Last updated: 12 ธ.ค. 2560 | 1923 จำนวนผู้เข้าชม |
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 4 พฤศจิกายน 2559 เวลา 20.15 น.
สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน
วันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา เป็นอีกวันสำคัญในประวัติศาสตร์โลก ที่คนไทยทุกคนจะได้จดจำ เมื่อสมัชชาสหประชาชาติ ได้จัดประชุมวาระพิเศษ เพื่อแสดงความอาลัย และสดุดี แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยเลขาธิการสหประชาชาติ และประธานกลุ่มภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก ได้แก่ เอเชีย-แปซิฟิก ยุโรปแอฟริกา รวมทั้ง ลาตินอเมริกา และแคริบเบียน โดยใจความสำคัญนั้น นอกจากเป็นการร่วมแสดงความเสียใจและอาลัยอย่างสุดซึ้ง ต่อพระบรมวงศานุวงศ์ รัฐบาล และปวงชนชาวไทยแล้ว ยังเป็นการกล่าวยกย่อง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลก และได้รับการเคารพเทิดทูนอย่างที่สุด เนื่องจากพระมหากรุณาธิคุณ ในการพัฒนาความเป็นอยู่ให้กับพสกนิกร ตลอดการครองราชย์ 70 ปี สะท้อนถึงการยึดมั่นในพระราชปณิธานที่ว่าจะ “ทรงครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขของมหาชนชาวสยาม” อย่างแท้จริง
ทั้งนี้ ในเวทีพหุภาคี นานาประเทศล้วนยอมรับพระราชกรณียกิจ ในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งทำให้องค์การระหว่างประเทศ ต่างทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลเพื่อเฉลิมพระเกียรติ เช่น รางวัล “ความสำเร็จสูงสุด ด้านการพัฒนามนุษย์” เมื่อปี 2549 และการกำหนดให้วันคล้าย วันพระราชสมภพ คือวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี เป็น “วันดินโลก” เมื่อปี 2557 เพื่อน้อมรำลึกถึงพระราชกรณียกิจ พระอัจริยภาพ และพระมหากรุณาธิคุณ ที่ได้ทรงศึกษาค้นคว้า วิธีการจัดการดิน และแก้ไขปัญหาทรัพยากรดิน เพื่อให้เกษตรกรไทยอยู่ดีกินดี รวมทั้งการสร้างความตระหนักรู้ ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความสำคัญของดินต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อันเป็นการเสริมสร้างแนวทางการดำเนินงาน ที่เชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอีกด้วย ผมเห็นว่า การประชุมสมัชชาสหประชาชาติ วาระพิเศษ ในครั้งนี้ เป็นสิ่งยืนยันสัจธรรมสำคัญ อันเป็นคำสอนของพ่อหลวง ในการ “ปิดทองหลังพระ” ว่า ถ้าทุกคนพากันปิดทองแต่ข้างหน้า ไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย พระจะเป็นพระที่งดงามบริบูรณ์ไม่ได้ และที่สำคัญ เมื่อปิดทองข้างหลังพระไปเรื่อย ๆ แล้ว ทองจะล้นออกมาที่หน้าพระเอง ดังนั้น “วันที่ 28 ตุลาคม” จึงเป็นที่ประจักษ์ แก่สายตาชาวโลกแล้วว่า “ศาสตร์พระราชา” ของพ่อหลวงไทย ในทุกแขนง ไม่เพียงแต่เพื่อการอยู่ดี มีสุข ของพสกนิกรชาวไทยเท่านั้น หากแต่ล้วนนำมาซึ่ง แนวทาง ความคิด และปรัชญา ในการพัฒนาที่ยั่งยืน อันเป็นคุณูปการ แก่มวลมนุษยชาติโดยรวม จนได้รับการยกย่องอย่างสูงสุด จากประชาคมโลก
ในวันนี้ ด้วยสํานึกในพระมหากรุณาธิคุณ และน้อมรําลึกในพระปรีชาสามารถ และพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ต่อการวิจัยและพัฒนาข้าวไทย เป็นอเนกประการ รวมทั้งเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ ในโอกาสครบรอบ 100 ปี งานวิจัยข้าวไทย ในปี 2559 นี้ คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติ เมื่อวันที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยเห็นชอบให้เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เป็น “พระบิดาแห่งการวิจัยและพัฒนาข้าวไทย” ด้วยทรงมีพระราชดำริ และทรงดำเนินการเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนาข้าว ในโครงการส่วนพระองค์ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม แก่พสกนิกรที่ประกอบอาชีพทำนา ทรงคิดวิธีเกษตรทฤษฎีใหม่ อาทิ การทำนาขั้นบันได โครงการฝนหลวง การแกล้งดินเพื่อแก้ปัญหาดินเปรี้ยว และทรงเป็นองค์อุปถัมภ์องค์กรวิจัยและพัฒนาข้าว ทั้งในและต่างประเทศ ให้แก่ “มูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์” เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม นับแต่ในอดีต จนถึงปัจจุบัน เกษตรกรชาวนายังคงประสบปัญหาราคาข้าวตกต่ำบ่อยครั้ง ส่วนใหญ่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง อาทิเช่น ปริมาณผลผลิตที่มากเกินความต้องการของตลาด การถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง มีต้นทุนการผลิตที่สูง มีคุณภาพที่ต่ำ มีภัยพิบัติทางธรรมชาติ น้ำท่วม น้ำแล้ง การปลูกข้าวในพื้นที่ไม่เหมาะสมนั้นเป็นอีกผลหนึ่ง ทำให้ได้ข้าวคุณภาพต่ำ ข้าวที่มีความชื้นสูงอีกทั้งการปลูกพืชเชิงเดี่ยว คือทำนาข้าวแต่เพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพในปัจจุบัน เหล่านี้ เป็นต้น รวมถึงให้มีการรวมกลุ่มเกษตรกรที่ยังไม่เข้มแข็งนัก ทำให้ขาดอำนาจต่อรองกับโรงสีและพ่อค้าคนกลาง ขาดการคิดค้นผลิตนวัตกรรมข้าวในการเพิ่มมูลค่า ให้กับผลผลิตข้าว ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ จะส่งผลให้รายได้ของชาวนาไม่มั่นคง ตลอดจนต้องกู้หนี้ยืมสิน ตั้งแต่เริ่มกระบวนการปลูกข้าว จนถึงการเก็บเกี่ยว ทำให้ชักหน้าไม่ถึงหลัง ถึงขั้นต้องขายที่นา และหลายครอบครัวต้องละทิ้งอาชีพชาวนา ในที่สุดเป็นอันตราย ทุกแนวทางการแก้ปัญหาแก่ชาวนาไทย ทั้งมาตรการเฉพาะหน้า และมาตรการยั่งยืน ของรัฐบาลนี้ ได้น้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” อันเป็น 1 ในหลักการทรงงาน ก็คือ “การศึกษาอย่างเป็นระบบ” ตั้งแต่ “ต้นทาง” เช่น ที่ดิน แหล่งน้ำ ลมฟ้าอากาศ องค์ความรู้ ปัจจัยการผลิต เมล็ดพันธุ์ ยากำจัดศัตรูพืชและปุ๋ย เป็นต้น “กลางทาง” เช่น แหล่งทุน เครื่องจักรกลการเกษตร โรงสี การแปรรูป และการสร้างนวัตกรรม “ปลายทาง” เช่น ตลาดในประเทศ การส่งออกต่างประเทศ เราต้องทำให้เกิดห่วงโซ่คุณค่าเหล่านี้ และการประกันพืชผล เหล่านี้ เป็นต้น ทั้งนี้ ย่อมต้องอาศัยข้อมูลพื้นฐาน จากเอกสาร งานวิจัยต่าง ๆ แผนที่ การสอบถามจากเจ้าหน้าที่ นักวิชาการ และสอบถามจากราษฎรในแต่ละท้องถิ่น เพื่อรัฐบาลจะได้รายละเอียดที่ถูกต้อง
สำหรับกำหนดมาตรการช่วยเหลือ ได้อย่างแม่นยำ รวดเร็ว และสอดคล้องกับสภาพภูมิศาสตร์สังคม รวมทั้ง ปรับปรุง แก้ไขกรณีศึกษา เพื่อหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาด ไม่ให้ซ้ำรอยนโยบายในอดีต สำหรับการแก้ไขปัญหาระยะสั้น ยังคงมีความจำเป็น เนื่องจากช่วยแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ให้ชาวนากินอิ่ม นอนหลับ มีทุน มีแรงทำงานให้ได้ก่อน แล้วสร้างความเข้มแข็ง อย่างเป็นขั้นเป็นตอนต่อไป ซึ่งปัจจุบัน รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญอย่างมาก กับการแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ โดยมีมติเห็นชอบ มาตรการช่วยเหลือเกษตรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2559/60 ในด้านการตลาด ตามที่คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) เสนอ ได้แก่ (1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2559/60 ซึ่งกำหนดวงเงินสินเชื่อต่อตันข้าวเปลือก ไม่เกินร้อยละ 90 ของราคาตลาด โดยเฉลี่ย (2) ค่าใช้จ่ายในการตากข้าวเปลือก และค่าแรงงานในการเตรียมข้าวเปลือกเข้าร่วมโครงการ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร, สหกรณ์การเกษตร, กลุ่มเกษตรกร รวมทั้งวิสาหกิจชุมชน และ (3) การช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ให้แก่เกษตรกรรายย่อย ผู้ปลูกข้าวหอมมะลิ ปีการผลิต 2559/60 โดยมีกรอบระยะเวลาดำเนินการ ตั้งแต่ 1พฤศจิกายน 2559 ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2560 แนวทางหนึ่ง ในการแก้ปัญหาราคาข้าวตก ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานไว้ ได้แก่ การรวมกลุ่มเป็นกลุ่มผู้บริโภคเหมือนกัน แล้วก็ไปติดต่อกับกลุ่มผู้ผลิต โดยที่ไปตกลงกัน อาจจะต้องตั้งหรือไปตกลงกับโรงสีให้แน่ชัด จะได้ไม่ต้องผ่านหลายมือ ถ้าทุกคนที่บริโภคข้าวตั้งตัวเป็นกลุ่มแล้ว ก็ไปซื้อข้าวเปลือก แล้วไปพยายามสีเอง หรือให้มีการผ่านมือ ผู้ที่ผลิต ผู้ที่สี และผู้ที่บริโภค ทั้งนี้ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะตัดปัญหาคนกลางลงไปได้บ้างคงไม่ได้ทั้งหมด
ผมขอชื่นชมความคิดริเริ่ม “โครงการลองกอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี แลกข้าวสารหอมมะลิ จังหวัดร้อยเอ็ด” นับเป็นการดำเนินงาน ในลักษณะ “ประชารัฐ” เป็นโครงการที่ดี ที่หลายฝ่าย ร่วมมือกัน ร่วมแก้ปัญหา ด้วยการแลกเปลี่ยนผลผลิต โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง สามารถแลกเปลี่ยนผลิตผลทางการเกษตรหรืออื่น ๆ ข้ามภูมิภาค (เหนือ – ใต้ – ตะวันออก – ตะวันตก) เป็นการช่วยเหลือตัวเองก่อน โดยไม่ต้องรอแต่การช่วยเหลือจากรัฐ จากภายนอกเพราะว่าต้องใช้เวลา ในการแก้ปัญหากำหนดมาตรการต่าง ๆ เพราะว่าต้องใช้กฎหมายด้วย เพราะฉะนั้นการรวมกลุ่มของเกษตรกรที่เข้มแข็งนั้น เราสามารถทำได้ตลอดเวลา การสร้างห่วงโซ่คุณค่า ที่ผมเรียนไปแล้วทั้งผลิต แปรรูป และการตลาดย่อมเป็นสิ่งพึงประสงค์ ทั้งนี้เพื่อเป็นการกระจายสินค้าสู่ตลาดต่างภูมิภาค เกิดกลไกที่ยั่งยืนได้ ในอนาคตรัฐบาลก็จะหาช่องทางเข้าไปส่งเสริม สนับสนุนได้ ในช่องทางที่ถูกต้องง่ายขึ้น ขอให้เรามีการจัดระบบ จัดกลไกการทำงานร่วมกัน จัดปฏิทินการแลกเปลี่ยนตามฤดูผลผลิต และจัดจุดแลกเปลี่ยน – จุดกระจายสินค้าที่แน่นอนทางรัฐบาลและราชการก็เข้าไปดูแลด้วยเหล่านี้ เป็นต้น
ผมขอขอบคุณหลาย ๆ หน่วยงาน ที่ออกมาตรการแก้ปัญหา หรือมีส่วนร่วมในการเอาชนะปัญหาราคาผลิตผลทางการเกษตรตกต่ำ อาทิ กระทรวงแรงงาน เตรียมรวบรวมตำแหน่งงานว่างในแต่ละจังหวัด สำหรับเกษตรกรที่สนใจทำอาชีพเสริม ช่วงว่างเว้นจากการทำนา มีการจัดหลักสูตรการฝึกทักษะอาชีพเพื่อเพิ่มโอกาสการสร้างรายได้ รวมทั้งการอบรมเทคนิคการค้าขายแบบออนไลน์ เพื่อสามารถจำหน่ายสินค้าได้ด้วยตนเอง นอกจากนั้นขอขอบคุณสถานประกอบการต่าง ๆ เช่น ปั๊มน้ำมันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) และปั๊มน้ำมันบางจากทั่วประเทศ ในการเตรียมพื้นที่ให้ชาวนาสามารถนำข้าวสารมาจำหน่ายไม่คิดค่าใช้จ่าย เพื่อให้เกษตรกรและประชาชนสามารถซื้อขายข้าวสารได้สะดวกยิ่งขึ้น
สำหรับการสร้างความยั่งยืนให้แก่ชาวนาในระยะยาวนั้น รัฐบาลได้มีมาตรการช่วยเหลือชาวนาทั้งระบบ อย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยการปรับกระบวนทัศน์สำหรับอนาคตข้าวไทย จำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านตลาด ได้แก่ (1) ใช้การตลาดนำการผลิต หรือให้ความต้องการ (อุปสงค์ข้าว) เป็นตัวตั้ง (2) มีการจำแนกแผนการส่งเสริมข้าวและการกำหนดมาตรฐาน ตามประเภทของข้าว (3) มีการปรับโครงสร้างการปลูกและผลิตข้าวครบวงจร ตั้งแต่การสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดี การช่วยเหลือต้นทุนการผลิต การพักชำระหนี้ชาวนา การประกันภัยข้าวนาปี การสนับสนุนการรวมกลุ่มของชาวนาเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อปลูกข้าวแปลงใหญ่ การอบรมให้ความรู้ ทั้งด้านความเข้าใจ เรื่องต้นทุนการผลิตและการตลาด และจัดให้มีโครงการฝึกอบรมให้โครงการต่าง ๆ ความรู้เพื่อสนับสนุนการปรับเปลี่ยน หรือปลูกพืชอื่นเสริม นอกเหนือจากการปลูกข้าว สำหรับในพื้นที่ที่ไม่เหมาะกับการทำนาเพื่อขาย รวมถึง (4) การสร้างความเป็นธรรม ให้แก่ชาวนาในกระบวนการผลิตและค้าข้าวด้วยอาศัยกลไกประชารัฐ อาทิ การปรับปรุงกฎระเบียบและวิธีการ เป็นต้น ทั้งนี้ รัฐบาลได้กำหนดแผนงาน สำหรับให้การสนับสนุนชาวนา ในแต่ละช่วงเวลาของวงจรข้าว สรุปได้ดังนี้ ช่วงการผลิต ประกอบด้วย 10 แผนงาน ได้แก่ (1) การวางแผนการเพาะปลูกข้าว (2) การขึ้นทะเบียนเกษตรกร (3) การจัดการปัจจัยการผลิต (4) การลดต้นทุนการผลิตข้าว (5) การประกันภัยพืชผล (6) การให้สินเชื่อ (7) การทำไร่นาส่วนผสม (8) การวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าว (9) การพัฒนาชาวนารุ่นใหม่ และ (10) การส่งเสริมเกษตรกรเพื่อการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน ช่วงการเก็บเกี่ยวและหลังการเก็บเกี่ยว ประกอบด้วย 3 แผนงาน ได้แก่ (1) การสนับสนุนและบริหารจัดการเครื่องจักรกลการเกษตร (2) การเพิ่มประสิทธิภาพและมาตรฐานโรงสี และ (3) การพัฒนาส่งเสริมการผลิตข้าวคุณภาพครบวงจรเพื่อเพิ่มมูลค่า รวมทั้งการจัดทำการตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ ประกอบด้วย 10 แผนงาน ได้แก่ มาตรการชะลอผลผลิตออกสู่ตลาด มาตรการสร้างความเป็นธรรมทางการค้า จัดทำและทบทวนมาตรฐานข้าว การวิจัยและพัฒนา การพัฒนาตลาดสินค้าข้าวที่ศักยภาพด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่ม และการเจรจาตลาดต่างประเทศ (G to G) และการขยายตลาดข้าวคุณลักษณะเฉพาะ เป็นต้น
ขอขอบคุณโรงสีกับในส่วนของพ่อค้าคนกลางที่ร่วมมือกับรัฐบาลในการช่วยเหลือประชาชนอย่างแท้จริง รัฐบาลไม่ได้มุ่งหวังจะทำลายการผลิตข้าว การปลูกข้าวของเกษตรกร ชาวนาที่เราทำมาแต่โบราณกาล แต่อย่างใด เราเพียงมุ่งหวังจะทำให้ชาวนา มีชีวิตความเป็นอยู่ ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ปัญหาที่รัฐบาลพบและเป็นปัญหาสำคัญ คือ วันนี้ การทำนาส่วนใหญ่ เหลือแต่พ่อแม่ ผู้สูงอายุ ลูกหลานส่วนใหญ่ จะไปประกอบอาชีพอื่น การใช้แรงงานคนจึงลดลง ใช้การจ้าง ใช้เครื่องจักร ตั้งแต่การไถ หว่าน ใส่ปุ๋ย เก็บเกี่ยว “ทุกขั้นตอน” ขณะเดียวกัน หนี้สินเก่า ก็ทับถม ทำให้เหมือนกับ “ทำนาเพื่อใช้หนี้” มาตลอดเวลา ไม่มีรายได้เพิ่ม รัฐบาลมองเห็นปัญหาตรงนี้ จึงได้เกิดความคิดแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ครบวงจร ตั้งแต่การปลูก – การแปรรูป – การตลาด รัฐบาลจำเป็นต้องมีหลายมาตรการ ทั้งชดเชยส่วนต่าง ช่วยเหลือยามเดือดร้อน จากภัยธรรมชาติ หรืออื่น ๆ เท่าที่จำเป็น แต่ทั้งนี้ ต้องไม่ผิดกฎหมาย ไม่เป็นปัญหากับระบบการเงิน-การคลังของประเทศ อีกส่วนหนึ่ง ก็ต้องมาดูว่า เราจะแก้ปัญหาหนี้สินชาวนาอย่างไร การให้พิจารณาในเรื่องของชะลอหนี้ หรือ ลดดอกเบี้ยจะทำได้แค่ไหน
ในส่วนธนาคารเพื่อการเกษตรว่าเราจะแก้ไขหนี้สินชาวนาได้อย่างไร นะครับ ที่ร้องขอกันมาเรื่องการชะลอหนี้ การลดดอกเบี้ย นะครับ เราก็จะพิจารณาเท่าที่สามารถทำได้โดยไม่ให้เสียกฎกติกาต่าง ๆ ของธนาคาร สิ่งสำคัญคือ เราจะทำอย่างไร ให้การทำการเกษตร ทุกอย่างนั้น ไม่ว่าจะเป็น ทั้งข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์ม อ้อย ข้าวโพด ได้มีการปรับระบบการผลิต การแปรรูปใหม่ ให้ใช้ต้นทุนการผลิตน้อยลง ใช้น้ำน้อยลงเหมาะสมกับพื้นที่แล้วผลิตไม่เกินความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีวิธีที่หลายประเทศทำแล้วได้ผล คือ “การรวมแปลงใหญ่” เพื่อการบริหารจัดการ สามารถ “เพิ่ม – ลด” ดีมานด์ – ซับพลายได้ ปรับปรุงดิน คุณภาพข้าวได้ ลดต้นทุนการผลิตได้ เรื่องน้ำ ก็นับว่ามีความสำคัญ มากที่สุด กับพืชทุกชนิด ที่ผ่านมานั้น มักไม่ค่อยให้ความสำคัญ กันทั้งระบบเป็นการแก้ปัญหาจากปลายทาง ปลายเหตุส่วนใหญ่ น้ำน้อย ก็ต้องจัดหาน้ำให้มากขึ้น บางอย่างก็เป็นไปไม่ได้ น้ำมาก – น้ำท่วม เราก็แก้ไขได้ยาก เพราะหลายอย่าง เกิดจากธรรมชาติ บางอย่างเกิดจากน้ำมือมนุษย์ บางอย่างก็เกิดจากความไม่เข้าใจ ทำไม่ได้ เพราะประชาชนไม่เห็นด้วย อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ เช่น การจัดทำแหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่ เพื่อจะทำให้เกิดการระบายน้ำให้สะดวกรวดเร็ว การทำอะไรใหม่ ๆ นั้น เราต้องช่วยกันคิด หลายคนยังขาดความเข้าใจ มีการเบียดเบียนอยู่บ้าง หากทุกคนไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลง แต่ต้องการชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นนั้น เราก็ทำได้ลำบาก บรรดากลุ่ม NGO นะครับ ขอร้องอย่ามองด้านเดียว ตามหน้าที่ของตน ทุกคนควรมุ่งเน้นการแก้ปัญหา อย่างเกื้อกูลกัน รัฐบาลไม่เคยคิดจะบังคับชาวนา เกษตรกร นอกจากพยายามสร้างความเข้าใจ รักษาอาชีพนี้ให้ยั่งยืน เราจะติดกับ อยู่กับวิธีคิดแบบเดิม ๆ หรือการแก้ปัญหาแบบเดิม ๆ ไม่ได้อีกแล้ว การค้าขาย – การส่งออก ไปยังตลาดต่างประเทศ ก็เป็นปัญหาในการแข่งขันด้านราคา รัฐบาลซื้อมาเก็บเองก็ไม่ได้ ปัญหาเดิมยังมีอยู่ การระบายข้าวในคลัง ก็เป็นปัญหาข้าวและฤดูกาลใหม่ อาจจะทำให้ราคาข้าวในท้องตลาดตก เพราะมีปริมาณสำรองข้าว มากเกินไป วันนี้มีเกือบทุกประเทศ มีการสำรองข้าวด้วยตนเอง อันเป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุสำคัญที่ ทำให้ถูกกดราคาที่ต่ำลง จนแข่งขันผู้ผลิตข้าวรายอื่น ๆ ของโลก ไม่ได้มากนัก แม้ว่าข้าวเราจะมีคุณภาพดีกว่าก็ตาม สำหรับมาตรการสร้างแรงจูงใจให้มีการปรับเปลี่ยน การปลูกพืชให้เหมาะสมกับพื้นที่ น้ำ เป็นสิ่งสำคัญ ตามแผนที่การเกษตร (Agri Map) ไปแล้ว ขั้นต้นจะทำให้เรารู้ปริมาณน้ำที่จะต้องใช้ การจัดระเบียบการปลูกก่อนหรือหลังให้แล็บกัน จะได้ไม่ออกมาในช่วงเวลาเดียวกัน ราคาก็ตกเพราะมากเกินไป การทำไร่นาสวนผสม ปลูกพืชหลายชนิด ลดการปลูกในฤดูน้ำมาก ไปทำอาชีพอื่นบ้าง อาชีพเสริม โดยหันไปปลูกพืชชนิดอื่นบ้าง ที่กล่าวมาทั้งหมด รัฐบาลไม่เคยคิดว่าเราจะจ้างให้ชาวนาเลิกปลูกข้าว เรามีชาวนาจำนวนมากมีแต่ทำอย่างไร ให้ปลูกเหนื่อยน้อยลงและมีรายได้มากขึ้น เพียงแต่เราให้ทุน ในการปลูกพืชชนิดอื่น ๆ เสริมดูว่าจะได้ผลดี มีรายได้มากขึ้น หรือไม่ โดยความสมัครใจ การใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ในช่วงที่เรายังมีหนี้สิน ต้องลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลง เก็บเงินทยอยใช้หนี้ ซึ่งบรรดานายทุนให้กู้เงิน เช่านา โรงสี ต้องร่วมมือช่วยกัน เสียสละบ้าง เพื่อประเทศชาติ เพื่อประชาชนและเกษตรกร มิฉะนั้น จะกลายเป็นปัญหาการเมือง ไปเสียทั้งหมด หลายอย่างที่ผ่านมา ไม่ใช่การเมือง อะไรที่เป็นการทำถูกหรือผิดกฎหมายก็ไปว่ากันมา หลายอย่างแก้ที่ปลายเหตุ โดยใช้เงินอย่างเดียว ย่อมเป็นไม่ได้อีกแล้ว ถ้าเราไม่รู้จักหาเงิน ไม่เปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจใหม่ ไม่มีเงินมากขึ้นแน่นอน เราต้องแก้ตั้งแต่ต้นทาง ตั้งแต่เกษตรกร พ่อค้าคนกลาง โรงสี เพื่อไปสู่การแข่งขันตลาดต่างประเทศและอื่น ๆ อีกมากมาย นั้นคือเหตุผลที่รัฐบาลต้องพิจารณาหลายด้าน ใช้เวลาในการตัดสินใจ ขอให้ทุกคนพยายามเข้าใจบ้าง ผมเข้าใจความเดือดร้อนของทุกท่านเป็นอย่างดี สำหรับพืชชนิดอื่น ๆ เช่น ข้าวขาว กำลังพิจารณาอยู่ ข้าวโพด ก็กำลังเป็นปัญหาสำคัญ กำลังให้ฝ่ายเศรษฐกิจ กำลังพิจารณาร่วมกัน เพื่อหาวิธีการแก้ปัญหา ทราบดีว่าปัญหาอยู่ที่ไหน วันนี้ข้าวโพด ก็เป็นปัญหาสำคัญ ที่ใช้ผลิต เพื่อการบริโภค และเพื่อในการทำอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ซึ่งเกี่ยวพันไปถึงการนำเข้าข้าวโพดวันนี้เรายังผลิตไม่เพียงพอ และเราไม่สามารถปล่อยละเลย ให้ปลูกในพื้นที่ ๆ ไม่ถูกต้องได้ และขอความร่วมมือกับบริษัทให้ร่วมมือไม่รับซื้อของที่ไม่ถูกกฎหมาย ในพื้นที่ ๆ ผิดกฎหมาย หรือบนป่าเขาซึ่งเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม มายาวนาน
ทั้งนี้ อย่างที่เรียนไปว่าขอความร่วมมือบริษัทขนาดใหญ่ที่มีแหล่งผลิต ที่มาที่ชัดเจน และมีการตรวจสอบ DNA ไม่ใช่ต้องการให้มาผูกขาด อีกประการ คือ การทำอาหารสัตว์ เมื่อข้าวโพดน้อย ปลูกไม่พอ ปลูกในพื้นที่ผิดกฎหมายซื้อขายไม่ได้ ก็ต้องนำเข้าเพิ่ม รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ กำลังพยายามหาทางออก มาตรการที่สามารถทำได้ โดยทั้งนี้ ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายและพันธะสัญญาระหว่างประเทศที่ต้องมีการค้าต่างตอบแทนด้วย ประเทศเพื่อนบ้าน ผู้ค้าต่าง ๆ เหล่านั้น ไม่ใช่มองว่า รัฐบาลเอื้อประโยชน์แก่นายทุน หรือผูกขาดให้กับใคร เพราะรัฐบาลนี้ มาเพื่อแก้ปัญหาเหล่านั้น ให้ประชาชนมีทางเลือกด้วยตนเอง มีโอกาสมากขึ้น เพราะฉะนั้น บริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์ว่าวันนี้ที่จำเป็นต้องใช้ข้าวสาลีมาเป็นส่วนผสมด้วย เนื่องจากมีราคาต้นทุนที่ถูกกว่า ข้าวโพดก็ไม่เพียงพอรัฐบาลจำเป็นต้องทบทวน ทั้งโควตานำเข้าข้าวโพด ข้าวสาลี ทั้งระบบ และระบบภาษีต่าง ๆ อีกด้วย ว่าจะทำได้มากน้อยแค่ไหน ก็ขอความร่วมมือไว้ก่อน สำหรับการส่งเสริมปลูกข้าวโพด ในพื้นที่ที่เหมาะสม ก็ยังมีความจำเป็นเพราะว่าลดพื้นที่ปลูก ในพื้นที่ไม่ถูกต้อง ต้องหาพื้นที่ปลูกใหม่ เพราะเรายังคงขาดแคลนข้าวโพดไม่เพียงพอ อาจทดแทนพื้นที่ปลูกข้าวไม่ได้ผล ไม่ได้คุณภาพ เพราะเท่าที่ตรวจสอบแล้ว มีการใช้งบประมาณ หรือต้นทุนในการปลูกต่ำกว่าข้าว ซึ่งยังคงต้องส่งเสริมในเรื่องเหล่านี้อยู่ด้วย ไปพร้อม ๆ กัน เหล่านี้ เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องทำอย่างรอบคอบ ทั้งด้านอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ในประเทศ พันธะสัญญาต่างประเทศ เพื่อนบ้าน การค้าต่างตอบแทน และชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร หลายคนอาจไม่เข้าใจ ไม่พอใจ เพราะผู้ปลูกต่างต้องการราคาสูง โดยไม่เข้าใจกลไก หรือระบบทั้งหมด รัฐบาลทราบดี นะครับ และไม่ได้คิดเอง เอาเอกสาร การวิจัย และตรวจสอบจากผู้ผลิตโดยตรง เกษตรกรโดยตรง ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรทั้งพาณิชย์ต่าง ๆ ลงพื้นที่ทั้งหมด นะครับ และไม่อยากให้เป็นช่องทางให้ ปัญหาการเมืองเข้ามาแทรกแซงหรือบิดเบียนได้อีก เราอาจจะทำหรือคิดอย่างเดิมไม่ได้ อีกต่อไปครับ จากวันนี้เป็นต้นไป แต่ทำอย่างไร จะไม่ทำลายเอกลักษณ์ของประเทศไทยและคนไทย ในการทำการเกษตร ทุกชนิด เพียงแต่ทำอย่างไรที่ทำให้มีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ เรื่องที่สำคัญที่สุดอีกเรื่อง คือ การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งยังคงมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นอยู่ ถึงแม้จะน้อยลง มากขึ้น ในบางช่วงเวลา แต่ก็เป็นขั้นตอน ของการพัฒนาของสถานการณ์ของฝ่ายรัฐ และฝ่ายผู้กระทำ เป็นการต่อสู้กันระหว่างการพัฒนา การบังคับใช้กฎหมายปกติของรัฐบาล กับฝ่ายใช้ความรุนแรง เพื่อกดดันรัฐบาลหวังเพื่อให้ส่งผลกระทบในประเทศ และต่างประเทศ เราต้องไม่ตกเป็นเหยื่อของการกระทำรุนแรงดังกล่าว และขอความร่วมมือสื่อให้ช่วยกันด้วย ปัจจุบัน รัฐบาลไม่ได้แก้ปัญหาด้วยการทหาร หลายคนมีการวิพากษ์วิจารณ์ ทหารในพื้นที่หรือตำรวจในพื้นที่ไม่เพียงพอ เพราะเป็นสถานการณ์ไม่ปกติ เมื่อสถานการณ์เบาลง หรือยุติลงได้ ทหารที่อยู่นอกพื้นที่ต้องกลับลงในพื้นที่ก็สามารถดูแลได้เอง เพราะฉะนั้นเราอาศัยกฎหมายพิเศษหรือกฎหมายเพียงอย่างเดียว เพื่อปกป้องคนบริสุทธิ์ นำคนผิดมาลงโทษตามกฎหมายมาลงโทษให้ทันเวลาเท่านั้น รัฐบาลมุ่งเน้น แก้ปัญหาด้วยการพัฒนา การสร้างความข้าใจ การสร้างความร่วมมือ กับคนทุกกลุ่ม แม้กระทั่งกลุ่มเห็นต่าง กลุ่มก่อเหตุรุนแรงต่างประเทศ พวกเราคนไทย ทั้งพุทธ มุสลิม ต้องช่วยกัน อย่าให้เกิดความบาดหมาง ไม่ไว้ใจซึ่งกันและกัน การแก้ปัญหาจะไม่สำเร็จ ขอให้พวกเราช่วยกัน พยายามต่อไป ขณะนี้ทางท่านจุฬาราชมนตรี ได้ร่วมมือกับทางรัฐบาลอย่างดียิ่ง ในการร่วมมือกันแก้ปัญหานี้ ขอขอบพระคุณไว้ ณ ที่นี้ด้วย
การเข้าใจ เข้าถึง พัฒนาเป็น “ศาสตร์พระราชา” ที่สำคัญอย่างมาก อันจะเป็นพื้นฐานการสนับสนุนการเดินหน้าประเทศ ในช่วงการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งมีทั้งการวางรากฐานเพื่ออนาคต และการปฏิรูปเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นมายาวนาน และการดำเนินการใด ๆ ของรัฐบาล จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากประชาชน จากทุกฝ่าย ทุกภาคส่วน วันนี้ขอชมเชยหลายพื้นที่ มีการหารือกัน ตั้งแต่ประชาคม ก็สามารถเป็นช่องทางที่เชื่อมต่อกับรัฐบาลได้ โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย ขอบคุณมาก แรงสนับสนุนจะเกิดขึ้นได้ ก็ด้วยความเข้าใจและเข้าถึง ด้วยการเข้าใจซึ่งกันและกัน เป็น “การสื่อสารสองทาง” จึงจะสามารถแปลงพลังต่อต้าน เป็นพลังขับเคลื่อน แปลงความนิ่งเฉย เป็นพลังเสริม แล้วเข้ามาร่วมมือกันพัฒนา ในรูปแบบ “ประชารัฐ” ของรัฐบาล ด้วยการยึดถือศาสตร์พระราชานี้ ร่วมกัน ทำให้ผมไม่ละความเพียรพยายาม ในการทำให้พี่น้องประชาชนทุกคน ได้ตระหนัก ได้รับรู้ และหวังที่จะได้ความร่วมมือกลับคืนมา ไม่ใช่เพื่อผม ไม่ใช่เพื่อท่าน เพียงเท่านั้น แต่เพื่อประเทศชาติ เพื่อลูกหลานในอนาคต ที่สำคัญ คือ เพื่อสานต่อพระราชปณิธานของพ่อหลวงของเราทุกคน หลายเรื่องที่ทุกคนควรมีความเข้าใจเป็นพื้นฐาน คือ ระยะเวลาการทำงานของแต่ละรัฐบาล ไม่เกิน 4 ปี หากรัฐบาลไม่มีเสถียรภาพแล้ว การบริหารราชการแผ่นดิน การพัฒนาประเทศ ก็ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มศักยภาพ เนื่องจากไม่มีความต่อเนื่อง จึงเป็นที่มาของความพยายามในการผลักดันให้ประเทศไทย มี “ยุทธศาสตร์ชาติ” ระยะ 20 ปี ที่ครอบคุลมทุกมิติของการบริหารประเทศ ของทุกรัฐบาลแต่ไม่ก้าวก่ายอำนาจทางบริหาร โดยผลการดำเนินงานของรัฐบาล กว่า 2 ปีที่ผ่านมา ย่อมเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า การบริหารราชการแผ่นดิน ภายใต้ความมีเสถียรภาพทางการเมือง บ้านเมืองปลอดภัย สงบสุข ทำให้การเดินหน้าประเทศ การเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นไปตามขั้นตอน เราไม่สามารถทำทุกอย่างได้ในเวลาอันสั้นได้ เพราะปัญหามันยาวนาน
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกที่ยังคงชะลอตัว ทำให้การส่งออก ซึ่งเคยเป็นรายได้ ร้อยละ 70 ของ GDP ของประเทศ ไม่สามารถรักษาระดับเดิมไว้ได้ เนื่องจากประเทศคู่ค้า ไม่มีกำลังซื้อ ต่างเอาตัวรอด ประคองตัวเอง ภารกิจของรัฐบาลชุดนี้ มี 2 อย่าง (1) รักษาเศรษฐกิจในประเทศไม่ให้ทรุด เพราะว่าเศรษฐกิจโลกไม่ดี ไม่ปล่อยให้ชาวบ้านเดือดร้อน และ (2) ต้องพยายามสร้างความเติบโตภายใน โดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานราก ด้วย “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ดังพระราชดำรัสที่ว่า “เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือน “เสาเข็ม” ที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือนตัวอาคารไว้ สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ ก็อยู่ที่เสาเข็ม แต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็ม และลืมเสาเข็มเสียด้วยซ้ำไป” วันนี้ประชาชนและเกษตรกร ถือว่าเป็นเสาเข็มส่วนหนึ่งที่ทำให้บ้านเรือนของเราประเทศไทยนั้นแข็งแรงยั่งยืน รัฐบาลนี้ จึงให้ความสำคัญอย่างมาก กับการสร้างความเข้มแข็ง ทั้งภาคเกษตรกรรม โดยเฉพาะยิ่งการจัดสรรพื้นที่ดินทำกินให้กับผู้มีรายได้น้อยซึ่งจะต้องดำเนินการทั่วประเทศ ทุกจังหวัด อยู่ในแผนงาน อยู่แล้วการวางระบบการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการให้สอดคล้องกับเกษตร, การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการเพาะปลูก ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม การทำเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อง่ายต่อการบริหารและกำหนดมาตรการสนับสนุนของภาครัฐ, การให้ความสำคัญกับการแปรรูปผลิตภัณฑ์ การสร้างมูลค่าเพิ่ม ด้วยการตั้งเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolish) รวมทั้ง ผู้ประกอบการรายย่อย SMEs และ Start-up รวมทั้ง OTOP เป็นต้น
สำหรับภาคอุตสาหกรรม ที่ได้กำหนด 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ การต่อยอด 5 อุตสาหกรรมเดิม ที่มีศักยภาพ (S-Curve) และการส่งเสริม 5 อุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) ให้เป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่ประเทศที่มีศักยภาพในการแข่งขัน และมีผู้สนใจลงทุนรวมทั้งการกำหนดเขต พัฒนาเขต เศรษฐกิจพิเศษ 10 แห่งทั่วประเทศไทย วันนี้ก็มีความก้าวหน้าตามลำดับ และที่สำคัญ คือ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ ภาคตะวันออก (EEC) โดยมีการกำหนดกลุ่มจังหวัดเป็น Cluster และ Super Cluster ประกอบไปด้วย รวมทั้งขณะนี้พยายามเร่งขับเคลื่อน นโยบายเกี่ยวกับเรื่อง “Digital Economy” และ “ไทยแลนด์ 4.0” ซึ่งต้องเน้นการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ในทุกภาคการผลิต รวมไปถึงการวางระบบการศึกษา ระบบการผลิตแรงงานออกสู่ตลาด ที่จะต้องสอดคล้องกับทิศทางขับเคลื่อนประเทศ อย่างไรก็ตาม ในสังคมไทยยังมีทั้งคนไทยยุคใหม่ ยุคเก่า ที่เรียกว่า “คนไทย 1.0 2.0 3.0 และ 4.0” ตามช่วงวัย นะครับ ที่ยังอยู่ร่วมกันในสังคมปัจจุบัน รัฐบาล ต้องให้ทุกคนได้รับการพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ได้มีการพัฒนาที่เท่าเทียมเพื่อ ความเหลื่อมล้ำอยู่อย่างมีความสุข ผมอยากให้พี่น้องประชาชนเข้าใจระบบเศรษฐกิจอย่างง่าย ว่าเงินหมุนเวียนระบบเศรษฐกิจประเทศ จะมาจาก 4 กิจกรรมหลักคือ 1. การใช้จ่ายของประชาชน 2. การใช้จ่ายการลงทุนภาครัฐ 3. การลงทุนจากต่างประเทศ 4. การส่งออก หากประชาชนไม่มีความเข้าใจแล้วก็อาจไม่สามารถช่วยให้ประเทศรักษาสมดุลในระบบเศรษฐกิจของประเทศได้ เช่น ไม่ยอมใช้จ่าย ไม่รู้ว่าทำไมรัฐต้องมีการลงทุนไม่ช่วยกันสร้างสภาพที่เกื้อกูลต่อการลงทุนจากต่างประเทศ เป็นต้น ที่ผ่านมานั้นผมเรียนอีกครั้งเราอาศัยรายได้ร้อยละ 70 จากการส่งออกซึ่งเป็นไปไม่ได้ในปัจจุบันด้วยเหตุผลที่ผมกล่าวไว้แล้ว บางคนมองว่าเป็น “ต้มยำกุ้ง” ที่เศรษฐกิจ “ระดับบน” พังเป็นแถบ แบงค์มีปัญหาแต่ความจริงไม่ใช่เช่นนั้น เป็นต้มยำกุ้งกลับหัว ไม่เหมือนในอดีตก็คือเศรษฐกิจระดับบนยังใช้ได้ แต่ “ระดับล่าง” จาก 2-3 ปีที่ผ่านมาเจอภัยแล้ง เจอปัญหาสารพัด ทั้งเกษตร ราคาตกต่ำเมื่อเศรษฐกิจ โลกไม่ดีด้วย กว่า 10 ปี ที่ไม่ได้รับการเสริมสร้างความเข้มแข็งละเลยรัฐบาลนี้ก็พยายามอย่างเต็มที่ พยายามที่จะประคับประคองไว้ให้ได้ทุกอย่างจาก GDP เดิมโตแค่ 0.8 เปอร์เซ็นต์ วันนี้กลายเป็นโตประมาณ 3.5 เปอร์เซ็นต์ได้ ก็ล้วนเป็นผลมาจากการกระตุ้นด้วยการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจระดับล่าง ฐานล่างพร้อมกันไปด้วยกับการลงทุนใหม่ ๆ ในเศรษฐกิจระดับบน เพราะต้องเกื้อกูลกัน เพราะเป็นห่วงโซ่กัน ทั้งนี้เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ เช่น ในเรื่องของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ทางบก ทางราง ทางน้ำ ทางอากาศ และทางด้านไอซีที ทั้งหมดต้องมีการบริหารจัดการที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนทุกระดับ ไม่ว่าจะรายได้มาก รายได้ปานกลาง รายได้น้อย ต้องได้รับผลจากไม่ว่าจะเป็น 4.0 ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจใหม่ทั้งสิ้นทั้งหมดนะครับ เราต้องทำให้ได้ ก็ถือว่าครั้งนี้ก็เป็นโอกาสที่เราจะเป็นการปฏิรูปเศรษฐกิจใหม่ ให้กับประเทศร่วมกัน
สุดท้ายนี้ ผมขอเชิญพี่น้องประชาชนและผู้ที่สนใจ มาอุดหนุนสินค้าพื้นบ้านในงาน “OTOP ภูมิปัญญาไทย ก้าวไกลสู่สากล” นะครับ ณ ตลาดคลองผดุงข้างทำเนียบรัฐบาล ตั้งแต่วันที่ 3 - 27 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งนอกจากจะมีผลิตภัณฑ์ OTOP จากทุกของภูมิภาคประเทศแล้ว ซึ่งเราต้องมีมาตรฐานส่งออกต่างประเทศมีคุณภาพสูงด้วย และขายดีติดตลาดแล้ว ผมขอขอบคุณสถานทูตเอกอัครราชทูต 17 ประเทศ ที่ได้นำสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ภูมิปัญญาและสะท้อนถึงวัฒนธรรมของแต่ละชาติมาร่วมจำหน่ายด้วย อาทิ พรมจากปากีสถาน อัญมณีจากกัมพูชา – ศรีลังกา สินค้าหัตถกรรมจากอิหร่าน – ไนจีเรีย ผ้าบาติกจากอินโดนีเซีย ผ้าไหมจากลาว พระพุทธรูปจากเนปาล และสมุนไพรจากอินเดีย เป็นต้น ก็ช่วยกันต่างตอบแทนเพราะเราเป็นเพื่อนกันทั้งสิ้นไม่ว่าจะอาเซียนหรือประชาคมโลกใด ๆ ก็ตาม เพราะคือมวลมนุษยชาติของโลกใบนี้ เพราะโลกใบเดียวกัน
ขอบคุณครับ/สวัสดีครับ
หมายเหตุ ดาวน์โหลดรายการย้อนหลัง MP3