Last updated: 11 ธ.ค. 2560 | 3321 จำนวนผู้เข้าชม |
7 ปีก่อน Hurd NM และคณะได้ทำการศึกษาเรื่องพฤติกรรมของเด็กวัยรุ่นระดับเกรด 9 หรือประมาณมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในประเทศสหรัฐอเมริกา จำนวน 659 คน และรายงานว่า พฤติกรรมของเด็กที่แสดงออกมาเมื่อประสบพบเจอกับปัญหาในชีวิตนั้นแตกต่างกันไป
เด็กๆ ที่มีพ่อแม่หรือคนเลี้ยงดูที่เป็นต้นแบบที่ดี ดูแลใกล้ชิด จะมีพฤติกรรมตอบสนองต่อเหตุการณ์ต่างๆ ได้ดีกว่ากลุ่มที่ไม่มีต้นแบบที่ดี และแสดงออกซึ่งความมั่นคงของจิตใจในการตอบสนองต่อสิ่งเลวร้ายในชีวิต
นอกจากนี้ยังมีการวิจัยอีกมากมายที่พิสูจน์แล้วว่า อิทธิพลของผู้ดูแล บ่มเพาะ เลี้ยงดู หรือแม้แต่กำกับการทำงานในสถานที่ทำงาน และในสังคมนั้นมีผลต่อพฤติกรรมและลักษณะความเสี่ยงต่อการละเมิดจริยธรรมของคน ไม่ว่าจะเป็นเด็ก เยาวชน หรือผู้ใหญ่ก็ตาม
ที่เล่าให้ฟังข้างต้นนั้น ผมอยากสรุปให้ฟังสั้นๆ ว่า "ต้นแบบ หรือ role model นั้นสำคัญอย่างยิ่ง" ต่อการพัฒนาสังคมให้สงบสุข มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน
ทั้งนี้เป็นไปตามคำสอนของพ่อหลวงของเราที่ปรารถนาให้ประเทศนั้นพัฒนา คนในสังคมเป็นคนดี มีความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดี
"นั่นเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคน ที่ล้วนมีบทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบ การงานอาชีพ ที่จะลงแรงกาย แรงใจ แรงปัญญา เพื่อพัฒนาบ้านเมือง"
แม้จะไม่สามารถทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ แต่เราจำเป็นต้องช่วยกันสนับสนุนให้คนดีอยู่ได้ในสังคม และเจริญเติบโตในหน้าที่การงาน โดยหาทางที่จะจำกัดบทบาทของคนที่อาจเป็นอันตราย หรือทำให้เกิดปัญหาที่คุกคามต่อคนในสังคมไม่ว่าจะด้านใดก็ตาม
ปัญหาในสังคมไทยมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาชญากรรม ยาเสพติด คอร์รัปชัน ตลอดจนอุบัติเหตุจราจร ซึ่งเรื่องสุดท้ายที่กล่าวถึงนี้คร่าชีวิตของคนบริสุทธิ์มากมายในแต่ละปี และส่งผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจและสังคมของชาติ
เมาแล้วขับ ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ไม่เคยได้รับการจัดการแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังที่เราเห็นทุกหน้าเทศกาล ที่ใบไม้ร่วงมากมายทุกครั้ง
"7 วันอันตราย"อาจไม่ใช่อีกต่อไปหากเราดูสถานการณ์ความเป็นไปในบ้านเมืองเรา น่าเป็นห่วงว่า อีกหน่อยอาจต้องเปลี่ยนไปเป็น "ทุกวันอันตราย" ยิ่งช่วงนี้มีสื่อต่างชาติประโคมข่าวว่าประเทศเรามีอัตราเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรสูงที่สุดในโลก โดยอ้างอิงสถิติจากองค์การอนามัยโลกปีค.ศ.2013 ที่มีอัตราตายราว 36.2 คนต่อประชากร 100,000 คน สูงกว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่มีอัตราตายเฉลี่ยแค่ 9.3 ในขณะที่แม้แต่กลุ่มประเทศรายได้ต่ำยังมีอัตราตายเพียง 24.1 เท่านั้น...เห็นไหมว่าจะมีหน้าไหนมาสู้เราได้
ประเด็นที่น่าขบคิดคือ รัฐลงทุนมากมายกับแคมเปญรณรงค์นี้มานานหลายต่อหลายปี เหตุใดจึงไม่ดีขึ้น?
กฎหมายก็มีเยอะแยะ
ผู้บังคับใช้กฎหมายก็มีจำนวนมาก
การลงทุนงบประมาณเพื่อซื้อหาเทคโนโลยีมาใช้เพื่อตรวจจับ และอื่นๆ ก็เยอะเกินจะสาธยาย
งบประชาสัมพันธ์รณรงค์เรื่องนี้ก็เหมือนเทหายเทหาย เหมือนเทน้ำลงบนผืนทราย ไม่เห็นความชุ่มชื้นบนพื้นผิว
จะโทษป้ายจราจร ไฟจราจร และสภาพถนนหนทาง ก็โทษไม่ได้เต็มปากเต็มคำ เพราะมันเกิดทั่วทุกหัวระแหง
หรือสุดท้ายปัญหานี้เกิดจากเรื่อง"คน"?
หากคนมีระเบียบวินัย ปฏิบัติตามกฎจราจร ระแวดระวังทุกขณะที่ขับขึ่หรือเดินทางไปตามเส้นทางต่างๆ เหมือนบรรยากาศตอนที่ต้องไปสอบใบขับขึ่ของต่างประเทศที่เข้มๆ ปัญหาการจราจรคงต้องเบาบางลงแน่
พอคิดเช่นนี้ มันก็มาถึงคำถามสุดท้ายว่า ทำอย่างไรให้คนเป็นคนที่ปฎิบัติดีปฏิบัติชอบได้
คิดง่ายๆ มีสองทางหลัก สามประเด็นย่อย กล่าวคือ ทำให้คนเป็นคนดีที่อยากทำดีจริงๆ กับทำให้คนเกรงกลัวไม่กล้ากระทำผิด โดยจะเกรงกลัวกฎหมาย หรือเกรงกลัวบาปกรรมโดยรู้ผิดรู้ชอบ
การทำให้คนเกรงกลัวไม่กล้ากระทำผิดเพราะกลัวการลงโทษทางกฎหมาย ก็หลีกหนีไม่พ้นกับการที่ต้องขันน็อตให้กฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอัตราการลงโทษ และการขันน็อตการบังคับใช้กฎหมาย
ในขณะที่การทำให้คนเกรงกลัวไม่กล้ากระทำผิดเพราะกลัวบาปกรรม รู้ผิดรู้ชอบ กับการทำให้คนเป็นคนดีที่อยากทำดีจริงๆ นั้นดูจะยากอย่างยิ่ง เพราะขึ้นกับหลากหลายปัจจัยตั้งแต่พันธุกรรม การเลี้ยงดูบ่มเพาะของครอบครัว การอบรบและให้การศึกษาของครูบาอาจารย์ในโรงเรียน จนมาถึงการเติบโตมาในสังคม การทำงาน คนแวดล้อม ล้วนมีผลทั้งสิ้นที่จะทำให้เกิดพฤติกรรมที่พึงและไม่พึงประสงค์
ด้วยเหตุผลจากการวิเคราะห์ต่างๆ ดังกล่าว เราจึงไม่แปลกใจที่เหล่าวงวิชาการ และเหล่านักบริหารที่เป็นห่วงเรื่องอุบัติเหตุจราจร จึงทุ่มไปที่การสร้างนโยบายและมาตรการที่จัดการกับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ (เช่น ป้าย ถนนหนทาง ไฟส่องสว่าง ฯลฯ) และพวกตัวบทกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงการให้ความรู้ผ่านการรณรงค์ประชาสัมพันธ์
แต่เราแทบไม่เคยเห็นนโยบายและมาตรการที่จะมาจัดการเรื่องยากเลย
ใช่ครับเรื่องยากคือ การทำให้คนมีหิริโอตตัปปะ และการทำให้คนเป็นคนดีที่อยากทำดีจริงๆ
แน่นอนว่าเหตุผลหลักที่ไม่เห็นนโยบายและมาตรการเรื่องนี้ เพราะคิดกันจนหัวแตกก็คิดไม่ตก และไม่ค่อยเชื่อว่าจะทำได้ เนื่องจากโตกันขึ้นมาใช้เวลานาน จะดัดให้มีรูปร่างรูปทรงตามต้องการคงจะเป็นไปได้ยาก และน่าจะไม่คุ้มกับการลงทุนในระดับรัฐ
อย่างไรก็ตาม ปรากฎการณ์"ตูน"ของเราได้ทำให้หลายคนฉุกคิดว่า อย่างน้อยยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่คิดที่จะทำดี เพียงแต่ต้องมีจังหวะและโอกาสในการจุดประกายไฟให้ถูกที่ถูกทาง ในขณะเดียวกันตูนยังแสดงให้คนไทยได้เห็นว่า เราต้องการต้นแบบที่ดีเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และจูงใจให้คนทุกเพศทุกวัยทำตาม
ดังนั้นนี่อาจเป็นวาระโอกาสที่ดี ที่รัฐบาลและหน่วยงานทุกภาคส่วนจะหันมาพิจารณานโยบายและมาตรการเหล่านี้เพื่อมาเติมเต็ม และช่วยบรรเทาปัญหาอุบัติเหตุจราจรในเมืองไทยของเรา
ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างเป็นรูปธรรมคือ หากหน่วยงานสาธารณสุขและตำรวจจะรณรงค์เรื่องเมาไม่ขับต่อไป โดยเป่าตรวจแอลกอฮอล์ เพื่อเก็บเป็นหลักฐานสำคัญสำหรับการนำส่งเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ก็จำเป็นต้องอุดช่องโหว่ของเหล่าคนเจ้าเล่ห์ทั้งหลายที่หาทางบ่ายเบี่ยงการเป่าตรวจให้ได้ และสมมติว่าหากยิ่งเป็นบุคลากรในหน่วยงานสาธารณสุขหรือหน่วยงานอำนวยความยุติธรรมที่ก่อเหตุเอง ยิ่งต้องซีเรียส นั่นคือ ต้องกล้าหาญที่จะเป่าตรวจแอลกอฮอล์ และยืดอกรับผิดชอบกับสถานการณ์นั้น
ที่เล่ามาเช่นนี้ เพราะจะเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดว่า ตกลงแล้วประเทศไทยของเรามีต้นแบบที่ดีหรือไม่นั่นเอง
หากต้นแบบบิดเบี้ยว โอกาสที่จะทำให้เกิดผลผลิตที่ดีนั้นยิ่งเป็นไปไม่ได้
ถ้าทำอย่างที่บอกมาไม่ได้ คงจะต้องทำใจว่า รณรงค์ต่อไปก็ยากที่จะทำให้คนในสังคมเชื่อถือและปฏิบัติตาม
ต้นแบบที่ดี มีความรับผิดชอบต่อบทบาท หน้าที่ของตน และรับผิดชอบต่อสังคม...คือสิ่งที่สังคมไทยกำลังปรารถนาเป็นอย่างยิ่ง หากมีนโยบายและมาตรการใดๆ ที่ช่วยทำให้เกิดต้นแบบที่ดีขึ้นมาอย่างมากเพียงพอ ก็จะส่งผลให้คนในสังคมปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าปัจจุบัน
มาช่วยกันสร้างต้นแบบที่ดี ทั้งระดับบุคคล และระดับหน่วยงาน เพื่อให้ปัญหาเรื้อรังและหนักหนาสาหัสต่างๆ ดีขึ้นกว่าในปัจจุบันกันเถิดครับ
ตูนทำได้...เราก็ช่วยกันทำได้
อ้างอิง
1. Hurd NM et al. Negative adult influences and the protective effects of role models: A study with urban adolescents. J Youth Adolesc. 2009 Jul; 38(6): 777–789.
2. Role models influence ethical behavior. Oregon State University, Public Release: 9 Jan 2006.
3. Whitbourne SK. We All Need Role Models to Motivate and Inspire Us. Psychology Today, Nov 2013.
4. Hurd NM et al. Role Model Behavior and Youth Violence: A Study of Positive and Negative Effects. J Early Adolescence, 2010 Mar; 31(2):323-354.
5. Brand R. These Are the World's Most Dangerous Roads. Bloomberg, June 2017.
หมายเหตุ : ข้อมูลจากสำนักข่าวอิศรา เขียนโดย ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ขอบคุณเจ้าของภาพประกอบ