Last updated: 20 เม.ย 2561 | 2657 จำนวนผู้เข้าชม |
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 20 เมษายน 2561 เวลา 20.15 น.
-------------------------
สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน
ส่วนหนึ่งของความเป็น “ไทยนิยม” นั้น หมายถึง การยึดมั่นใน 3 สถาบันหลักของประเทศ อันเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของคนไทย ให้เกิดความรักใคร่ปรองดองกัน และอยู่ด้วยกันอย่างสันติสุข ได้แก่ สถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ซึ่งต่างมีความเชื่อมโยงผูกพันกัน อาทิ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก นอกจากนี้ พระมหากษัตริย์ทรงสร้างบ้านแปงเมือง นำความผาสุกมาสู่พสกนิกร สืบเนื่องมาทุกยุค ทุกสมัย ดังนั้น คนไทยทุกคนควรร่วมกันเพื่อแผ่นดินบ้านเกิดเมืองนอนของเราอย่างพร้อมเพรียงกันนะครับ ที่เราเรียกว่า “ไทยนิยม”
ในโอกาสที่วันพรุ่งนี้ วันที่ 21 เมษายน จะตรงกับวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ได้ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เป็นราชธานี เมื่อ พ.ศ. 2325 โดยในปีนี้ ผมขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนชาวไทย ทุกหมู่เหล่า ร่วมกันในงาน “ใต้ร่มพระบารมี 236 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ “ทุกพระองค์” แห่งราชวงศ์จักรี อีกทั้ง ยังจะร่วมกันแสดงออกถึงความรักชาติ และนิยมความเป็นไทย ร่วมกันแต่งกายชุดไทย ร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 21 - 25 เมษายนนี้ รวม 5 วัน อาทิ ริ้วขบวนแสดงประวัติความเป็นมาของกรุงรัตนโกสินทร์ ณ ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ กรุงเทพฯ กับอีก 7 จุดสำคัญ ๆ ทั่วกรุงเทพมหานครโดยเฉพาะรอบเกาะรัตนโกสินทร์ เช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โรงละครแห่งชาติ สวนสันติชัยปราการ ลานคนเมือง หอศิลป์ วัง วัด ศาสนสถาน เทวสถาน เป็นต้น ซึ่งสามารถเข้าชมฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย รวมทั้งรถโดยสารให้บริการฟรีตามเส้นทาง และตารางเวลา ที่กำหนด ทั้งนี้ พี่น้องประชาชนสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนวัฒนธรรม โทร 1765
พี่น้องประชาชนชาวไทย ที่เคารพ
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธานที่แน่วแน่ ในการ “สืบสาน รักษา ต่อยอดสร้างสุขปวงประชา” เฉกเช่น บูรพมหากษัตริย์ไทย ทุกพระองค์ อีกทั้ง พระบรมวงศานุวงศ์ ทุกพระองค์ ก็ทรงมีพระราชกรณียกิจ น้อยใหญ่ เพื่อสนองพระราชปณิธานดังกล่าว และ ได้เห็นเป็นประจักษ์ สู่สายตานานาอารยประเทศ โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอาหาร และเกษตร แห่งสหประชาชาติ (FAO) นะครับ ได้กล่าวยกย่องบทบาทของ สมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะทูตพิเศษประจำ FAO ในการรณรงค์แก้ไขปัญหาการขาดอาหารและโภชนาการ ทั้งในประเทศไทย และในภูมิภาคอื่น ๆ โดยพระองค์ทรงดำเนินโครงการเพื่อช่วยลดความหิวโหย มาหลายสิบปี อาทิ โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน กองทุนพัฒนาเด็ก และเยาวชน ในถิ่นทุรกันดาร เป็นต้น ปัจจุบัน พระองค์มีพระราชดำริ ให้ดำเนินโครงการความร่วมมือกับประเทศในภูมิภาค เช่น เมียนมา ลาว กัมพูชา ภูฏาน และบังกลาเทศ นอกจากนี้ ทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด การจัดตั้งภาคีพัฒนาโคนมแห่งเอเชีย สำหรับส่งเสริมและพัฒนางานด้านโคนม เพื่อให้น้ำนมมีคุณภาพ และ ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ ของเกษตรกรโคนม ในระดับภูมิภาค อีกด้วย
ทั้งนี้ ในส่วนของรัฐบาลไทย ได้ดำเนินโครงการอาหารเสริมนมโรงเรียน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดสารอาหารเด็กในวัยเรียน และสนับสนุนอุตสาหกรรมโคนมดังกล่าวด้วย ประเทศไทยมีความมุ่งมั่นที่จะขจัดความอดอยากหิวโหย ให้หมดสิ้นไป รัฐบาลไทยได้เชื่อมโยงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ของสหประชาชาติ (SDG) เข้ากับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้วยการน้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาแบบยั่งยืน ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม มาเป็นแนวทางในการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหาความยากจน ยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและเกษตรกรแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร เสริมสร้างความมั่นคงอาหาร พัฒนาโภชนาการและความปลอดภัยอาหาร เพื่อนำไปสู่ความ “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ของประชาชน และประเทศชาติ ตามพระราชปณิธานอันแน่วแน่ แห่งองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ข้างต้น
นอกจากนี้ ในฐานะที่บ้านเมืองของเราเป็น “ชาติเกษตรกรรม” รัฐบาลจึงให้ความสำคัญอย่างมากที่จะดำเนินโครงการต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน และยกระดับคุณภาพชีวิต ของเกษตรกร อาทิ การส่งเสริมสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกร เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็ง ให้แก่เกษตรกรรายย่อย โดยส่งเสริมระบบ “การทำเกษตรแปลงใหญ่” มาใช้กับกลุ่มเกษตรกรรายย่อย ทั้งการปลูกพืชสวนไร่นา - ประมง – ปศุสัตว์ รวมทั้งการยกระดับมาตรฐานคุณภาพการผลิตสินค้าเกษตร ให้เป็นไปตามความต้องการของตลาด ตามแนวคิด “การตลาดนำการผลิต” การพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่ อีกทั้ง สนับสนุนให้เกษตรกรรุ่นใหม่ที่ผันตัวมาเป็นเกษตรกรมืออาชีพก่อให้เกิดการพัฒนาชุมชน - ถิ่นเกิดของตนอย่างยั่งยืน ด้วยการทำเกษตรอินทรีย์ ลดการใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลง เพื่อไม่ทำร้ายสุขภาพ เกษตรกรและผู้บริโภค และ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม - ดิน - น้ำ - อากาศด้วย
ปัจจุบัน รัฐบาลนี้ได้ริเริ่มโครงการไทยนิยมยั่งยืน โดยจัดสรรเงินงบประมาณ ราว 150,000 ล้านบาท ในการดำเนินโครงการในหลากหลายมิติ ส่วนหนึ่งก็เป็นเป็นแผนงาน - โครงการด้านการปฏิรูปโครงสร้าง การผลิตภาคการเกษตรกว่า 24,000 ล้านบาท ซึ่งมีเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกรด้วยการ “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้” เพื่อจะสร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยเริ่มที่ตัวเกษตรกรก่อน ตามแนวทาง “ประชารัฐ” ซึ่งต้องมีการทำประชาคม การรับฟังปัญหาระดับชุมชน การสำรวจความต้องการ และปัญหาแต่ละท้องถิ่น เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนต่อไป
พี่น้องประชาชนชาวไทย ทุกท่าน ครับ
โครงการไทยนิยมยั่งยืน มีหลักการสำคัญ 3 ประการ นอกเหนือจากการปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตร ทั้งระบบดังกล่าวแล้ว ก็ยังมีการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และการพัฒนาเชิงพื้นที่อีกด้วย ทั้งนี้ การขับเคลื่อน “กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองเพื่อพัฒนาหมู่บ้านและชุมชน อย่างยั่งยืน” ก็เป็นมาตรการหนึ่งที่รัฐบาลนี้ ให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่องตามพระราชบัญญัติ กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ภายใต้ปรัชญาในการเสริมสร้างสำนึก ความเป็นชุมชนและท้องถิ่น โดยให้ชุมชนเป็นผู้กำหนดอนาคต และ จัดการหมู่บ้านและชุมชน ด้วยคุณค่าและภูมิปัญญาของตนเอง เป็นการ “ระเบิดจากข้างใน” เกื้อกูลประโยชน์ต่อผู้ด้อยโอกาสในหมู่บ้านและชุมชน โดยจะ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” เชื่อมโยงกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งชุมชน หน่วยงานราชการ บริษัทเอกชน และประชาสังคม ตามแนวทาง “ประชารัฐ” กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นและ พัฒนาประชาธิปไตยพื้นฐาน เตรียมพร้อมสำหรับบทบาทของท้องถิ่นที่จะต้องมีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต ในการขับเคลื่อนกองทุนหมู่บ้านฯ นี้ ในอดีตอาจยังมีปัญหาอยู่บ้าง รัฐบาลนี้เข้ามาจัดระบบ จัดระเบียบใหม่ ให้เกิดความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองให้ได้โดยเร็ว ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจระดับฐานราก ได้โดยตรง โดยจะเป็น “แหล่งเงินทุนหมุนเวียน” สำหรับการลงทุนเพื่อพัฒนาอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ เพิ่มรายได้ และลดรายจ่าย อย่างแท้จริง หรือใช้สำหรับการส่งเสริมและพัฒนาไปสู่การสร้างสวัสดิการ อาทิ ตลาดประชารัฐ - แหล่งท่องเที่ยวชุมชน หรือประโยชน์เพื่อส่วนรวมอื่นใด ให้แก่ประชาชนในหมู่บ้าน หรือชุมชนเมือง ในการบรรเทาความเดือดร้อนเร่งด่วนสำหรับลูกบ้าน - ชาวชุมชน รวมถึงเป็นแหล่งพัฒนาองค์ความรู้ คุณภาพชีวิต และสวัสดิการของสมาชิกอีกด้วย ปัจจุบันมีกองทุนหมู่บ้านฯ ทั่วประเทศ เกือบ 80,000 กองทุนนะครับ มีสมาชิก ราว 13 ล้านคน เมื่อรัฐบาลนี้ เข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน ก็จัดให้มีการประเมินผลการดำเนินงาน “รายกองทุน” เพื่อแบ่งกลุ่ม สำหรับกำหนดมาตรการสนับสนุนให้เหมาะสม ในแต่ละประเภท ดังนี้
กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ที่มีผลการประเมินในระดับดีมาก เกรด A และระดับดีเกรด B รวมกันราว 60,000 กองทุน หรือร้อยละ 76 ใช้มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ โดยการจัดสรรวงเงิน สินเชื่อปลอดดอกเบี้ยให้กับพี่น้องสมาชิกกองทุนหมู่บ้านในพื้นที่ ส่วนกองทุนฯ ที่มีผลการประเมินในระดับปานกลาง เกรด C และระดับต้องปรับปรุง เกรด D รวมกันเกือบ 20,000 กองทุน กว่าร้อยละ 23 ให้ดำเนินการทุกมิติ เพื่อพลิกฟื้นให้กองทุนเหล่านั้น สามารถกลับมาเป็นที่พึ่งของพี่น้องประชาชนในหมู่บ้านและชุมชน ให้ได้โดยเร็ว
ทั้งนี้ ในปี 2559 ได้จัดโครงการเพิ่มความเข็มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก งบประมาณ 35,000 ล้านบาท สำหรับให้กองทุนหมู่บ้านฯ นำไปลงทุนเพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ ลดภาระต้นทุน ขยายโอกาสทางการตลาด แก่เกษตรกร และผู้ประกอบการรายย่อยในชุมชน ซึ่งมีกองทุนหมู่บ้านฯ ได้รับอนุมัติโครงการ มากกว่า 66,000 กองทุน คิดเป็นในวงเงินงบประมาณกว่า 33,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 95 ของเป้าหมาย ต่อมาปี 2560 รัฐบาลได้จัด งบประมาณเพิ่มเติมอีก 15,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนกองทุนหมู่บ้านฯ อย่างต่อเนื่อง มีกองทุนที่ได้อนุมัติโครงการ มากกว่า 61,000 กองทุน รวมวงเงินงบประมาณกว่า 12,000 ล้านบาท หรือกว่าร้อยละ 80 ของเป้าหมาย โดยรวมแล้วทำให้เกิดโครงการต่าง ๆ มากมาย หลากหลายมิติ ทั่วประเทศ อาทิ โครงการร้านค้าชุมชน น้ำดื่มชุมชน ปุ๋ย ยา เมล็ดพันธุ์ บริการงานชุมชน บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตร เกษตรฟาร์มรวม ลานตากอเนกประสงค์ และโรงสีข้าวชุมชน เป็นต้น รวมทั้งสิ้น กว่า 120,000 โครงการในปัจจุบัน
ผมขอยกตัวอย่าง โครงการด้านการท่องเที่ยวและบริการ “ระดับท้องถิ่น” ก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง ที่เราควรให้ความสนใจ ได้แก่ “อุทยานธรณีโลก” ในจังหวัดสตูลที่ครอบคลุม 4 อำเภอ ที่ผ่านการประเมินหลักเกณฑ์ของ องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เมื่อ 17 เมษายนที่ผ่านมานับเป็นอุทยานธรณีโลก แห่งแรกของประเทศไทย ที่มีซากฟอสซิล ชั้นหิน ชั้นดิน ซึ่งเป็นจุดน่าสนใจทางธรณีวิทยา อีกทั้ง มีเทือกเขาหินปูน ถ้ำ เกาะ ชายหาด และล่องแก่ง ที่เป็นจุดขาย สำหรับนักท่องเที่ยว ทั้งหมดนี้ กลไกประชารัฐและชุมชน ต้องร่วมกันวางยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว การอนุรักษ์ การต้อนรับผู้มาเยือน การเป็นเจ้าบ้านที่ดี ดูแลเรื่องราคา และความปลอดภัยต่าง ๆ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ณ แหล่งท่องเที่ยว อาทิ เส้นทางจราจร พื้นที่จอดรถ เขตสุขาภิบาล การโซนนิ่งพื้นที่ เราต้องพิจารณาให้ครบวงจร เป็นขั้นเป็นตอน ให้ได้มาตรฐาน ต้องช่วยกันคิด ช่วยกันสร้าง เริ่ม “ระเบิดจากข้างใน” และชุมชนต้องช่วยกันดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง อย่าปล่อยให้ทรุดโทรม เพราะจะเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ นำรายได้มาสู่ชุมชนของท่าน โดยรัฐบาล ก็จะเข้าไปสนับสนุนในภาพรวม ของเศรษฐกิจมหภาคด้วย
สำหรับปี 2561 นี้ รัฐบาลได้เตรียมการสนับสนุนกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองผ่าน “โครงการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนอย่างยั่งยืนโดยศาสตร์พระราชาตามแนวทางประชารัฐ” วงเงิน 20,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนเงินทุนให้กองทุนหมู่บ้านฯ กองทุนละไม่เกิน 300,000 บาท เพื่อต่อยอดโครงการเดิม หรือสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชน และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะการดำเนินโครงการที่รวมกันหลายกองทุนหมู่บ้าน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการให้โอกาสประชาชนบริหารจัดการและพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนด้วยทรัพยากร ภูมิปัญญา และการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยสนับสนุนการประกอบอาชีพ การสร้างงาน สร้างรายได้ และการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดย “ศาสตร์พระราชา” ซึ่งจะอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ตามแนวทาง “ประชารัฐ” ตลอดจนได้นำกรอบแนวทางตาม “โครงการไทยนิยมยั่งยืน” 10 เรื่อง มาพิจารณาประกอบการดำเนินโครงการ โดยเน้นให้ทุกโครงการของกองทุนหมู่บ้านฯ ต้องผ่านเวทีประชาคมให้สมาชิกได้ร่วมคิด ร่วมตัดติดใจ โปร่งใส และตรวจสอบได้
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าโครงการจะเริ่มต้นมาตั้งแต่รัฐบาลไหน “ในอดีต” หากเป็นโครงการที่ดีแล้ว รัฐบาลนี้ ก็จะต่อยอด ขยายผลให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป สำหรับโครงการ – มาตรการ – นโยบายใดที่หลักการดี แต่การดำเนินการยังมาประสบความสำเร็จ ก็จะปรับปรุงและสานต่อเท่าที่สามารถจะทำได้ ส่วนโครงการที่สร้างความเสียหายให้กับชาติบ้านเมืองในระยะยาว โครงการที่ถูกทักท้วง ถูกร้องเรียน ก็ต้องนำเข้าสู่กระบวนการของศาล เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และขจัดขบวนการ “ทุจริต” ให้หมดไป ดังเช่น เงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้และไร้ที่พึ่ง ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกองทุนเสมาพัฒนาคุณภาพชีวิต ของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น
ทั้งนี้ ผมขอย้ำอีกครั้งว่า ผมไม่ได้รังเกียจอะไรนักการเมือง – พรรคการเมือง เพราะส่วนใหญ่เป็น “คนดี” แต่ผมไม่อาจยอมรับผู้ที่ทำผิดกฎหมาย ผู้ที่ไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรม หรือผู้ที่ต่อต้านอำนาจรัฐ และผมพร้อมที่จะทำงานร่วมกับทุกคนที่มีอุดมการณ์รักชาติ และทำเพื่อความสุขของพี่น้องประชาชน ผมมองว่า “ปัญหาไม่ได้หมายถึงความขัดแย้ง แต่ปัญหาคือจุดเริ่มต้นของความสามัคคี” เพราะคนที่มีอุดมการณ์ “เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประชาชน” ด้วยกัน เมื่อได้ร่วมงานกัน ก็ย่อมจะยอมสละผลประโยชน์ส่วนตัวได้ แล้วร่วมกันแสวงหาแนวทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุด เพื่อชาติบ้านเมือง โดยยึดมั่นในอุดมการณ์ดังกล่าว ไม่อยากให้ฟังการวิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์ ที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง จากบางกลุ่ม บางฝ่าย ที่อาจจะไม่หวังดี แล้วมองเป็นเรื่องของการเมืองไปเสียทั้งหมด งบประมาณที่ลงไป ที่เพิ่มลงไปกลางปีนี้ก็ไปเสริมต่อโครงการต่าง ๆ ที่มีมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกองทุนหมู่บ้าน การพัฒนาการเกษตร การเพิ่มอาชีพรายได้ สร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชน รวมความถึงใช้ไปดูแลในส่วนของผู้ถือบัตร ผู้มีรายได้น้อยเข้าไปด้วย เพราะฉะนั้นวงเงินก็มากขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เป็นการสานต่อทั้งหมดที่เราทำมาแล้ว ระยะที่ 1 ไม่อยากให้มองว่าเป็นเรื่องของการเมือง เอางบประมาณไปหาเสียง จะหาเสียงได้อย่างไร ในเมื่อผมไม่ได้ไปให้กับใครคนใดคนหนึ่ง แต่ให้เป็นกลุ่ม ให้เป็นหน่วย ให้เป็นพื้นที่ ให้เป็นหมู่บ้าน ผมไม่ได้ให้กับใคร กลุ่มไหนที่จะมาสนับสนุนผมแต่อย่างใด ขอให้ช่วยกันคิดตามนี้ด้วยว่าใครถูกผิดก็ไปว่ากัน
พี่น้องประชาชนที่รัก ครับ
วันอาทิตย์ที่ 22 เมษายนของทุกปีนั้น เป็น “วันคุ้มครองโลก” หรือที่เรียกว่า Earth Day เป็นวันที่ “ชาวโลก” ควรจะได้ทบทวนว่า ที่ผ่านมาเราได้ทำอะไร ที่เป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งสุดท้ายก็จะส่งผลร้ายต่อพวกเราเอง และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในโลกนี้ด้วย เพราะเราอยู่ร่วมกันในโลกใบเดียวกัน“มนุษย์” ได้แสดงออก หรือแสดงความรับผิดชอบ ในการดูแลรักษาโลกใบนี้ให้ดีขึ้น มากพอหรือยัง ทั้งนี้ การพัฒนาในยุค “ไทยแลนด์ 4.0” ตามนโยบายของรัฐบาลนี้ จะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งมุ่งสร้างสมดุลให้เกิดขึ้น ระหว่างการพัฒนากับการอนุรักษ์ธรรมชาติ พร้อมกับสร้างคนไปด้วย
แนวคิดในการจัดงานวันคุ้มครองโลกในปีนี้คือ “คนรุ่นใหม่ ลดขยะพลาสติก กู้วิกฤติโลกร้อน” ซึ่งอิงตามแนวคิดของเครือข่ายวันคุ้มครองโลกสากล ทั้งนี้ พลาสติกนั้น ผลิตง่าย ผลิตได้ครั้งละมาก ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ เราใช้เพียงครั้งเดียวแล้วทิ้ง อย่างหลอดกาแฟ ถุงก๊อบแก๊บ กล่องโฟมใส่อาหาร ที่น่ากลัวก็คือ ผลิตภัณฑ์พลาสติกใช้เวลาย่อยสลายกว่า 450 ปี พลาสติกทำมาจากน้ำมัน จากก๊าซธรรมชาติ ยิ่งเราใช้พลาสติกมากเท่าใด “ก๊าซเรือนกระจก” จากกระบวนการผลิต ก็จะยิ่งถูกปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศมากขึ้นเท่านั้น ถ้านำขยะพลาสติกไปเผา ก็จะทำให้เกิดสารพิษ เป็นอันตรายต่อสุขภาพของสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งทำให้โลกของเราร้อนขึ้นด้วย
วันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา เราได้ประกาศ ยกเลิกการใช้ “พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม” (Cap Seal) ซึ่งภาคเอกชนหลายราย ก็ขานรับนโยบายเป็นอย่างดี ที่เหลือก็ขอความร่วมมือด้วย เนื่องจากเมืองไทยเป็นเมืองร้อน เราผลิตขวดน้ำดื่มพลาสติก ปีละ 7,000 ล้านขวด ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในอันดับ 6 ของประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกกลางทะเลมากที่สุดในโลก จากการผ่าซากสัตว์ทะเลที่ตาย พบว่าส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากสัตว์ทะเลเหล่านี้ กินพลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่มและพลาสติกอื่น ๆ เข้าไปด้วย หลาย ๆ ประเทศ ประกาศยกเลิกการใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม เช่น สิงคโปร์ เกาหลี อิตาลี และอังกฤษ ถ้าผู้ผลิตน้ำดื่มทุกรายของเราร่วมมือกัน เราจะสามารถลดปริมาณขยะพลาสติกได้ถึง 2,600 ล้านชิ้นต่อปี ขอให้ช่วยกันด้วย อาจจะมีต้นทุนเพิ่มบ้าง แต่ อย่าไปเพิ่มภาระให้ผู้บริโภค ขอให้ช่วยกันลดการใช้ถุงพลาสติกใส่อาหาร หรือใส่สินค้าอย่างจริงจังตั้งแต่วันนี้ เราจึงจะสามารถแก้ปัญหาได้
ปัญหาของบ้านเราคือ ไม่ค่อยมีความตระหนักรู้ เรื่องการใช้ การแยกขยะ การทิ้ง และการกำจัดขยะ ผลก็คือ ขยะพลาสติกถูกทิ้งประมาณปีละ 2 ล้านตัน รวมอยู่กับขยะอื่น กลายเป็นภาระของพนักงานเก็บขยะ เทศบาล ที่จะต้องทำแทนคนกว่า 60 ล้านคน ถ้าช่วยกันแยกขยะ โดยเฉพาะพลาสติก เพื่อนำไปรีไซเคิลได้ก็จะเป็นการดี เรามาช่วยกันดีหรือไม่ เริ่มที่ตัวท่าน เราทุกคน ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า หรือหน่วยงานราชการ เริ่มด้วยการแยกทิ้งขวดน้ำพลาสติกก่อน แล้วค่อย “ปลูกนิสัย สร้างวินัย” ไปยังขยะอื่น ๆ ในอนาคต ภาครัฐหรือเอกชนที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการเก็บ – คัดแยกขยะ ก็ต้องปรับตัวตามในเรื่องกระบวนการต่าง ๆ ของตนด้วย เห็นใจคนเก็บขยะด้วย
ผมมีตัวอย่าง โรงเรียนปลอดขยะ ได้แก่ โรงเรียนบ้านน้ำมิน จังหวัดพะเยา ซึ่งเดิมใช้วิธีกำจัดขยะโดยการเผา ซึ่งก็ทำให้เกิดควันพิษส่งผลเสียต่อสุขภาพของชาวชุมชน ภายหลังได้รับความรู้ ได้ดูงานการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง ภายใต้หลัก 3R คือ ลดปริมาณขยะ (Reduce) การใช้ซ้ำ (Reuse) และการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) แล้วนำมาปฏิบัติอย่างจริงจัง เริ่มในโรงเรียนก่อน ตั้งแต่การปลูกจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมให้แก่ทุกคนในโรงเรียน ครู อาจารย์ก็เป็นตัวอย่าง นักเรียนก็นำไปชักชวนให้ผู้ปกครองปฏิบัติตาม จากการมีส่วนร่วมดังกล่าว เริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของเด็ก ๆ เช่น การใช้แก้วน้ำส่วนตัวแทนขวดพลาสติก การใช้ผ้าเช็ดหน้าแทนกระดาษชำระ การใช้จานใส่อาหารแทนถุงพลาสติก การทานอาหารให้หมดจาน การใช้ช้อนของตัวเองที่เตรียมมา การใช้กระดาษให้ครบทั้ง 2 หน้า ก่อนนำไปรีไซเคิล และยังมีการสอนกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ น้ำหมักชีวภาพ การเลี้ยงสัตว์ด้วยเศษอาหาร การทำสิ่งประดิษฐ์ เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกและการเรียนรู้ให้กับเด็กไปพร้อมๆ กัน ก็นับเป็นตัวอย่างที่ดีของสังคมและประเทศชาติ
นอกจากนี้ ผมขอชื่นชมโครงการจิตอาสา ที่ชักชวนเยาวชนของชาติ มาร่วมกิจกรรมเก็บขยะชายหาด – ขยะทะเล ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องด้วย ขอบคุณกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ก็มาช่วยกัน ชักชวนประชาชนช่วยกันเก็บขยะในทะเล ด้วยชายหาดอะไรต่าง ๆ เหล่านี้ ก็อยากให้ทำต่อเนื่อง เรามาช่วยกันสร้างจิตสำนึก ในการลดก๊าซเรือนกระจก ลดโลกร้อน โดยเริ่มที่เรื่องใกล้ ๆ ตัวเราก่อน ครอบครัว ชุมชน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัดแล้วก็ประเทศชาติ ในการจัดการขยะ คัดแยกขยะ ลดการบริโภคที่ฟุ่มเฟือยลง เครื่องใช้ไฟฟ้าหากไม่ใช้ก็ปิดเสีย ทานข้าวอย่าให้เหลือทิ้งกลายเป็นขยะไปอีก บริโภคอย่างพอเพียง เป็นต้น เราจะได้ช่วยกัน “ส่งต่อ โลกใบนี้” ให้กับรุ่นลูกหลานของเราได้อย่างน่าภาคภูมิใจต่อไป
สุดท้ายนี้
เทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2561 ก็ได้สิ้นสุดลงแล้ว ทุกคนก็คงมีความสุขพอสมควร ความสุขนั้น หาได้จากตนเอง พอใจในสิ่งที่ตนเองมีอยู่ มีความพยายามที่จะพัฒนาตนเอง ในทางที่ถูก ที่ควร ที่สุจริต เพื่อให้มีความสุขมากยิ่งขึ้น ทั้งเพื่อตนเองและครอบครัวความภาคภูมิใจ เกียรติยศ เราจะได้รับจากผู้อื่น แล้วก็จะเป็นกำลังใจให้พวกเราทุกคนด้วย ให้ยึดมั่นในความดีต่อไป ทั้งข้าราชการพลเรือน ตำรวจ ทหาร และประชาชนทั่วไป
การพัฒนาตนเองเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ในเวลานี้ โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่โลกที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี และดิจิตอลมาเป็นตัวขับเคลื่อน รวดเร็วขึ้น เพราะฉะนั้นขอให้ทุกคนอย่าท้อแท้ สิ้นหวัง ลองหาช่องทางดู อ่านหนังสือดู อ่านหนังสือพิมพ์ที่เป็นประโยชน์ ท่านจะรู้เองว่าจะพัฒนาตัวเองอย่างไร ถ้าท่านไม่ศึกษา ไม่อ่าน ไม่ฟัง แล้วบอกว่าเราไม่รู้จะไปยังไง ยากจน เศรษฐกิจไม่ดีอะไรแบบนี้ ผมว่าคนดี ที่เขาพัฒนาตัวเอง เขาก็พัฒนาขึ้นมาก ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร ผมไม่ได้ว่าใคร เพียงแต่ว่าขอให้ทุกคนช่วยกันบ้าง และรัฐบาลก็จะทำอย่างเต็มที่ในกรอบที่รัฐบาลควรจะทำและทำได้ตามกฎหมาย ตามระเบียบการใช้จ่ายงบประมาณที่มีอยู่
เพราะฉะนั้นเราจะต้องไม่แก้ปัญหาชีวิตด้วยวิธีการที่ไม่ดี ผิดกฎหมาย หาเงินง่ายๆ เงินที่ไม่ถูกต้องไม่สุจริต ที่เรียกว่า “เห็นกงจักรเป็นดอกบัว” แม้วันนี้ อาจยังไม่ถูกตรวจพบก็ดูตัวอย่างแล้วกัน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เจ้าหน้าที่ 10 กว่าปี ทำผิดมาจนตรวจพบในเวลานี้ ผมไม่ทราบว่าถ้าไม่ตรวจโดยรัฐบาลนี้จะไปเจออีกเมื่อไหร่ยังไม่ทราบเหมือนกัน เพราะผ่านมาหลายรัฐบาลแล้ว เพราะฉะนั้นวันหน้าโดยระบบ หรือกลไกทางสังคม จะต้องช่วยกันแก้ปัญหา อย่างน้อง 2 คนที่มาช่วยให้ข้อมูลเรา ทำให้เราสามารถที่จะดำเนินการได้ ใครจะทำผิดทำถูกตนเองย่อมรู้แก่ใจ เพราะความเสื่อมเกิดขึ้นแล้วในจิตใจ อาจจะได้เงิน อาจจะซื้อความสุขได้ ถามจริง ๆ แล้วในใจเรารู้ตัวเราเองใช่หรือไม่ว่าเราผิดหรือถูก เขาเรียก “หิริ-โอตัปปะ” ความละอาย เกรงกลัวต่อบาป ผิดตั้งแต่เริ่มคิด ไม่ต้องรอให้ลงมือกระทำ เพราะฉะนั้น หิริ-โอตัปปะ เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ทุกคนควรจะมีในวันนี้ ไม่อย่างนั้นเราจะหาความสุขในชีวิตไม่ได้เลย ผมขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคน จงอย่าลบความเพียรอันบริสุทธิ์ ขอให้ประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้ทุกคน
ในเรื่องของการเมืองก็เป็นเรื่องของการเมืองไป การเมืองเป็นสิ่งสำคัญ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่องเศรษฐกิจของพวกเรา เรื่องชีวิตความเป็นอยู่ ความสงบ เรียบร้อย สันติ ปลอดภัย อันนั้นก็สำคัญด้วย ไม่ใช้แต่การเมืองสำคัญแต่เพียงอย่างเดียว เป็นส่วนประกอบซึ่งกันและกันทั้งสิ้น ก็ขอให้ทุกคนหนักแน่น และอดทน และเชื่อมั่น ร่วมมือกับรัฐบาลในการทำงานในทุก ๆ มิติ
ขอบคุณครับ ขอให้ “ทุกคน” มีความสุข ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ สวัสดีครับ
ชมรายการย้อนหลังผ่านยูทูป ช่องวีดีโอ chorsaard