Last updated: 12 ธ.ค. 2560 | 2140 จำนวนผู้เข้าชม |
ผ่ากฎหมายใหม่ พ.ร.บ.กสทช. มีผลแล้ว ยุบรวม 2 บอร์ด เหลือบอร์ดเดียว/ ลดเก้าอี้กรรมการ 11 คน เหลือ 7 คน ให้วุฒิสภาคัดเลือก / หลายมาตราซ่อนผังอำนาจให้กรรมการดีอี มีสิทธิ์ชี้ขาดโครงการทับซ้อนระดับชาติ
เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2560 เว็บไซด์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และวิทยุโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 หรือ พ.ร.บ.กสทช.
สาระสำคัญของ พ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่ มีการปรับแก้สัดส่วนจำนวนการ "คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ" (กสทช.) จากปัจจุบันจำนวน 11 คน ให้เหลือ 7 คน มีความเชี่ยวชาญด้านกิจการกระจายเสียง, กิจการโทรทัศน์, กิจการโทรคมนาคม, ด้านวิศวกรรม, ด้านกฎหมาย, ด้านเศรษฐศาสตร์ และด้านคุ้มครองผู้บริโภค หรือ ส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ด้านละ 1 คน โดยให้เลขาธิการ กสทช.
ส่วนคุณสมบัติต้องห้ามของผู้เป็น "กสทช." ชุดใหม่ มีเพิ่มเติมจากกฎหมายเดิมข้อเดียว คือ "ห้ามเป็นผู้ต้องพ้นจากตําแหน่งกรรมการ หรือผู้บริหารบริษัทมหาชนจํากัดเพราะเหตุ มีลักษณะที่แสดงถึงการขาดความเหมาะสมที่จะได้รับความไว้วางใจให้บริหารจัดการกิจการที่มีมหาชนเป็น ผู้ถือหุ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์”
ประเด็นการได้มาซึ่งตัวบุคคลที่จะเป็น "กสทช." แต่เดิมให้มีวิธีคัดเลือก 2 รูปแบบ ได้แก่ "คัดเลือกกันเอง" จากกลุ่มวิชาชีพ และอีกวิธีมาจาก"การสรรหา" แต่พ.ร.บ.กสทช.ฉบับนี้ ให้เหลือวิธีเดียวคือ"การสรรหา" และยังคงให้อำนาจเต็มกับวุฒิสภาเพื่อคัดเลือก "กสทช." โดยวิธี"ลงคะแนนลับ" ภายใน 30 วันนับตั้งแต่ได้รับบัญชีรายชื่อจากเลขาธิการวุฒิสภา จากนั้นเสนอให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้พิจารณาเป็นขั้นตอนสุดท้ายเหมือนกฎหมายเดิมภายใน 20 วัน และนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป
หากพ้นกำหนดแล้ว ยังได้ตัวกรรมการกสทช ไม่ครบ ให้กรรมการสรรหา ดำเนินการสรรหาเพิ่มเติม ภายใน 30 วัน
สำหรับการกำหนดคุณสมบัติผู้ดำรงตำแหน่งเป็น "กสทช." ได้กำหนดคุณสมบัติผู้สมัครไว้ 6 ข้อดังนี้
1. เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการพลเรือน พนักงานในหน่วยงานอื่นของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ ที่ดํารงตําแหน่งไม่ต่ํากว่ารองหัวหน้าส่วนราชการตั้งแต่ระดับกรมขึ้นไป หรือรองหัวหน้าหน่วยงานอื่น ของรัฐที่เป็นนิติบุคคลหรือรัฐวิสาหกิจ หรือ
2. เป็นหรือเคยเป็นนายทหารหรือนายตํารวจที่มียศตั้งแต่พันเอก, นาวาเอก, นาวาอากาศเอก หรือพันตํารวจเอก อัตราเงินเดือน, พันเอกพิเศษ, นาวาเอกพิเศษ, นาวาอากาศเอกพิเศษ หรือพันตํารวจเอกพิเศษ ขึ้นไป หรือ
3. ดํารงตําแหน่งหรือเคยดํารงตําแหน่ง"รองศาสตราจารย์"ขึ้นไป หรือ
4. เป็นหรือเคยเป็นผู้บริหารมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปีในตําแหน่งไม่ต่ํากว่ารองกรรมการ, ผู้จัดการ ในบริษัทมหาชนจํากัด ที่มีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท หรือ
5. มีประสบการณ์การทํางานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคหรือส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของ ประชาชนอย่างสม่ําเสมอและต่อเนื่องมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี หรือ
6. มีประสบการณ์ด้านการบริหารกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการ โทรคมนาคมอย่างสม่ําเสมอและต่อเนื่องมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี
ขณะเดียวกัน "กสทช." ชุดใหม่ มีวาระดำรงตำแหน่ง 6 ปีเท่ากับ พ.ร.บ.กสทช.ฉบับเดิม และหากมีใครลาออก ให้กรรมการที่เหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป แต่ต้องมีกรรมการไม่น้อยกว่า 4 คน
ส่วนตำแหน่งของ "คณะกรรมการ" บุคคลที่เหมาะสมเป็น กสทช. ได้ปรับลดจากเดิม 15 คน เหลือ 7 คน และเป็นที่น่าสังเกตว่า มาจากกลุ่ม ตุลาการและองค์กรอิสระ ได้แก่
1. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
2. ผู้พิพากษาในศาลฎีกา
3. ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด
4. กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
5. กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
6. ผู้ตรวจการแผ่นดิน
7. ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
เมื่อเปรียบเทียบกับกรรมการสรรหา กสทช. ชุดเดิม พบว่ามี จำนวน 15 คน เป็นตัวแทนปลัดกระทรวงต่างๆ และมีตัวแทนจากวิชาชีพสื่อมวลชน และภาคประชาสังคมเป็นกรรมการสรรหาด้วย
ส่วนโครงสร้าง "กสทช." ชุดใหม่ ตามกฎหมายนี้ ให้เหลือ คณะกรรมการ (บอร์ด) กสทช.ชุดเดียว แตกต่างจากโครงสร้างปัจจุบัน ที่บอร์ด กสทช.แบ่งหน้าที่กันทำงาน 2 ชุด ได้แก่ "คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม" (กทค.) และ "คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์" (กสท.)
ส่วนอำนาจหน้าที่ยังเน้นการกำดกับดูแล ,การจัดทำแผนแม่บท และ การจัดสรรคลื่นความถี่ ซึ่งยังให้เน้นใช้"วิธีประมูล"เพื่อจัดสรรใบอนุญาต ในมาตรา 45 ยกเว้นแต่เป็นคลื่นที่ไม่แสวงหากำไร ให้ใช้วิธีคัดเลือกโดยวิธีอื่น
แม้ที่ผ่านมาอำนาจ บอร์ด กสทช. ถือได้ว่ามีอำนาจเต็มในการดำเนินงานต่างๆ แต่เมื่อพิจารณาจากเนื้อหากฎหมายใหม่ ก็ยังมีอำนาจหน้าที่ในหลายเรื่อง แต่ที่เพิ่มเติมอย่างมีนัยยะสำคัญ ก็คือ การทำงานร่วมกับ "คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ" (ดีอี) ซึ่งมีแนวโน้มที่อาจส่งผลต่อทิศทางและ การตัดสินใจของบอร์ด กสทช.นับจากนี้ โดยเฉพาะโครงการหรือแผนงานระดับชาติ ซึ่งคณะกรรมการดีอี มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
ตัวอย่างเช่น มีการกำหนดมาตรา ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการจัดทำแผนงานต่างๆ ของ กสทช. ต้องให้เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
รวมทั้ง ให้ กสทช.ให้ข้อมูลที่เกี่ยวกับแผนงานของ กสทช. และผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาต จากกสทช. ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล ตามที่คณะกรรมการดีอีร้องขอ เพื่อใช้เป็นข้อมูลวิเคราะห์จัดทำแผนนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
การให้อำนาจแก่ คณะกรรมการดีอี วินิฉัยชี้ขาด หากพบปัญหาว่า การดำเนินงานของ กสทช. สอดคล้องกับแผนระดับชาติด้านเศรษฐกิจดิจิทัลหรือไม่ โดยให้ผู้เกี่ยวข้องเสนอคณะกรรมการดีอี โดยให้คณะกรรมการดีอีชี้ขาด และให้คำวินิจฉัยเป็นที่สุด
และเมื่อ กสทช. อนุญาตให้ผู้ใดใช้คลื่นความถี่แล้ว ให้แจ้งต่อคณะกรรมการดีอีทราบด้วย
ส่วนเงินที่ได้จากการคัดเลือกในการจัดสรรคลื่นความถี่ เมื่อหักค่าใช้จ่ายที่ต้องนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเหลือเท่าใด จึงให้นำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน
อีกทั้งแผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง และบริการเพื่อสังคมบางเรื่อง ที่กำหนด ให้ กสทช. มีอํานาจมอบหมายให้สํานักงานคณะกรรมการดีอี ดําเนินการทั้งหมดหรือบางส่วนแทนได้
ขณะที่ การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี ของ กสทช. นั้น กำหนดไว้ว่าก่อนที่ บอร์ด กสทช.จะอนุมัติงบประมาณ ให้สำนักงาน กสทช. เสนอร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี ต่อคณะกรรมการดีอี เพื่อพิจารณาให้ความเห็นด้วย และให้สำนักงาน กสทช.ปรับปรุงแก้ไข แต่ถ้าสำนักงาน กสทช.และ คณะทำงานติดตามการประเมินผลงานกสทช.ไม่เห็นด้วยกับความเห็นของคณะกรรมการดีอี ก็ให้สำนักงาน กสทช. เสนอร่างงบประมาณไปพร้อมความเห็นของกรรมการดีอี เพื่อให้ บอร์ดกสทช. พิจารณา
ส่วนสาระสำคัญทั่วไป ในส่วนอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ตามก.ม.ใหม่ เช่น การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ต้องคำนึงประโยชน์สูงสุดระดับชาติ, ภูมิภาค และท้องถิ่นด้วย คำนึงถึงการแข่งขันเสรีเป็นธรรมและกระจายการใช้ประโยชน์ทั่วถึงในกิจการต่างๆ โดยเฉพาะด้านบริการสาธารณะแก่ประชาชน เพื่อให้คลื่นความถี่เหมาะสมแก่การเป็นสมบัติชาติ
กรณีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ เพื่อกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ให้ใช้วิธีคัดเลือกทั้งระดับชาติ ระดับภูมิภาคและระดับท้องถิ่น ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขที่กสทช.ประกาศกำหนด แต่กรณีการประกอบธุรกิจ ทาง กสทช. ต้องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลา และเงื่อนไขก่อนการประมูล โดยต้องคำนึงประโยชน์สาธารณะ และประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับด้วย
นอกจากนี้ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับปัญหามีการปล่อยคลื่นความถี่ไปรบกวนคลื่นความถี่เดิมที่ได้รับอนุญาตมาก่อนแล้ว ให้ กสทช.ระงับการรบกวน หรือทับซ้อนนั้นโดยเร็ว
กฎหมายใหม่ ยังกำหนดให้ กสทช. มีอำนาจเรียกคืนคลื่นความถี่จากหน่วยงานต่างๆ ที่ใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า มาจัดสรรใหม่จากผู้ได้รับใบอนุญาต โดยให้กำหนดวิธีการทดแทน, ชดใช้, จ่ายค่าตอบแทนสำหรับผู้ถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ โดยให้คำนึงถึงสิทธิของผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกเรียกคืนในแต่ละกรณีด้วย
นอกจากนี้ ให้มีหน้าที่ประสานงานเกี่ยวกับการบริหารคลื่นความถี่ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ โดยเป็น หน่วยงานอํานวยการของรัฐในกิจการสื่อสารระหว่างประเทศกับองค์การระหว่างประเทศ รัฐบาล และ หน่วยงานต่างประเทศด้านการบริหารคลื่นความถี่ รวมทั้งสนับสนุนกิจการของรัฐเพื่อให้มีดาวเทียมหรือ ให้ได้มาซึ่งสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามแผนงาน และ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งแต่เดิมหน้าที่ในการดูแลวงโคจรดาวเทียมเป็นหน้าที่หลักของกระทรวงดีอี
พ.ร.บ.กสทช. ยังให้อำนาจกับ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) โดยกำหนดให้ สตง.มีหน้าที่แจ้งต่อ กสทช. เพื่อให้ปรับปรุง หรือ ระงับดำเนินการ หากพบว่า การใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินของ สำนักงาน กสทช. ไม่เกิดประสิทธิผล ฟุ่มเฟือยเกินสมควร หรือดำเนินการไม่ถูกต้องตามแผนงาน หาก กสทช. ไม่แก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนด สตง.อาจพิจารณารายงานต่อวุฒิสภา ซึ่งเป็นผู้สรรหากรรมการกสทช.
สำหรับ กสทช. ชุดปัจจุบันแต่เดิมจะอยู่ครบระยะเวลาตามวาระดำรงตำแหน่ง 6 ปี ในเดือนตุลาคม 2560 แต่เมื่อ พ.ร.บ.กสทช. ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้แล้ว ทำให้บอร์ด กสทช. ชุดปัจจุบันยังต้องทำหน้าที่รักษาการต่อไป จนกว่า จะมี "กสทช." ชุดใหม่