รายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" วันศุกร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2561

Last updated: 16 ก.พ. 2561  |  3965 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" วันศุกร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2561

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 20.15 น.
-------------------------

สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน

                ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มีโอกาสต้อนรับ “อาคันตุกะ” จากหลายประเทศในยุโรปนะครับ ได้แก่ อิตาลี สหราชอาณาจักร สเปน และฝรั่งเศส  ซึ่งผมเองก็ได้มีโอกาสพบปะสร้างความเข้าใจ รวมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นนะครับ คุยกันเรื่องวิสัยทัศน์ และนโยบายกับ 3 ท่าน

                ท่านแรกคือรัฐมนตรีต่างประเทศอิตาลีนะครับ ก็นับเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศรายแรกของสหภาพยุโรปที่เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ หลังจากที่สหภาพยุโรปได้มีมติกลับมาติดต่อทางการเมืองของไทยในทุกระดับนะครับ โดยได้มีการส่งสัญญาณทางการเมืองที่ต้องการรื้อฟื้นและกระชับความสัมพันธ์ ในระดับรัฐบาลกับไทยให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น และยังถือเป็นการเฉลิมฉลอง 150 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการของทูตทั้ง 2 ประเทศด้วย

                ทั้งนี้ได้มีการกล่าวชื่นชมการดำเนินการตามแผนของรัฐบาล และแจ้งว่าจะช่วยถ่ายทอดเรื่องนี้ให้กับสหภาพยุโรปรับทราบอีกทางหนึ่งนะครับ ถึงการพัฒนาการของประเทศเรานะครับ นอกจากนี้ยังแสดงความพร้อมที่จะช่วยให้ข้อมูลเชิงบวกของไทยในเวทีสหภาพยุโรป ในประเด็นสำคัญ อาทิ การแก้ไขปัญหา IUU รวมถึงชื่นชมนโยบายเกี่ยวกับ EEC ก็กล่าวว่าว่าเป็นยุทธศาสตร์ระยะยาวที่ชัดเจนของไทย โดยพร้อมที่จะสนับสนุนให้รัฐบาลและเอกชนของอิตาลีศึกษาโอกาสการลงทุนใน EEC ด้วยนะครับ

                อีกประเทศที่ได้มีโอกาสพบปะหารือ ก็คือสหราชอาณาจักร โดยได้พบกับรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ นะครับ นายบอริส จอห์นสัน ที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุน BREXIT ในการมาเยือนไทยครั้งนี้ ถือเป็นการย้ำถึงความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักร ที่มีมายาวนานกว่า 400 ปี

                แสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ที่จะส่งเสริมและกระชับความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน ทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างกัน ผมได้เชิญชวนให้นักลงทุนชาวอังกฤษ ได้พิจารณามาลงทุนใน EEC นะครับ และก็หวังว่า สหราชอาณาจักร จะเห็นพ้อง ในการให้ไทยเป็น “ศูนย์กลางด้านการค้า-การลงทุน” เพื่อผ่านไปยังประเทศ CLMV และประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนด้วยนะครับ

                ซึ่งทางสหราชอาณาจักรเอง ก็มีนโยบาย Global Britain นะครับ ที่เน้น “การค้าเสรี” เปิดโอกาสให้สหราชอาณาจักร มีการค้ากับประเทศต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกยุโรปมากยิ่งขึ้น ก็นับว่าเป็นโอกาสดีที่ไทยและ สหราชอาณาจักร จะขยายความสัมพันธ์ทางการค้า-การลงทุน ระหว่างกันต่อไป

                นอกจากนี้ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ สหราชอาณาจักร ยังชื่นชมไทย ที่ได้รับการปรับสถานะเป็นประเทศที่น่าลงทุนดีขึ้นแบบก้าวกระโดด มาอยู่อันดับที่ 26 นะครับ ทั้งยังเชื่อมั่นในพัฒนาการทางประชาธิปไตยของไทย และสนับสนุน “กระบวนการไปสู่การเป็นประชาธิปไตยที่ยั่งยืน” ของไทยตามRoadmap ด้วยนะครับ

                นอกจากนี้ ผมก็ได้มีโอกาสพบปะหารือกับเอกอัครราชทูต ราชอาณาจักรสเปนประจำประเทศไทย  ในโอกาสที่ได้เข้ามารับตำแหน่ง ตัวท่านเองมีความตั้งใจที่จะช่วยพัฒนาความร่วมมือระหว่างไทยและสเปน ให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้นทุกมิติ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ ความมั่นคง นะครับโดยเฉพาะอย่างยิ่งการท่องเที่ยวและความสัมพันธ์ระดับประชาชนต่อประชาชน

                นอกจากนี้ ก็ได้หารือในเรื่องการเพิ่มการลงทุนของ EEC ในอุตสาหกรรมที่ สเปนมีความเชี่ยวชาญ โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน และพลังงาน ซึ่งภาคเอกชน สเปน มีความพร้อมและสนใจที่จะร่วมสนับสนุนการพัฒนาโครงการ EEC ของไทยด้วย เช่นกัน อีกทั้งยังได้ตกลงกันในการที่จะเพิ่มความร่วมมือด้านการประมง ด้านความมั่นคง ทั้งนี้ก็เพื่อช่วยให้สามารถแก้ไขปัญหา IUU และปัญหาความมั่นคงได้อย่างยั่งยืนด้วยนะครับ

                นอกจากนั้น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกิจการยุโรปและการต่างประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศส ก็ได้เข้าหารือกับรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยสหภาพยุโรปและฝรั่งเศสได้แสดงความสนใจที่จะสานต่อการทำความตกลงการค้าเสรีกับไทยอีกครั้ง

                รวมถึงฝรั่งเศสสนใจเข้ามาลงทุนใน EEC ด้วยเชื่อมั่นว่าจะเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนในภูมิภาคโดยเชื่อมโยงกับอาเซียนนะครับ นอกจากนี้ ฝรั่งเศสยังสนใจในการเข้ามาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ โครงการสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูง การพัฒนาท่าเรือน้ำลึก Smart City และศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน รวมทั้งโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ของกรุงเทพฯ ซึ่งจะช่วยให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบุคลากรในประเทศอีกด้วย

                การเดินทางมาเยือนไทยของรัฐมนตรีต่างประเทศยุโรปถึง 3 ประเทศในเวลาที่ไล่เลี่ยกัน นอกจากจะสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างกันที่มีมายาวนานแล้ว ก็ยังมีนัยสำคัญต่อการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป (EU) นะครับ หลังจากที่ EU ได้ปรับข้อมติเกี่ยวกับการดำเนินความสัมพันธ์กับไทยไปเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2560

                และสะท้อนให้เห็นว่าข้อมติดังกล่าวถูกนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง รวมถึงภาพ ลักษณ์ของประเทศไทยของเราในสายตาประชาคมโลก ก็ได้รับการยอมรับมากขึ้นอย่างต่อเนื่องนะครับ  โดยเฉพาะประเทศประชาธิปไตยต่างๆ ที่สำคัญๆ ของโลก ได้เข้าใจ และเห็นความจริงใจของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหา และเดินหน้าสู่การปฏิรูปประเทศอย่างจริงจังด้วยนะครับ เพื่อผลประโยชน์ของประเทศไทย และมิตรประเทศอื่นๆ อีกด้วย

                พี่น้องประชาชนที่รักทุกท่านครับ, อีกเรื่อง ที่เป็นเรื่องที่น่ายินดีนะครับ และเราควรได้ร่วมกันภาคภูมิใจ ที่องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศ ทางด้านงบประมาณ ได้รายงานผลการสำรวจการเปิดเผยงบประมาณ หรือ “ดัชนีการเปิดเผยงบประมาณ” (OBI) นะครับ ของรอบปี 2017  โดยประเทศไทยได้รับการประเมิน “สูงขึ้น” มีคะแนนเพิ่ม 14 คะแนน ทำให้อันดับดีขึ้น 28 อันดับ จากปี 2015ซึ่งการสำรวจการเปิดเผยงบประมาณมีดังนี้ นะครับ เขาให้ความสำคัญกับ 3 มิติหลัก ได้แก่

                1.ความโปร่งใสทางงบประมาณ (Budget transparency) ซึ่งสะท้อนการเปิดเผยข้อมูลงบประมาณให้สาธารณชนรับทราบ ในกรอบระยะเวลาอันสมควร และให้สาธารณชนเข้าถึงข้อมูลได้โดยง่าย สำหรับไทย ในรอบปีที่ผ่านมา สำนักงบประมาณได้พัฒนาและจัดทำเอกสารที่แสดงข้อมูลทั้งด้านการคลัง การงบประมาณ ให้มีความครบถ้วนและสมบูรณ์ยิ่งขึ้นรวมทั้งเผยแพร่ข้อมูลต่าง ๆ ผ่านทางอินเตอร์เน็ต ทำให้การเข้าถึงข้อมูลของสาธารณชนทำได้โดยง่าย

                ตัวอย่างของข้อมูลที่สำนักงบประมาณจัดทำขึ้นและเผยแพร่ในเว็ปไซต์ ของสำนักงบประมาณ (www.bb.go.th) เพื่อให้ประชาชนสามารถเห็นภาพและเข้าใจโดยง่าย อันได้แก่ ข้อมูล “ประชาชนได้อะไร” จากงบประมาณรายจ่าย และข้อมูลงบประมาณลงพื้นที่จังหวัด

                โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อมูลงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ระบุรายละเอียด รายการงบประมาณในแต่ละแห่งไว้ ในเอกสารประกอบ พ.ร.บ.งบประมาณ และมีการเผยแพร่ในเว็ปไซต์ด้วย  นอกจากนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ ยังได้จัดให้มีการรายงานเรื่อง “ภาษีไปไหน” ในเว็ปไซต์ของกระทรวงเพื่อแสดงให้เห็นถึงผลสัมฤทธิ์ ของการใช้จ่ายงบประมาณตามข้อมูลของสำนักงบประมาณและกรมบัญชีกลางอีกด้วย

                เพื่อเป็นการให้ความสำคัญในการเปิดกว้าง และส่งเสริมเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารภาครัฐ ตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการฯ ด้วยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามายกระดับการให้บริการภาครัฐในเรื่องนี้นะครับ

                2. การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในกระบวนการงบประมาณ  สำหรับไทย ตั้งแต่ปี 2017 การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560  กำหนดให้ต้องรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณาทุกขั้นตอน

                ซึ่งสำนักงบประมาณก็ได้มีการดำเนินการในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคประชาชนผ่านทาง เว็ปไซต์ นะครับ เพราะฉะนั้นใครบอกจะไม่ทราบไม่ได้ ถ้าอยากรู้ อยากทราบก็เปิดเข้าไปดูนะครับ หรือรับฟังคำชี้แจง นอกจากนี้ ตาม ร่าง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณฉบับใหม่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเป็นทั้งหน่วยรับงบประมาณ และสามารถขอตั้งงบประมาณได้ในอนาคต ทำให้งบประมาณที่จะจัดสรรลงไปในพื้นที่นั้น เกิดจากการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในกระบวนการงบประมาณ และตอบ สนองต่อความต้องการประชาชนในพื้นที่มากยิ่งขึ้น

                และ 3. การมีสถาบันติดตามตรวจสอบที่เข้มแข็ง จากทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ  ซึ่งตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณฉบับใหม่ของไทย ได้กำหนดให้สำนักงบประมาณประเมินผลการใช้จ่ายงบประมาณของทุกหน่วยงาน  และให้รัฐสภามีขั้นตอนการตรวจสอบการออก พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายต่าง ๆ โดยไม่มีส่วนได้ส่วนเสียต่อการใช้จ่ายงบประมาณ  รวมทั้ง ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินที่เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญคอยติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณอีกด้วย

                ดังนั้น คะแนน OBI “ดัชนีการเปิดเผยงบประมาณ” ของประเทศไทยที่ “เพิ่มขึ้น” ในครั้งนี้ จึงไม่เพียงแต่จะสะท้อนความโปร่งใสของกระบวนการงบประมาณของไทยในทางบวก อย่างมีนัยสำคัญเท่านั้น แต่จะมีความเชื่อมโยงกับดัชนีอื่นๆ จากการประเมินภายนอกประเทศ อาทิ การสำรวจตามดัชนีการรับรู้การทุจริต หรือ CPI ขององค์กร Transparency International

                รวมทั้ง การจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ของสถาบัน IMD ที่หวังว่าจะช่วยให้การประเมินในรอบถัดไปเพิ่มสูงขึ้น ก็จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นนะครับ และส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของเรา ในสายตาชาวโลกด้วยเช่นกัน

                ทั้งนี้ เราจะต้องดำเนินการต่อไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สิ่งดี ๆ เหล่านั้นยังคงอยู่คู่สังคมไทยในระยะยาวนะครับ หรือต้องทำให้ดีขึ้นกว่าเดิมนะครับ ให้เป็นส่วนหนึ่งของหลักคิด “ไทยนิยม” ที่นอกจากจะ “คิดในสิ่งที่ถูกต้อง” แล้ว ยังต้อง “คิดอย่างมีเหตุมีผล” อีกด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ของคนไทย สังคมไทย ให้เป็นไปตามครรลองของไทย โดยไม่ทิ้งหลักการสากล ที่ต่างก็มุ่งไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยกันทั้งสิ้น

                สำหรับประเด็นภาพลักษณ์ของประเทศและการจัดอันดับต่าง ๆ นั้น หลายท่านอาจจะมองว่าเป็นเรื่องภายนอก เป็นเรื่องของเปลือกนอก ที่ไม่ได้จำเป็นมากนัก  แต่ผมขอเรียนว่า สิ่งเหล่านี้นะครับ เป็นประเด็นสำคัญในการที่จะสร้างความมั่นใจ ทั้งในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ด้านการเมือง ด้านสังคม การค้า และการลงทุนในต่างแดน โดยเฉพาะการสนับสนุนในเรื่องการลงทุนด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่มีมูลค่ามหาศาลจากต่างประเทศนะครับ ย่อมต้องอาศัยความเชื่อมั่น และไว้วางใจในระดับที่สูงตามไปด้วย

                เราก็ต้องยอมรับกันนะครับว่าประเทศไทย ยังมีโอกาสอีกมากที่เปิดกว้าง ที่สามารถรองรับการลงทุน รองรับผลประโยชน์ที่จะ “ซึมซับ” และ “แตกแขนง” ไปสู่ทุกระดับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ อย่างทั่วถึง ดังนั้นทุกภาคส่วน ทุกสาขาอาชีพจะต้องพัฒนาตนเอง ปรับตัวให้ก้าวทันเทคโนโลยี นะครับ ช่วยกันยกระดับ เพิ่มความสามารถ เพิ่มศักยภาพ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้ดีขึ้น ในภาพรวมนะครับ เราต้องมีการรวมกลุ่มในกิจการทุกประเภทนะครับ ถ้าเรายังคงประกอบอาชีพ ประกอบการเป็นอิสระ รายย่อยมาก ก็ไม่สามารถจะยกระดับตัวเองขึ้นมาได้หรอกนะครับ

                ทั้งนี้ เราจะเห็นได้ชัดว่าประเทศต่าง ๆ เห็นความสำคัญของ EEC หรืออย่างน้อยสนใจที่จะมาศึกษาความเป็นไปได้ที่จะมาเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการเหล่านี้ของเรา นี่ก็คือเหตุผลสำคัญนะครับ ที่รัฐบาลนี้ ให้ความสำคัญอย่างมาก ในการขับเคลื่อน EEC ในทุกมิติในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากจะเป็น “คลื่นการปฏิรูปเศรษฐกิจ...ระลอกแรก” นะครับ ของไทย และระลอกต่อๆ ไป ในอนาคต

                ผมมองว่า สิ่งที่เราจะต้องเร่งพัฒนาและให้ความสำคัญในอันดับต้น ๆ ก็ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารและผลไม้ไทย รวมทั้งการแพทย์และการท่องเที่ยว ที่เรามีศักยภาพนะครับ โดยอาหารนั้นถือว่าเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ที่เราต้องพึ่งพาตนเองให้ได้ และสามารถต่อยอดสร้างมูลค่าเพื่อส่งออกไปยังประเทศอื่น ๆ นะครับ มีผู้ได้รับผลประโยชน์ส่วนนี้มากมายนะครับ จำนวนพี่น้องเกษตรกร หรือบรรดาผู้มีรายได้น้อย จะอยู่ในวงจรดังกล่าว จำนวนมากนะครับ

                ส่วนเทคโนโลยีดิจิทัล Internet of things หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ AI  ที่เป็นทิศทางการพัฒนาของโลก ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับผู้ประกอบการ และช่วยให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

                สำคัญที่สุด คือ การพัฒนาคน      คนไทยทุกคน ไม่จำเป็นต้องเป็น “คนไทย 4.0” เพราะมันเป็นไปไม่ได้ ตามที่เคยพูดไว้นานแล้ว  เราเป็น 4.0 คือเรียนรู้  เข้าใจ และอยู่กับสังคม  อยู่กับสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันให้ได้  นั่นคือ 4.0 แล้วนะครับ  เพราะว่า “คนในสังคม” ก็เหมือน “ต้นไม้ในป่า” ที่จะต้องมีหลากหลาย นานาพรรณ ต่างต้นต่างประเภท ก็พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน

                เราต้องสนับสนุน “คนรุ่นเก่า – ยุค Analog” ที่ถือว่าเป็นคลื่นลูกเก่า ให้ปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลง  ในขณะเดียวกัน ก็ต้องส่งเสริมบทบาท “คนรุ่นใหม่ – ยุคดิจิทัล” ที่เป็นคลื่นลูกใหม่ ที่มากด้วยศักยภาพ มีหลักคิดที่ถูกต้องเป็นพื้นฐาน ให้ได้รับโอกาส ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ เหมือนหลายโครงการที่รัฐบาลมุ่งส่งเสริม อาทิ โครงการ “เน็ตประชารัฐ” ซึ่งนอกจากจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การรับบริการภาครัฐ และในอีกหลายๆ ด้านแล้ว  ยังเป็นการสร้างโอกาส สร้างงานในทุกระดับ ทุกสาขาอาชีพ

                ขอเพียงให้มีหลักคิด “หลักการเรียนรู้ หลักการพัฒนาตนเอง”เป็นอย่างไร ที่ผมอยากให้เป็นอีกหลักคิดหนึ่งของ “ไทยนิยม” ที่จะนำพาประเทศชาติไปสู่ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ด้วยนะครับ

                ผมมี 2 ตัวอย่าง เพื่อเป็นข้อคิด และแบบอย่าง ของการพัฒนาตนเอง  ภายหลังจากการลงพื้นที่ภาคตะวันออก จ.ตราด – ระยอง ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยจัดทำ “ยุทธศาสตร์การค้าผลไม้ครบวงจร” เพื่อเป็นแนวทางให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรและการค้าผลไม้ของไทย โดยมีวิสัยทัศน์ในภาพรวมของประเทศ ตามที่มีรายงานข่าวไปแล้ว เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

                ผมเองก็ ติดตามข่าวสาร เลือกบริโภคสื่อ – ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ จากทั้ง Internet และ Social Media แล้วได้พบตัวอย่าง “ผู้ประกอบการ รุ่นใหม่” ที่ประสบความสำเร็จ ในเรื่องการแปรรูปผลไม้ไทยจากรายการสร้างสรรค์สังคม ชื่อ “อายุน้อยร้อยล้าน” ซึ่งก็มีอีกหลายรายการที่ดี แต่ยังไม่มีโอกาสนำมาเล่าให้ฟังนะครับ

                ตัวอย่างแรก เป็น “การอบแห้ง” ผลไม้ไทย โดยยังสามารถรักษาคุณภาพทางโภชนาการ เป็นของขบเคี้ยว ที่มีประโยชน์มากกว่าขนมกรุกรอบ ที่อาจไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพเยาวชนของเราในระยะยาว  ส่งขายหลายประเทศ ทั้งในอาเซียน ญี่ปุ่น จีน อเมริกา

                ตัวอย่างที่ 2 เป็น “การทำสบู่” จากผลไม้ไทย ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของลูกค้า กว่า 20 ประเทศ ทั่วโลก  สิ่งที่ผมสังเกตเห็น มีหลายประการที่คล้ายๆ กัน คือ

                (1) การเริ่มทำธุรกิจจากสิ่งที่ตนเองชอบ สิ่งใกล้ตัว ช่วยให้มีแรงผลักดัน

                (2) การศึกษาค้นคว้า หาความรู้เพิ่มเติม ทั้งในเรื่องการผลิต – การแปรรูป – การตลาด จากนักวิชาการ จากสื่อออนไลน์ รวมถึงการลงพื้นที่ เพื่อรับทราบข้อมูล – ข้อเท็จจริง มาปรับปรุง มาพัฒนากระบวนการผลิต ตัวผลิตภัณฑ์ ให้ตอบรับตลาด เพราะลูกค้าในประเทศเป้าหมายมีความชื่นชอบผลไม้ไทยแตกต่างกันไป

                (3) การเพิ่มทักษะด้านภาษา เพื่อการติดต่อสื่อสารและการเปิดตลาด โดยเฉพาะภาษาอังกฤษที่เป็นภาษาสากล ภาษาจีนก็เป็นโอกาสทางตลาดขนาดใหญ่ และภาษาประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีความเชื่อมั่นในสินค้าไทยเป็นทุนเดิม ซึ่งมีโอกาสการเติบโตทางธุรกิจอีกมาก   และ

                (4) ความกล้าหาญ ความอดทน อุตสาหะ ซึ่งทั้ง 2 ผู้ประกอบการตัวอย่างนี้ ไม่ได้ประสบความสำเร็จตั้งแต่ครั้งแรกนะครับ แต่ผ่านอุปสรรค เกือบล้มเหลว แต่ไม่ยอมแพ้ จนประสบความสำเร็จได้ในวันนี้ ขอชื่นชมนะครับ

                สำหรับหน้าที่ของรัฐบาล คือ การเตรียมการให้ทุกคน ได้รับโอกาสในการสร้างงาน ประกอบอาชีพ อย่างเท่าเทียมกัน อาทิ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคม เพื่อเชื่อมโยงแหล่งผลิตกับตลาด ทั้งภายในและภายนอกประเทศ  โครงการ “เน็ตประชารัฐ” เพื่อให้ทุกคนค้นคว้าหาความรู้ โฆษณาสินค้า ติดต่อตลาด e-Commerce

                และสถาบันการเงินประชาชน เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนให้พี่น้องประชาชน ในแต่ละท้องถิ่นของตน ตามที่ผมได้กล่าวไปแล้ว ในสัปดาห์ที่ผ่านมา นะครับ  ผมหวังว่า ที่กล่าวมานั้น จะเป็นแรงบันดาลใจ หรือแนวทางในการประกอบอาชีพของหลายต่อหลายคน ที่ไม่ย่อท้อ ตามความฝัน ให้เป็น “เจ้าของธุรกิจ” ของตนเอง ด้วย  จะเห็นได้ว่ามันไม่ง่ายนัก แต่ขณะเดียวกันมันก็ไม่ยากนักถ้าเรามีความเพียรพยายาม ขอให้ทุกคนได้เดินหน้าไปสู่สิ่งนั้น สิ่งที่เราต้องการนะครับ ให้ได้โดยเร็ว

                พี่น้องประชาชนที่รัก ครับ, ความเท่าเทียม ไม่เหลื่อมล้ำในสังคม เป็นการรักษาสมดุลระหว่างคนด้วยกันเอง ให้ได้รับการพัฒนา หรือได้รับสวัสดิการแห่งรัฐต่างๆ โดย “ไม่ตกหล่น”

                อาทิ คนพิการทั่วประเทศที่เคยลงทะเบียนกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือทำ “บัตรคนพิการ” เพื่อรับสิทธิในการสงเคราะห์ การพัฒนาและการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 มีมากถึง 1.8 ล้านคน ทั่วประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 15 ก.ย. 2560)

                เมื่อตรวจสอบในฐานข้อมูล ทั้งจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงการคลัง แล้วพบว่า

                 (1) การลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐครั้งที่ผ่านมา ซึ่งมียอดการลงทะเบียนกว่า 14 ล้านคน  เหลือผู้ที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ “ผู้ที่มีรายได้น้อย” จำนวน 11 ล้านคน

                เป็นคนพิการราว 7 แสนกว่าคน แล้วอีก 1 ล้านกว่าคน ในบัญชีของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ไม่ได้มาลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ  ก็ต้องไปดูว่าทำไม เป็นผู้ที่มีรายได้น้อยหรือไม่ หรือไม่ได้รับทราบ หรือเป็นอย่างไร ต้องดูแลเขา

                (2) คนพิการจำนวน 7 แสนกว่าคนในบัญชีของกระทรวงการคลังนั้น ประมาณ 25,000 คน ไม่เคยทำบัตรคนพิการ จึงไม่อยู่ในฐานข้อมูลของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ก็จะยังไม่ได้รับสิทธิ์คนพิการ ที่ควรจะได้รับ แม้จะไม่ใช่ผู้ที่มีรายได้น้อยก็ตาม 

                นี่แหละครับมันเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย ข้อมูลต่างๆ ต้องมีความทันสมัย สิ่งสำคัญคือผู้รับประโยชน์จะต้องสนใจ ถ้าไม่สนใจมันก็เชื่อมต่อกันไม่ได้ ต่อให้รัฐบาลมีอะไรลงไปก็ทำไม่ได้ทั้งหมด เพราะไม่รับรู้รับทราบนะครับ โทษรัฐบาลแต่เพียงฝ่ายเดียวก็คงไม่ได้ ช่วยกันนะครับ ดังนั้น แนวทางการช่วยเหลือคนพิการ ทั้ง 2 กลุ่มดังกล่าว เพื่อไม่ให้ตกหล่นจากสวัสดิการแห่งรัฐ (ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง)  ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้มอบหมายให้ศูนย์บริการคนพิการจังหวัด ร่วมกับองค์กรคนพิการ ดำเนินการ ดังนี้

                กลุ่มที่  1 “คนพิการที่ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐแล้ว แต่ไม่มีบัตรคนพิการ ราว 25,000 คน (24,679 คน) ก็จะแนะนำให้ทำบัตรคนพิการเพื่อสามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของรัฐ

                กลุ่มที่ 2 “คนพิการที่มีบัตรคนพิการแล้ว แต่ยังไม่ได้ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ กว่า 180,000 คน ( 182,180 คน)จะให้คำแนะนำเตรียมการเข้าถึงสิทธิการลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐในรอบต่อไป  และการช่วยเหลือเบื้องต้น ด้านค่าครองชีพ ค่าเครื่องอุปโภค-บริโภค ตามความจำเป็น โดยสอดคล้องกับนโยบายสวัสดิการแห่งรัฐ

                ทั้งนี้ การดำเนินการตามนโยบาย “ไทยนิยมยั่งยืน” นั้น ก็จะต้องนำข้อมูลจากทุกกระทรวงมาบูรณาการกัน เป็น Big Data ในศูนย์รวมที่เรียกว่า Data centerของทุกกระทรวง ทุกหน่วยงาน ระดับกระทรวงก็ต้องไปรวบรวมในส่วนของกรมต่างๆมาด้วย เพื่อใช้ข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์จัดทำในฐานข้อมูลที่เรียกว่า Big data เพื่อกำหนดนโยบายสาธารณะที่เหมาะสม เป็นการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน ตามแนวทาง “ประเทศไทย 4.0”  เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณ อย่างมีธรรมาภิบาล ด้วย   นะครับ    

                สุดท้ายนี้ ในช่วงเทศกาลตรุษจีน และเทศกาลวันวาเลนไทน์ ทำให้ผมเห็นว่าประเทศไทย เป็น “สังคมพหุวัฒนธรรม” ที่อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขมาช้านาน เป็นอีก “ไทยนิยม” ที่รักความสงบ / การท่องเที่ยวก็เป็นอีกวิถีชีวิตของคนไทย ซึ่งคนไทยเราโชคดีที่เรา “รวยทรัพยากรธรรมชาติ”ยิ่งกว่านั้น ยังเป็นอุตสาหกรรมที่มีอนาคตของประเทศ / ก็ต้องช่วยกันรักษาสภาพแวดล้อมให้บริสุทธิ์ ปลอดภัย สถานที่ท่องเที่ยวในชุมชนให้สะอาด และ “ยิ้มต้อนรับ” นักท่องเที่ยวต่างถิ่น – ต่างชาติ ให้ประทับใจ

                เมื่อวันก่อนได้ไปเยือนงานอุ่นไอรัก ก็มีความสุข มีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย ชื่นชมในความมีเอกลักษณ์ของไทย เราเป็นคนในยุคปัจจุบัน อย่าลืมเลือนประวัติศาสตร์ สถาบันมีพระมหากรุณาธิคุณกับประเทศไทยเสมอมา ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่เราต้องระลึกถึงอยู่เสมอ ผมเห็นรอยยิ้มของทุกคน ผมรู้สึกมีความสุข ทุกคนที่ไปเที่ยวงาน ทุกคนที่เห็นในข่าวก็คงจะรู้สึกมีความสุขไปด้วย

                สังคมไทยเป็นสังคมที่อบอุ่น เป็นสังคมที่มีรอยยิ้ม สังคมที่เป็นพหุวัฒนธรรม สังคมที่ปรองดอง เพราะฉะนั้นอย่าให้ใครมาทำให้เกิดความแตกแยกตรงนี้โดยเด็ดขาดนะครับ ก็ขอเชิญชวนทุกท่านไปเที่ยวงานอุ่นไอรักได้จนกระทั่งถึงเดือนมีนาคมนะครับ

                วันนี้ ผมขอประชาสัมพันธ์เว็บไซต์และแอปพลิเคชั่นมือถือ ที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้เปิดตัวไปแล้ว ในชื่อ “ThailandTourismDirectory” โดยมุ่งที่จะสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศไทย สำหรับทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทย และชาวต่างชาตินะครับ เพราะเว็ปไซต์และแอปพลิเคชั่นนี้ จะเป็นแหล่งรวมข้อมูลดิจิทัลด้านการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ ครบถ้วน ถูกต้อง และมีการอัพเดตข้อมูลต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ  ซึ่งจะถือเป็น “Big Data ด้านการท่องเที่ยว” ซึ่งภาครัฐเป็นแกนกลางในการจัดทำขึ้น ซึ่งขณะนี้สามารถรองรับได้ 3 ภาษาคือ ไทย จีน และอังกฤษ พี่น้องประชาชนและนักท่องเที่ยวสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ ไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนเดินทางท่องเที่ยว

                ทั้งในเรื่องแหล่งท่องเที่ยว กิจกรรมการท่องเที่ยว  เส้นทางการเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว  ตลอดถึงรายละเอียดของโรงแรมที่พักที่มีมาตรฐาน และได้รับการอนุญาตอย่างถูกต้อง  ข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้จะได้รับการเพิ่มเติมหรืออัพเดตเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จากเจ้าของข้อมูลโดยตรง ในพื้นที่ ชุมชน ท้องถิ่น ทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศไทย

                โดยผ่านกลไกการตรวจสอบความถูกต้องจากศูนย์ปฏิบัติการ Digital Tourism ทั้งส่วนกลางและส่วนจังหวัดก่อนนำออกเผยแพร่ ผมอยากเชิญชวนให้พี่น้องประชาชนลองเข้าไปเยี่ยมชมเว็ปไซต์ หรือดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นมาใช้ประโยชน์ให้ได้อย่างเต็มที่ และฝากเผยแพร่ให้กับพี่น้องเพื่อนฝูงของท่าน โดยเฉพาะเพื่อน ๆ ชาวต่างชาติ เพื่อสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวของประเทศเราด้วย  นะครับ

                ปัจจุบัน รัฐบาลก็มีมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง 55 จังหวัด ทั่วประเทศ โดยสามารถนำค่าใช้จ่ายไปลดหย่อนภาษีได้ตามจริง สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ตลอดปี 2561 นี้ นะครับ

ขอบคุณครับ ขอบคุณจิตอาสาต่างๆที่ช่วยกันดูแลบ้านเมือง ดูแลงานอุ่นไอรัก หรือทำคุณประโยชน์อันเป็น                สาธารณประโยชน์ให้กับประชาชนในทุกพื้นที่ด้วยนะครับ อันนี้เป็นพระบรมราโชบายของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ต้องการให้คนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศไทย ชาติไทยอันเป็นที่รักยิ่งของเรา และคงต้องร่วมมือกับการทำงานของโครงการไทยนิยมด้วยนะครับ เพื่อให้ตรงความต้องการของประชาชน ตรงตามความต้องการของพื้นที่ตามศักยภาพที่มีอยู่

                ขอให้ “ทุกคน ทุกครอบครัว” มีความสุข ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ และในช่วง “เดือนแห่งความรัก” นะครับ และในช่วงเวลาตรุษจีน ขอให้มีความสุขในวันขึ้นปีใหม่ของจีนนะครับ ซึ่งเราเป็นประเทศที่มีหลายเชื้อชาติ หลายศาสนามาอยู่ร่วมกันในประเทศนี้  สวัสดีครับ

 

ชมรายการย้อนหลังผ่านยูทูป ช่องวีดีโอ chorsaard


 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้