รายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" วันศุกร์ที่ 29 ธันวาคม 2560

Last updated: 29 ธ.ค. 2560  |  4176 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" วันศุกร์ที่ 29 ธันวาคม 2560

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 29 ธันวาคม 2560 เวลา 20.15 น.
-------------------------

สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ และเป็นสิริมงคลอย่างยิ่ง แก่พสกนิกรชาวไทย ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานหนังสือบทเจริญพระพุทธมนต์ แก่กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม เพื่อนำไปแจกให้แก่ประชาชน ที่เข้าร่วมกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี ณ วัดหรือสถานที่จัดกิจกรรมทั่วประเทศโดยหนังสือสวดมนต์พระราชทานนี้ จะประกอบด้วยบทสวดมนต์บำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวาย 3 บท และบทเจริญพระพุทธมนต์ถวายพระพรชัยมงคล 34 บท พร้อมคำแปล เพื่อให้พุทธศาสนิกชนเข้าใจความหมายของบทสวดมนต์แต่ละบทที่จะสวดด้วยนะครับ โดยในคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2560 และในโอกาสอื่น ๆ อีกด้วย

กิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีนั้น ถวายเป็นพระราชกุศล เสริมสิริมงคลทั่วไทยส่งท้ายปีเก่าวิถีไทย ต้อนรับปีใหม่วิถีธรรม พุทธศักราช 2561” นี้ เพื่อความเป็นศิริมงคล กระทรวงวัฒนธรรมได้บูรณาการร่วมกับภาครัฐ เอกชน และองค์การศาสนาทุกศาสนา นอกจากจะร่วมกับวัดทั่วประเทศและต่างประเทศแล้ว ศาสนิกชนในศาสนาคริสต์ พราหมณ์-ฮินดู และซิกข์ ก็จะได้ร่วมจัดกิจกรรมสวดมนต์อธิษฐานขอพรตามหลักธรรมทางศาสนาอีกด้วย ทั้งนี้ ผมขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนได้มาร่วมในกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีนี้ เพื่อความเป็นสิริมงคลในการเริ่มชีวิตในปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง และเป็นการชำระล้างจิตใจให้บริสุทธิ์ เตือนใจให้ตั้งมั่นในความดี และตั้งใจหมั่นทำความดี คิดดี พูดดี ทำแต่สิ่งดี ๆ ชีวิตเราก็จะได้พบเจอแต่ความสบายใจ ไม่ทุกข์ร้อนโดยเริ่มจากตัวเราเองก่อน ก็จะเป็นพื้นฐานให้สังคมของเราน่าอยู่มากยิ่งขึ้น เนื่องจากเมื่อไม่มีการเบียดเบียนกันแล้ว ไม่มีการละเมิดสิทธิผู้อื่น ก็ย่อมจะไม่มีการละเมิดกฎหมาย สังคมก็มีแต่สงบสันตินะครับ ในการอยู่ร่วมกัน

พี่น้องประชาชนที่รักทุกท่านครับ

ในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ผมและคณะรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่ภาคเหนือ พบปะประชาชนในจังหวัดพิษณุโลกและสุโขทัย รับฟังเรื่องราวร้องทุกข์ เรื่องราวที่ต้องการให้มีการพัฒนา ความคิดเห็น ข้อเสนอต่าง ๆ มีการประชุม ครม. สัญจร ที่จังหวัดสุโขทัย ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ ก็ได้มีโอกาสหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัด ในภาคเหนือทั้ง 17 จังหวัด รวมถึงตัวแทนของพี่น้องประชาชน ซึ่งก็ถือว่าเป็นการรับฟังถึงความต้องการของชุมชนท้องถิ่นโดยตรง ก็มีหลายอย่างที่เป็นสิ่งที่ต้องการ หลายอย่างไม่ต้องการ ก็ต้องหาทางออกให้ได้ เป็นสิ่งที่รัฐบาลจำเป็นต้องเอารายละเอียดมาไตร่ตรอง มาหาข้อมูล ข้อเท็จจริง ทำให้ได้ข้อสรุป ไม่ให้เกิดความสับสน แล้วก็ช้าเกินไปในการที่จะแก้ไขปัญหาระยะยาว ยั่งยืนของเรา ผมคิดว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าเป็นข้อมูลสำคัญ คือ เราก็ต้องใช้ทั้งหลักการ ทั้งวิชาการ ทั้งเอกสาร ทั้งการายงานต่าง ๆ ประกอบกับการลงพื้นที่ เพื่อจะประกอบในการตกลงใจของคณะรัฐมนตรีของรัฐบาล เพื่อจะดำเนินการจัดทำลำดับความเร่งด่วน แผนงานโครงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการบริหารงบประมาณ เพราะเรามีงบประมาณจำกัด แล้วเรามีความต้องการอยู่ในหลายพื้นที่ หลายอย่างก็ต้องทำใหม่ทั้งหมด หลายอย่างก็ต้องแก้ไข หลายอย่างก็ต้องเพิ่มเติมเสริมต่อ สร้างความเชื่อมโยงให้ได้ เราจะต้องดำเนินการให้เหมาะสมกับห้วงระยะเวลา ตรงกับความยากลำบากของพี่น้องทุกคน ให้เหตุผลให้ตรงจุด แล้วก็ตรงกับความต้องการ การแก้ปัญหานั้นก็แก้ตรงจุด ไม่อย่างนั้นก็เหมือนกับทำอะไรไม่สำเร็จ ตรงโน้นบ้าง ตรงนี้บ้างก็ไม่สำเร็จสักอย่าง เพราะฉะนั้นก็ต้องทำหลาย ๆ อย่างประกอบกัน เพื่อให้พี่น้องประชาชนในแต่ละพื้นที่ ได้มีโอกาสพูดคุยผ่านทั้งช่องทางของราชการ ช่องทางของท้องถิ่น เพื่อให้ส่งถึงผมได้โดยตรง ในระยะเวลาอันรวดเร็วขึ้น แล้วก่อนสิ้นปีนี้ ผมและคณะรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่เยี่ยมพี่น้องประชาชน แล้วก็ดูแลถามไถ่ทุกข์สุขอย่างใกล้ชิด ถือว่าครบทุกภูมิภาคของประเทศแล้ว ทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางภาคใต้ และภาคเหนือ ในครั้งนี้ด้วย แล้วก็ได้มีโอกาสไปใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย ก็ยังเหลือ EEC ซึ่งต้องไปอีกสักครั้งหนึ่ง เพราะว่าเป็นเรื่องของการลงทุนขนาดใหญ่ ก็นับว่าได้รับข้อมูลมากจากปากของพี่น้องประชาชน ทุกหมู่เหล่าจับเข่าคุยกันกับหน่วยงาน เพราะว่าก่อนจะลงไปนั้น ผมได้ให้รัฐมนตรีลงไปเยี่ยมเยียนในพื้นที่รับผิดชอบนั้นด้วย คือ ไม่ได้ไปที่เดียวกับผมในตอนแรก วันแรกต่างกระทรวงก็จะไปเยี่ยมในแต่ละพื้นที แต่ละกิจกรรมของตัวเอง เพื่อจะไปรับทราบข้อมูล ผมถือว่าเราได้เอาทุกกระทรวงลงไปในพื้นที่จริง ไม่ได้หมายความว่า นายกฯ ต้องไปคนเดียว ไปฟังคนเดียวไม่ใช่ ก็รับข้อมูลต่าง ๆ ขึ้นมา แล้วเสนอให้ผมทราบ แล้วนำเข้า ครม. ในกิจการที่เป็นงานฟังก์ชั่นของเขาด้วย การทำงานวันนี้เราต้องใช้กลไกประชารัฐ ทุกคนทราบดีอยู่แล้ว ผมอยากให้กลไกนี้ เป็นกลไกที่มีการขับเคลื่อนอย่างยั่งยืน มีการขับเคลื่อนที่ต่อเนื่อง เชื่อมโยงในทุกพื้นที่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการเดินหน้าโครงการต่าง ๆ ในแต่ละพื้นที่ สำคัญคือความเข้าใจ ขับเคลื่อนประเทศ ในภาพรวมต้องมีความเข้าใจเป็นหลัก เราจะต้องรู้ถึงความมุ่งหมายในการจัดทำแผนงานโครงการต่าง ๆ ว่าทำมาเพื่ออะไร ใครจะได้ตรงไหน ใครจะเสียตรงไหน ทั้งนี้ เพื่อทุกอย่างจะได้เกิดความเป็นธรรม แล้วก็ทั่วถึงยั่งยืน รัฐบาลจะเร่งดำเนินการ

การไปเยี่ยมเยือนในครั้งนี้ของพี่น้องชาวเหนือ ก็มี 6 ด้านด้วยกัน ก็คล้าย ๆ กับภาคอื่น ๆ ด้วย ที่มีการจะต้องทำเพิ่มเติม
เรื่องที่ 1 ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับที่ตั้งของภาคเหนือ เพราะเป็นพื้นที่ที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านที่สำคัญ มีศักยภาพที่จะต่อยอดในเรื่องการท่องเที่ยวทั้งภายในภาคเอง เชื่อมกับประเทศ CLMV แล้วก็เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว และกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ให้เป็นระบบให้มากยิ่งขึ้น อาทิ
(1) เรื่องของการขนส่งทางอากาศ เราจะต้องมีการปรับปรุงท่าอากาศยาน ที่เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ น่าน รวมทั้งศึกษาความเหมาะสม ก็มีการเสนอมาว่าเพื่อให้รองรับการขยายตัวของผู้โดนสาร การท่องเที่ยวจำนวนมากในอนาคต ก็จะต้องหารือว่าเราจะสร้าง หรือเพิ่มเติมท่าอากาศยานเชียงใหม่แห่งที่ 2 ได้อย่างไรนะครับ เพื่อจะรองรับนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
(2) นอกจากทางอากาศแล้ว คงต้องดูทางบกด้วย เช่น มอเตอร์เวย์เชียงใหม่-เชียงราย การพัฒนาโครงข่ายทางหลวงแผ่นดิน เพื่อเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวมรดกโลก แล้วก็การขยายช่องทางจราจรทางหลวงแผ่นดินเพื่อจะรองรับการเดินทางและความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน
(3) การศึกษาความเป็นไปได้ในเรื่องการพัฒนารถไฟฟ้ารางเบา ในเขตเมือง เราก็เร่งดำเนินการในเรื่องของรถไฟทางคู่ หรือทางเดี่ยวที่ยังไม่มี สำหรับรถไฟความเร็วสูงก็ต้องพิจารณาถึงงบประมาณ ในเรื่องของการลงทุน อะไรต่าง ๆ ความคุ้มค่าต่าง ๆ ด้วย เพื่อจะไปจัดลำดับความสำคัญ จัดลำดับความเร่งด่วน ทุกคนอยากได้ แต่ปัญหาก็คืองบประมาณว่าอย่างไร เราจะมีเงินเพียงพอหรือไม่ เราจะทยอยทำไปก่อนได้หรือเปล่าในบางพื้นที่ หรือเอกชนจะร่วมมือในลักษณะเป็นการลงทุน PPP เรื่องนี้เรามีคณะกรรมการพิจาณาอยู่แล้ว ก็จะได้ตรงความต้องการของพื้นที่ แล้วก็อยากให้ภาคเอกชน มีส่วนร่วมในโครงการนี้มากยิ่งขึ้น ถ้าทุกคนมีส่วนร่วมแล้ว เราก็จะภูมิใจว่าถนนเส้นนี้ รถไฟเส้นนี้ เราก็เป็นเจ้าของเหมือนกัน

อันนี้ก็อยากจะให้ประชาชนได้เข้าใจตรงนี้ด้วย ไม่อย่างนั้นรัฐลงทุนอย่างเดียวก็ไปไม่ได้ ในเรื่องของผลกระทบสิ่งแวดล้อมต้องดูคู่กันไปหมด เพราะว่าพื้นที่ทั้งหมดที่จะต้องทำทั้งหมดเป็นพื้นที่ของเอกชนเป็นส่วนใหญ่ ผมถึงบอกว่าถ้าประชาชนไม่ยินยอมแล้วจะทำยังไง ในเมื่อสรุปมาแล้วว่าจะต้องการ จังหวัดโน้นต้องการ จังหวัดนี้ต้องการ แต่พอถึงเวลาทำจริง ๆ แล้วมีปัญหา เพราะผ่านพื้นที่ของประชาชน เพราะฉะนั้นท่านอยากได้ ท่านก็ต้องช่วยกันสร้างความเข้าใจด้วย รัฐบาลก็จะหามาตรการในการดูแล สำหรับผู้ที่เสียประโยชน์ไปบ้าง ก็คงไม่ใช่ทั้งหมด ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ส่วนรวม เป็นสิ่งที่ประเทศไทยต้องการ เป็นสิ่งที่จะต้องเข้าใจกันแบบนี้

ผมเห็นว่าโครงการเครือข่ายการขนส่งทางบกนั้น ในความคิดผมอาจจะเพราะผมเป็นนายกรัฐมนตรีที่อยากจะให้ทุกอย่างเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้นผมก็พยายามจะหาวิธีการทำให้ได้ คราวนี้ถ้าเราสร้างใหม่ทั้งหมด ทำเส้นทางใหม่ ไม่ว่าจะเป็นมอเตอร์เวย์ ไม่ว่าจะเป็นขยายเส้นทาง สร้างทางใหม่ บางทีพื้นที่ไปไม่ได้ ผ่านพื้นที่ป่า ป่าอุทยาน ซึ่งเราไปใช้มาก ๆ ก็ไม่ค่อยดี เพราะฉะนั้นเป็นไปได้หรือไม่ เราไปทำเครือข่ายความเชื่อมโยงเส้นทางหลัก - รอง ระหว่างอำเภอ จังหวัด ภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของ เพื่อจะเชื่อมพื้นที่ต่าง ๆ ให้เป็นเนื้อเดียวกัน ในลักษณะเป็นเหมือนใยแมงมุม ทุกคนก็ลองนึกภาพแมงมุมแล้วกัน บางทีก็ตรงไป แล้วมีเส้นทางแยก เส้นทางอ้อม แล้วก็กลับมาเจอเส้นเดิม หรือจากนั้นก็ไปขยายตรงปลายทาง อะไรทำนองนี้ ถ้าขยายทั้งเส้น ก็มีปัญหาหมด

เพราะฉะนั้น จะต้องเชื่อมโยงเหล่านี้ให้ได้ ให้เกิดการแตกแขนงออกไป ก็เหมือนส้นเลือดใหญ่ เส้นเลือดกลาง เส้นเลือดฝอย ที่ผมเคยพูดไปแล้ว เพราะฉะนั้นทุกอย่างต้องเป็นเครือข่ายแบบนี้ เป็นเส้นทางการจราจร ไม่อย่างนั้นก็ติดขัดไปหมด ลงทุนมากก็ไม่มีสตางค์ ไม่มีงบประมาณ เพราะฉะนั้นต้องหาวิธีการ ใช้สติปัญญาในการวางแผน ผมก็ได้สั่งย้ำไปกับกระทรวงคมนาคมไปแล้วว่าจะต้องเชื่อมโยงให้ได้ ต้องตอบคำถามประชาชนให้ได้ ลดความแออัดในช่วงเทศกาลอย่างไร ประหยัดงบประมาณได้อย่างไร ลดอันตรายได้อย่างไร รถไฟจะไปต่อกับรถยนต์ได้หรือไม่ หรือไปต่อรถไฟฟ้า รถอะไรก็ไปว่ากัน ไม่อย่างนั้นต่างคนต่างทำ ก็เกิดปัญหาหมด แล้วก็สิ้นเปลืองงบประมาณ บางทีก็มีปัญหาในเรื่องของค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา

เรื่องที่ 2 เรื่องด้านการบริหารจัดการน้ำภาคเหนือนั้น เราก็ถือว่าเป็นแหล่งกำเนิด แม่น้ำปิง-วัง-ยม-น่าน รวมกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำสายหลักของประเทศไทย แล้วทำให้ภาคกลางเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ ถือว่าเป็นเส้นเลือดหลัก เหมือนจราจร เพราะฉะนั้นก็มีแม่น้ำ ลำคลอง คูต่าง ๆ ย่อยไปถึงพื้นที่ต่าง ๆ เช่นเดียวกับการจราจร เส้นทาง ต้องคิดแบบนั้น เพื่อจะหล่อเลี้ยงภาคการผลิต เกษตรกรรมและอุตสาหกรรมของประเทศ รักษาระบบนิเวศน์ น้ำอุปโภค บริโภคนะครับ เหล่านี้เป็นความจำเป็น 5 ประการ ในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำ ที่จะต้องสนองตอบผู้บริโภคทั้ง 5 กลุ่มให้ได้ ขณะเดียวกันก็อาจจะสร้างความเดือดร้อน ถ้าเราแก้ไขไม่ได้ ในเรื่องของการบรรเทาอุทกภัย น้ำท่วมขังเป็นเวลานาน ซ้ำซากหลายปีมาแล้วทั้งน้ำแล้ง ก็เช่นกัน ถ้าไม่มีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ที่เรียกว่าบูรณาการแล้วทุกกระทรวง ต้องมาเอาข้อมูลเดียวกัน เอาพื้นที่มาจัด มาพิจารณาวางแผนและใช้งบประมาณร่วมกันของแต่ละกระทรวงมาเสริมกัน ก็จะสำเร็จไปเป็นพื้นที่ไป ในการช่วยกันแก้ปัญหา ปัญหาหนักเป็นปัญหาเบาลง ปัญหาเบาก็ไม่มีปัญหา ทำนองนี้ ต่างคนต่างทำไม่มีสำเร็จ

เพราะฉะนั้น โครงการพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำหลักของภาคเหนือ โดยเฉพาะภาคเหนือตอนบนนั้น เราก็จำเป็นต้องมีการพิจารณาก่อสร้างแหล่งเก็บกักน้ำ กักน้ำเพิ่มเติม แล้วจะต้องมีการศึกษาการผันน้ำระหว่างลุ่มน้ำ ซึ่งการผันน้ำมีปัญหา งบประมาณสูงในเรื่องของพลังงาน ในเรื่องของการทำอุโมงค์ หรือทำท่อปั๊มขึ้นไปในที่สูง เพราะว่าพื้นที่แตกต่างกันมาก ภาคเหนือก็เป็นภูเขามาก อันนี้ก็คือทำให้งบประมาณสูง ต้องไปหาวิธีการที่เหมาะสม จะทำอย่างไร ผันน้ำระหว่างลุ่มน้ำ สำหรับตอนล่างของลุ่มน้ำ เราก็จะต้องมีการก่อสร้างฝาย ประตูระบายน้ำ ปรับปรุงระบบส่งน้ำ ปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำให้มากยิ่งขึ้น แล้วก็ให้ความเร่งด่วนในการก่อสร้างประตูระบายน้ำ ทั้งนี้ผมก็ให้ไปพิจารณาอยู่ใน ครม. ไปแล้ว จัดเข้าทำแผนในการทำประตูน้ำเพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ตอนล่างของลุ่มน้ำยม เพื่อจะผันน้ำเลี่ยงเขตเศรษฐกิจในเขตจังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก และพิจิตร ที่ผ่านมาก็มีมูลค่าความเสียหายสูง จากบทเรียนในอดีตหากเกิดอุทกภัยขึ้น เช่นที่ผ่านมา เราต้องเร่งสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำ แบบชุมชนมีส่วนร่วม ที่เราใช้คำว่าแบบบางระกำโมเดล เพื่อจะลดปัญหาน้ำท่วมขัง แล้วในขณะเดียวกันก็จะเพิ่มรายได้ให้กับพี่น้องเกษตรกรด้วย

หลังจากน้ำท่วมแล้ว เขาขอช่วงเวลาหนึ่งเพื่อจะเก็บกักน้ำไว้เพื่อจะทำประมงน้ำจืดอยู่ ซึ่งในปีที่ผ่านมาประชาชนมีความพอใจ เขาก็ยินยอมให้มีการทำในพื้นที่รองรับน้ำ ในช่วงหลังจากการเก็บเกี่ยวไปแล้ว ก็เหมือนกับภาคกลางที่ให้เป็นแก้มลิง ปล่อยปลาลงไป แล้วประกอบอาชีพทางประมงพื้นบ้านไป ก็เป็นรายได้เสริม กว่าจะถึงฤดูกาลใหม่ในการเพาะปลูก เพราะฉะนั้นอยู่ที่การบริหารจัดการ ทุกกระทรวงร่วมมือกันช่วยกัน

เรื่องที่ 3 ด้านเกษตรและการแปรรูป ได้หารือกันในเรื่องการสนับสนุนโครงการเกษตรอุตสาหกรรม เพื่อการส่งออกของภาคเหนือ ใช้ผักและผลไม้นำร่อง ที่เขาเสนอมา คือ กล้วยหอม ซึ่งเหมาะกับดินในภาคเหนือ สับปะรด กระเจี๊ยบเขียว ขิง มะม่วง ข้าว ไผ่ และพืชสมุนไพร ส้มซ่า อะไรทำนองนี้ ก็มีหลายประเภทด้วยกัน เราจะต้องครอบคลุมการผลิตตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง แล้วก็ปลายทาง เพื่อจะเป็นอาหาร เป็นสินค้าส่งออก เป็นสินค้านวัตกรรมให้ได้โดยเร็ว เพื่อจะไปสู่อนาคตที่มากยิ่งขึ้น เพิ่มมูลค่าให้มากยิ่งขึ้น ผมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาในรายละเอียด แล้วก็ให้ทุกกระทรวง ได้สนับสนุนโครงการฯ คนละส่วนกันไป ใครรับผิดชอบตรงไหน ก็ให้ไปทำตรงนั้น ต้องคำนึงถึงความสอดคล้องกับการโซนนิ่งพื้นที่ไปด้วย ก็อยากให้ทุกคนไปดูแอปพลิเคชันเพื่อการเกษตร ที่เรียกว่า Agri-Map”

รวมทั้งการคัดสรรวัตถุดิบคุณภาพ และแปรรูปสินค้าให้ได้มาตรฐานตรงความต้องการของตลาดและความคุ้มค่าในการขยายผลต่อไป เรื่องตลาดนี่สำคัญ คือ ผมก็เป็นกังวลนิดหนึ่งว่า ถ้าเราจะปลูกกล้วยหอม เพราะราคาดี ความต้องการของตลาดข้างนอกทั้งหมด 3 ล้านตัน 2 ล้านตัน แล้วเราจะปลูกมาก ๆ ขึ้นไป ผมว่าจะเป็นปัญหา ต้องไปดูว่าเราปลูกมาแล้ว ทุกประเทศเขาต้องการก็จริง แต่ทุกประเทศเขาต้องการ เขาก็ไปหาที่ที่ถูก ที่ขนส่งง่ายด้วย อะไรด้วย

เพราะฉะนั้นเราจะไปหวังว่าเราจะส่งเองทั้งหมด เป็นไปไม่ได้ ท่านก็ไปดูขีดความสามารถ การขึ้นทะเบียน การตรวจสอบต้นทาง เพราะฉะนั้นเราจะขายใคร กล้วยหอมนี่เขาต้องมาตรวจถึงแหล่งผลิตด้วย ถึงการขนส่ง การอะไรต่าง ๆ เหล่านี้ เขาไม่ต้องการให้มีโรค ศัตรูพืช อะไรไปประเทศเขาด้วย แล้วสินค้าต้องมีคุณภาพ เพราะฉะนั้นหน่วยงานที่สนับสนุนก็ต้องดูดีมาน ซัพลาย ให้ต้องกันด้วย

เรื่องที่ 4 เรื่องการค้าและการลงทุน เราจะเร่งสนับสนุนในเรื่องของการอำนวยความสะดวกทางการค้า การค้าชายแดน จุดผ่านแดน เส้นทาง การท่องเที่ยว การลงทุนต่าง ๆ ระหว่างไทยกับเมียนมา เราก็จะต้องเร่งดำเนินการเรื่อง Visa on Arrival (VOA) ณ ด่านชายแดนไทยกับเมียนมา การทำความตกลงทวิภาคี การเปิดเดินรถส่วนบุคคล การอนุญาตให้รถขนส่งของเมียนมาเข้ามาขนส่งสินค้าในฝั่งไทย ด้านด่านแม่สอด จังหวัดตาก แล้วเราก็ต้องเอารถของเราขนเข้าไปในฝั่งเมียนมาด้วย คือ ลักษณะเป็นการค้าหรือการขนส่งต่างตอบแทน ต้องเท่าเทียมกัน

รวมถึงจะต้องมีการศึกษาเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันตก” ในพื้นที่จังหวัดตาก พิษณุโลก และสุโขทัย จะได้พิจารณาในเรื่องการสนับสนุน การจัดงานแสดงศักยภาพสินค้าเกษตรของภาคเหนือ งานแสดงสินค้าและมีการจับคู่ธุรกิจ เพื่อขยายการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านต่อไป เหมือนกับภาคอื่น ๆ มีโอกาสอยู่ ก็ต้องสร้างความเข้าใจ ใกล้ชิดซึ่งกันและกัน ได้เห็นข้อเท็จจริง มีข้อมูลมีสินค้า มีสินค้าให้เห็น อะไรทำนองนี้ จำเป็นต้องมีการจัดงานเหมือนกัน

เรื่องที่ 5 ด้านการแพทย์ การบริการผู้สูงอายุ และสังคม เราจะต้องมีการจัดทำแผนแม่บท ในเรื่องของการดูแลผู้สูงอายุแบบครบวงจร ภาคเหนือ ภาคอื่น ๆ ก็ต้องทำเช่นเดียวกัน คราวนี้พื้นที่ต่างกัน เพราะฉะนั้นเราต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมของพื้นที่ที่มีศักยภาพ และพร้อมดำเนินการโดยไม่ต้องไปลงทุนอะไรต่าง ๆ มากมายในระยะแรก รวมทั้งรูปแบบการบริหารจัดการ ก็ต้องลดภาระของรัฐในอนาคตด้วย ก่อนที่จะขยายผลสัมฤทธิ์ไปยังพื้นที่อื่นอีกต่อไป หลายอย่างต้องเหมือนกับตัดเสื้อคนละตัว คนละแบบให้แต่ละพื้นที่เพราะฉะนั้นเราจะต้องพิจารณาผลักดันนโยบายเมืองสมุนไพร(Herb City) และการแพทย์แผนไทย ผมก็ทดลองนวดกับเขาด้วย ก็ดีทุกคนได้มีอาชีพเสริมขึ้นมา ขอให้ผ่านการอบรมแล้วกัน แล้วคุณภาพ ความสะอาดสำคัญ เพื่อความเป็นเลิศของเราในเรื่องการแพทย์แผนไทย เราจะได้สามารถนำไปขยายผลต่อไปยังพื้นที่อื่น ๆ ด้วย

และสุดท้าย คือเรื่องที่ 6 ด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยว อันนี้สำคัญเพราะว่าเป็นสิ่งที่ทำให้ประเทศไทยมีรายได้สูงในปีที่ผ่านมา แล้วก็ปีนี้ด้วย เพิ่มขึ้นหลายเปอร์เซ็นต์ เป็น 10-20 เปอร์เซ็นต์ ที่ผ่านมา ปีนี้ก็เข้าไปกว่า 3.5 ล้านคน จนสิ้นปีนี้ ผมคิดว่านี่เป็นสิ่งที่สำคัญ ที่เรามีศักยภาพอยู่แล้ว เราเสริมไปนิดหน่อย ไปควบคุมคุณภาพ ไปดูแลไกด์ ดูแลในเรื่องของร้านค้า ไปดูแลเรื่องทัวร์ เหล่านี้ให้เป็นไปตามกฎหมาย ก็จะมีลูกค้ามาเอง แล้วไม่ต้องไปเสียเบี้ยใบ้รายทาง อะไรต่าง ๆ ทำให้ถูก รัฐบาลนี้ต้องการทำให้ทุกคนกลับเข้ามาสู่วงจรการทำที่ถูกกฎหมายถูกต้อง สบายใจด้วยกันทั้งคู่ เจ้าหน้าที่ก็ไม่เหนื่อย ประชาชนก็ไม่เครียด คนมาเที่ยวก็สบายใจ

เราต้องเชื่อมโยงการท่องเที่ยวระหว่างจังหวัด ภูมิภาค ท้องถิ่น ชุมชนด้วย ให้คนในท้องถิ่นมีส่วนแบ่งในรายได้นี้ด้วย ต้องไปดูกฎหมายอีกหลายตัว กฎหมายเรื่องที่พักอีก นี่คือรัฐบาลปฏิรูปการท่องเที่ยว ไม่ใช่ว่าปฏิรูปการท่องเที่ยว คือ เอาคนมาเที่ยวให้มากขึ้น แต่แก้อีกหลาย ๆ อย่าง ที่เกี่ยวข้องทั้งผู้ประกอบการ ผู้บริโภค กฎหมาย ความรับผิดชอบ ที่เรียกว่าปฏิรูป รัฐบาลทำเรื่องแบบนี้ทั้งหมด อีกประการหนึ่งก็ต้องการให้ชุมชนได้รับประโยชน์นอกเหนือจากการท่องเที่ยว เรื่องดิจิตอลด้วยเพื่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม

ผมอยากจะเน้นย้ำว่า รัฐบาลพยายามอย่างยิ่งที่จะดำเนินโครงการหรือเร่งรัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชนและพื้นที่ให้ได้มากที่สุด เพราะบ้านเมืองเรายังมีปัญหาอีกมากมายที่รอการแก้ไข เราอย่ามาทะเลาะกันเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เรื่องใหญ่กว่านั้นก็คือ เรื่องคนไทยของเรา ความยากจนของเรา ที่ต้องแก้ไขงบประมาณในการพัฒนาประเทศ ยังไงเราต้องเจอภาระมากกว่านี้ ต้องคิดกันวันนี้ อย่ามัวติดขัดในเรื่องเดิม ๆ อีกเลย ก็ค่อย ๆ แก้ไปความเป็นอยู่ของประชาชนสำคัญกว่าอย่างอื่น ไม่ว่าใครเป็นรัฐบาล ต้องดูว่าที่ผ่านมาเราแก้ปัญหากันอย่างไร แก้ถูกจุดหรือไม่

วันนี้หลาย ๆ คนมาเร่งรัดรัฐบาลให้แก้โดยเร็วที่สุด และผมถามว่าที่ผ่านมาได้ทำอะไรไปอย่างที่กำลังทำหรือไม่ ไปย้อนคิดก็แล้วกัน การกระจายรายได้ที่เหมาะสมคือจำเป็น เพราะมีความเหลื่อมล้ำกันอยู่ เรากำลังให้ดูเรื่องรายได้ของคนทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย มีมาตรการสำคัญก็คือ มาตรการลดความยากจนทุกจังหวัด จะต้องเร่งรัดการดำเนินงานขั้นที่ 1 ภายในสองปีให้ได้ (พ.ศ.2561-2562)

การลงพื้นที่ครั้งนี้ ผมได้เป็นสักขีพยานในการมอบหนังสืออนุญาตให้ทำประโยชน์ในที่ดินทำกิน ให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด 14 จังหวัด รวม 21 พื้นที่ ให้ประชาชนได้มีที่อยู่อาศัย มีที่ทำกินให้ถูกต้องด้วยกฎหมายการขอใช้ที่ดินของกระทรวงมหาดไทย โดยผู้ว่าราชการจังหวัด ไม่เช่นนั้นคนก็บุกรุกไปเรื่อย ๆ บุกรุกเสร็จก็ไปขาย ขายถูกขายผิดก็ไม่รู้เหมือนกัน แล้วก็ไปบุกรุกใหม่ ต่อไปนี้ทำไม่ได้แล้ว ถ้าอยู่ในพื้นที่ที่เราสามารถดูแลได้ เราก็จะจัดที่ทำกินให้ โดยคณะทำงานนโยบายจัดที่ดินของรัฐบาลนี้ ก็จัดให้ทุกจังหวัด สำหรับคนที่มีที่อยู่แล้วแต่เป็นพื้นที่ป่าที่ผิดกฎหมาย ป่าไหนเสื่อมโทรม ไม่ต้องอพยพ เราก็ใช้กฎหมายเดิมให้เขาอยู่ได้ ก็ขอร้องอย่าไปบุกรุกกันอีกเลย พอได้แล้ว ไม่เช่นนั้นวันหน้าเราจะไม่เหลือป่าไว้ให้คนรุ่นหลังได้มีป่าไว้สร้างฝน สร้างน้ำ กักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง อันนั้นคืออันตรายอย่างยิ่ง มากว่าเรื่องของที่ดินอีก

เพราะฉะนั้น ต้องแบ่งปันกัน ช่วยเหลือกัน ร่วมกันเร่งสร้างศักยภาพ ขยายผลจากจุดแข็ง หรือความได้เปรียบของแต่ละพื้นที่ ใช้ภูมิปัญญาของชุมชน มาขับเคลื่อน ก็อยากให้มองว่าจะขับเคลื่อนไปข้างหน้า หรือขับเคลื่อนถอยหลัง หรือจะหยุดไม่ขับเคลื่อน ส่วนใหญ่เวลาทำอะไรออกมา จะไปไม่ได้หมด เพราะความเห็นไม่ตรงกัน ไม่ชอบกัน กลุ่มนี้ได้ กลุ่มนั้นไม่ได้ ก็ไม่ยอมกัน หาตรงกลางให้เจอ หาข้อยุติให้ได้ ไม่เช่นนั้นก็เกิดขึ้นไม่ได้ แล้วปัญหาก็จะบานปลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำ พลังงาน เกษตร ราคาสินค้า สิ่งของอะไรต่าง ๆ ทั้งหมด อยู่ที่คนทั้งนั้น

เพราะฉะนั้น ข้าราชการจะไปบังคับทุกอย่างก็ลำบาก มีกฎหมายบางตัวซึ่งเราสามารถใช้ได้ บางอย่างใช้ไม่ได้เพราะเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ ที่เราไปแก้ไขไม่ได้เรื่องการค้า การลงทุน ต้องเข้าใจตรงนี้ เราคิดเอง ทำเอง ถึงแม้เป็นประเทศเรา แต่เราต้องมีการค้าขายกับโลกภายนอกเขาด้วย อันนั้นคือผลประโยชน์โดยรวมของประเทศ เราจะต้องสร้างรายได้ สร้างมูลค่าเพิ่มให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน คือ ความเข้าใจและความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนเอง รัฐบาลพร้อมที่จะทำทุกอย่างให้ แต่ทั้งนี้จะต้องไม่มีความขัดแย้ง หลายเรื่อง หลายโครงการยังติดปัญหา ดำเนินการไม่ได้ ส่วนหนึ่งก็ไม่เข้าใจส่วนหนึ่งก็ยังไม่เห็นประโยชน์ ส่วนหนึ่งได้ประโยชน์ก็เห็นด้วย ส่วนไม่ได้ประโยชน์ก็ไม่เห็นด้วย แล้วจะไปกันยังไง ผมก็พยายามจะขับเคลื่อนให้ได้อยู่ ก็ขอให้เร่งรัดในเรื่องเหล่านี้

ตัวอย่างโครงการที่ไม่คืบหน้า แล้วก็เป็นโครงการที่มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอยู่เป็นจำนวนมาก ที่เรียกว่ามีส่วนได้ส่วนเสียก็คือบางคนได้ บางคนเสีย เพราะเป็นที่ดินของประชาชน แต่โดยรวมประชาชนบางส่วนยังไม่เข้าใจ เป็นพื้นที่ประชาชน เอกชน จำนวนมาก ที่อยู่ในเส้นทางการก่อสร้างที่สำคัญ ได้แก่ โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานแนวทางไว้ ทั้งสิ้น 8 โครงการ คงเหลือโครงการนี้อีก 1 โครงการที่ยังค้างอยู่ เป็นสาเหตุสำคัญทำให้ปี 2531 มีน้ำท่วมใหญ่ในรอบ 50 ปี 14 จังหวัดภาคใต้ ประชาชนเดือดร้อนกว่า 6 แสนคน สร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สิน และพื้นที่ทำกิน ไม่ต่ำกว่า 7.5 พันล้านล้านบาท หากปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข เหตุอุทกภัยมีแนวโน้มทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกปี ปี 39 มูลค่าความเสียหาย 63 ล้านบาท ปี 43 เสียหาย 192 ล้านบาท และปี 54 เสียหายกว่า 2,300 ล้านบาท ทั้งๆ ที่กรมชลประทานได้เริ่มศึกษาสภาพปัญหาและหาแนวทางแก้ไขที่เน้นการมีส่วนร่วม มาตั้งแต่ปี 2531 - 2545 รวม 14 ปี แต่จนบัดนี้ ผ่านไป 15 ปี ก็ยังไม่มีความคืบหน้า ซึ่งรัฐบาลได้หยิบโครงการนี้ขึ้นมา เพราะเป็นโครงการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ขึ้นมาพิจารณาใหม่ ภายหลังจากการลงพื้นที่ภาคใต้ เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา และให้เร่งดำเนินการโดยเร็ว แบ่งการดำเนินการป้องกันและแก้ไขน้ำท่วม ออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่
(1) ระยะเร่งด่วน เน้นในพื้นที่ชุมชนเมือง และพื้นที่เศรษฐกิจ เขตเทศบาลเมือง พื้นที่สาธารณะต่าง ๆ ที่เป็นการให้บริการประชาชน ต้องแก้ไขให้ได้ การค้าธุรกิจสำคัญ
(2) ระยะยาว ครอบคลุมทั้งในและนอกเขตเมืองอย่างเป็นระบบ โดยการหาพื้นที่เหมาะสม ขุดคลองผันน้ำใหม่ อันนี้คือปัญหา เวลาขุดคลองต้องผ่านที่มากมาย ระยะทางเป็นหลายสิบกิโล เป็นร้อยกิโลก็มี ถ้าไม่ยอมให้ที่กันก็ไปไม่ได้ ท่านต้องเร่งพิจารณากันมา ภาคประชาชนก็ต้องช่วยกัน เอ็นจีโอ ทำอย่างไรเราจะเสียหายน้อยที่สุด เรื่องน้ำท่วมทำอย่างไรเราจะจัดสรรทรัพยากรมาให้ได้ เหล่านี้เป็นวิภาคต่อกันทั้งสิ้น ต้องดูว่าได้กับเสียคุ้มค่ากันหรือไม่ การทำคลองผันน้ำใหม่ ถนน เลี่ยงเมือง ไม่ไปผ่านพื้นที่ที่มีน้ำท่วม พื้นที่ต่ำ ลุ่มต่ำ เหล่านี้ต้องแก้ไขทั้งสิ้น ระบบระบายน้ำเรามีปัญหา และการขยายคลองระบายน้ำเดิม รวม 3 สาย ระยะทางเกือบ 19 กิโลเมตร พร้อมประตูระบายน้ำอีก 7 แห่ง เพื่อควบคุมการผลักน้ำลงสู่ทะเล โดยกระทบชุมชนน้อยที่สุด อันนี้เป็นโครงการที่ 8 ที่ผมว่าเมื่อสักครู่ โครงการที่พัฒนาไว้แล้ว

ทั้งนี้ หากสามารถดำเนินการได้สำเร็จ นอกจากจะแก้ปัญหาอุทกภัยในพื้นที่นี้ได้อย่างยั่งยืน ให้กับ 32,000 ครัวเรือนแล้ว ยังสามารถเก็บกักน้ำต้นทุน สำหรับกิน ใช้ และการเกษตร ในหน้าแล้ง 5.5 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งครอบคลุมพื้นที่รับผลประโยชน์ อีก 17,400 ไร่ ด้วย นั่นคือสิ่งที่ได้ เสียก็คือที่ที่คลองระบายน้ำต้องผ่าน หากทำโครงการนี้ไม่ได้ ความเสียหายก็จะมากขึ้น ภัยแล้ง อุทกภัย การจราจร การใช้พลังงานทุกอย่างมีปัญหาหมด หากมีการขยายชุมชน เพิ่มประชากรมากขึ้น ผังเมืองกำหนดไว้ก็ไม่ปฏิบัติตาม หลายคนก็ไปสร้างขวางทางน้ำ หมู่บ้าน บ้านจัดสรรต่าง ๆ ท่านต้องรับผิดชอบสังคมด้วย ไม่เช่นนั้นรัฐบาลไปบังคับทุกอย่างจะแก้ไขไม่ทัน เพราะคนไปอยู่แล้ว นั่นคือปัญหาที่ต่อเนื่องไปอีก ในระยะต่อ ๆ ไป

ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เราคงสัมผัสได้ถึงความเปลี่ยนแปลงของประเทศ ไม่มากก็น้อย นอกจากการพัฒนาทางโครงสร้างพื้นฐานที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เราพัฒนาต่อเนื่องเชื่อมโยง มีแผนงาน ปัญหาอยู่ที่ทำได้หรือไม่ได้ ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัดแล้ว ท่านอาจรับรู้ว่าบ้านเมืองสงบสันติเป็นอย่างไร ไม่มีปิดถนน คนไทยไม่ตีกัน ทะเลาะเบาะแว้งกัน ไม่วุ่นวาย การหยุดทุจริตและสานพลังประชารัฐในแหล่งท่องเที่ยว ช่วยให้กรมอุทยานแห่งชาติ จัดเก็บรายได้มากขึ้น จาก 600 ล้าน เป็น 2,400 ล้านต่อปี แล้วบอกรัฐบาลนี้ไม่ทำอะไร ผมว่าบางเรื่องก็ดีอยู่มาก ลองรับทราบและสื่อให้เห็นว่าอะไรดี ๆ บ้าง แล้วกัน อะไรที่ไม่ดีก็บอกมา เราจะได้แก้ไข ผมก็รับทั้งดีและไม่ดี

ผู้มีรายได้น้อยมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ช่วยลดภาระใช้จ่ายประจำวัน และการเดินทาง รวมทั้งรัฐบาลตัดสินใจลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้าน ICT หรือเน็ตประชารัฐ ทุกคนต้องเรียนรู้นะครับ จะได้ประโยชน์อย่างไร ไม่งั้นทำไปก็เสีย เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกล เข้าถึงองค์ความรู้จากทั่วโลก โดยไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ในยุคดิจิทัล นำมาใช้ประโยชน์ให้ได้ เรื่องการค้า การพัฒนาคุณภาพชีวิต ความรู้ การสาธารณสุข ทุกอย่างใช้ดิจิตอลทั้งสิ้น รัฐบาลก็ทำไปบ้างแล้ว เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่ยังมีอีกมาก ที่รอการแก้ไข ก็ค่อย ๆ ทำไป แผนงานงบประมาณก็มีอยู่ วันหน้าใครเป็นรัฐบาลก็รับต่อไป ทำให้ดีขึ้นก็แล้วกัน ซึ่งรัฐบาลนี้ ตระหนักในสิ่งเหล่านั้น เพราะเป็นปัญหามายาวนาน ทุกคนทราบดี เพียงแต่ว่าจะแก้ได้แค่ไหน อย่างไร เราต้องเร่งสร้างความเข้มแข็งและหาแนวทางแก้ไขให้เกิดความยั่งยืน
ตัวอย่างความเดือดร้อนของเกษตรกรที่ผมให้ความสำคัญ ควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาหนี้สิน ก็คือเรื่องกฎหมายขายฝาก ซึ่งคาดว่าจะมีข้อสรุปได้ในไม่ช้า ผมได้ยินมา 40 กว่าปี ตั้งแต่เรียนหนังสือแล้วว่า เกษตรกรรายย่อยมักสูญเสียที่ดินทำกินไป เพราะสัญญาขายฝาก เพราะยากไร้ ขาดเงินทุน และเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนในระบบ อย่างเช่นธนาคาร หรือสถาบันการเงินต่าง ๆ จึงต้องหาแหล่งเงินกู้นอกระบบ ก็ถูกนายทุนเงินกู้เรียกร้องให้นำโฉนดที่ดินมาเป็นหลักประกัน โดยการทำสัญญาขายฝาก โดยพี่น้องเกษตรกรเหล่านั้น ไม่รู้ทั้งเนื้อหาของสัญญา ไม่รู้ทั้งกฎหมายขายฝาก สมัยก่อนบางทีก็อ่านหนังสือไม่ได้ด้วย หลักการตามกฎหมายเขาว่า...กรรมสิทธิ์ในที่ดิน จะตกเป็นของผู้รับขายฝากทันทีนั้น กฎหมายท่านต้องเรียนรู้ด้วย ยกเว้นแต่ผู้ขายฝากจะมาไถ่ถอนตามกำหนดเวลา ถ้าไม่ไปถอนตามเวลาก็ทันที เราเสียเปรียบตลอด ถ้าเราไปยอมเขาแบบนั้น แต่ทุกคนเดือดร้อนจะให้ทำอย่างไร ผู้รับขายฝากก็สามารถไปจดทะเบียนเปลี่ยนกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินนั้นได้เลย ทำกันง่าย ๆ ที่สำนักงานที่ดิน ง่ายกว่าการบังคับจำนองอีกนะครับ บางทีเวลาถึงกำหนดไถ่ถอนการขายฝาก นายทุนเงินกู้ก็ไม่อยู่ไม่ว่างเสียดื้อ ๆ ก็ให้เลยเวลาไป ซึ่งนี้เป็นการเอาเปรียบซึ่งกันและกัน ทำอย่างนี้ไม่ได้ ต้องช่วยเหลือกัน เกษตรกรมีเงินไปไถ่ถอน ก็ทำไม่ได้ เลยเวลา ผมคิดว่าหมดไปแล้วก็ยังมีอยู่ เมื่อ 1 – 2 เดือนก่อนก็มีคดีฆาตกรรมอยู่ครัวที่จังหวัดภาคใต้ สืบสาวราวเรื่องก็มีปัญหาจากการขายฝาก

เรื่องแบบนี้ ที่ผมคิดว่าจะต้องแก้ปัญหาให้พี่น้องเกษตรกรรายย่อยให้ได้ ในทุกพื้นที่ เพราะว่าไปเป็นหนี้เป็นสินกับเรื่องการเอาเงินลงทุนมาลงทุนแต่ละครั้ง แต่ละฤดูกาล บางทีก็เอาเงินของนายทุนมา เจ้าของโรงสีบ้าง เจ้าของโรงน้ำตาลโรงหีบอ้อยบ้าง โอเคเป็นระบบ ซึ่งก็จำเป็นในบางครั้ง แต่บางครั้งก็ต้องไม่เอาเปรียบซึ่งกันและกัน ประชาชนก็ต้องรู้กฎหมาย เอาของเขามาแล้วก็ต้องเป็นหนี้ไปตลอด ทุกครั้ง ๆ ก็เหมือนกันปลูกไปก็ไม่ได้ไปขายใคร ก็ต้องขายให้เจ้าหนี้ และท้ายที่สุดที่ดินทำกินก็หายไป ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมเน้นจะทำให้ได้ในปีนี้และปีหน้า เราจะต้องแก้ไข้อย่างไร เราจะยกเลิกกฎหมายขายฝากไปเลยหรือไม่ หรือจะแก้ไข้เพิ่มเติมให้พี่น้องเกษตรกรคนจนมีหลักคุ้มครองมากยิ่งขึ้น อันนี้ถ้าไม่ใช่รัฐบาลนี้ทำไม่ได้ ต้องช่วยผมให้ทำให้ได้ จึงจะเกิดประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ บรรดาพวกนายทุนต่าง ๆ ผมไม่ได้ว่าท่านไม่สุจริต
เพราะฉะนั้น ท่านต้องเห็นใจคนจนเขาบ้างว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เขามาว่าเราว่าเป็นนายทุนเอื้อประโยชน์นายทุนอยู่แบบนี้ ผมว่าต้องลดช่องว่างเหล่านี้ให้ได้ ช่องว่างของรายได้ให้ได้มากที่สุด เท่ากันไม่ได้อยู่แล้ว ถ้าหากว่าเรามีมาตรการทดแทนเราก็จะสามารถทำให้คนยากคนจนมีแหล่งเงินสุดท้ายยามวิกฤติ โดยที่ไม่เสี่ยงต่อการสูญเสียที่ดิน หลายเรื่องก็กำลังทำอยู่ ซึ่งทำอยู่ทั้งหมด ธนาคารที่ดินก็มี เป็นแต่เพียงเริ่มแรกในการที่จะทำให้ขยายออกไปให้ทั่วถึง เป็นสิ่งที่ทำได้ยากเพราะใช้เงินจำนวนมาก ก็ต้องกฎหมายทำทุกอย่างให้พร้อม เรื่องนี้ก็ได้ให้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ได้บรรจุเป็นวาระเร่งด่วน ในการพิจารณาหาแนวทางแก้ไขแล้ว ทั้งระบบ ก็คาดว่าจะได้ข้อสรุป เพื่อดำเนินการก่อน ในโอกาสแรก โดยไม่ต้องรอการปฏิรูปในกรอบใหญ่ เพราะเวลาไม่คอยท่า จะได้สอดคล้องกับโมเดลแก้ปัญหาความยากจนทั่วประเทศ ก็หลาย 10 จังหวัดที่มีปัญหาความยากจนต่ำกว่าเกณฑ์พื้นฐาน PTT รายหัว

สุดท้ายนี้

อีกไม่กี่วัน เราก็จะก้าวเข้าสู่ปีใหม่แล้ว สิ่งที่ผมคาดหวัง เช่นทุกคนเหมือนกันก็คือ การเห็นบ้านเมืองของเรามีความสุขมากขึ้น คนไทยมีชีวิตที่ดีขึ้น รัฐบาลก็พยายามจะมองไปข้างหน้า และต้องมีการประเมินสถานการณ์ คาดการณ์ล่วงหน้า ถึงความเป็นไปได้ในหลาย ๆ มิติ เพื่อให้คนไทยและประเทศไทยก้าวทันเทคโนโลยี และโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ผมอยากให้พี่น้องประชาชนชาวไทย ได้รวมกันมองเห็นภาพอนาคต จากโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC อันเป็นโครงการนำร่อง ของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ อีก 10 แห่ง ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ วันหน้าก็จะเกิดด้านตะวันตก ด้านภาคใต้ ภาคเหนือก็ได้ ตอนนี้ในระยะแรกก็ให้เป็นอย่างนี้ไปก่อน เพื่อจะทำให้ทุกภูมิภาคเข้มแข็ง และมียุทธศาสตร์การดำเนินการตามนโยบาย และก็เป็นไปตามวิสัยทัศน์ของเราในการขับเคลื่อนประเทศ ตามนโยบาย Thailand 4.0” ให้เป็นรูปธรรม เราต้องอยู่ร่วมกันทั้ง 1.0 / 2.0 / 3.0 และ 4.0 ให้เกิดภาพที่จับต้องได้จริง ที่รัฐบาลต้องการมอบเป็นของขวัญกับประชาชนคนไทยทุกคน ก็คือของขวัญให้กับลูกหลานของท่านด้วย ให้เข้าถึงโอกาสดี ๆ มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีอาชีพดี ๆ มีการศึกษาดีและมีรายได้ที่ดีขึ้นในอนาคต แต่การที่เราจะพัฒนาทุกอย่างได้นั้น เราต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจของทุกคนในชาติ ผมเชื่อมั่นว่าการประชาสัมพันธ์ด้วยข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชน ก็จะช่วยให้ทุกคน เข้าใจถึงความสำคัญในการพัฒนา และสนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง

ภาพยนตร์สั้น ที่ท่านจะได้ชมต่อไปนี้ จะเป็นภาพอนาคตอันใกล้ จากผลลัพธ์ของโครงการ EEC โดยจะแสดงให้เห็นว่า คนไทยทุกคนล้วนมีส่วนเชื่อมโยง เกี่ยวข้อง และได้ประโยชน์ใน EEC ไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่ง ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ทั้งเกษตรกรยุคใหม่ , SME , Startup , เยาวชนรุ่นใหม่ และแม้กระทั่งประชาชนคนเดินดินทั่วไป ก็ได้ประโยชน์จากการเกิดขึ้นของ EEC มากมาย เพราะว่าจะเป็นแหล่งบ่มเพาะ พัฒนาคนไทยรุ่นใหม่ ที่มีความคิด มีการเรียนรู้ที่สร้างสรรค์ สามารถค้นคิดนวัตกรรมใหม่ ๆ มีการฝึกฝนทักษะอาชีพ ที่ตอบโจทย์ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของโลก และก็สามารถที่จะเรียนจบ ศึกษาจบหรือไปต่างประเทศมาก็กลับถิ่นฐานบ้านเกิด เพื่อจะพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง ทำงานสร้างรายได้ให้กับชุมชน จังหวัด กลุ่มจังหวัด หมู่บ้าน ใกล้ครอบครัว เราก็จะต้องมีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมที่เข้มแข็ง ที่ยั่งยืน และก็ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นตัวเชื่อมโยง ท้องถิ่น ประเทศไทยและโลก

ขอบคุณครับ ขอให้ทุกคน และครอบครัว มีความสุข ในช่วงวันหยุดเทศกาลส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ที่สดใส และเต็มไปด้วยความหวัง เดินทางไปกลับโดยสวัสดิภาพ ปลอดภัยทุกคน ขอเชิญรับชมภาพยนตร์สั้น ภาพแห่งอนาคตของ EEC ของประเทศไทยได้ครับ ขอบคุณครับ สวัสดีครับ

 

ชมรายการย้อนหลังผ่านยูทูป ช่องวีดีโอ chorsaard

 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้