว โดยมีการเบิกจ่ายค่าน้ำมันเชื้อเพลิงจากทางราชการ
และยังปรากฏข้อเท็จจริงว่า นาย ข. สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ได้จำนำรถยนต์ประกันการกู้ยืมไว้กับเจ้าของร้านคาโอเกะแห่งหนึ่ง จนกระทั่งพนักงานขับรถยนต์ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดมาพบเห็นว่ารถยนต์ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดจอดอยู่หน้าร้านคาราโอเกะ จึงสอบถามเจ้าของร้านได้ความว่านาย ข. นำมาจำนำ จึงแจ้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดทราบเรื่อง ต่อมานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้มอบเงินเพื่อไปไถ่ถอนรถดังกล่าว และในวันเดียวกันนาย ก. และภรรยา และนาย ข. ได้ร่วมกันแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนว่า นาย ข. ได้ยืมรถยนต์ไปจากภรรยานาย ก. และรถยนต์ถูกคนร้ายลักไป แต่ข้อเท็จจริงคือนาย ข. นำไปจำนำ
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของนาย ก. และ นาย ข. เป็นความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 90 และ 91
@ เบียดบังเงินค่าภาษีบำรุงท้องที่และเงินค่าค้ำประกันสัญญาจ้างก่อสร้าง
ข้อเท็จจริง นาง ก. ดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนการคลัง องค์การบริหารส่วนตำบลแห่งหนึ่ง มีหน้าที่เกี่ยวกับการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน หรืองานที่เกี่ยวกับการเงินการบัญชีตามระเบียบของทางราชการ กระทำการโดยทุจริตเบียดบังเงินภาษีบำรุงท้องที่เป็นเงิน 10,876.71 บาท โดยไม่ได้ออกใบเสร็จรับเงินค่าบำรุงท้องที่ และนาง ก. ได้รับชำระเงินค้ำประกันสัญญาจ้างก่อสร้างจากห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. จำนวน 6,272 บาท โดยไม่ได้ออกใบเสร็จรับเงินเช่นกัน และรวมเป็นจำนวนเงินที่ผู้ถูกกล่าวหารับไว้ทั้งสิ้น 17,148.71 บาท ซึ่งนาง ก. มีหน้าที่ต้องนำเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์และบัญชีเงินฝากกระแสรายวันขององค์การบริหารส่วนตำบล แต่ผู้ถูกกล่าวหามิได้นำเงินเข้าบัญชีดังกล่าวแต่อย่างใด กลับเบียดบังเงินจำนวนดังกล่าวไปเป็นของตนโดยทุจริต
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของนาง ก. เป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้ ฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรีหรือนโยบายของรัฐบาลอันเป็นเหตุให้เสียหายราชการอย่างร้ายแรง และฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 82 วรรคสาม มาตรา 85 วรรคสอง และมาตรา 98 วรรคสอง และเป็นความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 และมาตรา 157
@ เบียดบังเงินที่ได้รับการจัดสรรอุดหนุนจากรัฐบาล เป็นเหตุให้เงินขาดบัญชี
ข้อเท็จจริง องค์การบริหารส่วนตำบล A มีการเบิกเงินภาษีที่ได้รับโอนจากกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นโดยโอนผ่านธนาคาร นำเข้าบัญชีออมทรัพย์ขององค์การบริหารส่วนตำบล A เพื่อนำเงินไปใช้จ่ายตามข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายโดยนาย ก. นายกองค์การบริหารส่วนตำบล A และนาย ข. ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล A เป็นผู้ลงนามสั่งจ่ายเช็คให้แก่ นาย ค. หัวหน้าส่วนการคลังจำนวน 20 ฉบับ เมื่อนาย ค. ได้รับเงินดังกล่าวแล้วกลับนำเงินเข้าฝากในบัญชีธนาคารเพียงส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งไม่ได้นำฝากเข้าบัญชี โดยปรากฏว่าแท้ที่จริงแล้ว นาย ค. ได้ปลอมลายมือชื่อของนาย ก. และนาย ข. จ่ายเช็คจำนวน 20 ฉบับ ให้แก่ตนเอง จากนั้นจึงได้นำเช็คดังกล่าวไปเบิกเงินจากธนาคารเป็นเงินสด แล้วเบียดบังเงินไปเป็นของตนหรือของผู้อื่นโดยทุจริต
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีการกระทำของนาย ก. และนาย ข. มีมูลเป็นความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรง แต่เนื่องจากนาย ก. พ้นตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล A แล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะต้องส่งเรื่องไปให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอดดำเนินการกับนาย ก. ส่วนนาย ข. ผู้บังคับบัญชาได้ลงโทษตัดเงินเดือน เป็นเวลา 2 เดือน ส่วนกรณีการกระทำของนาย ค. มีมูลเป็นความผิดทางวินัยร้ายแรงและถูกไล่ออกจากราชการจากกระทำการทุจริตในครั้งนี้แล้ว และมีมูลเป็นความผิดทางอาญา จึงให้ส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาล กับ นาย ค. ต่อไป
@ ปลอมลายมือชื่อพนักงานอื่น เบิกเงินยืมทดรองไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว
ข้อเท็จจริง นาง ก. หัวหน้าแผนกเงินค้างและเงินยืมทดรอง ได้ปลอมลายมือชื่อของพนักงานสังกัดหน่วยต่างๆ ของหน่วยงาน A จำนวน 20 คน และผู้อนุญาตจ่ายเงินในเอกสารทั้งสิ้น 243 ฉบับ จำนวนทั้งสิ้น 11,041,270 บาท นอกจากนั้น นาง ก. ได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่คณะกรรมการคลังเงินคลังใหญ่ และอาศัยอำนาจหน้าที่ดังกล่าววางแผนเบิกจ่ายเงินออกจากคลังใหญ่ โดยมอบเงินให้หัวหน้าแผนกเงินนำไปมอบต่อให้พนักงานจ่ายเงิน เพื่อดำเนินการจ่ายเงินเกินยืมทดรองให้แก่นาง ก.
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของนาง ก. มีมูลความผิดทางวินัยและมูลความผิดทางอาญา แต่เนื่องจากผู้บังคับบัญชาได้ลงโทษไล่ออกจากงานแล้ว จึงให้งดการดำเนินการทางวินัย
@ ปลอมเช็คและเบียดบังเงินไปเป็นประโยชน์ส่วนตน
ข้อเท็จจริง นาง ก. หัวหน้าส่วนการคลัง องค์การบริหารส่วนตำบล บ. มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงิน ได้กรอกรายการต่างๆ ลงในเช็คธนาคาร เพื่อชำระหนี้ขององค์การบริหารส่วนตำบล บ. และได้เสนอผู้มีอำนาจอนุมัติ เมื่อมีการอนุมัติและลงลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายแล้ว นาง ก. ได้ทำการเพิ่มเติมจำนวนเงินในเช็คและนำเช็คไปขึ้นเงินแล้วนำเงินไปเป็นประโยชน์ส่วนตนโดยทุจริตและมีการกระทำในลักษณะเดียวกันกับเช็ค จำนวน 12 ฉบับ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,752,967.38 บาท
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของนาง ก. ความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงและมีความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 มาตรา 157 มาตรา 158 และมาตรา 161 ประกอบมาตรา 83 มาตรา 90 และมาตรา 91
@ เรียกรับเงินและยักยอกยาบ้าของกลาง
ข้อเท็จจริง สิบตำรวจตรี ก. กับเจ้าหน้าที่ตำรวจอื่นรวม 5 นาย ได้ทำการเข้าตรวจค้นบ้านไม่มีหมายเลขและจับกุมนาย ค. พบยาบ้าจำนวน 3,600 เม็ด และเรียกรับเงินจากนาย ค. จำนวน 2,000 บาท จากนั้นจึงนำนาย ค. พร้อมยาบ้าของกลางส่งพนักงานสอบสวนเพียงจำนวน 202 เม็ด โดยได้บันทึกการจับกุมว่าค้นยาบ้าจากนาย ค. จำนวน 200 เม็ดจากนาย ง. และ นาย จ. คนละ 1 เม็ด ส่วนยาบ้าที่เหลือจำนวน 3,398 เม็ด พร้อมเงิน 2,000 บาท เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง 5 นายได้ยักยอกไป
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง 5 นาย มีความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงและมีความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 และการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่งที่เรียกรับเงินจำนวน 2,000 บาท มีความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149
@ เบียดบังเงินค่าปรับจราจร เงินประกันตัวผู้ต้องหา เงินค่าอาหารผู้ต้องโทษกักขังไปเป็นของตน
ข้อเท็จจริง สิบตำรวจเอก ค. ตำแหน่งผู้บังคับหมู่งานธุรการ สภ.อ.เมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี มีหน้าที่รวบรวมเงินค่าปรับจราจร เงินประกันตัวผู้ต้องหา เงินค่าอาหารผู้ต้องโทษกักขัง นำส่งหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในระหว่างวันที่ 14 ธันวาคม 2541 ถึงวันที่ 2 มิถุนายน 2543 สิบตำรวจเอก ค. ได้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวและได้รับเงินจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแล้วไม่นำส่ง นำฝาก หรือนำจ่ายตามหน้าที่ แต่ได้เบียดบังเป็นของตนเองโดยทุจริตจำนวนหลายครั้ง รวมเป็นเงินจำนวน 971,022.25 บาท
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของสิบตำรวจเอก ค. มีความผิดวินัยฐานทุจริตต่อหน้าที่และฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงและมีความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 ประกอบมาตรา 91
------------
ตอนหน้าจะเป็นตอนสุดของตัวอย่าง คดีสำคัญในหมวดเกี่ยวกับทุจริตเบียดบังทรัพย์สินและผลประโยชน์ของทางราชการและประชาชน จะมีคดีสำคัญอะไรบ้าง โปรดติดตามเช่นเดิม