Last updated: 12 ธ.ค. 2560 | 4650 จำนวนผู้เข้าชม |
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 6 ตุลาคม 2560 เวลา 20.15 น.
-------------------------
สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน
ในห้วงเดือนตุลาคมนี้ มีการปฏิบัติที่สำคัญ ๆ เกี่ยวข้องกับงานพระราชพิธีพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติยศอย่างสูงสุด รวมทั้งแสดงความจงรักภักดีและความอาลัยแด่พระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย ผมขอเน้นย้ำในรายละเอียดและขอความร่วมมือให้ทุกภาคส่วนได้ปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย และสมพระเกียรติ ดังต่อไปนี้
เรื่องที่ 1 กำหนดให้วันพฤหัสบดีที่ 26 ตุลาคม 2560 เป็นวันหยุดราชการพิเศษเพียงวันเดียว เฉพาะในปีนี้ ส่วนวันที่ 13 ตุลาคมของทุกปี ก็จะเป็นวันหยุดราชการเนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
เรื่องที่ 2 ให้ขยายเวลาการไว้ทุกข์ของข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งเดิมเคยมีประกาศกำหนดระยะเวลา 1 ปี โดยขยายออกไปอีก จากวันที่ 13 ถึงวันที่ 27 ตุลาคม 2560 ทั้งนี้ ขอให้สถานที่ราชการ สถานศึกษา สถานที่ทำการของรัฐ ทั้งในและต่างประเทศทั่วโลก ลดธงครึ่งเสานะครับ ในช่วงเวลาการไว้ทุกข์ดังกล่าว รวมเป็นเวลา 15 วัน และขอให้ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ออกทุกข์ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 28 ตุลาคม 2560 โดยเริ่มทยอยเก็บผ้าระบาย และป้ายต่าง ๆ สำหรับการเสด็จสู่สวรรคาลัย ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นไป สำหรับประชาชนโดยทั่วไป และทุกภาคส่วนนั้น ผมขอความร่วมมือให้การไว้ทุกข์และการออกทุกข์ ได้สอดคล้องกับทางราชการ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วด้วย
เรื่องที่ 3 สำหรับสถานบันเทิง และสถานีโทรทัศน์ วิทยุ และสื่อสิ่งพิมพ์ ขอให้พิจารณางดหรือลดกิจกรรมบันเทิงตลอดเดือนตุลาคมนี้ เพื่อความเหมาะสมกับอารมณ์ และความรู้สึกของปวงชนชาวไทยทั้งประเทศด้วย
เรื่องที่ 4 เนื่องจากในวันพฤหัสบดีที่ 26 ตุลาคม 2560 ซึ่งเป็นวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ด้วยข้อจำกัดเรื่องการใช้พื้นที่การจราจร และการรักษาความปลอดภัย ทำให้มณฑลพิธีท้องสนามหลวงไม่อาจจะรองรับสำหรับทุกคนได้ ดังนั้นพี่น้องประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในที่ต่าง ๆ ได้ ในพื้นที่โดยรอบ ได้ตามความสมัครใจ
สำหรับการถวายดอกไม้จันทน์ของประชาชนนั้น สามารถดำเนินการได้ ณ พระเมรุมาศจำลองทั่วประเทศ ซุ้มถวายดอกไม้จันทน์ และวัดต่าง ๆ ที่ทางราชการกำหนด รวมทั้งสถานทูตไทย ณ ต่างประเทศทั่วโลก เพื่อให้บริการและรับรองประชาชนอย่างทั่วถึง จึงขอแจ้งให้ทราบโดยทั่วกันอีกครั้ง
ทั้งนี้ พี่น้องประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปฏิบัติตัว และรายละเอียดพระราชพิธีต่าง ๆ รวมทั้งสถานที่ จุดวางดอกไม้จันทน์ใกล้บ้านท่านก็ได้ จากเว็บไซต์ http://kingrama9.th และสายด่วน 1257 ตามหน้าจอ หรือติดตามข่าวสารต่าง ๆ จากทางสถานีวิทยุโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์อย่างใกล้ชิดด้วย
พี่น้องประชาชนที่เคารพ ครับ
สำหรับการเดินทางมาปฏิบัติภารกิจ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ตามคำเชิญของนายโดนัลด์ เจ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ระหว่างการหารือทางโทรศัพท์เมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการเดินทางเยือนของผู้นำอาเซียน คนที่ 3 เป็นการเยือนระดับนายกรัฐมนตรีของไทย อย่างเป็นทางการในรอบ 12 ปี ครั้งล่าสุดเมื่อเดือนกันยายน 2548 นานมากแล้ว
คณะที่มากับผมวันนี้ประกอบด้วย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ และพลเอก อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม พลเอก วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ ยังมีภาคเอกชนรายไทยสำคัญที่มีการลงทุนในสหรัฐฯ เดินทางมาในครั้งนี้ด้วย เดินทางมาเอง มาให้กำลังใจนายกรัฐมนตรี แล้วมายืนยันในเรื่องของการที่จะสร้างความเข้มแข็ง และแสวงหาโอกาส เพื่อขยายการลงทุนในสาขาต่าง ๆ อย่างเช่น ประธานหอการค้าไทย ประธานธุรกิจสหรัฐอเมริกา กลุ่มบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ กลุ่ม ปตท. กลุ่มบริษัทไทยซัมมิท บริษัทบ้านปู และอื่น ๆ มาเกือบ 30 คน
สำหรับการพบหารือกับประธานาธิบดีสหรัฐ ก็เป็นการหารือสองต่อสอง (four –eye meeting) ผมได้กล่าวแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ในลาสเวกัสในคืนที่ผ่านมา และภัยพิบัติเฮอร์ริเคนที่สหรัฐอเมริกา ประสบอยู่ ได้ชื่นชมความสัมพันธ์ไทย - สหรัฐ ที่เป็นมิตรกันมายาวนาน 184 ปี ในปีนี้อย่างเป็นทางการ และคงต้องย้อนไปเกือบ 200 ปี สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน
สำหรับในเรื่องการพัฒนาการเมืองไทยผมได้ยืนยัน แต่ท่านไม่ได้ถามอะไรผมเลย ท่านไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ก็เป็นที่น่าแปลกใจ แสดงว่าท่านเข้าใจ เพราะฉะนั้นผมก็ได้ยืนยันว่าเราเดินหน้าตาม Road Map ของเรา ซึ่งจะมีการเลือกตั้งแน่นอนในช่วงปลายปีหน้า
คำว่า เลือกตั้ง ก็คือการประกาศวันเลือกตั้ง จากนั้นต้องมีขั้นตอนในการดำเนินการต่ออีกประมาณ 150 วัน ก็ยืนยันไปตามนั้น ตาม Road Map แล้ว ผมก็ถือโอกาส ถ้ามีเวลา ท่านก็ชื่นชมประเทศไทย ท่านบอกว่าประเทศไทยสวยงาม คนไทยก็น่ารัก ก็เห็นในภาพอะไรต่าง ๆ ในวิดีทัศน์ อะไรต่าง ๆ หลายครั้ง ผมก็ถือโอกาสขอเชิญท่านประธานาธิบดีทรัมป์ และภรรยาเยือนเมืองไทยด้วย ในโอกาสที่อาจจะในช่วงเดินทางไปร่วมประชุมที่เอเชียในเดือนหน้านี้ หรือโอกาสอื่นตามความเหมาะสม
การหารือต่อไปหลังจาก Four – eye แล้ว ก็เป็นการหารือเต็มคณะ ในโอกาส Working Lunch คือ ทานอาหารไปด้วยแล้วก็พูดคุยกันไปด้วย ก็เป็นประเด็นในเรื่องของความสัมพันธ์ต่าง ๆ ของ 2 ประเทศ ความเป็นมิตรยาวนาน 200 ปี แล้วจะครบ 185 ปี ทางการทูตในปีหน้า เราต่างมีนโยบายและแนวทางเดียวกันก็คือ การให้ความสำคัญกับผู้ที่มีรายได้น้อย ซึ่งนโยบายอเมริกา เฟิร์สท์ (America First) ของนาย โดนัลด์ เจ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ก็สอดคล้อง แล้วเชื่อมโยงกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของไทย และประชารัฐของไทย เพื่อชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนอย่างเท่าเทียม และครอบคลุม ในประเด็นของความมั่นคงในภูมิภาค พูดคุยแลกเปลี่ยนกันในเรื่องมุมมองของไทยต่อบทบาทของจีนในภูมิภาค ผมก็พูดว่า ไทยก็มองจีนเป็นมิตร และจะร่วมมือกันในประเด็นที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน ในด้านเศรษฐกิจ เราเองก็มีความเป็นเอกเทศ ในเชิงนโยบาย เพราะฉะนั้นจีนมีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจ และการค้าที่ใกล้ชิดกันกับประเทศในอาเซียนทุกประเทศ
สำหรับปัญหาเรื่องทะเลจีนใต้นั้น ก็เป็นเรื่องที่ส่งผลต่อความไว้เนื้อเชื่อใจ และความไว้วางใจระหว่างจีนกับอาเซียน ทางสหรัฐและเราอาเซียน นามอาเซียนก็ขอให้สหรัฐสนับสนุนบทบาทความเป็นกลาง แกนกลาง และความเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียนในการที่จะเจรจาแก้ปัญหาโดยสันติวิธี สำหรับประเทศไทยไม่ใช่คู่ขัดแย้ง ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องในเรื่องดินแดนอะไรต่าง ๆ เหล่านั้น แต่เราต้องสนับสนุนในเรื่องของการทำให้เป็นทะเลแห่งสันติภาพ
ในส่วนของประเด็นเกาหลีเหนือ อันนี้เป็นประเด็นร้อน ซึ่งไม่ได้เป็นการคาดคั้นอะไรกัน เพียงแต่ว่าได้สอบถามความคิดเห็นของเรากับเกาหลีเหนือ ไทยเองก็ยืนยันว่า เราต้องการเห็นความสงบในคาบสมุทรเกาหลี การแก้ปัญหาที่ไม่ก่อให้เกิดความรุนแรง และก็พร้อมที่จะร่วมมือกับสหรัฐ และประชาคมระหว่างประเทศ เพื่อจะผลักดันให้เกาหลีเหนือนั้นกลับไปสู่โต๊ะเจรจา มากกว่าที่เราจะไปสู่ความรุนแรงระหว่างกัน อันนี้ก็ต้องหารือกันต่อไป ประเทศไทยก็ได้ทำตามพันธะสัญญามติสหประชาชาติทั้งสองข้างไปแล้ว และหลายอย่างเราก็ริเริ่มเอง อาทิ การลดความร่วมมือ การลดการควบคุมในเรื่องของการทำงานต่าง ๆ ก็น้อยมาก อันนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญในประเด็นร้อน
อีกเรื่องหนึ่ง คือ เรื่องความร่วมมือด้านความมั่นคง เราก็ยืนยันถึงความสำคัญของการฝึกคอบบร้าโกลด์ ซึ่งมีการฝึกร่วมกันมาถึง 35 ปีแล้ว มี 28 ประเทศที่ร่วมทำการฝึก แล้วเราก็ต้องการความร่วมมือจากสหรัฐในด้านการวิจัยและพัฒนา เทคโนโลยีป้องกันประเทศเพราะสหรัฐอมริกาเป็นประเทศชั้นนำ ในเรื่องเหล่านี้ เราไม่ได้มีอาวุธเอาไว้เพื่อจะสู้รบกัน เรามีไว้เพื่อไม่ให้เกิดการรบกัน ทำให้ขาดศักยภาพทางสงครามเท่านั้นเอง ก็คิดว่ายังมีความจำเป็นอยู่ อีกเรื่อง คือ ภัยการก่อการร้าย วันนี้ผมยืนยันว่ายังไม่พบการเคลื่อนไหวของ ไอซิส ในประเทศไทย แม้จะมีข่าวอยู่บ้าง ก็เป็นเรื่องของการลักลอบหรืออะไรทำนองนี้ ยังไม่มีเรื่องของการใช้อาวุธ ไม่มีเรื่องของการแสดงตัวออกมา ก็เหมือนการผ่านแดนอะไรหรือไม่ รู้สึกจะพบอยู่ครั้ง สองครั้งที่มี เพียงแต่เป็นชื่อ สำหรับในประเทศไทยก็ยังไม่มีใครที่จะไปร่วมการสู้รบ อาจจะเห็นในเว็บไซต์ ซึ่งวันนี้คนจะเขียนอะไรก็ได้ในเว็บไซต์ เราก็ไม่ได้มีการติดตาม เราก็ไม่เกี่ยวข้อง บางที่เอาสนุกก็เขียนไปเรื่อย ๆ ใครชวนอะไรก็เห็นด้วยไปหมด วันนี้ต้องระมัดระวังการใช้โซเชียล
เรื่องการค้าการลงทุน วันนี้ผมก็ได้พูดถึงว่าเรามีสนธิสัญญาไมตรีระหว่างกันระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกา มาตั้งแต่ปี 1833 สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ซึ่งมีนักธุรกิจอเมริกันได้ประโยชน์ เหมือนกับเป็นคนไทยในการลงทุนที่ประเทศไทย ก็เป็นประเทศเดียวที่ยังได้สิทธินี้อยู่ วันนี้เราก็อยากจะให้ทางอเมริกาได้ดูแลเราในเรื่องเหล่านี้บ้างเป็นพิเศษ เราก็ได้มีข้อตกลงว่าเราจะร่วมมือในการผลักดันมูลค่าการค้าระหว่างกันให้สูงขึ้นด้วยกลไกที่มีอยู่ พร้อมทั้งตั้งกลไกใหม่ ๆ เพื่อสนับสนุนหาวิธีการขจัดปัญหาอุปสรรค เหตุติดขัดต่าง ๆ เรามีกลไกเดิมอยู่แล้ว คือ สมาคมยูเอสอาเซียน ซึ่งเป็นของสหรัฐอเมริกากับอาเซียนทุกประเทศ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าถ้าเราจะร่วมมือกันให้มากยิ่งขึ้น ให้เร็วขึ้น จะต้องมีกลไกใหม่ขึ้นมาก็คือสมาคม หรือกลไกที่ทำหน้าที่ในการเจรจา เพื่อจะเร่งรัดกระบวนการทำงานระหว่างเรา ระหว่างไทยและอเมริกาโดยตรง เป็นทวิ จะได้เร็วขึ้น
เรื่องสำคัญอีกเรื่องที่ผมต้องพูดกับสหรัฐอเมริกา คือ ผมขอให้สหรัฐได้ดูแลในเรื่องของสินค้าเกษตรของไทยให้มากขึ้น เป็นการแลกเปลี่ยนต่างตอบแทนกัน ในเรื่องสินค้าเกษตร เรื่องผลไม้อะไรเหล่านี้ คือ การหารือในภาพกว้างไปแล้ว ก็เป็นเรื่องของคณะทำงานต้องมาทำต่อทุกเรื่อง ผู้นำเขาจะพูดในเรื่องหลักการ ว่าจะมีเรื่องอะไรบ้าง แต่ในส่วนของการทำงานก็จะมีคณะทำงานที่จะต้องพูดคุยกันในรายละเอียด ว่าทำได้ ไม่ได้ ทำไม่ได้ต้องแก้ยังไง มีอุปสรรคตรงไหน ทุกเรื่องเลย เพราะฉะนั้นการมาครั้งนี้หลายคนอาจจะมองว่า ผมมาดิวกับใคร หรือจะมาซื้ออาวุธ ถ้าคิดอย่างนี้ก็ไม่ได้ ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศมหาเศรษฐีที่ไหน ที่มีเงินแล้วจะไปตกลงซื้ออะไรกับใครก็ได้ ทุกอย่างมีกระบวนการหมด ไม่ว่าจะซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ หรือสิ่งต่าง ๆ อยู่ในแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีอยู่แล้ว ซึ่งก็เป็นการคัดเลือกอยู่ในกรรมวิธี ซึ่งสินค้าจากสหรัฐอเมริกาเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ผมก็พูดคุย ท่านก็ยินดี เพียงแต่ต้องขอให้ดูแลในเรื่องของราคา เพราะราคาสูง
หลังจากการหารือวันนี้ ก็ได้เป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างบริษัท PTTGC America LLC กับหน่วยงาน JobsOhio คือ เป็นการลงทุนของ PTTGC ร่วมทุนกับของทางอเมริกา ที่รัฐโอไฮโอ ว่าด้วยความร่วมมือในการศึกษา วางแผน และจัดทำโครงการพัฒนาเพื่อจะยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนในพื้นที่เขตเบลมอนต์ (Belmont County) ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานปิโตรเคมี ภายหลังอาจจะมีการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย ซึ่งคงต้องมีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของชุมชน ก็เหมือนกันทุกประเทศ ถ้าเราจะทำอะไรใหม่ ๆ ถ้าเราจะทำอะไรที่มีผลกระทบ ก็ต้องดูแลชุมชนให้ดีที่สุด
วันนี้ในประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญในเรื่องของการที่เขาเรียกว่า การประกอบการธุรกิจ โดยต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนด้วย เขาเรียกว่า สิทธิมนุษยชนในการประกอบธุรกิจ ต้องดูแลโครงสร้างพื้นฐานในชุมชน เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนร่วมกัน ระหว่างโรงงานปิโตรเคมีและชุมชนด้วย อันนี้เป็นทุกโรงงาน วันนี้เราก็มีมาตรการที่เข้มงวดขึ้น ในการลงทุนใหม่ของต่างประเทศในประเทศไทยด้วย ก็จะต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยี ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม รักษากติกาทั้งหมด กำหนดไว้ในทีโออาร์ให้ชัดเจนขึ้น ไม่เช่นนั้นต้องปิดโรงงาน วันนี้รัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องเหล่านี้
เรื่องของกิจกรรมด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน ผมได้มีโอกาสกล่าวถ้อยคำกับบรรดานักธุรกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องการค้าและการลงทุน และมีการร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำ ซึ่งจัดโดย สภาธุรกิจสหรัฐอเมริกาอาเซียน (U.S. – ASEAN Business Council: USABC) และสภาหอการค้าสหรัฐอเมริกา (U.S. Chamber of Commerce) รวมทั้งพบปะกับชุมชนไทยก่อนเดินทางกลับด้วย ก็คงจะมาให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ผมมาทุกครั้ง ต้องขอบคุณคนไทยที่อาศัยอยู่ต่างประเทศ อุตส่าห์เดินทางมาจากหลายรัฐ หลายมลรัฐ ทางรถบ้าง ทางเครื่องบินบ้าง โดยไม่ได้ไปบังคับ ทุกคนเต็มใจที่จะมา ผมถือว่าเป็นการให้กำลังใจผมจากพี่น้องคนไทยที่อยู่ต่างประเทศ ต้องขอขอบคุณเป็นอย่างมาก ถึงแม้ว่าจะอยู่ต่างประเทศแล้ว เป็นพลเมืองเขาไปแล้ว ยังไม่ลืมความเป็นคนไทย อันนี้เป็นตัวอย่างที่ดีให้คนไทยในประเทศได้รู้สึกอย่างนี้บ้าง สำหรับบางพวกบางคน ผมก็ไม่อยากจะไปกล่าวถึง
ขอขอบคุณ วันนี้บรรยากาศก็เปลี่ยนไป ฉากหลังก็จะเห็นว่าเป็นบรรยากาศของสหรัฐอเมริกา บ้านเราก็งดงามสวยงาม ถ้าเอาภาพมาดูแล้ว หลายอย่างบ้านเราก็มีเสน่ห์กันคนละแบบ เขาเรียกว่า มีชีวิตคนละแบบ มีชีวิตชีวา บ้านเราคนมาก เดินกันเต็มไปหมด บ้านนี้ (อเมริกา) ก็รู้สึกเงียบ ๆ เขาเป็นเมืองทางด้านการศึกษาด้วย จึงไม่ค่อยจะพลุกพล่านเท่าไหร่ แต่มีความสวยงาม มีแม่น้ำโฟโตแมกซ์ อยู่ทางซ้ายมือของผม มีเส้นทางเลียบแม่น้ำ คูคลองที่กำลังขุดลอกอยู่เพื่อให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวไว้ด้วย เดิมก็ถูกกลบถูกฝังไปเหมือนกัน
เราก็ต้องย้อนกลับไปดูธรรมชาติ ประเทศไทยเรามีสิ่งต่าง ๆ ที่ดีเหล่านี้อยู่แล้ว ทำอย่างไรเราจะฟื้นฟูได้ เรื่องขยะ ผมไปต่างประเทศเวลาเขาซ่อมถนนหนทาง สร้างสะพานทำอะไรต่าง ๆ ก็ตาม บรรดาช่าง แรงงานเขาก็มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย เขากองของ กองเครื่องมือ บ้านเราทำไมวางเกะกะระโยงระยาง เกลื่อนไปหมดเลย มีทั้งถัง มีทั้งหม้อข้าว มีทั้งอะไรบนถนนหนทาง สิ่งเหล่านี้เป็นหน้าเป็นตาประเทศ ใครผ่านไปผ่านมาจะดูไม่ค่อยงดงาม บรรดาบริษัทก่อสร้างขอให้ช่วยกรุณาจัดระเบียบด้วย แล้วทำเร็ว ๆ ไม่ใช่ใช้เวลาทำนาน ๆ คนเขาจะเดือดร้อนนาน เวลาในการทำงานอาจจะต้องกระชับขึ้น การทำสัญญาอะไรต่าง ๆ เพราะมีผลกระทบต่อคนส่วนใหญ่
ขอขอบคุณและสวัสดีครับ ขอให้มีความสุขครับ
ชมรายการย้อนหลังผ่านยูทูป ช่องวีดีโอ chorsaard